สู่กระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโควิด-19 ระลอก “โอมิครอน”
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอดสองปีที่ผ่านมา “คณะผู้วิจัยในเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)” ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและหลากหลายสถาบันได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านระบาดวิทยา การคิดเชิงระบบ และการพัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบ
จนนำมาสู่การตั้งประเด็นคำถาม 5 ข้อ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ให้สังคมได้ย้อนคิดและร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM)
The Active ชวนทุกท่านมาร่วมค้นหาคำตอบ กับ “5 คำถามที่สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่าน” ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
Q1 : การจัดการการแพร่ระบาดระลอกสายพันธุ์โอมิครอนต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร
จากพื้นฐานความรู้ที่สังคมไทยได้เรียนรู้ร่วมกันว่าสายพันธุ์โอมิครอนมีความแตกต่างจากสายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ใน 2 ประเด็น
1) สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายในชุมชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น
ในปัจจุบันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดกลายเป็นสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว โดยเฉลี่ยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 1 คน มีความสามารถ ตามธรรมชาติในการแพร่เชื้อจนทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่อีกประมาณ 8-15 คน ตลอดระยะเวลาของการติดเชื้อ (ประมาณ 5-10 วัน) หรือมีค่า R0 = 8-15 ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์เดลตาเกือบเท่าตัว (R0 delta =6.5-8) และมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่นถึงประมาณห้าเท่า (R0 Wuhan =2-3)
ความรู้ทางไวรัสวิทยาชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่งมาก ทำให้เราอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ (reinfections) หรือโอกาสติดเชื้อยังคงสูงอยู่แม้ว่าเราจะเคยได้วัคซีนครบแล้วก็ตาม
2) การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงของโรค “โดยเฉลี่ย” ลดลง
แม้ว่าความรู้ทางไวรัสวิทยาจะชี้ว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีและหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เก่ง แต่ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคในผู้ติดเชื้อได้ลดลง และซึ่งน่าจะทำให้อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) ของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2565 นี้ลดลงตามไปด้วย
แต่อัตราป่วยตายที่ลดลงเป็นเพียงค่าเฉลี่ย เมื่อพิจารณาข้อมูลโดยละเอียดแล้ว กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวยังคงมีอัตราป่วยตายที่สูงอยู่มาก ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2565 นี้ หากได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วแต่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับเข็มกระตุ้นแล้วถึง 8 เท่า
การประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน (vaccine coverage) ระหว่างการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทยในช่วงต้นปี 2565 ผู้กำหนดนโยบายอาจจะพิจารณาครอบคลุมของการได้รับวัคซีน เมื่อประชาชนการได้รับวัคซีนขั้นต่ำครบสามเข็ม (รวมวัคซีนเข็มกระตุ้น) มากกว่าการพิจารณาเพียงอัตราความครอบคลุมของวัคซีนเพียงสองเข็ม
ภาครัฐควรพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยได้ในปีนี้อย่างที่คาดหวังไว้
Q2 : การระบาดระลอกนี้ ประชาชนควรระวังอะไรเป็นพิเศษ และควรจะเลิกระวังอะไรได้บ้างแล้ว?
นอกจากเรื่องการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะตกลงแล้ว เราทุกคนควรสนใจปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) โดยเฉพาะเรื่องระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural change) มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงเฉพาะเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดและควรจัดเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับเราทุกคน ยังคงเป็นการช่วยกันทำให้สมาชิกในครอบครัวและชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงแล้วได้อย่างทันเวลา เพื่อลดโอกาสป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ส่วนการรักษาสุขนิสัยที่ประชาชนช่วยกันทำมาตั้งแต่ปีก่อนก็คงต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป
วิธีการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ซึ่งนอกจากสามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอย (droplet) ที่ออกจากการไอจามผู้ติดเชื้อในระยะประมาณ 2 เมตรแล้ว เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ยังแพร่กระจายผ่านละอองลอยในอากาศ (aerosol) ได้ด้วย ดังนั้น แม้จะพยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพแล้ว เราจะยังคงติดเชื้อกันง่ายมากหากอยู่ในที่ชุมชนแล้วเผลอไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือเมื่ออยู่ในสถานที่ซึ่งระบายอากาศได้ไม่ดี
การปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง “ระบบระบายอากาศในอาคารสถานที่ทั่วไป” ควรจะได้รับความใส่ใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง “มาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา” ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีส่วนช่วยสนับสนุนปรับโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อกับวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งจะช่วยประชาชนทุกคนช่วยกันเริ่มกิจกรรมทางสังคมหรือการประกอบอาชีพวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น เราสามารถลดการระมัดระวังการติดเชื้อที่มากเกินไปในระหว่างการทำกิจกรรมบางประเภทพื้นที่สาธารณะ โดยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้ตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด
เช่น การใส่หน้ากากอนามัยระหว่างออกกำลังกายในที่โล่งแจ้งและมีการระบายอากาศได้ดีของบุคคลที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว อาจไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 มากนักเพราะความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อสำหรับผู้ที่ภูมิคุ้มกันสูงอยู่ในสภานการณ์นั้นต่ำมากอยู่แล้ว
ในทางกลับกัน การสวมหน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกายหนักอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมาในหน้ากาก เมื่อออกกำลังกายหนักถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นสามารถช่วยให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคมในวิถีชีวิตใหม่ได้ง่ายขึ้นโดยการกำหนดมาตรการควบคุมโรคระหว่างการใช้พื้นที่สาธารณะตามหลักฐานวิชาการที่มีล่าสุด
Q3 : ทำไมไม่สามารถในการระบุจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมดในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน?
คำตอบที่เรามักจะได้ยินจากผู้กำหนดนโยบายคือ จำนวนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ได้ผลบวก ยังไม่สามารถนับรวมเป็น “ผู้ติดเชื้อใหม่” ตามนิยามสากลได้ จำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยการตรวจ Real Time Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) เสียก่อน ซึ่งหากเรานับตัวเลขทั้งสองส่วนนี้รวมกันโดยตรงจะเป็นการนับซ้ำ เพราะส่วนหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน เป็นผู้ที่เคยรายงานแล้วว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่ายในวันก่อน ๆ
จนถึงวันนี้เรายังคงไม่มีระบบรายงานตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ถูกต้องชัดเจน ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุดในจำเป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาด (Epidemic Curve) ส่งผลให้การประเมินสถานการณ์เพื่อการประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการคาดการณ์จำนวนความต้องการเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักล่วงหน้าอย่างแม่นยำก็ทำได้ยากมากขึ้น
อีกทั้งนโยบายล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่มีปรับแนวทางการรักษาพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 บางส่วนสามารถได้รับการดูแลรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR จะยิ่งทำให้เรามี “การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่าความเป็นจริง” (Underreporting) มากยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ระบบรายงานที่เราใช้อยู่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีเมื่อเรามีการปรับเปลี่ยนนโยบายมาเริ่มใช้ ATK เมื่อกลางปีก่อน
แต่หากเราไม่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เราก็จะไม่สามารถใช้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่เป็นในการวิเคราะห์หาแนวโน้มการระบาดได้ ไม่สามารถประเมินความต้องการระบบบริการสุขภาพทำได้อย่างแม่นยำ การประเมินสถานการณ์เพื่อปรับนโยบายให้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทยเพื่อเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศก็จะทำได้ยากมากขึ้นเช่นกัน
Q4 : ข้อควรระวังสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการระบาดระลอกนี้ได้แก่อะไรบ้าง?
ไม่ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป
เนื่องจากการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อของโรคติดเชื้อมีธรรมชาติเป็นการเพิ่มแบบทวีคูณ (exponential growth) ดังนั้นการติดตามแนวโน้มของจำนวนรายงานผู้ติดเชื้อใหม่หลายวันหรือจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจึงอาจจะไม่ช่วยเตรียมกระบวนการรองรับผลกระทบต่อระบบสุขภาพได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากข้อมูลจากการรายงานผู้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน (reported case) ในสถานการณ์ปัจจุบันน่าจะน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในความเป็นจริงเป็นอย่างมาก (underreporting)
ไม่มีใครทราบว่าผู้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่ และยังไม่มีใครทำการศึกษาจนรู้สัดส่วนผู้ป่วยหนักในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดของสายพันธุ์โอมิครอน หากเราประมาณสัดส่วนผู้ป่วยหนักจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่รายงานด้วยสัดส่วนบางอย่างแล้วต่อมาพบว่าสัดส่วนที่เข้าใจอยู่เดิมห่างไกลจากความเป็นจริง เราจำเป็นต้องคิดคำนวณใหม่ เพราะจะทำให้ผลการคำนวณบางอย่างที่เราสนใจเปลี่ยนไป (โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องการ ICU ในอนาคต) เพื่อที่เราจะได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและเตรียมการทำงานได้อย่างทันท่วงที
เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง underreporting ผู้กำหนดนโยบายควรสนับสนุนให้มีการทำวิจัยเพื่อสำรวจข้อมูลภูมิคุ้มกัน (seroprevalence survey) จะทำให้เรามีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือได้ดีกว่า ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองสถานการณ์ระบาดวิทยาที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งจะช่วยเตรียมกระบวนการรองรับผลกระทบต่อระบบสุขภาพได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น สามารถติดสินใจปรับนโนยบายและมาตรการเพื่อจัดการโรคโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่นในเวลาที่เหมาะสมมากขึ้น
กระบวนการสื่อสารความเสี่ยงต่อสาธารณะ
การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนยังน่าเป็นห่วงสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ถึงระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงมาแล้วและควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ดังนั้น การสื่อสารนโยบายที่สำคัญที่สุดจึงควรเป็นการสื่อสารเพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ตระหนักและเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นได้โดยสะดวก รวมทั้งมุ่งเน้นการสื่อสารให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงซึ่งยังไม่เข้ามารับวัคซีนไม่เกิดการลังเลในการเข้ารับวัคซีน (vaccine hesitancy)
การพัฒนาระบบการสื่อสารและประสานงานระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (The Incident Command System: ICS) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ ศบค. หรือศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินของ สธ. น่าจะช่วยการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อป้องกัน vaccine hesitancy ได้
แต่การสื่อสารความเสี่ยงในประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นการส่งสัญญาณในทิศทางตรงกันข้ามกับประกาศเริ่มดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา (ซึ่งมุ่งเน้นการจัดกระบวนการ “ดูแลรักษาพยาบาล” สำหรับผู้ป่วยที่โรคไม่มีความรุนแรง) หากไม่ระมัดระวังก็อาจจะส่งสัญญาณที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิดได้ว่าโรคโควิด-19 ไม่ได้มีการระบาดรุนแรงแล้วหรือไม่มีความรุนแรงต่อประชาชนทุกกลุ่มแล้ว ไม่เน้นการควบคุมโรคแล้ว เป็นต้น
Q5 : ระบบการจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรเป็นอย่างไร?
การจัดการภาวะสาธารณะฉุกเฉินที่ดีควรจะทำหน้าที่บูรณาการทรัพยากรของทั้งประเทศ (ไม่ใช่เฉพาะทรัพยากรของภาครัฐเท่านั้น) และควรมีกระบวนการทำงานที่ทำหน้าที่แก้ไขทั้งปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าและวางแผนแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการเกิดปัญหาที่เกิดจากภาวะฉุกเฉินในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินของประเทศไทย อาจมีสาเหตุจากแนวโน้มที่ผู้กำหนดนโยบายมีการตัดสินใจที่มุ่งเน้นการตอบโต้ต่อสถานการณ์ (reactive) โดยไม่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสุขภาพ หรือยังไม่ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาที่จุดคานงัดของระบบ (high-leverage points within the systems) ทำให้ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่หลังเริ่มการระบาดใหญ่มามากกว่า 2 ปีแล้ว
การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินของประเทศ โดยมีจุดคานงัดที่สำคัญเพื่อการวางแผนตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิผลมากขึ้น คือ การพัฒนากระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายในภาวะวิกฤตบนพื้นฐานของหลักฐานวิชาการ (evidence-informed policy-making: EIPM)
ตัวอย่างโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินในระดับชาติที่เราควรศึกษาเพิ่มเติม เช่น The Scientific Advisory Group for Emergencies (SAGE) ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เป็นกลไกการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถระดมนักวิชาการทั้งที่อยู่ในระบบราชการ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ให้สามารถมาทำงานวิชาการร่วมกันเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่รอบด้านเพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดการภาวะฉุกเฉิน นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในนามสถาบัน เผยแพร่ต่อสาธารณะด้วยความโปร่งใส ทำงานตามมาตรฐานวิชาการและมีอิสระทางวิชาการ ไม่เป็นเพียงการนำเสนอความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นเพียงการทำงานวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานตามระบบราชการเท่านั้น
ดังนั้น การพัฒนาเวทีหรือช่องทางพื้นฐาน (platform) เพื่อสร้างการสื่อสารระหว่างนักวิชาการผู้ผลิตองค์ความรู้ทางวิชาการกับผู้กำหนดนโยบายที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพอาจจะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างดังกล่าวได้ การมองภาพการระบาดเป็นปัญหาที่ซับซ้อน (complex problem) และการประยุกต์ใช้การคิดเชิงระบบ (systems thinking) และหลักระบาดวิทยา (epidemiology) จึงมีความสำคัญและอาจเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายของระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิผลและยั่งยืน
คณะทำงานแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19
- รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ กรมควบคุมโรค และ International Health Policy Program
- ผศ.ดร.พาส์น ฑีฆทรัพย์ มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด
- ดร.นพ.ปณิธี ธัมมวิจยะ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย มูลนิธิสุขภาพภาคใต้ และสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ผศ.พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย International Health Policy Program
- ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- นพ.ภาณุวิชญ์ แก้วกำจรชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- น.ส.แพรวนภา พันธุ์สวาสดิ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล