ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ และทรวงอก ระบุว่า เฉพาะโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) พบผู้ป่วยจากฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
“ผู้ป่วยจมูกคลุกฝุ่น เห็นเม็ดฝุ่นฝังตามเพดานปาก คนที่มาโดยส่วนใหญ่ มีผู้ป่วยปอดอักเสบ, ถุงลมโป่งพองมากขึ้น, คนไข้ ICU เป็นสโตรก และกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติมาขึ้น เห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 66…
การสั่งให้ทำ WFH ต้องมีเครื่องฟอกอากาศ PM 2.5 เพราะฝุ่นในอาคาร และนอกอาคารต่างกันเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น”
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชียวชาญโรคภูมิแพ้ และทรวงอก
หากดูจากผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ผ่านมามีผลการศึกษาที่ค่อนข้างตรงกันว่ามีผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว หลายคนที่ไม่มีผลกระทบวันนี้ อาจจะมีความเสี่ยงในระยะยาว และทำให้สุขภาพแย่ลง
ฝุ่น PM 2.5 เพิ่ม เสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม!
จากข้อมูลงานวิจัยที่ศึกษา ยังพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด สัมพันธ์กับค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 อย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยเหตุผลที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่า เพราะเป็นดงเผา ทำให้เกิด PM 2.5 มากกว่าพื้นที่อื่น ทำให้สูดมลพิษต่อวันนานกว่าประชาชนทั้งจังหวัดเนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาเกษตร ส่วนใหญ่ มีอาชีพเกษตรกร บ้านพักอาศัยเป็นแบบเปิดโล่งรับอากาศและมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 จากภายนอกเข้ามา ในตัวบ้านได้ตลอดเวลา (open house style) ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ทำให้สูดมลพิษฝุ่นละเอียด PM2.5 ยาวนานทั้งในบ้านและนอกบ้านตลอดเวลากลางวันและกลางคืน นอกจากนี้ประชาชนอาจมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า มีโรคประจำตัวมากกว่า
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเสียชีวิตกับโรคหลอดเลือดในสมอง (สโตรก), หัวใจขาดเลือด, และปอดอักเสบ ซึ่งยังไม่นับรวม ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่มีอาการปอดอักเสบ, ถุงลมโป่งพองกำเริบ, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจล้มเหลวกำเริบ การทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง คุณภาพชีวิตแย่ลง
อยู่ในอาคาร ก็เสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป คือ ต้องดูแอปพลิเคชันติดตามคุณภาพอากาศ หรือใช้เครื่องวัดราคาถูกที่พอหาซื้อได้ เพื่อดูค่า PM 2.5 ระหว่างที่กำลังเดินทาง และต้องไม่ลืมสวมหน้ากาก N95 กันฝุ่น PM 2.5 ทั้งในและนอกอาคาร คุณหมอย้ำ นโยบาย WFH ต้องดูให้ดีว่าเหมาะสมและทำได้จริงหรือไม่การสั่งให้ทำ WFH ต้องมีเครื่องฟอกอากาศ PM 2.5 เพราะฝุ่นในอาคาร และนอกอาคารต่างกันเพียง ร้อยละ 20 เท่านั้น
หมอชายชาญ มีข้อเสนอระยะยาวจำเป็นที่ผู้ทำนโยบายต้องเห็นความสำคัญ แม้จะประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ทำเพียงลมปาก เช้าชาม-เย็นชาม เมื่อเกิดวิกฤตทำให้มาตรการหลายอย่างทำไม่ได้จริง เป็นแบบ Top-down ทำให้สถานการณ์มีแต่จะเลวร้ายขึ้นทุกวัน
การหวังพึ่งแค่ลม ฝน ให้พัดผ่านไป ฝุ่นอาจจะหายไป แต่ต้องไม่ลืมว่า ฝุ่นได้ทิ้งสารพิษที่สะสมในร่างกายยังอยู่กับ ประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อย ที่ต้องมารับเคราะห์ จมฝุ่นโดยไม่มีกฎหมายใดออกมาคุ้มครองชีวิต อย่างจริงจัง