เปิดข้อถกเถียง พ.ร.ก.การประมง…เรื่องร้อน! ท้าทายรัฐบาลใหม่

นับจากวันที่ 25 ก.พ.66 ที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. ที่ จ.สมุทรสาคร หนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ จากการเป็นแหล่งจ้างงานแรงงานข้ามชาติ แหล่งอุตสาหกรรม และที่มากไปกว่านั้น คือ การเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญ

ในเวลานั้น พิธา ประกาศชัด “จะไม่ยอมให้อ่าวไทยเป็นสุสานของเรืออีกต่อไป” นำไปสู่นโยบายหลักที่พรรคก้าวไกล นำเสนอเพื่อเป็นตัวเลือกให้คนสมุทรสาคร ช่วงก่อนเลือกตั้ง ยืนยัน การแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมประมง จะเกิดขึ้นทันทีภายใน 100 วันแรก หากได้เป็นรัฐบาล

พร้อมชู 3 แนวทาง คือ 1.เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อให้ประมงแต่ละจังหวัดปรับได้เหมาะสมกับพื้นที่ 2. เพิ่มศักยภาพการทำประมง และ 3. เพิ่มความยืดหยุ่นการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมง คำนึงถึงสมดุลระหว่างการรักษาทรัพยากร กับการทำมาหากิน เพื่อนำไปสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ

ผ่านมา 4 เดือน จากวันที่หาเสียง… มาสู่วันที่ผลการเลือกตั้ง ชี้ชัดว่า สมุทรสาคร ถูกเทด้วยสีส้ม พรรคก้าวไกล กวาด ส.ส. ยกจังหวัดทั้ง 3 เขต

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หน.พรรคก้าวไกล ระหว่างพบปะ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย
ที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร (27 มิ.ย.66)

วันนี้ (27 มิ.ย.66) พิธา ปรากฎตัวขึ้นที่ จ.สมุทรสาคร อีกครั้ง แต่คราวนี้กลับมาในบทบาทของ ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 พร้อมกับร่วมรับฟัง และรับข้อเสนอจาก สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่คาดหวัง และขอให้เร่งแก้ไข ร่าง พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ที่พวกเขาเห็นว่า ขาดการมีส่วนร่วม และส่งผลกระทบต่อชาวประมง ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 1.5 แสนล้านบาท

ความคาดหวัง ต่อแนวทางผลักดัน ร่าง พ.ร.ก.การประมง ผ่านกลไกสภาฯ เพื่อทำให้การประมงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จะเกิดขึ้นได้จริงแค่ไหน ข้อกำหนดที่เป็นกติกาการทำประมง จะเดินหน้าได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ท่ามกลางความเห็นต่างของเนื้อหาสาระ และวิธีปฏิบัติ ที่ทั้ง ประมงพาณิชย์ และ ประมงพื้นบ้าน ยังไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงตัวกันได้

ยังมีประเด็นไหน ที่อยู่ในข้อถกเถียงสำหรับแนวทางแก้ปัญหาการทำประมง The Active รวบรวมไว้ดังนี้ 

มาตรา 57 กำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อกลางปี 2565 เมื่อ ‘เครือข่ายประมงพื้นบ้าน’ ทั้ง สมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สมาคมรักษ์ทะเลไทย และ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่สนับสนุนการทำประมงเพื่อความยั่งยืน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศ ตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” หรือ การกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

โดยอ้างอิงจากสถิติการจับสัตว์ทะเล และงานวิจัยพบข้อมูลสัตว์เศรษฐกิจ อย่าง ปลาทู ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยจับได้หลักแสนตันต่อปี เหลือราว ๆ 20,000 ตัน ในปัจจุบัน มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา เช่น เขตหวงห้ามทำการประมงชายฝั่ง, เขตหวงห้ามฤดูกาลปลาวางไข่ ถูกมองว่า ไม่เพียงพอ และในทางปฏิบัติ ไม่สามารถป้องกันได้จริง ขณะที่กฎหมายออก มาตั้งแต่ปี 2558 แต่กลับยังไม่มีการบังคับใช้ หรือออกประกาศตามมาตราดังกล่าว

ทางฝั่งของ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่อ้างอิงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน และ ประมงพาณิชย์ ได้ข้อสรุป ว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่กับการออกประกาศตาม มาตรา 57 เพื่อกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน พวกเขา มองว่า มาตรา 57 เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ออกในยุค คสช. เห็นว่า มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง

นอกจากนี้ยัง มีอีกหลายข้อกำหนดเพื่อป้องกันอยู่แล้ว เช่น เขตหวงห้ามทำการประมงชายฝั่ง, การกำหนดเขตอนุรักษ์ทางทะเล(อุทยานแห่งชาติ) และ เขตหวงห้ามฤดูกาลปลาวางไข่ ซึ่ง ช่วงปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่ 3 เดือน ประมงพาณิชย์ไปทำประมงนอกเขตหมด ซึ่งมาตรการเหล่านี้ เพียงพอที่จะหยุดการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนอยู่แล้ว

การกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ฉบับใหม่ 23 จังหวัดชายทะเล

ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงขึ้นมา เมื่อกฎกระทรวง กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ฉบับใหม่ 23 จังหวัดติดทะเล มีผลบังคับใช้ ช่วงปลายปี 2565 ถัดจากนั้นไม่นาน ช่วงต้นปี 2566 ก็ปรากฎข่าวใหญ่ เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบุ มีเรืออวนลากคู่จำนวน 27 ลำ บุกรุกเข้าทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ขณะเดินทางไปตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

โดยตัวแทนกลุ่มประมงอวนลากคู่ ซึ่งอ้างว่าเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่กลุ่มหนึ่ง ออกมาคัดค้าน ระบุว่า กฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน ได้รับความเดือดร้อน เรือประมงขนาดเล็กที่ทำประมงชายฝั่ง ไม่สามารถทำประมงน้ำลึกได้ เพราะหากออกไปจับปลาเกินกว่าที่กำหนด ก็จะผิดกฎหมาย และอาจถูกปรับ ในจำนวนเงินที่สูง ขณะที่พื้นที่ทำการประมงทะเลชายฝั่ง ส่วนใหญ่ในจังหวัด ยังเป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ จึงอยากให้เห็นใจชาวประมงพื้นบ้าน และทบทวนประกาศกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้

ทางด้าน ภาคีเครือข่ายประมงพื้นบ้าน มีทั้ง สมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสมาคมรักเลอันดามัน คัดค้านการทบทวนกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง เพราะได้พิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายบนหลักการเพื่อเป็นการปกป้องทรัพยากรที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ พร้อมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาล และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เร่งติดตามชี้แจงผลดำเนินคดีอวนลากคู่รุกอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล เช่นเดียวกับการเรียกร้อง ให้ตรวจเข้มการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ครอบคลุมตลอดเขตชายฝั่งอันดามัน และทะเลไทย  เพราะทรัพยากรทางทะเล ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมลงอย่างมาก แค่เฉพาะเรืออวนลากที่ถูกจับ แม้มีเพียงจำนวน 5% จากเรือทั้งหมดในประเทศไทย แต่กลับมีปริมาณการจับรวมมากถึง 50% ของยอดจับสัตว์น้ำทั้งหมด

การใช้อวนล้อมจับ ที่มีขนาดช่องตาอวนต่ำกว่า 2.50 ซม.ทำประมงในเวลากลางคืน

ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามเมื่อพบว่า ร่างแก้ไข พ.ร.ก.การประมง โดยเฉพาะฉบับของ พรรคก้าวไกล ได้เปิดช่อง ให้สามารถนำเครื่องมืออวนล้อมจับ มาใช้ได้อีกครั้ง จากเดิมที่เรื่องนี้ถูกห้ามใช้มาตั้งแต่ปี 2526 และ ยืนยันการห้ามใช้มาตลอดในกฎหมายประมงทุกฉบับ  เนื่องจากเป็นการทำประมงทำลายทรัพยากรอย่างรุนแรง กวาดต้อนพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน 

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ยังส่งผลให้สัตว์ทะเลลดลง เช่น ปลาทู ลดหายไปอย่างรวดเร็ว, ปูม้าลดน้อยลง จนรัฐ และหลายฝ่ายต้องมีเงินอุดหนุนเพื่อทำธนาคารปูม้า จึงฟื้นกลับมาในปัจจุบัน 

นี่กลายเป็นคำถามจากฝั่งภาคประชาสังคม ที่ติดตามการแก้ปัญหา การทำประมงเพื่อความยั่งยืน ว่า มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเปิดช่องให้การอนุญาตใช้เครื่องมือชนิดนี้กลับมาอีกครั้ง 

ระบบติดตามเรือประมง

เรื่องนี้เป็นข้อถกเถียง จากร่างแก้ไข พ.ร.ก.การประมง แทบทุกฉบับ ได้เสนอแก้ไขกรณีการติดตั้งระบบติดตามเรือ โดยเปลี่ยนจากคำว่า “ระบบติดตามเรือ” เป็น “การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือ”

นำไปสู่คำถามจากเครือข่ายภาคประชาชน ที่ผลักดันเรื่องการทำประมงเพื่อความยั่งยืน ว่า อุปกรณ์ติดตามเรือที่ว่า หมายถึงอะไร และสามารถที่จะตอบสนองตามเจตนารมย์ของกฎหมายนี้ เพื่อให้เรืออยู่ในการกำกับควบคุม มีระบบติดตามเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานประมง และ การตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ครอบคลุมหรือไม่

ยกเลิกโทษริบเรือ

ก่อนหน้านี้ ร่างแก้ไข พ.ร.ก.การประมง แทบทุกฉบับ ได้เสนอแก้ไขยกเลิกโทษ ‘การริบเรือ’ ซึ่งจากเดิม ใน พ.ร.ก.ประมง ปี 2558 กำหนดให้เรือเป็นของกลางอย่างหนึ่ง ในการกระทำความผิด แต่ร่างกฎหมายใหม่ กลับตัดการริบเรือออก ทั้งที่มาจากการกระทำความผิด

กลายเป็นเป็นคำถาม ว่า เป็นการเอื้อให้เกิดการกระทำความผิดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะจากกฎหมายเดิม ตามความเป็นจริง ก็ยังไม่มีการริบเรือ เพราะเปิดช่องให้มีการวางเงินประกันได้ แต่หากยกเลิกโทษนี้ไป จะทำให้ผู้กระทำผิด หรือทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ต้องเสียอะไรเลย รวมถึงเงินประกัน จะยิ่งทำให้เอื้อต่อการกระทำผิดมากขึ้นหรือไม่

นี่เป็นเพียงประเด็นร้อน และประเด็นปัญหาบางส่วน ที่เป็นข้อถกเถียง แต่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ว่าที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะรัฐบาลผสม ที่ต้องพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอจากหลายฝ่าย เพื่อพิจารณาตกผลึกเป็นนโยบายที่ตอบสนองประโยชน์คนทั้งประเทศอย่างแท้จริง

เพราะเรื่องทรัพยากรทางทะเล เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ร่วมกันเป็นเจ้าของ และต้องช่วยกันทำให้การทำประมงเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนได้จริง อย่างที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ MOU ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง 8 พรรค 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active