“พื้นที่ปลอดภัย” ในวันที่สังคมฟังกันน้อยลง ยังมีอยู่หรือไม่

ความรุนแรงในสังคมที่มาจากปัญหาสุขภาพจิต ได้รับการยืนยันแล้วว่ากำลังเป็นระเบิดเวลาของสังคมไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือป้องกัน แต่ภายใต้ทรัพยากรสาธารณสุขที่มีอยู่อย่างจำกัด การรับฟัง คือเครื่องมือที่ถูกและทรงพลังที่สุด

แต่น่าแปลกที่ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยชอบพูด แต่ไม่ถนัดเรื่องการรับฟัง

8 ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะถึงวันสุขภาพจิตโลก บริเวณชั้น 4 ของสามย่านมิตรทาวน์ เปิดพื้นที่เป็นวงเล็ก ๆ พร้อมเก้าอี้ 4 ตัว ให้กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสร้างแรงบันดาลใจด้านสุขภาพจิต ร่วมสะท้อนใน 4 ประเด็นสำคัญเพื่อสร้างให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการรับฟัง พื้นฐานในการสร้าง ระบบนิเวศสุขภาพจิต

รัศมีแขเจมส์ ฟอเกอร์ลุนด์ฟ

ศิลปินนักแสดง 

พื้นที่ปลอดภัยในมุมมองของตัวเองคืออะไร 

คนที่เราไว้ใจได้ เข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น แข จะถูกบูลลี่มาตั้งแต่เด็ก ๆ ดังนั้นก่อนจะหาพื้นที่ปลอดภัยต้องหาบุคคลที่ปลอดภัยก่อน ซึ่งบางทีเราหันไปในครอบครัวมันไม่มี สองที่โรงเรียนอาจารย์หรือผู้ดูแลบางทีเราอาจจะมองคนบุคคลเหล่านี้คือบุคคลที่ปลอดภัย สามารถช่วยเราได้ แต่ว่าการเป็นเด็กมันยาก

ดังนั้นมากกว่าพื้นที่ที่ปลอดภัยบุคคลที่ปลอดภัยต้องทำหน้าที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือครู และพอเราโตขึ้นด้วยผลกระทบจากที่โดนมาเยอะเราจะเริ่มหาพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น พี่ต้นหอม พี่ลูกเกด คนพวกนี้คือพื้นที่ปลอดภัยของแข แต่ถามว่าสามารถรักษาตรงนั้นได้ไหมไม่ได้ แขก็ยังมองหาพื้นที่ที่ปลอดภัยต่อไป เช่น การเจอคุณหมอ จิตแพทย์ นักจิตบำบัด ซึ่งส่วนตัวที่อยู่ประเทศสวีเดนจะมีองค์กรที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งเรื่องราวพวกนี้จะถูกเผยแพร่ในโรงเรียนให้เด็กทุกคนได้รู้ว่าถ้ารู้สึกว่าถูกบูลลี่ไม่ไหวยังไง ยังมีที่ปลอดภัยที่พร้อมจะรับฟัง

พื้นที่ปลอดภัยแบบไหนที่คนจะต้องการ 

ต้องยอมรับว่าการถูกบูลลี่เป็นแผลทางจิตใจ ต่อให้เราจะโตขึ้นมีประสบการณ์มากขึ้น แต่เมื่อเกิดอะไรกระทบกระเทือนแผลนั้นก็มักจะออกมาเสมอ ไม่ได้ถูกรักษาหายไปไหน และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแขก็คือ พื้นที่มีคนที่จะสามารถรับฟังในเรื่องพวกนี้ได้ และทำความเข้าใจ แขจะเจอมาตลอดเรื่อง ดำ ไม่สวย ถึงในใจเรารู้ว่าผิวสวยมากเราเพิ่งไปเดินแบบมา แต่คนที่เคยถูกด้อยค่ามันจะต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะมาก ๆ พอเราเกิดด้อยค่าตัวเองแล้วมันจะมีเกิดเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วทำให้เกิดอาการที่อาจจะเกลียดตัวเองไปเลยก็ได้

“เพราะฉะนั้นพื้นที่ปลอดภัยของแขก็คือคนในครอบครัวก่อน ที่เรารู้สึกว่าเรารักเขาจริง ๆ แล้วเราไม่อายที่จะพูดสิ่งพวกนี้ให้เขาฟัง และการรักษาจิตแพทย์เป็นหนึ่งคนที่รู้สึกว่าเราอยู่ตรงนั้นแล้วปลอดภัย ที่สามารถระบายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเราได้ แล้วเราสามารถไปต่อกับชีวิตที่มันดำเนินต่อไปได้”  

ฝากอะไรเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ปลอดภัย 

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคิดว่าข่าวสารในสังคมจริง ๆ เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่เราต้องรู้ เราไม่ต้องรู้สึกร่วมแค่รู้เฉย ๆ รู้แล้วทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ การศึกษาที่ประเทศสวีเดนจะมีการอัพเดตทุกครั้งเกี่ยวกับสถานการณ์โลก อะไรที่เกิดขึ้นหรือสถานการณ์ใหญ่ในห้องเรียนเสมอ เพื่อให้เด็กแสดงความคิดเห็น และติดตามเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องยิงที่พารากอนเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่จะยกขึ้นมาพูดในโรงเรียน แล้วถ้าครูบอกเด็กได้ว่าบทสรุปสุดท้ายคืออะไร เช่น ในวันที่พ่อแม่ (เยาวชนอายุ 14 ปี) ไปเจอแม่ผู้เสียชีวิต อยากให้คุยกันให้เข้าใจว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น บาดแผลที่เกิดขึ้น ถูกส่งต่อไปหาใครบ้าง และทุกอย่างเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เราทำหน้าที่ส่งต่อว่าโลกเรามีคนหลากหลายมากมายเราควบคุมคนอื่น ๆ ไม่ได้ แต่เราจะใช้ชีวิตอยู่ยังไงกับคนเหล่านี้แล้วเราก็ปลอดภัยด้วย

การเข้าถึงที่ดี คือ เราไม่ต้องเลือกว่าเราจะเสียเงินรักษาสุขภาพจิต หรือเอาไว้กินข้าว แต่วันนี้มันไม่ใช่ ทำยังไงให้การเขียนโครงการป้องกัน ดูแลจิตใจของคน สอดแทรกเข้าไปในทุกๆ เรื่อง เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่ย่าน ดนตรี อย่าทำให้การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องมีมูลค่า“

การเข้าถึงที่ดีขึ้น – รศ.ทวิดา กมลเวชช
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

การเข้าถึงที่เป็นธรรมคืออะไร 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คน ๆ หนึ่งรู้สึกไม่สบายใจ มีปัญหารุมเร้าไม่ไหว อยากจะมีใครสักคนรับฟัง ไปนั่งข้าง ๆ ถ้าเราทำให้คนทุกคนฟังกันเป็น แต่ตอนนี้สังคมไม่ใช่ ในฐานะรัฐบาลก็ต้องทำทุกวิถีทางให้เมื่อไหร่ก็ตามที่คนรู้สึกมีความเครียดหรือรู้สึกไม่สบายใจมีหน่วยบริการมีสถาน พยาบาล มีช่องทางหรือแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ตาม ให้มีสิ่งที่เขาพึงใจที่จะเอาความไม่สบายไปสถานที่เหล่านั้น เพื่อทำให้มันลดระดับลง 

ระบบบริการสุขภาพจิตในประเทศไทย 0-10 ให้คะแนนเท่าไหร่

ถ้าถามวันนี้คำตอบต้องไม่เกินกว่า 5 แน่ ๆ เพราะขีดความสามารถในการให้บริการกับปัญหาต่างกันเยอะ แต่ตอนนี้เรากระตือรือร้นเรื่องนี้มากเพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามอย่างมากในการทำให้ครูในโรงเรียน เพื่อนนักเรียนด้วยกัน หลักสูตรที่พยายามทำให้เห็นว่า คนที่ต่างไม่ใช่คนที่ผิด อย่าตัดสินคน ทำความเข้าใจว่าเราหลากหลายได้ ทำให้พื้นที่เปิดมากขึ้น สมมติ 5 ปี ผลิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สังคมยอมรับความหลากหลาย 5 ปี มีหวัง

“เรื่องของการแก้ปัญหาที่ปลายทางเราคุยกันจบแล้วแต่ไม่ใช่ไม่ทำ แต่มันไม่ง่ายในฐานะคนทำ ถามว่ามีเงินไหม สปสช. มีเงินเยอะมากในการสนับสนุนในด้านการส่งเสริมสุขภาพจิต แต่มีคำถามใหญ่ ๆ คือ อย่าทำโครงการแบบหว่านไปทั่ว สถาบันวิชาการช่วยเราหน่อย ออกแบบโครงการที่เกี่ยวกับสุขภาพวะทางจิต ใช้เงินเท่าไหร่ไม่ว่าขอให้เป็นกิจกรรมที่มีน้ำหนัก เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก แซนด์วิชเจนเนอเรชัน การันตีเรื่องของการวัดผลเสร็จแล้วเอามาเชื่อมกับภาคประชาชนที่เหมาะกับบริบทพื้นที่ทำได้ทั้งนั้น ย้ำว่าเงินทุนไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการออกแบบให้กิจกรรมที่ทำมีคุณภาพ ประสิทธิผลจริง สอดแทรกเข้าไปในทุก ๆ เรื่อง เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่ย่าน ดนตรี อย่าทำให้การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องมีมูลค่า“

สร้างภูมิคุ้มกัน – อแมนด้า ออบดัม

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020, ผู้ก่อตั้งแคมเพน Have You Listened 

จิตใจต้องมีภูมิคุ้มกันแค่ไหน 

ในสังคมไทยคิดว่าคนกลัวที่จะล้ม แต่การล้มไม่ได้แปลว่าเราจะผิดพลาด แต่คือขั้นตอนที่จะทำให้เรามีทักษะที่จะไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้นคอยให้กำลังใจตัวเอง  Have You Listened เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพราะเราเคยร้องขอความช่วยเหลือ และรู้สึกว่าไม่มีใครฟังเลย ตอนนั้นรู้สึกผิดหวังมากหรือว่าเสียงของเราไม่ดังพอไม่สำคัญพอ เลยหันกลับมาว่าเราจะรณรงค์เรื่องสุขภาพวะทางจิตให้เป็นเรื่องสำคัญ 

จัดการกับความกดดัน กลัวความล้มเหลวยังไง

ช่วงประกวดบอกได้เลยว่ากดดันมาก กดดันตัวเอง กดดันจากคนรอบข้าง รวมถึงแฟน ๆ นางงาม อย่างหนึ่งที่นำมาใช้และอยากบอกทุกคนเพราะเป็นสิ่งที่พลิกชีวิต คือ การใจดี ไม่ใช่ต้องการการใจดีจากคนอื่น แต่คือการใจดีต่อตัวเอง เสียงข้างในหัวของเราเป็นเสียงที่สำคัญที่สุด 

“ก่อนหน้านี้ด้าเป็นคนกดดันตัวเอง ตื่นเช้าต้องถามตัวเองว่าทำไมทำได้แค่นี้ ทำไมไม่ดีกว่านี้ ดูคนนั้นสิเก่งกว่าเราเยอะเลย และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าทำไมเราใจร้ายกับตัวเองแบบนี้ ทำไมต้องพูดจากับตัวเองแบบนี้ ทั้งที่คนรอบข้างยังไม่ใจร้ายกับเราขนาดนี้ จึงเหมือนเปลี่ยนเสียงในหัวของตัวเอง เป็นแค่นี้เป็นแค่นี้ก็เก่งมากแล้วนะ ไม่เป็นไรเดี๋ยวพรุ่งนี้เอาใหม่ เหนื่อยบ้างก็ได้ไม่เห็นเป็นไรเลย ความกดดันหายไปเลย แม้ว่าคนรอบข้างจะกดดันเราอยู่ ก็ไม่สามารถทำอะไรเราได้เพราะในใจเรายังโอเคอยู่ ทุกคนอาจจะคิดว่าทำได้จริงหรือ แต่พูดจากประสบการณ์ของด้า คือทำได้จริงๆ มันคือการให้กำลังใจตัวเอง โลกนี้น่ากลัวมากพอแล้วคนใจร้ายมากพอ เราอย่าเป็นหนึ่งในนั้นที่มาใจร้ายกับตัวเราเองเลย”

สร้างภูมิคุ้มกันให้คนอื่นได้อย่างไรบ้าง 

การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเราเอง แล้วถ้าทุกคนทำหมดก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ และอยากจะให้ความสำคัญกับการรับฟังคนข้าง ๆ เพื่อน ครอบครัว บางทีอาจจะกำลังเรียกร้องขอความช่วยเหลืออยู่ก็ได้ บางทีเขาอาจจะไม่ไหวอยู่แต่ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นเริ่มจากตัวเราเองเป็นผู้รับฟังที่ดี ถามว่าวันนี้เธอเป็นยังไงบ้าง? สบายดีไหม? ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ สังคม ชุมชน จะเกิดพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

“วันที่เราตัดสินใจว่าจะเป็นตัวของตัวเอง จะมีทั้งคนที่ชอบ ไม่ชอบ เกลียดเรา แต่อย่าลดแสงของตัวเอง ใครไม่โอเคกับเรา แต่เราโอเคกับตัวเองมาก และเป็นเรื่องธรรมชาติสุดๆ”

การสื่อสารเชิงบวก เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

นักจิตวิทยาบำบัด, นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตบำบัดอัตถิภาวนิยม, นักขับเคลื่อน และศิลปิน

เส้นของเสรีภาพและล้ำเส้น 

สิ่งที่เราเห็นคือคน ๆ หนึ่งไม่ได้สนใจคอมเมนต์ตัวเองมากนัก ทิ้งถ้อยคำเกลียดชังไว้ในโลกออนไลน์ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือคนที่อ่านคอมเมนต์บางทีใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะลืมได้ บางคนเป็นปี หรือเจนเนอเรชัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราพิมพ์อะไรหรือส่งอะไรออกไปจะเกิดผลกระทบต่อคนอื่นแน่นอน แต่เขื่อนจะพูดตลอดว่าเราห้ามปากใครไม่ได้ ไม่สามารถบังคับว่าคนอื่นรู้สึกยังไงได้ และไม่สามารถบังคับตัวเองให้รู้สึกยังไงได้ แต่เราจะควบคุมตัวเราว่าจะตอบโต้กลับอย่างไรได้บ้าง โดยไม่ทำร้ายคนอื่นต่อ หยุดส่งบาดแผลและสามารถช่วยดูแลคนอื่นในโลกโซเชียลได้เหมือนกัน

สมมติคนเดินมาหา บอกว่าเขื่อนสาว ผิดเพศ สงสารพ่อแม่จังเลย บางคนได้ยินถ้ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคำเหล่านี้เขาก็โกรธ แต่ถ้าเป็นเขื่อนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคำว่าสาว อย่างที่สองเขื่อนรู้ว่าพ่อแม่ภูมิใจกับเขื่อนมาก และสามเขื่อนรู้ว่าเขื่อนไม่ได้ผิดเพศเขื่อนรู้ว่าเขื่อนเป็นใคร ทำอะไร พูดอะไร รับผิดชอบทั้งความรู้สึก คำพูด และการกระทำของตัวเองเพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดมาทำอะไรเขื่อนไม่ได้ สิ่งที่เธอพูดเธอไม่ได้พูดกับฉัน เธอกำลังพูดกับประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นกับเธอ ฉันเป็นกระจกให้เธอพอดีแค่นั้น 

ที่สำคัญคือเราให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์ ทุกคนต้องกดไลค์ ยอดวิวเยอะ แปลว่าเราจะเป็นที่ถูกรัก แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่เราเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับใครให้มากแค่ไหน แสงในตัวเราที่เป็นตัวของตัวเองก็จะค่อยๆ ลดลง  อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจเรียนรู้ว่าการที่เราโดนคนไม่เข้าใจบ้างโดนเกลียดบ้าง ซึ่งมันโอเคมากและเป็นเรื่องธรรมชาติสุด ๆ”

สังคมควรจะมีมากกว่าจิตแพทย์และคนที่ต้องการพบจิตแพทย์ 

ไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านการฝึกการรับฟังอย่างเข้าใจ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง แต่ก่อนที่เราจะตอบว่าพื้นที่ปลอดภัยคืออะไรต้องถามก่อนว่าอะไรที่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ข้อแรกที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าที่บ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด หลายครั้งที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ต้องไม่ลืมว่าพ่อ-แม่ ก็เป็นเป็นครั้งแรกที่ท่านใช้ชีวิตเหมือนกัน ท่านก็มีบาดแผลที่ไม่ได้รับการดูแลมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็อาจจะไม่พร้อมที่จะรับฟังใครหรือฟัง ได้จริง ๆ และอย่าโทษตัวเองว่าฉันไม่ใช่ลูกที่ดีหรือเปล่าเพราะพ่อแม่ไม่ฟังฉัน หรือบางคนแฟนก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

หน้าที่ของเราคือต้องหาพื้นที่ปลอดภัยให้เจอ ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะหาเจอได้ตอนไหนแต่คือความรับผิดชอบของเราที่ต้องหาให้เจอ คนที่ฟังเราได้ในแบบที่เราเป็น โดยที่เราไม่ต้องรู้สึกดีขึ้น หรือเปลี่ยนเรา ให้คำแนะนำที่ดีที่สุด ให้เราดีขึ้น แค่เขาสามารถอยู่และรับรู้ความรู้สึกเดียวกันที่เราอยู่ด้วยกันได้

“หลายคนจะถามว่าการเป็นผู้ฟังที่ดีทำยังไง แล้วเราจะให้คำตอบที่ดีที่สุดได้ยังไง เขื่อนจะบอกว่านี่เป็นเรื่องที่ทำยากแต่เป็นเรื่องพื้นฐาน เวลาเราฟังใครทุกคนจะนั่งโฟกัสว่าเราจะตอบยังไงให้เป็นคำตอบที่ดีที่สุด หรือจะตอบยังไงให้เขารู้สึกดีที่สุดหรือให้ตัวเองรู้สึกดีที่สุดว่าได้ช่วยเพื่อนแล้ว ถ้าเรารู้สึกแบบนั้นการฟังหายไปแล้วเพราะแปลว่าเราไม่ได้ฟังเพื่อเขา แต่เราฟังเขาเพื่อตัวเอง ซึ่งข่าวดีคือความรู้สึกที่ไม่ดีสุดท้ายต้องออกไป ไม่มีความรู้สึกไหนอยู่กับเราตลอดไป แต่ข่าวร้ายเช่นกัน ความสุข มาแล้วก็ไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตอนมีความสุขถ้าไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายใครมีความสุขอยู่กับมันให้”

เขื่อน ทิ้งท้ายการสื่อสารเชิงบวกว่า รู้สึกเท่ากับรู้สึก ตอนนี้สังคมติดนิสัยว่าตัวเองเครียดพอหรือยังที่จะไปขอความช่วยเหลือ พอหรือยังที่จะพบจิตแพทย์ หรือให้คนมาบอกเราว่าคิดเยอะไปคิดน้อยไป รู้สึกเท่ากับรู้สึก อย่าให้ใครมาตัดสินเราว่าเราควรจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ ถ้าไม่ไหวแล้วขอความช่วยเหลือเลย เพราะเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่พูดถึงได้ไม่น่าอาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์