กระเทาะทุกปัญหาสังคมไทย ที่อยู่เบื้องหลัง กระแส “มูเตลู”
“กระแสสังคม ‘มูเตลู’ ไม่ใช่ความเชื่อเฉพาะกลุ่ม แต่กลายเป็น Pop culture (วัฒนธรรมประชานิยม) ไม่ว่าคุณจะเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ แต่ทุกคนรับรู้ได้ว่ากระแสนี้ยังดำรงอยู่…”
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร หรือ อ.ตุล ชวนกะเทาะปัญหาสังคมในทุกมิติที่อยู่เบื้องหลังกระแส “มูเตลู” ในภาวะที่สังคมกำลัง “เคว้ง”
มีหลายเรื่องที่ “สังคมไทยนึกไม่ออก” หรือ ยังไม่เดินไปข้างหน้า อย่างเช่น เรื่องเศรษฐกิจ โครงสร้างการกระจายรายได้ สวัสดิการของรัฐ ปัญหาทางการเมือง เราก็นึกไม่ออกว่าจะไปอย่างไรต่อ เช่น เราจะได้รัฐบาลแบบไหน รัฐบาลจะมีนโยบายทางการเมืองแบบไหน เราไม่รู้ และเดาไม่ได้ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ผู้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกต้องการความมั่นคง และไม่เห็นทางอื่น เขาเลยรู้สึกว่าการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ มูเตลู เป็นที่พึ่งช่วยในเรื่องจิตใจ แต่อีกด้านเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องพวกนี้มันกลายเป็นสินค้า และสิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมดั้งเดิมของบ้านเรา…
เมื่อที่พึ่งพาทางใจ คือ ความเชื่อ ที่อาจไม่ใช่ “ศาสนา” เพียงอย่างเดียว
ถ้าให้ตีความ “เคว้ง” มันเหมือนกับเราไม่มีอะไรยึดเกาะ เวลารู้สึกเคว้ง เราจะต้องคว้า อะไรไว้เพื่อยึดเหนี่ยว การเลือกคว้าอะไรบางอย่างไว้ เพราะบางคนรู้สึกว่า มีตัวเลือกเยอะที่จะคว้าเอาไว้ได้ เช่น life coach อาจจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่คนเลือกคว้าไว้ เพราะอย่างน้อยเขาก็มี คำคมที่จะยึดไว้ทำตาม เพราะเขามีปัญหาแล้วไม่รู้จะแก้ยังไง มันใหญ่เกินกว่าที่เขาจะแก้ได้ เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
แต่ก็จะมีคนอีกส่วนหนึ่ง ที่อาจจะไม่ได้อินกับ life coach หรือ อาจไม่ได้มีสิ่งที่เขาจะคว้าไว้ อาจไม่ได้มี คนบางคนในชีวิตหรือครอบครัว, ไม่มี life coach, ไม่มีศาสนา เครื่องรางของขลังก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่คว้าเอาไว้
เวลาคนที่เคว้ง อะไรที่เขาคว้าไว้ได้เขาก็ตัดสินใจที่จะคว้าไว้ทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเขาเห็นอะไร บางคนถ้าเห็นโอกาสที่เยอะสิ่งที่เขาคว้าก็อาจจะเยอะ แต่บางคนมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น หรือมีทางเลือกไม่มากนักเขาอาจจะคว้าสิ่งที่ใกล้ที่สุดและชัดที่สุด ผมคิดว่าเครื่องรางของขลังก็เป็นสิ่งหนึ่งที่คนจะคว้าเอาไว้ได้…
อ.ตุล เล่าถึงสถิติที่น่าใจของจำนวนผู้ไม่นับถือศาสนาที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับความเชื่อเรื่องเหล่านี้ที่ไม่เคยลดลง สะท้อนว่า ผู้ที่ไม่นับถือศาสนา มันไม่ได้แปลว่า เขาจะไม่มีความเชื่ออะไรเลย เพราะบางครั้งเขา แค่ไม่ต้องการอยู่กับศาสนา ที่เป็นองค์กรหรือสถาบัน เพราะรู้สึกว่ามันมีอำนาจกดทับเขา เช่น ต้องไปวัดฉันต้องกราบคนที่ไม่รู้จัก รู้สึกว่าองค์กรศาสนามันมีปัญหา เพราะฉะนั้นคนจำนวนหนึ่งจึงปฏิเสธศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะละทิ้งความเชื่อ หากความเชื่อเหล่านั้นไม่มีอำนาจกดทับ เขาก็ยินดีรับสิ่งนั้นเลยทำให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมาก อาจจะแสดงตัวว่า เขาไม่นับถือศาสนา แต่พร้อมที่จะยอบรับความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งอาจจะมาจากโลกตะวันตก หรืออาจจะมาจากที่อื่น
มู ขอหวย – ขวนขวายข้ามเส้น “ความยากจน”
ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่การตั้ง หวย ก. ข. ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องสมเด็จโตให้หวยมันมีมานานแล้วเป็นร้อย ๆ ปี เพียงแต่ว่า “หวย” มันกลับยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน เพราะเรายังอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่มีคนที่ไม่สามารถก้าวข้ามเส้นความยากจน หรือ เส้นรายได้ระดับกลาง ซึ่งมันไม่มีทางอื่นเลยนอกจาก ถูกหวย…
“เพราะชีวิตมันเสี่ยง ถ้าคุณไม่มีเงินเก็บ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า จะได้นอนโรงพยาบาลดีดี ได้รับการดูแลอย่างดี มันไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจ คือ การถูกหวย”
ตัวอย่างหนึ่งของการมูที่มากที่สุด คือการ “มูขอหวย” กลายเป็นเรื่องอัศจรรย์ เพราะคนไทยสามารถตีหวย ได้กับทุกเรื่อง จิ้งจกร้อง ตุ๊กแกทัก! หรือแม้แต่ดาราเกาหลี นักร้องดังก็สามารถให้หวยได้ แล้วคนก็เอาไปตีเป็นเลขกันจริงจัง
แต่ในทางกลับกันสิ่งนี้กำลังสะท้อนปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่ไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมในอยู่ในระดับที่สูงกว่า เส้นความยากจน ได้หรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ The Active ชวนคุณผู้อ่านคิดตามไปพร้อมกัน
“ท้าวเวสสุวรรณ” เทพที่ถูกเลือกในยุคข้าวยากหมากแพง
ตั้งคำถามต่อว่า ตอนนี้ทุกคนต้องการอะไร? ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีใช่หรือไม่ ฉะนั้นคนจึงคิดว่า อะไรที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้จะถูกเลือกก่อน อธิบายได้จาก ปรากฎการณ์การบูชา “ท้าวเวสสุวรรณ” โดย อ.ตุล มองว่า คุณสมบัติของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะถูกเลือก ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมในเวลานั้น
ท้าวเวสสุวรรณ ในอดีตตามความเชื่อไทยโบราณ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับผี เช่น เชื่อว่าท่านเป็น นายของภูตผี มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาไม่ให้ผีเข้ามาทำร้ายเด็กทารก ความเชื่อเดิมในสังคมไทยท่านเกี่ยวข้องกับเรื่องของภูตผีปีศาจที่จะคอยปกป้องสิ่งต่าง ๆ
แต่ว่าพอคนไปมีความรู้แบบอินเดียมากขึ้น พบว่า จริง ๆ แล้ว ท้าวเวสสุวรรณ คือ ท้าวไวสาละวัน เป็นเทพแห่งทรัพย์ ในคติอินเดียโบราณเป็นผู้รักษา ดูแลทรัพย์สินเขาก็ดึงเรื่องเล่านี้ขึ้นมาให้เด่นว่า จริงๆ แล้ว ท้าวเวสุวรรณเกี่ยวกับทรัพย์ ให้ผลรวดเร็วเรื่องของเงินทอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้เรื่องนี้ได้ ก็มักจะถูกเลือกในช่วงเวลานั้น ๆ
ก่อนหน้านี้ที่เป็นกระแสคือ นาค หรือ พญานาค ถ้าย้อนไปไกลอีกจะมี ไอ้ไข่ ไปถึง จตุคามรามเทพ ถ้าเราลองมองย้อนเวลาจะเห็นว่า มันมีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ที่เป็นกระแสล่าสุดตอนนี้ก็คือ “ท้าวเวสสุวรรณ” ถามว่าทำไมถึงดังช่วงนี้ ถ้าตอบแบบคนที่อยู่ในสายมูเตลู ก็จะบอกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เขามีวาระ ก็คือเค้าเวียนกันมา
แต่ถ้าเราวิเคราะห์จากแง่มุมอื่น ก็เป็นไปได้ว่าเป็นความนิยมที่เกิดขึ้นจากการตลาด เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้มีอายุในทางการตลาดจำกัด คนที่อยู่ในวงการนี้ จะพยายามสร้างสิ่งศักสิทธิ์ใหม่ แล้วเอามาแทน เพื่อให้เกิดกระแสนิยมต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
4 ปัจจัยที่ทำให้ “Pop culture – มูเตลู” ไม่เคยหายไปไหน…
เวลาพูดถึง “มูเตลู” มันไม่ใช่ความเชื่อเฉพาะกลุ่ม หรือไม่ได้เป็นเพียงแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ในสังคม แต่เป็นกระแสสังคม กลายเป็น Pop culture จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ แต่กระแสนี้ดำรงอยู่ในสังคม ซึ่งผมคิดว่า มันมีหลายปัจจัยแน่นอนที่ทำให้ “มูเตลูยังคงอยู่”
- ปัจจัยแรก คือ เรื่องของพื้นฐานความเชื่อในสังคม และวัฒนธรรมไทยที่มีหลากหลายมาตั้งแต่เดิม นับถือศาสนาผสม “พุทธ พราหมณ์ ผี” เพราะฉะนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบมูเตลูในสังคมไทยจึงมีทุกอย่าง ทั้งสายอินเดีย หรือ สายฮินดู คือ บรรดาเทพเจ้า สายพุทธ พระพุทธรูป หลวงพ่อ หลวงปู่ สายผีดั้งเดิมอย่าง กุมารทอง หรือมีเรื่องราวเฉพาะอย่าง “ไอ้ไข่” สายจีน รวมถึง สายตะวันตก เรื่องพ่อมด-แม่มด เทพกรีกโรมัน เทพอียิปต์ ฯลฯ เวลาพูดถึง มูเตลู ในสังคมไทยก็คือเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กับ เครื่องราง ของขลัง สร้อย ตะกรุด 2 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับการมู แต่ถ้าถามว่า “มูเตลู” เป็นอะไรได้บ้าง ผมคิดว่า มันมีความหมายกว้างมาก อะไรก็ตามที่มันเกี่ยวข้องกับความเชื่อไม่ว่าจะทางศาสนาหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุมงคล, เรื่องโชคลางถูกนิยามว่า “มูเตลู” ทั้งนั้น…
“อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ ความเชื่อ ไม่ว่าจะในทางศาสนาหรือไม่ เกี่ยวข้องกับวัตถุมงคล เรื่องโชคลาง ถูกนิยามว่า “มูเตลู” ทั้งนั้น
สมัยก่อนอาจจะใช้คำว่า “ไสยศาสตร์” แต่นั่นก็เป็นคำที่ดูโหด และน่ากลัว แต่พอใช้ “มูเตลู” มันดูซอฟท์…
ผมมองว่า มันเป็นการเล่นคำของยุคสมัย ทำให้คนสัมผัสกับสิ่งนั้นได้”
ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
- ปัจจัยที่ 2 เรื่องของเศรษฐกิจ อย่างแรกคือ มันมีความผันผวนสูงคนรู้สึกว่า ต้องการที่พึ่งอะไรบางอย่าง เพราะมันยากมากที่เราจะก้าวข้ามปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรามีไปสู่ภาวะที่เรารู้สึกว่า ร่ำรวย life coach ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะคนรู้สึกต้องการอะไรก็ได้ ที่ช่วยเขาแก้ปัญหาได้
ประเด็นถัดมา คือในเมื่อเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เลยเป็น ช่องทางของนักการตลาด ทำให้เรื่องเหล่านี้ กลายเป็นสินค้าที่ทำเงินได้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าวัตถุมงคลในเอเชีย เราเป็นอันดับหนึ่งก็ได้คนจำนวนมากที่มาท่องเที่ยว เข้ามาด้วยวัตถุประสงค์นี้ ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งเป็นช่องทางทางการตลาดเข้าไปใหญ่ที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นสินค้า ถ้าพูดในแง่ของการค้า ถ้าเราเป็นคนค้าขาย เราก็ต้องสร้างสินค้าของเราให้มันทันสมัยเสมอเพื่อให้คนซื้อเรา เพราะฉะนั้นสังคมไทยมันเลยเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้
- ปัจจัยที่ 3 การเมือง เรารู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต หรือการสู้ในทางการเมืองทั้งในภาพใหญ่ และภาพเล็กก็ล้วนเห็นการใช้ความเชื่อเรื่อง “มูเตลู” กันทั้งนั้น นักวิชาการหลายคนที่ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ พบว่า คนที่อยู่ในชนชั้นปกครอง ทำเรื่องนี้กันเยอะ และทำมานานแล้ว อย่างกรณีการทำรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ดูฤกษ์ยามกันทั้งนั้นและมีโหรประจำของรัฐบาล สาเหตุที่การมูอยู่ในการเมือง เพราะการเมืองไทยไม่ได้อยู่ในกติกาจึงมักจะมีโอกาสพลาดเพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในอำนาจจึงมีความกลัว ต้องมีที่ปรึกษาในลักษณะนี้เอาไว้ ซึ่งเห็นมาตลอด แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีเรื่องเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง
- ปัจจัยสุดท้ายคือ ความเปลี่ยนแปลงบทบาทสถานภาพของเพศ ผู้หญิง หรือ เพศทางเลือกเขามีพื้นที่ในสังคมไทยมากขึ้น และกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญของเศรษฐกิจ และผู้หญิงก็ทำงานและมีรายได้มีความอิสระมากขึ้น เพราะฉะนั้นตัวรูปแบบของการทำมูเตลูต่าง ๆ ก็สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของเพศ ของรสนิยมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย
“มูเตลู” ทางเลือก หรือ ทางออกของปัญหา ?
ปัจจัยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง โอกาสทางการตลาด และสิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้ แต่ส่วนตัวของนักวิชาการด้านปรัชญา ก็ไม่ได้มองคำว่า “มูเตลู” เป็นปัญหาของสังคมไทย แต่เป็นห่วงอยู่ 2 ประเด็น คือ ปัญหา การมูบางอย่างที่อยู่ใต้ดิน และไม่สามารถตรวจสอบได้ กับ การทำให้ “มูเตลู ” กลายเป็นทางเลือกแรก หรือ (first priority) ของการแก้ปัญหาชีวิต และสังคม
การเลือกเอาไสยศาสตร์ พิธีกรรม กลายเป็นการแก้ปัญหาอันดับแรกไม่ว่าจะในทางสังคม หรือ ทางส่วนตัว เช่น ไม่ว่าจะเกิดภัยพิบัติอะไรต่าง ๆ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแทนที่จะเริ่มต้นจากการวางแผนแก้ไขปัญหา ต้องบวงสรวงก่อนเลย ที่จริงต้องใช้เวลาอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหา โดยระบบของมันก่อน …
สำหรับผม ข้อควรระวังสำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ คำโบราณจะใช้คำว่า “มันกิน” แปลว่า ถ้าเราใช้มันไปมาก ๆ จนสูญเสียความเป็นตัวเองทั้งหมดอันนี้จะอันตราย แต่ถ้าเราใช้แล้วทำให้เรามีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกได้รับการเยียวยา ทำให้เรารู้สึกเคารพตัวเองมากขึ้น ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้
แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้แล้วลืมไปว่า มันมีเพื่อวัตถุประสงค์อะไร จนกระทั่งมันกัดกินตัวเราเองแล้วเราสูญสิ้นความมั่นใจ ต่อตัวเองความเคารพตัวเอง ไปโดยสิ้นเชิง อันนี้ผมมองว่าเป็นอันตราย ผมคิดว่าความเชื่อมีก็มี นับถือไปได้ เพียงแต่อย่าสูญเสียความเคารพตัวเอง และคนอื่นเท่านั้นเอง…
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง