พัก กะ พาร์ค: ความร่วมมือเคลื่อนนโยบายและพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะ

จะดีไหม ถ้าเราสามารถเข้าถึงสวนสีเขียวได้ภายใน 15 นาที และเป็นสวนที่สร้างสุขภาวะ ไม่ใช่สวนที่มีข้อจำกัดเต็มไปหมด และทำได้แค่บางกิจกรรม หรือมีข้อจำกัดสำหรับคนบางกลุ่ม” เป็นคำถามตั้งต้นจากผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

ข้อมูลที่น่าสนใจกับความจำเป็นของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะในเมือง คือ แม้คนกรุงจะมีค่าอายุเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งหมด กล่าวคือ ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทย คือ เพศชาย 70 ปี เพศหญิง 78 ปี ส่วนค่าอายุเฉลี่ยของคนกรุง คือ ชาย 76 ปี และ หญิง 82 ปี แต่สาเหตุการตายของคนเมืองกับคนชนบทมีความแตกต่างซึ่งเป็นนัยสำคัญด้านสุขภาพ

นพ.พงศ์เทพ บอกว่า ในชุมชนชนบท โดยเฉพาะประชากรบนพื้นที่สูง ที่มีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายทุกวัน พบว่าในแต่ละชุมชนมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพียง 2 คน นอกนั้นเกือบทั้งหมดเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง แต่สาเหตุที่อายุสั้นเพราะการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ ขณะที่คนเมืองจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุเดียวกันน้อยกว่า เพราะเข้าถึงหมอและมียาปฏิชีวนะที่ทั่วถึง แต่ปัญหาสำคัญของคนเมือง คือ “แพ้ใจของเราเอง” เพราะพฤติกรรมที่พบ คือ กินหวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้ง เบาหวาน ไขมันสูง ต่อด้วยโรคหัวใจ อัมพาต ไตวาย ซึ่งคงจะดีหากคนกรุงและคนเมืองสามารถเอาชนะใจของเราเองได้

ขณะเดียวกัน ค่าอายุเฉลี่ยสุขภาวะดีของชายไทยอยู่ที่ 65 ปี หญิง 69 ปี หมายความว่าเราจะมีโอกาสสุขภาวะที่ดีก่อนถึงช่วงป่วยติดเตียงหรือป่วยเรื้อรังก่อนเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุดังกล่าว

“หากมียาวิเศษ ที่ทำให้เราอายุยืนขึ้น คงมีคนซื้อ แต่จริง ๆ การออกกำลังกาย เดินวิ่ง ให้หัวใจเต้นอย่างเหมาะสมและเป็นประจำจะกลายเป็นยาวิเศษของเรา

ลำพังแค่มีสวนดี มีสิ่งแวดล้อมดี ใกล้และเข้าถึงง่ายคงยังไม่พอ แต่อยู่ที่ใจและการสร้างค่านิยมร่วมในชุมชน ให้คนอยากออกกำลังกาย อยากมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสามารถร่วมกันทำเป็นตัวอย่างในพื้นที่สาธารณะสีเขียวโดยภาคีเครือข่ายได้”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สวนที่สร้างสุขภาวะ สู่เมืองสุขภาวะที่เชื่อมโยงทุกมิติ สามารถเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ที่ช่วยกันแชร์ เชียร์ และเชื่อมร้อยกันทำงาน โดยให้ความสำคัญกับคน เป็นวาระที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม มีความปลอดภัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อความเชื่อที่ว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมของผู้คน และนำไปสู่เมืองที่มีสุขภาวะดี เศรษฐกิจดี ที่สำคัญต้องเป็นแนวทางของภาคนโยบายทั้งหมด ผ่านความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะด้วยกัน (Planet, People, Places, Peace, Prosperity และ Partnerships)

จากการสรุปการทำงานที่ผ่านมา ของ เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ช่วงเสวนา Park policy ในกิจกรรม “พัก กะ Park: พาร์คสร้างสุข เพื่อสุขภาวะ” ทำให้เห็นว่า นโยบายสวน 15 นาที กับการทำงานของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการสำรวจและทำฐานข้อมูลจนได้ข้อสรุปเป็นการบูรณาการร่วมกับลานกีฬาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่คนออกมาทำกิจกรรมได้

“คำว่า 15 นาทีไม่ใช่แค่สวนอย่างเดียว แต่จะเอาพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะในลักษณะที่คนออกมาทำกิจกรรมได้ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นห้องสมุด บ้านหนังสือ หรือเป็นสวนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

อีกหัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และภาคีเครือข่ายอย่าง กลุ่ม Big Trees คือความร่วมมือเพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี และหาก กทม. มีข้อจำกัดในการดูแลต้นไม้ใหญ่โดยเจ้าหน้าที่ สามารถศึกษารูปแบบการจ้างดูแลสวนสาธารณะของต่างประเทศ โดยกำหนดรายละเอียดของขอบเขตการจ้างให้ตรงตามหลักการดูแลต้นไม้ใหญ่ได้

“จะเริ่มเห็นว่าใน TOR มีการจัดจ้างดูแลสวนสาธารณะ กำหนดว่าต้องมีรุกขกร และการดูแลต้นใหม่ต้องดูแลอย่างไร เชื่อว่าถ้ากระจายไปทุกส่วนก็จะได้เห็นการบริหารจัดการสวนและต้นไม้ที่ดีขึ้น และน่าจะพัฒนาไปถึงต้นไม้ตามทางเท้าด้วย”

อรยา สูตะบุตร กลุ่ม Big Trees

แล้วภาคเอกชน/ภาคธุรกิจ จะร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะได้อย่างไร? ตัวแทนภาคเอกชนที่ร่วมเสวนา ได้ยกตัวอย่างการร่วมปรับปรุงทางเท้า ฟื้นฟูต้นไม้ รวมถึงการจัดทำที่นั่งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เอื้อให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันในห้างสรรพสินค้าก็สามารถออกแบบเป็น Green retail ได้

โดยสรุปแล้ว จากความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ผ่านมา วงเสวนาเห็นว่าการเดินหน้าต่อจากนี้ มีหลายเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันปลดล็อกและผลักดันร่วมกัน

  • รัฐ ต้องถ่ายโอนอำนาจให้ กทม. ในเรื่องสุขภาวะ
  • มี Green city plan ที่ชัดเจน ทั้งสิ่งที่จะทำ และตัวชี้วัด ซึ่งต้องเป็นตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดระดับโลก
  • มีแรงจูงใจ (Incentive) ให้ภาคเอกชนและภาคสังคมร่วมขับเคลื่อนผ่านกลไกทางภาษี และมีความยืดหยุ่น
  • มีผังเมืองที่ดีและเหมาะสมกับศักยภาพของเมือง เพราะจะสามารถจัดการปัญหาได้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผังเมืองรวม หรือผังเมืองเฉพาะ
  • ต้องขยายขนาดของโครงการและความร่วมมือ (Scaling up) ทั้งด้านข้อมูล ผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงการสร้างความตระหนักของชุมชน

“การสร้างพื้นที่สีเขียวจะทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะมีทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การออกแบบ การดูแล คุยกับชุมชน เรื่องสุขภาพ ทำอย่างไรให้วิชาชีพเหล่านี้เข้ามามีส่วนเกื้อหนุนการทำงานได้ตรงและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการลงทุนในเอกชนหรือภาครัฐต้องมีฐานข้อมูลชี้เป้าที่ต้องอาศัยผู้รู้เท่านั้น จึงสำคัญอย่างมากที่จะต้องทำให้คนในวิชาชีพเหล่านี้ได้เข้ามาทำงาน และสร้างบุคลากรใหม่ ๆ”

ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park และผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง