ระบบสาธารณสุข วิกฤต สู่ “ล็อกดาวน์” ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

ผู้ติดเชื้อ 9,276 คนในวันนี้ (9 ก.ค. 2564) และผู้เสียชีวิตอีก 72 คน คือ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการตัดสินใจยกระดับมาตรการเข้มข้นในครั้งนี้ ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่พากันต่อแถวข้ามคืน เพื่อขอรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19

หลายคนติดเชื้อ แต่ต้องรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้าน และข้อมูลที่ ศบค. เคยแถลงไปแล้วว่า เราอาจเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุวันละ 10,000 คน ในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขที่เต็มศักยภาพแล้ว ขณะที่การฉีดวัคซีนยังไม่ได้ตามเป้าหมาย

ข้อมูลรายงานสถานการณ์เตียงของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ วันที่ 9 ก.ค. จากกรมการแพทย์ พบว่า มีเตียงระดับ 3 สำหรับผู้ป่วยสีแดง หรือห้องไอซียูอยู่ทั้งหมด 1,436 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,282 เตียง จึงเหลือเตียงว่างเพียง 154 เตียง

“นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่าหากทั้งประเทศมีผู้ติดเชื้อ 10,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้น่าจะเป็นมีผู้ติดเชื้อใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ราว 4,000 คน จากข้อมูลพบว่า 3% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่จะเป็นผู้ป่วยหนัก 

นั่นหมายความว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องใช้เตียงไอซียูเพิ่มอีก 120 เตียง ก็จะเหลือเตียงว่างเพียง 34 เตียง และหากวันถัดไปผู้ติดเชื้อไม่ลดลง เตียงระดับ 3 จะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่การขยายเตียงเพิ่มอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ

นี่จึงเป็นที่มาของการยกระดับมาตรการเข้ม เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากร ลดการติดเชื้อ ที่กำลังจะเริ่ม 12 ก.ค. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

  • Work from Home หรือทำงานที่บ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
  • งดเดินทาง เว้นซื้ออาหาร ฉีดวัคซีน พบแพทย์
  • ขอความร่วมมือ 10 จังหวัด (รวม นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) งดออกนอกเคหสถาน 21.00 – 04.00 น.
  • ปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถาบันการเงิน ร้านขายยา สุขภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน โดยให้เปิดได้ถึง 20.00 น.
  • ปิดสถานที่เสี่ยง คือ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม

แต่เมื่อมาตรการเข้มข้นขึ้น คำถามต่อไป คือ เราจะใช้เวลากี่วันในการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ และลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง? นี่คือโจทย์ที่ “ผศ. นพ.บวรศมลี ระพันธ์” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์ต่อว่า เราต้องทำอะไรบ้างหลังจากนี้ เพื่อให้ “เจ็บ แล้ว จบ”

หนึ่งในนั้นคือ ผลลัพธ์ในการลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 40% เมื่อเทียบกับก่อนยกระดับมาตรการในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะทำให้จำนวนผู้ติดชื้อใหม่รายวันลดลงมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564 และคาดการณ์ว่าใช้เวลา ประมาณ 2 เดือน จึงจะทำให้ความต้องการเตียงโรงพยาบาลกลับมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2564 ได้

อะไรคือ สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกัน กับการยกระดับมาตรการเข้มข้นครั้งนี้ คือ นั่นคือ การตรวจเชิงรุก การสอบสวนโรคหาต้นตอของการแพร่เชื้อให้เจอ ระบบรองรับการกักกันแยกโรค ท่ามกลางระบบสาธารณสุขที่เต็มศักยภาพแล้ว เพราะหลักการทางระบาดวิทยาเหล่านี้ จะทำให้แนวโน้มการระบาดหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการลดลงได้​

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS