ไทยจะได้ใช้วัคซีน mRNA ‘ไฟเซอร์’ ปลายปี หลังดันสัญญาสั่งซื้อเข้า ครม.
‘อนุทิน’ เฉลย สหรัฐฯ บริจาคไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส
สธ. ปฏิเสธวุ่น เอกสารค้านฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 กระตุ้นภูมิบุคลากรแพทย์ ยืนยัน ไม่ใช่มติทางการ
ข่าวคราวในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขที่สั่นสะเทือนทุกวงการ เพราะ “ภัยพิบัติโรคระบาด” กระทบกับชีวิตคน ทั่วทุกหัวระแหง
The Active รวบรวมไทม์ไลน์สำคัญ กว่า “คณะรัฐมนตรี” จะอนุมัติให้ซื้อ “วัคซีนไฟเซอร์” จริง ๆ ที่ไม่ใช่วัคซีนทิพย์อีกต่อไป
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ก่อนหน้านี้ว่า วันที่ 6 ก.ค. 2564 กรมควบคุมโรค จะนำรายละเอียดเอกสารสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อขั้นตอนเหล่านี้ผ่าน ก็จะทำการสั่งซื้อต่อไป เพื่อให้ส่งมอบวัคซีนเร็วขึ้น เพราะบริษัทบอกว่า จะส่งให้ได้ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือ เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ทำการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดือนมิถุนายน และก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง โดย บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขอทะเบียนกับ อย. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. และได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของประเทศไทย
“กระบวนการก่อนหน้านั้น กรมควบคุมโรคกับบริษัทไฟเซอร์ ได้ลงนามเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือ เอกสารที่สัญญาว่าเมื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นจะไม่เปิดเผยข้อมูลของสัญญา และเอกสารการจองวัคซีน ตั้งแต่ก่อน เม.ย. 2564 ขณะนี้ สัญญาฉบับที่ 3 คือ เอกสารสัญญาซื้อวัคซีน ซึ่งต้องรอบคอบ เพราะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่บริษัทผู้ผลิตตั้งขึ้นหลายประการ จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสูดส่งกลับมาให้กรมควบคุมโรคแล้ว”
นพ.โสภณ ระบุเมื่อ 5 ก.ค. 2564
สังคมตำหนิการปฏิเสธให้ไฟเซอร์กระตุ้นภูมิบุคลากรแพทย์
ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ ตั้งแต่คืนวันที่ 4 ก.ค. และอีกตลอดวัน สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ได้ทวีตข้อความรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังมีการเผยแพร่เอกสารการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. โดยระบุว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 มี 3 กลุ่มเป้าหมายควรได้รับวัคซีนจำนวนดังกล่าว คือ (1) กลุ่มเป้าหมายอายุ 12-ต่ำกว่า 18 ปี (2) กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ และ (3) กลุ่มบุคลากรแพทย์ด่านหน้า จำนวน 7.5 แสนคน
ทั้งนี้ ในเอกสารดังกล่าว ระบุความเห็นกรรมการบางคน “กังวล ถ้าเอามาฉีดกลุ่มบุคลากรแพทย์ แสดงว่ายอมรับว่าวัคซีน Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น” เป็นต้นเหตุให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง
สื่อออนไลน์หนุนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรแพทย์
แอชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ทะยานขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 4 ก.ค. โดยมีผู้ทวิตข้อความเกี่ยวกับแฮชแท็กดังกล่าวมากถึง 692,000 ทวีต หนึ่งในนั้น ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการและสื่อชื่อดัง ทวีตข้อความตั้งคำถามว่า “สื่อหลายแห่งปูดเอกสารไทยจ่อได้ไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสเดือน ก.ค. แต่ในเมื่อสัญญาซื้อไฟเซอร์ยังไม่เข้า ครม. จนกว่าวันที่ 6 ก.ค. ไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสก็น่าจะมาจากการบริจาค คำถามคือจากใคร และทำไมรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้เลย”
ขณะที่ ศ. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์การวิจัยแม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก็ได้ทวิตข้อความว่า “เห็นรายงานการประชุมกรรมการวิชาการวัคซีนแล้วโกรธมาก คัดค้านการฉีด Pfizer Vaccine กระตุ้นเข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยเหตุผลว่าคือเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น คนพูดเป็นหมอหรือเปล่าครับ คุณทำงานด่านหน้าไหม จิตใจคุณทำด้วยอะไร”
แม้ พล.อ.ท นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ยังเขียนความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ในเฟซบุ๊กว่า ใจความสำคัญว่า “ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง mind set ของคณะกรรมการบางคนที่พูดแบบนี้แย่มาก ๆ การให้ความสำคัญกับข้อแก้ตัวมากกว่าข้อมูลวิชาการนี่ยอมรับไม่ได้จริง ๆ หวังว่ามติกรรมการจะไม่คล้อยตาม และให้บุคลากรการแทพย์ด่านหน้าซึ่งได้รับซิโนแวคครบแล้ว ได้รับการกระตุ้นนะครับ”
กรมควบคุมโรคปฏิเสธ ไม่ใช่ความเห็นอย่างเป็นทางการ
ขณะที่เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาปฏิเสธเอกสารสรุปการประชุมเฉพาะกิจเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ “ไม่ใช่ของจริงและไม่ใช่ความเห็นอย่างเป็นทางการของที่ประชุม” โดยให้ข้อมูลว่า ในการประชุมเฉพาะกิจด้านวิชาการ 3 คณะ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่กรมควบคุมโรค ประกอบด้วย คณะกรรมการวิชาการใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคใน พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน และคณะกรรมการวิชาการวิจัย มีวัตถุประสงค์ต้องการความเห็นทางวิชาการที่หลากหลาย เพื่อนำข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดที่รับผิดชอบต่อไป เพื่อให้ความเห็นชอบ นำไปสู่ข้อสั่งการ ก่อนมีการนำเสนอต่อ ศบค. เพื่อทราบ ให้ความเห็นชอบ และนำไปปฏิบัติต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์
“ขอยืนยันว่าเอกสารที่ถูกเผยแพร่บนสื่ออนไลน์นั้น ไม่ใช่เอกสารจริง ไม่ใช่ความเห็นอย่างเป็นทางการของที่ประชุม และไม่ได้อยู่ในรูปแบบของเอกสารสรุปการประชุม การเข้าร่วมประชุมย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน การนำเอาข้อความใดข้อความหนึ่งไปเผยแพร่ จำเป็นต้องพิจารณาตามบริบทด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น”
นพ.โอกาส ยังกล่าวอีกว่า การหารือและพิจารณาเรื่องวัคซีนนั้น เนื่องจากสถานการณ์วัคซีนเปลี่ยนแปลงเร็ว องค์ความรู้เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ เช่น การกลายพันธุ์ของเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องทำการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปปรับรูปแบบการใช้ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงประสิทธิผล ความปลอดภัยของวัคซีนเป็นสำคัญ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน
“นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ย้ำว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องปลอดภัยจากการปฏิบัติงานสู้โควิด ขณะนี้ กำลังรวบรวมข้อมูลทางวิชาการในการนำไปบริหารจัดการสิ่งที่เหมาะสมให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดมอบให้ทันเวลา”
นพ.โอภาส กล่าว
ความคลุมเครือ “เอกสารจริง แต่ไม่ใช่มตินำไปปฏิบัติ”
ทว่าในทางตรงข้าม อนุทิน ยอมรับว่า เอกสารดังกล่าวก็เป็นเอกสารภายในจริง จากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เราไม่ควรที่จะไปพิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังไม่มีผลอะไร การประชุมคณะกรรมการวิชาการ ก็มีอาจารย์แพทย์ ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามา แม้ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวง หรือลูกจ้างอะไร แต่ท่านสละตัวเองเข้ามาเพื่อให้ความเห็นของตนเอง ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวปฏิบัติ เพราะหลังจากนั้นต้องมีอีกหลายขั้นตอน ที่จะตกลงกันว่าจะปฏิบัติในแนวทางไหน
วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส สหรัฐฯ บริจาคให้ไทย
อนุทิน ให้รายละเอียดเพิ่มว่า วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่จะเข้ามาในประเทศไทยมาจากการบริจาคของประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดจากการประสานงานระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ เงื่อนไขการตกลงต่าง ๆ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นผู้นำมาใช้ เพื่อให้เราปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ๆ เช่น ที่เราได้รับการบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นก็ห้ามนำไปขายต่อ เบื้องต้น วัคซีนไฟเซอร์ ไม่มีเงื่อนไข แต่เราก็ต้องนำวัคซีนมาฉีดให้เหมาะสม ประเทศไทยมีชาวต่างชาติจำนวนมาก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนในประเทศ เราก็พร้อมจะฉีดให้เขาด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (6 ก.ค.) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเจรจาและลงนามในสัญญาคำสั่งซื้อ “วัคซีนไฟเซอร์” จำนวน 20 ล้านโดส หลังจากผ่านข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อให้เป็นวัคซีนหลักที่รัฐบาลจะเป็นผู้จัดหามาให้บริการกับประชาชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาส 4 ซึ่งมีเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2564