อีกเพียงไม่กี่วันก็จะผ่านพ้นเดือนสิงหาคม…
เป็นอีกเดือน ที่มีหลากหลายเรื่องราวให้ได้ติดตาม หยิบยกมาพูดคุย ถกเถียง ตั้งคำถาม และมองย้อนบทเรียนที่ผ่านมา
หนึ่งในนั้น คือ มติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่เผลอครู่เดียว ก็ผ่านมาครบ 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษแล้ว
หากเปรียบกับชีวิตมนุษย์ ก็ถือเป็นก้าวย่างที่กำลังเติบโตเตรียมเข้าสู่วัยรุ่น ที่พร้อมจะสร้างสรรค์ เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดยั้ง นั่นทำให้เกิดคำถามว่า การเดินทางมาถึง 10 ปีของมติ ครม. นี้ นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาคนอยู่กับป่า การพิสูจน์สิทธิ คืนสิทธิ และรับรองสิทธิชุมชน รวมถึงคุ้มครอง ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
ก่อนจะไปหาคำตอบ ย้อนกลับมาทบทวนกันก่อน ถึงการกำหนดเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายสำคัญของการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553
โดย เขตวัฒนธรรมพิเศษ หมายถึง พื้นที่ที่ชุมชนธำรงวิถีชีวิตบนฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาตามประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง ที่ผสานเข้ากับความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นที่เป็นบริบทปัจจุบัน มีนัยของความพอเพียง ความมีคุณธรรมจริยธรรม การอนุรักษ์ และความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินวิถีชีวิต
10 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ จำนวน 12 พื้นที่ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งหมด ส่วนกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล มีการเสนอพื้นที่นำร่อง โดยได้ศึกษาข้อมูลและศักยภาพของทั้ง 10 พื้นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศสถาปนาพื้นที่อย่างเป็นทางการ
สำหรับการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้ง 12 พื้นที่ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษนำร่อง ประกาศพร้อมกับแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 โดยแต่ละพื้นที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษต้นแบบในด้านต่าง ๆ
- บ้านหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษต้นแบบในด้านการจัดการผลิต หรือการทำมาหากิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ บนฐานประเพณีวัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์และมีความยั่งยืน
- บ้านมอวาคี ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษต้นแบบในด้านการจัดการศึกษาโดยชุมชน ที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง
- บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษต้นแบบในด้านการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือฤาษี ซึ่งชุมชนกะเหรี่ยงเลตองคุ เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการนับถือฤาษีมาอย่างเคร่งครัด
- ตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นต้นแบบการจัดการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษในระดับตำบล โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านเรศวร จึงถือเป็นต้นแบบของการจัดการพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ
เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษขยายผล นำเอาหลักการจัดการพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษนำร่องทั้ง 4 พื้นที่ ไปขยายผลในชุมชนกะเหรี่ยง โดยพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษขยายผลนี้ พิจารณาจากเงื่อนไขการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยเฉพาะการดำรงวิถีชีวิตในรูปแบบของการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ประเภท การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในชื่อ “คึฉื่ยของกะเหรี่ยง” เมื่อปี 2556
- บ้านแม่อุมพายใต้ ต.แม่โถ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
- บ้านแม่จอก ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
- บ้านขุนแม่หยอด ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่.
- บ้านสันดินแดง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
- บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษพื้นที่จิตวิญญาณชุมชนกะเหรี่ยง คือ พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษตามการผลักดันของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง เพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษในรูปแบบพื้นที่จิตวิญญาณ
- ชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
- บ้านแม่หมี-แม่ต๋อม ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษต้นแบบการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้มีพื้นที่ต้นแบบการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เพื่อประกาศเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญเชิงนโยบาย ซึ่งฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ได้เข้ามามีบทบาทโดยตรงในการประกาศเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ โดยมีการเสนอพื้นที่นำร่อง 3 พื้นที่
- ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.บ้านพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน สถาปนาแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563
และเตรียมสถาปนาช่วงปลายปีนี้ อีก 2 แห่ง คือ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี และ ชุมชนชาวมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ อ.คุรบุรี จ.พังงา
และ ล่าสุด พื้นที่เขตวัฒนธรรมระดับจังหวัด ในโอกาสครบรอบ 10 ปี มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 จัดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม วิชาการ และภาครัฐ เห็นพ้องเดินหน้าผลักดันจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษยกจังหวัด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดถึงร้อยละ 85.99 ของพื้นที่ ขณะเดียวกันมีประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดถึงร้อยละ 79.3 ส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน จึงหวังเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรด้วยระบบไร่หมุนเวียน ตามหลักจารีตวัฒนธรรม เตรียมประกาศสถาปนาในช่วงปลายปีนี้
12 เขตวัฒนธรรมพิเศษ เดินหน้าสานต่อสู่รูปธรรมแค่ไหน ?
10 ปี กับ 12 เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ มากหรือน้อยอาจไม่ใช่ประเด็น เท่ากับว่าสิ่งที่เดินหน้ากันไปได้ถูกสานต่อแค่ไหน ประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ( มพน. ) กล่าวภายหลังร่วมวง “สรุปบทเรียน 10 ปี กับการสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ” มองว่า 10 ปียังมีความคืบหน้าน้อยมาก สะท้อนให้เห็นปัญหาจากกลไกของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่ของชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตป่าไม้ตามกฎหมายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นป่าอุทยาน และเขตป่าสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องยาก เพราะกฎหมายต่าง ๆ ไม่ได้เปิดช่องให้ชุมชนเหล่านี้ สามารถใช้ชีวิตให้เป็นไปตามวิถีของพวกเขา เช่นไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ เพราะผิดกฎหมายอุทยานฯ
ที่อาจจะคลี่คลายขึ้นบ้าง ก็คือการที่รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภาพรวมตามมติ ครม.นี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะยึดหลักการแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ในภาพรวมทั่วประเทศเหมือนการตัดเสื้อโหล ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้กับชนเผ่าต่าง ๆ หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ได้ โดยหลักการใหญ่ของมติ ครม. หรืออำนาจรัฐตามกฎหมายต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ อยู่บนพื้นฐานการมองว่าประชาชนหรือชาวบ้านที่อยู่บนพื้นที่ป่าของรัฐทั้งหมด คือ ผู้บุกรุก ส่งผลให้มาตรการที่ออกมา อยู่บนหลักคิดเรื่องการอนุญาต ไม่ใช่เรื่องของการ รับรองสิทธิ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
เช่นเดียวกับการแก้ไขกฎหมายป่าอนุรักษ์ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 และ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ตอนที่รัฐบาลและ สนช.พิจารณา ตั้งหลักว่าจะทำให้คนอยู่กับป่าได้ ชนเผ่าชาติพันธุ์ทั้งหลายจะอยู่กับป่าได้ โดยใช้แนวทางตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 แต่กลับสร้างความผิดหวังอย่างมาก
“หลักคิดของการแก้ไขกฎหมาย ยังเป็นหลักคิดเดิม คือ คนอยู่กับป่า คือ คนบุกรุก ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้คนอยู่กับป่าต้องยอมรับสภาพ หรือไปมอบตัวภายใน 240 วัน และเข้าสู่กระบวนการอนุญาต ซึ่งผิดหลักของมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ที่ให้เป็นการพิสูจน์สิทธิ คืนสิทธิ และรับรองสิทธิให้กับชุมชนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นหลักคิดที่ขัดแย้งกันของรัฐ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนตัวมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เป็นไปได้ยาก”
ไม่มองอุปสรรคด้านเดียว แต่มองย้อน สะท้อนปัญหาที่เกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์เองด้วย
อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า จากการรับฟังภาพรวมสรุปบทเรียน 10 ปี มติ ครม. นี้ นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ต้องนำมติ ครม. นี้ไปปฏิบัติ ยังขาดความเข้าใจ หรือแม้บางส่วนจะเข้าใจ แต่ด้วยสถานภาพของตัวมติ ครม. เป็นแค่แนวปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็มีมติ ครม. อื่น ๆ รวมถึงหลักปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับ ที่มีแนวปฏิบัติสวนทางย้อนแย้งกับมติ ครม. ดังกล่าว จึงสร้างความสับสน และเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันเดินตามหลักมติ ครม. นี้ให้สำเร็จได้แล้ว
อีกส่วนที่ต้องยอมรับ คือเป็นปัญหาจากกลุ่มชาติพันธุ์เองด้วย เพราะแม้จะผ่านมา 10 ปี แต่กลุ่มชาติพันธุ์บางส่วน ก็ไม่ได้เข้าใจในมติ ครม. ดังกล่าว ว่ามีความสำคัญ หรือจะสามารถเอามติ ครม. นี้ ไปใช้เป็นประโยชน์เพื่อต่อรอง หรือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้หน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามมติ ครม. นี้อย่างไร เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นข้อจำกัดให้มติ ครม. นี้ ไม่สามารถสำเร็จเป็นรูปธรรมได้
“ชุมชนชาติพันธุ์เอง ต้องมีความเข้าใจในมติ ครม. เข้าใจคำว่าพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ และความเข้มแข็งในชุมชน ที่จะร่วมกันผลักดัน เขตวัฒนธรรมพิเศษหรือมติ ครม.นี้ ก่อน เพราะว่าถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง ต่อให้ประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษได้ หรือมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ ความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น มันก็จะมีแค่แกนนำที่เดินหน้า แต่สุดท้ายชุมชนไม่เข้าใจ มันก็ไปไม่ตลอดรอดฝั่ง”
เงื่อนไขสำคัญ นำไปสู่การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษสำเร็จเป็นรูปธรรม
การถอดบทเรียนจากพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ 12 พื้นที่ ใน 10 ปีที่ผ่านมา อาจารย์อภินันท์ ระบุถึง ข้อสรุป หัวใจ หรือเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษมันเกิดขึ้นได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสำคัญ 4 ข้อที่เชื่อมร้อยกัน
- ความเข้มแข็งชุมชน ชุมชนต้องเห็นความสำคัญ ทุนวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะใช้ในการจัดการปัญหาตัวเองได้ พื้นฐานที่สุด คือ รู้จักชุมชนตัวเองมากพอ และภูมิใจ เห็นคุณค่าของมัน และใช้ประโยชน์จากความรู้ หรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้น
- สร้างแนวร่วม แค่ความเข้มแข็งชุมชนยังไม่พอ เพราะชุมชนชาติพันธุ์ เป็นชุมชนคนชายขอบ อำนาจต่อรองน้อย ต้องอาศัย กลไกสำคัญ คือการสร้างแนวร่วม 2 ลักษณะ คือการสร้างแนวร่วมกับหน่วยงาน โครงสร้างต่าง ๆ ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ไม่มองเป็นคู่ต่อสู้ หรือฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการเครือข่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกัน เช่น ชุมชนที่เตรียมประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ อาจจะเรียนรู้จากพื้นที่ที่ประกาศมาก่อน ว่ามีปัญหาอะไร หรือสำเร็จได้เพราะอะไร
- จำเป็นต้องสร้างพื้นที่รูปธรรม หรือตัวอย่างที่ให้เห็นชัดว่าเป็นพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษแล้ว เขาสามารถจัดการตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พืชผลทางการเกษตรตามวิถี เช่น ไร่หมุนเวียน ที่สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จริง หรือสามารถทำให้การจัดการทรัพยากรป่าไม้มีรูปธรรมชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดการไฟป่าของชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ จ.ลำพูน
- การสร้างองค์ความรู้ คือต้องมีองค์ความรู้ท้องถิ่น ทุนความรู้ตามภูมิปัญญาเดิม ที่ชุมชนหยิบจับมาใช้ แต่นอกจากใช้ทุนตัวเองแล้ว ยังต้องหาทุนเองจากข้างนอกด้วย ขยายขอบเขตความรู้ เช่น ความเข้าใจในมติ ครม. ความรู้ในการจัดการทรัพยากรที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ถ้าชุมชนสามารถเอาความรู้ของตัวเองไปผสมกับความรู้ข้างนอก และอธิบายเป็นความรู้ที่คนอื่นเข้าใจได้ จะเป็นเงื่อนไข ทำให้กระบวนการขับเคลื่อนมีโอกาสสำเร็จ
ทำไมยังต้องยกระดับดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ในฐานะ หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เห็นว่ารูปธรรม ที่จะทำให้เห็นความชัดเจน ในแง่ของการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องทำงาน 2 ส่วน ส่วนแรก คือการวางรากฐานของชุมชน ให้มีการจัดการที่ดีมีความเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อวางรากฐานแบบนี้ไว้แล้ว ส่วนที่สองต้องไปเปลี่ยนกลไกของรัฐ คือการออกกฎหมายที่จะช่วยให้การทำงานของภาคประชาชน ได้รับการยอมรับ หรือมีความชอบธรรมมากขึ้น
เพราะทุกวันนี้แม้ว่าชุมชนจะสามารถสร้างรูปธรรม ทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน แต่ว่าอาจยังไม่มีความชอบธรรม อาจจะถูกมองว่า ชุมชนทำกันเอง แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ หรือมาตรการใดมารองรับมัน
ดังนั้นถ้ามีกฎหมาย จะทำให้กระบวนการเหล่านี้ เดินหน้าต่อ อาจขยายพื้นที่เพิ่มเติม จากที่นำร่องไปแล้วใน 12 พื้นที่ หรือในทุกชุมชนชาติพันธุ์ สามารถเอาหลักการเหล่านี้ไปใช้ในการขยาย คือมติ ครม.สร้างพื้นที่ต้นแบบไว้ พอมีกฎหมายจะขยายผล เข้าถึงทุกชุมชน มันเหมือนการประกาศหลักการกลาง ทุกคนเอาไปอ้างอิงและใช้ได้
ฉะนั้น เมื่อยกระดับมติ ครม. ซึ่งเป็นแค่แนวนโยบายไปสู่กฎหมาย สาระสำคัญที่สุด จะช่วยในการไปเน้นย้ำ ไปส่งเสริม สิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เกิดความมั่นใจว่าเขามีสิทธิ สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองอย่างเป็นรูธรรมมากขึ้น
“แต่อยากจะย้ำว่า การมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็น พ.ร.บ.ที่จะให้สิทธิพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ และไม่ได้มีสิทธิพิเศษมากขึ้น เพียงแต่เป็นกฎหมาย ที่จะไปส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม ให้กลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ สามารถใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นตัวเอง ในการจัดการตัวเองและเท่าทันกระแสโลกด้วย ไม่ได้หมายความว่าให้เขาอยู่แต่แบบเดิม แต่ให้เขามีทางเลือก หรือมีโอกาสในการที่จะเลือกมิติเงื่อนไขทางวัฒนธรรมในการจัดการตนเอง”
การมีกฎหมายฉบับนี้ ยังช่วยรักษาสมดุลได้ 3 อย่าง คือ 1.วิถีวัฒนธรรมจะได้รับการคุ้มครอง เขาสามารถใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมได้
2. ความสามารถในการจัดการทรัพยากรได้อย่างสมดุลบนฐานวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ขณะนี้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอันนี้ จะเป็นประโยชน์มาก ไม่ใช่แค่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถรักษาวิถีวัฒนธรรมตัวเองได้ แต่จะมีส่วนช่วยสังคมโดยรวม โดยใช้ภูมิปัญญาของพวกเขาในการอนุรักษ์ต้นน้ำได้ และหากเขาสามารถดำรงวิถีแบบไร่หมุนเวียน ที่ไม่ใช้สารเคมีเกษตร มันจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างอาหารปลอดภัย รวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่มีความหลากหลายให้กับคนพื้นราบในสังคมด้วย
3. เมื่อคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดีขึ้น ไม่ต้องถูกขับไล่ย้ายออกจากป่า ไม่ต้องเข้าไปในเมือง ไปเป็นคนจนเมือง ที่มีปัญหาต่างๆตามมา เมื่อพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็จะเป็นกำลังสำคัญร่วมพัฒนาประเทศ
สำหรับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คาดว่าจะจัดทำร่างแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
บทส่งท้าย
กลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับความชอบธรรม และถูกยอมรับมากขึ้นหากมีกฎหมาย แต่จะทำได้ดี ก็ขึ้นอยู่กับชุมชนชาติพันธุ์เองด้วยว่า จะสร้างรูปธรรมบนองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวิถีวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้จริงแค่ไหน