ฝุ่นพิษ ทำอันตรายกับเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง?

ในวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน #ฝุ่นพิษ กำลังคลุมเมือง

แอปพลิเคชัน Air Visual รายงานค่าฝุ่นหลายพื้นที่ ว่ามีดัชนีคุณภาพอากาศ เกิน 200 AQI (Air Quality Index) ซึ่งหมายถึง “เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพมาก” ถึงขนาดต้องใช้หน้ากากกันพิษ เมื่อใช้ชีวิตกลางแจ้ง

แต่หลายโรงเรียน อาจยังมีกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การทำกิจกรรมหน้าเสาธงยามเช้า…

The Active รวบรวมข้อมูลผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลต่อเด็กเล็ก เพื่อร่วมเฝ้าระวังและป้องกันเด็ก ๆ จากเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้าย

ฝุ่นพิษ เด็ก

“ฝุ่นพิษ” ทำอันตรายต่อเด็กเล็กได้อย่างไรบ้าง?

แพทย์ด้านกุมารเวช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลผลกระทบของฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่มีผลต่อ เด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือนักเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินหายใจ และระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ เช่น หลอดลมต่าง ๆ ทำให้ฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปถึงปอดส่วนลึกได้โดยตรง เร็ว และง่ายกว่าผู้ใหญ่

อาการใน ระยะเฉียบพลัน อาจทำให้เด็กมีอาการแสบจมูก แน่นจมูก แสบตา ตาแดง เป็นไข้ได้ ซึ่งหากเด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น หอบหืด หรือภูมิแพ้ อาจอาการกำเริบได้มาก เช่น ภูมิแพ้กำเริบ หรือหายใจเร็ว เฉียบพลัน แน่นหน้าอก หรือในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อง่าย อาจจะมีอาการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าปกติได้

ส่วนระยะยาวของระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้สมรรถภาพปอดลดลง และในระยะยาวกว่านั้น ในบางการศึกษาพบว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้หรือมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้หากเด็กมีการสะสมฝุ่นพิษต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งการพัฒนาการทางสมองของเด็ก สติปัญญาหรือสมาธิได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ไปสู่ระบบประสาทและสมอง โดยฝุ่นที่เข้าไปนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่บริเวณเซลล์ต่าง ๆ ทำให้สารเคมีหรือการทำงานของเซลล์ประสาทผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองหรือสมาธิของเด็กได้

แพทย์ด้านกุมารเวช แนะนำให้ผู้ปกครองพยายามให้เด็กอยู่แต่ในอาคารให้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงให้เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากมีความจำเป็นควรให้สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ได้

และหากผู้ปกครองพบอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือในกรณีที่รุนแรง อาจจะมีลักษณะที่อกหรือช่องตรงซี่โครงบุ๋ม ควรพาเด็กออกจากบริเวณที่มีฝุ่น และไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และทำการรักษาทันที

ดูเพิ่ม

พลิกปมข่าว วิกฤตเด็กในดงฝุ่น

Author

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

จบรัฐศาสตร์ IR แต่ออกมาหล่อเลี้ยงกายาด้วยงานช่างภาพและกราฟิก หล่อเลี้ยงความคิด ด้วยเรื่องวิทย์ ๆ จิตวิทยา ปรัชญา และการแพทย์