โควิด-19 กับความเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์

: เดือนสิงหาคม 2564 เสียชีวิตจากโควิด-19 เฉลี่ยวันละ 1 คน
ยอดฉีดวัคซีนยังไม่ถึงไหน…

น้ำคร่ำในครรภ์มารดา ทำให้เกิดภาวะปอดแฟบได้ในหญิงตั้งครรภ์ทั่ว ๆ ไป นั่นหมายความว่าระบบการหายใจก็จะยากกว่าคนทั่วไปตามไปด้วย

เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จึงมีโอกาสที่จะอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต…

นี่คือคำอธิบายจาก พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตทั้งแม่และเด็ก ไม่ต่างจากกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 

The Active ติดตามสถานการณ์โควิด-19 พบว่าในเดือนสิงหาคม 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อพุ่งสูงจำนวน 1,506 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 47 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1-2 คน ขณะที่เดือนเมษายน 2564 ช่วงแรกของการระบาดระลอก 3 มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 19 คน เสียชีวิต 1 คน โดยจังหวัดที่พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุด ณ ช่วงเดือนสิงหาคม คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 คน  สมุทรสาคร จำนวน 399 คน และ ปทุมธานี  101 ราย ตามลำดับ 

นอกจากนี้ยังพบว่าตั้งแต่การระบาดในระลอกที่ 2 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ทั้งหมด 2,878 คน เสียชีวิต 69 คน 

ขณะที่ในจำนวนแม่ที่เสียชีวิต 50% ทารกก็จะเสียชีวิตพร้อมแม่ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ขณะที่ทารกมีโอกาสเข้ารักษาไอซียู 4.9 เท่า และมีโอกาสจะติดเชื้อด้วย 3-5% 

ข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ยังระบุด้วยว่า ในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด จะมีอย่างน้อย 2% ที่อยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่มากกว่าครึ่ง เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก แต่ด้วยเหตุผลด้านสรีรวิทยา แม้จะไม่แสดงอาการก็จำเป็นต้องอยู่ใกล้มือแพทย์ เพราะยังไม่มีอะไรยืนยันความปลอดภัยของแม่และลูกในครรภ์ได้

เพื่อลดความรุนแรงของการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ความรวดเร็วในการเข้ารับการรักษาตัวจึงสำคัญ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรตรวจด้วยชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองอย่าง แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit – ATK) เมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงให้เน้นทำงานที่บ้าน (Work From Home) และเข้มงวดการปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

ในกรณีที่บ้านมีสมาชิกอาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน ควรสวมหน้ากากขณะอยู่ร่วมกัน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ เว้นระยะห่างระหว่างกัน กินอาหารปรุงสุก เลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ก็จะช่วยลดการติดและแพร่เชื้อได้ 

สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน และหลังฉีดไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีด เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการฉีดจะทำให้มีลูกยากแต่อย่างใด

“วัคซีน” ยังเป็นเกราะป้องกันโรคแก่กลุ่มเสี่ยง อย่างหญิงตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี ทว่า ณ วันที่ 6 กันยายน 2564 มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปเพียง 10,000 คน คิดเป็น 2% จากตัวเลขประมาณการณ์หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ควรได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศประมาณ 500,000 คน ขณะที่มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว 50,000 คน คิดเป็น 10% เท่านั้นเอง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์