หยุดจับ ‘ปลาทูวัยอ่อน’ ก่อนจะหมดทะเลไทย

ผลกระทบต่อวงจรอาหารสัตว์น้ำในระบบนิเวศทะเล

อุตสาหกรรมประมงไทย เติบโตต่อเนื่อง?

กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์สถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง (2563) เปิดเผยสถิติมูลค่าและผลผลิตการประมงไทยพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้ ปี 2560 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,493,044 ตัน มูลค่า 68,495  ล้านบาท ปี 2561 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,536,756 ตัน มูลค่า 70,818  ล้านบาท ปี 2562 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,542,570 ตัน มูลค่า 73,989   ล้านบาท และในปี 2563 จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 1,659,467 ตัน มูลค่า 76,012  ล้านบาท

แม้ว่าแหล่งทำประมงในน่านน้ำจะประสบกับปัญหาการเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์จากการใช้ประโยชน์มากเกินไป แต่มีความพยายามในการฟื้นฟูจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553-2562) โดยสรุปมีปริมาณการจับสัตว์น้ำ 1,646,611 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 65,251 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 1.62 ต่อปี ส่วนมูลค่ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.47

สำหรับการทำประมงทะเลของไทย เป็นการทำประมงด้วยเครื่องมือทำการประมงหลากหลายประเภท ทั้งประเภทที่มีประสิทธิภาพสูงใช้กับเรือประมงขนาดใหญ่ และเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพต่ำใช้กับเรือประมงขนาดเล็กในลักษณะของประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ยังพบว่า มีการใช้อวนลากจับปลามากที่สุด รองลงมาคืออวนล้อมจับ อวนครอบ อวนช้อน-อวนยก และอื่นๆ ตามลำดับ

แม้ว่าสถิติผลผลิตประมงไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งปริมาณที่จับได้ และมูลค่าทางการค้า แต่กลับพบว่า จำนวนปลาบางชนิดที่จับได้มีจำนวนน้อยลง หนึ่งในนั้น คือ “ปลาทู”

ทำไมจับปลาทู “เต็มวัย” ได้น้อยลง?

ปลาทูที่พบเห็นในท้องตลาดอาจมีขนาดที่แตกต่างกันไป เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่มาตรฐานปลาทูโตเต็มวัย ขนาดที่พอเหมาะกับการรับประทาน ควรมีความยาว 15-20 เซนติเมตร น้ำหนัก 80-100 กรัม ปริมาณ 10-13 ตัวต่อกิโลกรัม ทว่าปลาทูที่มีลักษณะพอเหมาะนี้จับได้น้อยในท้องทะเลไทย

สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรสมาชิก รายงานว่า “ปลาทูเต็มวัย” เคยจับได้ปีละหนึ่งแสนกว่าตัน โดยปี 2557 มีการจับปลาทูได้ 128,835 ตัน แต่ภายหลังก็ลดน้อยถอยลง ในปี 2558 ลดลงเหลือ 48,522 ตัน ในปี 2561 จับได้ 11,290 ตัน ในปี 2562 จับได้ 24,374 และในปี 2563 จับได้เหลือเพียง 18,436 ตัน เท่านั้น

ที่น่าสังเกตคือ ในปี 2563 กลับพบ “ตัวอ่อนปลาทู” รวมถึง “ตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่นๆ” วางขายในห้างและตลาดต่างๆ จำนวนมาก และยังพบว่า มีการนำปลาทูตัวอ่อนไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งเครือข่ายมองว่า เป็นการตัดระบบวงจรอาหารสัตว์น้ำในระบบนิเวศทะเล และกระทบถึงโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำในที่สุด

สัตว์น้ำวัยอ่อน

“ทางด้านมาตรการกฎหมายและนโยบายภาครัฐ มีการกำหนดควบคุม บุคคลที่จะมีสิทธิจับสัตว์น้ำ มีการควบคุมเรือประมง วิธีการทำการประมง เครื่องมือประมง เขตการประมง งดการจับแม่พันธ์ฤดูวางไข่ และอื่นๆมากมาย แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้น กลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ มีการจับตัวอ่อนสัตว์น้ำทะเลจำนวนมาก นอกจากที่นำเข้าโรงงานอาหารสัตว์ ถูกนำมาวางขายในตลาดผู้บริโภค หรือ การวางขายสัตว์น้ำคุณภาพต่ำ และราคาถูก ในรูปแบบและชื่อเรียก ต่างๆ เช่น ปลาทูแก้ว โดยที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้ตระหนักรู้ว่า แท้จริงเป็นการบริโภคอาหารทะเลที่มีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างอาหารทะเลโดยตรง”

สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรสมาชิก

สำรวจพบ สัตว์น้ำวัยอ่อน ในร้านค้าทุกประเภท

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ศึกษารูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบเจอการจำหน่ายสัตว์น้ำ ไม่ได้ขนาดที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้งหมด  373 ครั้ง

แบ่งเป็น อาหารทะเลสดที่ไม่ได้ขนาดจำนวน 164 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 43.97 หากจำแนกตามประเภทสัตว์น้ำพบว่าสัตว์น้ำที่มีการสำรวจพบสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ หมึกกล้วย ปลาจะละเม็ด และ ปลาเก๋า โดยจำนวนครั้งที่สำรวจพบเท่ากับ 66 ครั้ง (ร้อยละ 40) 36 ครั้ง (ร้อยละ 22) และ 24 ครั้ง (ร้อยละ 15) ตามลำดับ

ในส่วนของ อาหารทะเลแปรรูปที่ไม่ได้ขนาดจำนวน 209 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 56.03 หากจำแนกตามประเภทสัตว์น้ำพบว่าสัตว์น้ำที่มีการสำรวจพบสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ปลากะตัก หมึกกล้วย และปลาอินทรีย์บั้ง โดยจำนวนครั้งที่สำรวจพบเท่ากับ 109 ครั้ง (ร้อยละ 52) 85 ครั้ง (ร้อยละ 41) และ 9 ครั้ง (ร้อยละ 4) ตามลำดับ

อัตราการจำหน่ายสัตว์น้ำไม่ได้ขนาดสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ภาคอีสาน (14 สาขา/ร้าน จากจำนวนทั้งหมด 18 สาขา/ร้าน คิดเป็นร้อยละ 78) ภาคกลาง (106 สาขา/ร้าน จากจำนวนทั้งหมด 163 สาขา/ร้าน คิดเป็นร้อยละ 65) และ ภาคใต้ (77 สาขา/ร้าน จากจำนวนทั้งหมด 126 สาขา/ร้าน คิดเป็นร้อยละ 61) 

เมื่อพิจารณาช่องทางการจัดจำหน่าย พบว่า ช่องทางที่มีการสำรวจพบสัตว์น้ำสดที่ไม่ได้ขนาดสูงที่สุดคือ โมเดิร์นเทรด (77 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 47) ตลาดสด (65 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 40) ตลาดของฝาก (22 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13) 

ในส่วนของ ช่องทางที่มีการสำรวจพบสัตว์น้ำแปรรูปที่ไม่ได้ขนาดสูงที่สุดคือ โมเดิร์นเทรด (118 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 56) ตลาดสด (47 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 22) ตลาดของฝาก (44 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 21) 

คณะวิจัย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน อธิบายว่า สาเหตุของการจำหน่ายสัตว์น้ำที่โตไม่ได้ขนาดมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่ในระดับที่สูง สาเหตุเนื่องจาก

  1. ความอร่อยของสัตว์น้ำวัยอ่อน
  2. สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการทำน้ำปลา น้ำบูดู และ ปลาป่น
  3. ผู้บริโภคบางกลุ่มยังคงเชื่อว่าการรับประทานปลาเล็ก ปลาน้อยชนิดที่กินได้ทั้งตัว จะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมสูง
  4. ผู้บริโภคในครัวเรือนอาจนิยมบริโภคสัตว์น้ำตัวเล็กเพราะมีราคาที่ถูกกว่า ในราคาที่จ่ายเท่ากันจะซื้อได้ในปริมาณที่มากกว่า ถ้ารับประทานไม่หมดก็สามารถที่จะเก็บรักษาได้ง่ายกว่า
  5. ร้านอาหารอาจนิยมซื้อสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขนาดเพราะสามารถนำไปปรุงและจำหน่ายต่อได้ง่ายกว่าเนื่องจากมีราคาต่อจานที่ต่ำกว่า 

“การส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลยั่งยืนจึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และผู้บริโภคเองมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการงดซื้อสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขนาด การปล่อยให้สัตว์น้ำได้โตเต็มวัยจนมีโอกาสได้ผสมพันธุ์เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้สัตว์น้ำสามารถทดแทนประชากรที่ถูกจับมาได้ทัน การที่ผู้บริโภคตระหนักในเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถสร้างให้เกิดกระแสการบริโภคอย่างยั่งยืน”

ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน

ด้านสมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรสมาชิก อธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้มีการจับปลาวัยอ่อนอยู่ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมาย ประกาศกำหนดขนาดของพันธ์ุสัตว์น้ำทะเลและสัดส่วนที่เหมาะควรในการทำการประมง

“รัฐ ยังอนุญาตให้จับตัวอ่อนสัตว์น้ำได้อย่างถูกกฎหมาย จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ กอบโกยสัตว์น้ำทะเลให้ได้จำนวนปริมาณน้ำหนักมากที่สุด หากจะแก้ปัญหาจึงต้องออกมาตรการและกฎหมายควบคุมในเรื่องนี้”

สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรสมาชิก

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์