ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่มีกระแสทางการเมืองร้อนแรง ทั้งจากเหตุการณ์การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 อันเป็นการประกาศนโยบายที่รัฐบาลจะปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นำมาสู่การพูดถึง วิจารณ์ และสนับสนุนบนโลกโซเชียลมีเดีย
The Active ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านเครื่องมือ Social Listening หรือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 11 ก.ย. 2566 – 31 ธ.ค. 2566 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในปีที่ผ่านมา
ข้อความที่รวบรวมมาได้ส่วนใหญ่ปรากฏบน Facebook เป็นหลัก (52.74%) ตามมาด้วย X หรือ Twitter (22.66%) Youtube (11.69%) และอื่น ๆ (12.91%)
เมื่อนำนโยบายทั้งหมดมาจัดอันดับจำนวนเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ที่สูงที่สุด โดยนโยบายที่ถูกให้ความสนใจมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2566 ดังนี้
อันดับที่ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (18,916,549 เอ็นเกจเมนต์)
‘ซอฟต์พาวเวอร์’ นับเป็นหนึ่งในคำพูดที่มีการพูดถึงอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐบาลชูหนัง ‘สัปเหร่อ’ เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ตามมาด้วยการตั้งคำถามถึงความหมายจริง ๆ ของคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทั้งจาก ธิติ ศรีนวล (ผู้กำกับหนังสัปเหร่อ) และผู้คนบนโลกโซเชียล รวมไปถึงการประกาศซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล เช่น การเล่นสงกรานต์ นอกจากนี้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์ยังปรากฎในหลายบริบทมากขึ้น เช่น เวทีนางงาม การศึกษา
- อ่านเพิ่มเติม : 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์
อันดับที่ 2 ดิจิทัลวอลเล็ต (16,504,506 เอ็นเกจเมนต์)
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และได้รับความสนใจจากผู้คนบนโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 10 พ.ย. 2566 ที่มีการแถลงความคืบหน้านโยบายดังกล่าวซึ่งมีพูดถึงการเปลี่ยนเงื่อนไขของการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตจากที่ตอนแรกจะมีการแจกเงิน 10,000 บาทอย่างถ้วนหน้า รวมถึงกระแสวิจารณ์การออก พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจากเดิมที่บอกว่าจะไม่มีการกู้เงิน
- อ่านเพิ่มเติม : ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
อันดับที่ 3 แก้หนี้ (4,929,350 เอ็นเกจเมนต์)
ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับนโยบายแก้หนี้ โดยให้ความสนใจในช่วงรัฐบาลประกาศพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ในวันที่ 13 ก.ย. 2566 อย่างล้นหลาม ตามมาด้วยการประกาศนโยบายแก้หนี้ครู แก้หนี้นอกระบบ รวมไปถึงการแถลงนโยบายแก้หนี้ทั้งระบบของรัฐบาล
- อ่านเพิ่มเติม : แก้หนี้นอกระบบ, พักหนี้เกษตรกร, แก้หนี้ครู
อันดับที่ 4 สมรสเท่าเทียม (3,921,361 เอ็นเกจเมนต์)
นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มคู่รักเพศหลากหลาย ให้ได้ใช้ชีวิตคู่ภายใต้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง โดยจุดที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์มากที่สุดคือในวันที่ 21 ธ.ค. 2566 จากการอภิปรายและยินดีกับผลโหวตของสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับในวาระที่ 1
- อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
อันดับ 5 ลดภาระค่าพลังงาน (3,698,594 เอ็นเกจเมนต์)
จากการที่ ครม. มีมติลดราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ทำให้เกิดการพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ในวันที่ 13 ก.ย. 2566 ตามมาด้วยการประกาศลดค่าไฟเพิ่มอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 ซึ่งได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน
- อ่านเพิ่มเติม : ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
อันดับที่ 6 แก้รัฐธรรมนูญ (2,442,966 เอ็นเกจเมนต์)
ในช่วงแรก ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับการเปลี่ยนจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล และจุดที่ได้ยอดเอ็นเกจเมนต์มากที่สุดคือ ในวันที่ 16 ก.ย. 2566 ในการย้อนคำพูดของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ที่กล่าวว่า ‘ไม่เคยมีใครสัญญาว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะยุบสภา’ (แต่นายแพทย์ชลน่านเคยพูดไว้) ตามมาด้วยการสมัครเข้าพรรคเป็นธรรมของปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานรัฐสภาคนที่ 1 และกรณีสภาผู้แทนราษฎรคว่ำญัตติเสนอทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่
- อ่านเพิ่มเติม : แก้ไขรัฐธรรมนูญ
อันดับที่ 7 ขึ้นค่าแรง (2,117,182 เอ็นเกจเมนต์)
ผู้คนบนโลกออนไลน์ สนใจการประกาศของ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทให้เร็วที่สุด โดยผู้คนให้ความสนใจในช่วงการเสนอปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการในวันที่ 6 พ.ย. 2566 ตามมาด้วยการประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่และขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ รวมถึงการวิจารณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 400 บาทตามที่ทางรัฐบาลได้เคยพูดไว้
- อ่านเพิ่มเติม : ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
อันดับที่ 8 แก้ปัญหาน้ำ (2,048,051 เอ็นเกจเมนต์)
สภาวะอากาศสุดขั้ว ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งตามมา ผู้คนบนโลกออนไลน์มีการพูดถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมและการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในจังหวัดอุบลราชธานี และน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- อ่านเพิ่มเติม : แก้ปัญหาน้ำ ไม่ท่วม ไม่แล้ง
อันดับที่ 9 อากาศสะอาด (1,933,017 เอ็นเกจเมนต์)
มีการเรียกร้องให้แก้ปัญหา PM 2.5 และสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด จากการเสียชีวิตของนายแพทย์กฤตไท ธนกฤตสมบัติ (เจ้าของเพจ สู้ดิวะ) ด้วยโรคมะเร็งปอด ในวันที่ 5 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด
- อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.อากาศสะอาด
อันดับที่ 10 แก้ไขปัญหายาเสพติด (1,223,730 เอ็นเกจเมนต์)
มีการพูดเกี่ยวกับการประกาศแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยจุดที่คนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การเสนอออกกฎกระทรวง มียาบ้าไม่ถึง 10 เม็ดถือเป็นผู้ป่วย ในวันที่ 30 ต.ค. 2566 ตามมาด้วยกรณีที่ประชุมกระทรวงสาธารณธะสุข มีมติ ครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพและผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัด ไม่ต้องเข้าคุก รวมถึงกรณีแถลงจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดภาคเหนือ ที่ยึดยาเสพติดได้ 10 ล้านเม็ด
นี่เป็นเพียงระยะเวลาการทำงานเพียง 3 เดือนเศษของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการถกเถียงว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ อย่างไรด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้น The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการตรวจสอบที่จะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่อไป