ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) ของไทย สะท้อนภาพ องค์ความรู้ด้านปฐมวัยอย่างถูกต้องยังไม่กว้างขวาง เสนอเพิ่มรอยต่อระหว่างครูอนุบาล-ปฐมวัย ลดความกดดัน ที่ส่งผลให้เด็กปฐมวัยทุกข์ทั้ง Generation
เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อนุบาล คือ อนาคต จัดขึ้นที่ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา รวบรวมเอานักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการแพทย์ และด้านการศึกษา พร้อมทั้งครู ผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนรู้ที่ถดถอย และทับซ้อนด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ จาก 4 พื้นที่ ได้แก่
- ชุมชนอ่อนนุช การเรียนรู้ที่อยู่กับสิ่งแวดล้อมรอบกองขยะ ใน กทม. กับความพยายามของครูที่ต้องการให้เด็ก ๆ มีสุขภาวะที่ดี
- ชุมชนบ้านบาโด จ.ยะลา โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่เต็มไปด้วยปัญหาด้านภาวะโภชนาการ
- ชุมชนพุเข็ม จ.เพชรบุรี พื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีโรงเรียนขยายโอกาส สำคัญการศึกษาต่อของเด็ก ๆ ในพื้นที่
- ชุมชนบ้านขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เต็มไปด้วยปัญหาเชิงพื้นที่ การใช้ภาษาพื้นถิ่น ที่ทำให้การสอนยากขึ้น เพราะไร้บุคลากร ขาดครูปฐมวัยที่สามารถสื่อสาร และฟื้นฟูการศึกษาของเด็ก ๆ ที่นี่ได้อย่างเต็มความสามารถ
ทั้งหมดเป็นประเด็นปัญหา จากแต่ละพื้นที่ ซึ่ง ทีมรายการอนุบาล คือ อนาคต ลงพื้นที่เก็บข้อมูล มาสะท้อนสู่พื้นที่สาธารณะ เพราะยังมีอีกหลายโรงเรียนทั่วประเทศไทย ที่เด็ก ๆ ยังคงขาดโอกาส และได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้องจนนำมาสู่ ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย
“พูด ออกเสียง เข้าใจภาษาช้า” วิกฤต Learning Loss เด็กอนุบาล หลังโควิด
นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตต่อ จำนวนประชากรที่เกิดน้อยลง ซึ่งปีนี้เมื่อดูผลสำรวจจากกระทรวงมหาดไทย พบว่า ตัวเลขคนเกิดจะน้อยกว่าคนตายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่า ประชากรไทยจะลดลงอีกอย่างแน่นอน
ไม่เพียงสถานการณ์ด้านประชากรที่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าพิจารณาจากคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชนที่มีอยู่ก็พบปัญหาที่น่ากังวล คือเด็กพูดช้า และเข้าใจภาษาได้ช้า รวมถึงมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แย่ลง แม้พบว่า 1 ใน 4 หรือ 25% ของเด็กที่มี พัฒนาการสงสัยล่าช้า จะสามารถกระตุ้นพัฒนาการได้ดีขึ้นภายใน 1 เดือน แต่ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยการดูแล เอาใจใส่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องเด็กเล็ก อย่างน้อย 9 กระทรวง ที่เห็นพ้องกัน ว่า การแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาการใช้ภาษา การพูดออกเสียง และเข้าใจการสื่อสารที่พบมากขึ้นและวิกฤตมากกว่ามิติอื่นๆ
ขณะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 50,000 แห่ง ต้องยอมรับว่า บางแห่งไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ล่าสุด เตรียมนำเสนอปัญหาถึงนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่สนใจจะนำหาเสียงต่อไป เพราะไม่อยากเห็น เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ…
“เด็กไทยเกิดน้อยลง และเจอวิกฤตใช้ภาษา เข้าใจการสื่อสารได้ล่าช้า 9 กระทรวงเห็นพ้องแก้ Learning Loss เร่งด่วน เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมือง แก้ปัญหาเพราะไม่อยากเห็นเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ…”
นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ
รังรอง สมมิตร ประธานหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยอมรับว่า ไม่แปลกใจกับผลสำรวจที่พบเด็กใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ดี พูดไม่ได้ เพราะเป็นยุคที่เด็กอยู่กับเทคโนโลยี แทบเล็ต ใช้แต่อุ้งมือ ฝ่ามือ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ตัวเป็น ๆ โควิด-19 เป็นเพียงแค่ตัวเร่งที่ทำให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในความจริงไทยอาจจะเจอกับปัญหา Learning Loss มานานมากแล้ว สิ่งนี้สะท้อนว่า องค์ความรู้ปฐมวัยที่ถูกต้องยังไม่กว้างขวาง เข้าไม่ถึงครู ผู้ปกครอง ทำให้เด็กไม่รอดในยุคโควิด-19
ประธานหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตคณะศึกษาศาสตร์ มศว ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาภาษาล่าช้า ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือ อย่าง นิทานภาพ วิธีการคือ ต้องอ่านให้เด็กฟัง ซึ่งต่างกันมากกับการส่งหนังสือให้เด็กอ่าน แต่ไม่มีใครอ่านให้ฟัง ที่สำคัญ ปฐมวัยจำเป็นต้องให้เด็กได้เล่น ไม่ยัดเยียดการเรียนรู้เร่งเรียนเขียนอ่านเพราะเป็นการสอน การมอบความรักที่ผิดวิธี และคนที่เป็นทุกข์ก็คือเด็ก
อีกประเด็นที่มีตัวแทนครูจาก จ.ยะลา สะท้อนถึงปัญหาตัวชี้วัดของคุณครู ที่ทำให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องนำไปใช้ได้น้อย เพราะแรงกดดันที่ทำให้เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ และสอบแข่งขันได้ในช่วง ป.1 นั้น ก็มีส่วนทำให้ ครูอนุบาลกดดันในวิธีการเรียนการเรียน เป็นอีกประเด็นที่ อาจารย์รังรอง มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีกลไกทำให้ครูอนุบาล และประถมศึกษา ได้พูดคุยกันให้มากที่สุดเพื่อลดรอยต่อระหว่างชั้นเรียน และไม่ทำให้เด็กต้องตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ในระบบการศึกษา
จึงมีข้อเสนอไปถึงการลงมือปฏิบัติทันที โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ผลักดันให้การเรียนรู้ในระดับอนุบาลเป็นความร่วมมือของ ผู้ปกครอง โรงเรียน และชุมชน
“การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ต่างกันมากกับ การส่งหนังสือให้เด็กอ่าน ปัญหา Learning Loss สะท้อนว่า องค์ความรู้ปฐมวัยที่ถูกต้อง ยังไม่กว้างขวาง เข้าไม่ถึงครูผู้ปกครอง ทำให้เด็กไม่รอดในยุคโควิด-19”
รังรอง สมมิตร
ในมุมมองของนักวิจัย วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะการจัดการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะทำวิจัยแก้ปัญหา Learning Loss อธิบายถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องให้ความสำคัญเด็กปฐมวัย ในระดับชั้นอนุบาล เพราะบทบาทสำคัญของการใช้ชีวิตของเด็กที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง คือ “สมอง” ตามธรรมชาติมนุษย์จะเกิดมาพร้อมเซลล์ประสาท ประสบการณ์ระหว่างทางจะช่วยตัดแต่งกิ่งของเซลล์ประสาท แม้จะไม่เพิ่มแต่ขยายได้มากขึ้นในช่วง 5 ปี นั่นหมายความว่า เซลล์สมองจะทำงานได้เต็มที่ แต่ถ้าไม่ใช้จะถูกตัดทิ้ง จากการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสิ่งที่งานวิจัยพบ คือ การปิดโรงเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กในระดับชั้นอนุบาล 3 ตกอยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอยถึง 90% โดยในต่างประเทศ อย่าง อินเดีย เจอผลกระทับหนักกว่าไทยปิดโรงเรียนนาน 18 เดือน แต่เขามีอาสาสมัครลงตามบ้านเด็ก สอนกันตัวต่อตัว ซึ่งดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“ตามธรรมชาติสมองของมนุษย์ จะเกิดมาพร้อมเซลล์ประสาท ประสบการณ์ระหว่างทางจะช่วยตัดแต่งกิ่งได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าไม่ใช้จะถูกตัดทิ้ง สิ่งที่งานวิจัยพบช่วงการปิดโรงเรียนยุคโควิด-19 คือ เด็กอนุบาล 3 ตกอยู่ในภาวะ Learning Loss 90%”
วราบุษ ศุภลักษณ์บันลือ
อนุบาล คือ อนาคต ถ้าไม่เร่งฟื้นฟู อนาคตจะแย่แค่ไหน?
ขณะที่ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ย้ำว่า สมองของมุนษย์ ไม่ได้พัฒนาเมื่อไรก็ได้ แต่การเติบโตของสมองเกิดขึ้นในวัยเด็ก อนุบาล คือ อนาคต คือ การพูดถึงการเติบโตของสมองโดยส่วนใหญ่ เชื่อว่า วัยที่เจริญเติบโตสูงสุดคือ 3-6 ปี เพราะเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมองส่วนหน้า EF ทักษะการบริหารจัดการสมองขั้นสูงซึ่งจะพูดถึงเรื่องของการมีความจำในการใช้งานที่ดี มีความคิดยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนความคิดต่อสิ่งต่าง ๆ มีการคิดวิพากษ์ต่าง ๆ ได้ หากก่อร่างสร้างตั้งแต่ต้นมาไม่ดีสิ่งเหล่านี้ก็จะไปมีผลกระทบกับอนาคตตอนโตของเด็ก
งานวิจัยบอกชัดเจนว่า การพัฒนาสมองส่วนนี้ถ้าไม่ดีตั้งแต่วัยเด็ก จะส่งผลต่อวัยรุ่นด้วย เชื่อมโยงกับการติดสารเสพติด เพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน จะเจอกับปัญหาในเด็กวัยรุ่นตั้งแต่ การรู้จักตัวตน การเติบโตมาโดยไม่รู้คุณค่า และปัจจุบันโรคซึมเศร้า ถึง 20% เป็นเด็ก ขณะที่สถานการณ์การถูกบูลลี่ในสังคมไทย ก็ยังติดอันดับ 2 ของโลก เรื่องท้องไม่พร้อมเพศสัมพันธ์แบบไม่ถูกต้องก็ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ภาพเหล่านี้สะท้อนว่าการพัฒนาสมองส่วนหน้า หรือ EF ของเด็กไทยไม่ดี เป็นภาพที่ฉายชัดว่าไม่ได้ลงทุนกับสมองของเด็ก
เมื่อถามว่าความรู้ถดถอยเกิดจากอะไรผศ.พญ.จิราภรณ์ มองว่าสิ่งสำคัญ คือ นโยบายที่หลงทาง โดยมองเรื่องการตื่นตัวของเด็กเป็นเรื่องการอ่าน การเขียน ซึ่งจริง ๆ สำคัญที่สุดของเด็กอนุบาล ต่อในการพัฒนาสมองของเขา คือ การเล่น และสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาอย่างมาก คือ ตัวตน และการเห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ปรากฏว่าโรงเรียนอนุบาลกลับทำลายตัวตนของเด็ก พอเขียนไม่ได้ครูตีมือ 3 ขวบ เขียนไม่ได้กลายเป็นว่าไม่เก่ง ซึ่งเด็กเหล่านี้อยู่กับความเครียด ซึ่งมันก็จะทำลายเซลล์ประสาทของสมอง
ผศ.พญ.จิราภรณ์ ย้ำว่า เด็กที่ควรจะเริ่มเขียนจริง ๆ คือ 6-7 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อมีความพร้อมมากที่สุด เด็กอ่านเขียนเร็วไม่ได้แปลว่าฉลาด แต่มันหมายถึงว่าเขาขาดโอกาสที่จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่แท้จริง อยากให้เป็นนโยบายของกระทรวงว่า เราจะไม่เร่งอ่าน เขียนเด็ก
“เด็กอ่านเขียนเร็วไม่ได้แปลว่าฉลาด แต่เขาอาจขาดโอกาสที่จะกลายเป็นเด็กฉลาดที่แท้จริง อยากให้นโยบายของกระทรวงฯ ไม่เร่งอ่าน เขียนเด็ก… ไม่ให้โรงเรียนอนุบาล กลายเป็นที่ทำลายตัวตนของเด็ก”
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
ปัญหา Learning Loss ยังเกิดจากนโยบายที่ Learning Loss เช่นกันนี่คือประเด็นที่ วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา ระบุ โดยเชื่อว่า มาจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ของชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ที่ผิดทาง เช่น ระบบ สพฐ. ที่ตั้งเป้าหมายอยากให้ไอคิวเด็กสูงขึ้นถึง 100 แต่ขณะนี้ทำงานมากี่ปีแล้ว ก็ยังถึงแค่ 98 เช่นเดียวกับ อีคิว ก็ยังต่ำอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว เช่นเดียวกับความเคยชิน ที่เด็กและครูต้องอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงที่มีการเรียนออนไลน์ ซึ่งก็หลงทิศหลงทาง เชื่อไปว่า สื่อเทคโนโลยี คือ คำตอบที่จะทำให้เด็กเกิดไอคิวที่สูงขึ้น
ประเด็นต่อมาก็คือ ครูเองก็มีภาวะซึมเศร้า เพราะต้องทำตามตัวชี้วัด กระทรวงศึกษาธิการยังคงเน้นการแข่งขัน ความเป็นเลิศทางการศึกษา และสิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่สิ่งที่ใช้ในการประเมินระบบวิทยาฐานะต่าง ๆ ของครูและผู้อำนวยการโรงเรียน นับตั้งแต่มีการกลับมาเปิดเรียน มองว่า ปัญหา Learning Loss ของเด็กยังไม่ถูกแก้ เป็นเพราะไม่เจาะลึกเรื่องของพัฒนาการ เป็นรายบุคคลอย่างรอบด้าน
ครูวรนาท ถึงขั้นเอ่ยปาก ว่า อยู่วงการนี้มา 40 ปี พูดกับทุกคนได้เลยว่า เด็กเป็นเหมือนภาพลวงตาว่าเขาเก่งขึ้น แต่ความจริงมันไม่ใช่ สังเกตที่แววตาเด็ก มันเศร้า มันสะท้อนใจ
ครูวรนาท ยังฝากไปถึงครูปฐมวัยให้หมั่น ทบทวนปรัชญา และความเชื่อของตนเอง โดยต้องเชื่อว่า เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น โรงเรียนอนุบาลตั้งต้นด้วยอะไร ไม่ใช่เงิน แต่ต้องตั้งต้นด้วย ความรัก เห็นชีวิตเด็กมีความสำคัญ และขอให้ผู้บริหารแต่ละโรงเรียนกลับมาเยียวยาจิตใจครูอนุบาล ทำงานประสานร่วมกันเพื่อเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง
“ปัญหา Learning Loss กิดจากนโยบายที่ Learning Loss เน้นความเป็นเลิศ IQ สูงแต่เด็กไทยก็ยัง IQ และ EQ น้อยอย่างน่ากลัว เด็กเหมือนภาพลวงตาว่า เก่งขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่ สังเกตที่แววตาเด็กมันเศร้า… อยากให้ทบทวนว่า โรงเรียนอนุบาลต้องตั้งต้นมาจากความรัก ไม่ใช่ เงิน”
วรนาท รักสกุลไทย
ผศ.ดร.พิสมัย วัฒนสิทธิ์ อาจารย์วิชาการพยาบาลเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุถึง ปัญหาเรื่องโภชนาการเด็กไทย เป็นเรื่องที่รับรู้กันมานาน ว่า ปัญหาด้านโภชนาทั้งเกิน ทั้งขาด สำหรับคนที่ไม่มีอันจะกิน ขาดความรู้ และทักษะในการจัดการอาหารให้เด็กวัยอนุบาล เด็กประถมวัย หากพูดถึงเรื่องของงบประมาณสนับสนุนอาหาร จริง ๆ ตอนนี้อาหารกลางวันรัฐบาลเพิ่มงบฯ ให้แปลว่า เห็นความสำคัญมากขึ้น แต่งบฯ อาหารเช้ายังไม่ได้ หลายที่ใช้วิธีการทำโครงการเพื่อที่จะไปของบประมาณจาก สปสช. เพื่อที่จะแก้ไขภาวะทุกโภชนาการเด็ก แต่ตรงนี้ยังทำไม่ได้ทั้งระบบแต่เป็นเพียงบางพื้นที่ที่เห็นความสำคัญ และตระหนักว่า โภชนาการเด็กมีความสำคัญ
นอกจากเรื่องโรภชนาการ อาจารย์พิสมัย ยังชี้ประสบการณ์ของโรงเรียนในญี่ปุ่น เมื่อพบว่าครูที่ญี่ปุ่นลงสนามไปวิ่งเล่นกับเด็ก ในขณะที่ครูอนุบาลของไทย คือ ยืนชี้มือแล้วห้ามเด็กว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่าทำอย่างนี้ ภาพที่แตกต่างกันมาก หากเด็กลงสนามครูต้องเล่นกับเด็ก ครูต้องทำตัวเป็นเพื่อนเล่นของเด็ก เด็กถึงจะเรียนรู้ ไม่ใช่ห้ามจนเด็กเสียตัวตน
“ครูอนุบาลไทย ยืนชี้นิ้ว ห้ามเด็ก อย่าทำอย่างนั้น อย่างนี้ จนทำให้เด็กเสียตัวตน เราอยากให้เป็นแบบ ครูปฐมวัยที่ญี่ปุ่น ที่ลงสนามแล้วก็วิ่งเล่นไปกับเด็ก…”
ผศ.ดร.พิสมัย วัฒนสิทธิ์
แก้ Learning Loss ความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้ว หลังโควิด
ขณะเดียวกัน อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า อนุบาล คือ อนาคต และคือเรื่องของทุกคน ในกลุ่มเป้าหมาย กสศ. โฟกัสเด็กยากจน และยากจนพิเศษ ส่วนการช่วยเหลือ ช่วยกันหลายโครงการ การทำงานจากปี 2563 เป็นต้นมา จากการเห็นข้อมูลพัฒนาการถดถอย ภาษา สติปัญญา อารมณ์ สังคม เวลานี้เด็กอนุบาล ต้องได้รับความช่วยเหลือสูงสุด สถิติหนึ่งที่พบ ภาวะถดถอยมากที่สุด ถึงร้อยละ 70 คือ ประถมฯ ต้น ต้องไม่ลืมว่าเด็กกลุ่มนี้เติบโตมาจากระดับอนุบาล
โครงการหนึ่งที่เริ่มแล้ว คือ การมีอาสาสมัครทางการศึกษา เพราะเห็นว่า ครูเอื้อมมือแบบสุดตัว จึงทดลองทำใน 14 จังหวัด โดยเลือกจากโรงเรียนที่ห่างไกล ขาดแคลน มีเด็กไม่ถึง 100 คน ทำงานร่วมกับเครือข่ายครู คุรุทายาท รับสมัครอาสาจากชุมชน น้อง ๆ ในชุมชน และครูที่เกษียณแล้ว ไม่มีค่าจ้าง แต่มีค่ารถ และอาหารกลางวันให้ โดยอาสาสมัครการศึกษา จะทำงานเชิงรุก ช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ห่างไกล จนถึงวันนี้มีอาสาสมัครมากกว่า 340 คน กระจายอยู่ใน 180 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกับ กสศ. นอกจากนี้ก็ยังมีการทำงานร่วมกับ เครือข่ายครูรักษ์ถิ่น ครูปฐมวัยเกือบ 500 คน และโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนให้กับครูปฐมวัย
“ภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากที่สุด 70% คือ ประถมฯ ต้น เด็กกลุ่มนี้เติบโตมาจาก อนุบาล…เรามีอาสาสมัครทางการศึกษา ช่วยเด็กปฐมวัย ครูเอื้อมมือช่วยแบบสุดตัว ก็ยังไม่หยุดจับมือภาคีช่วยกันแก้ปัญหา Learning Loss”
อุดม วงษ์สิงห์
เช่นเดียวกับ ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะโค้ชการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อนุบาล-ป.3) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) กสศ. ระบุว่า ความทุกข์จากการเขียนอ่าน มาจากตัวชี้วัด 8 สาระวิชาของเด็กชั้นประถมศึกษา แต่เด็กเป็นมนุษย์มีจิตใจไม่ใช่หุ่นยนต์ จึงต้องกลับมาดูต้นทุนในตัวเด็ก และครูฐานกายสำคัญ รับรู้การมีชีวิตเป็นฐานกำเนิดกลไกอยู่ที่นั่นความพร้อมฐานกาย สะท้อนว่า เด็กพร้อมจะเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งจากผลสำรวจเด็ก ป.2 จำนวน 2,000 คน พบ 99.8% ค่าการวัดแรงบีบมือต่ำกว่ามาตรฐานเป็นเท่าตัว ต้องเร่งปรับวิธีชะลอเขียนอ่าน 8 สาระยังไม่ต้องเด็กจะตกที่นั่งลำบากทันทีที่ได้เล่นจะได้พัฒนาฐานกายและสมอง
นั่นสะท้อนว่าเด็กยังไม่พร้อม ความกดดัน ความเครียดที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก และไม่อยากมาโรงเรียน เพราะ โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ทุกข์ทรมาน เมื่อไม่มั่นใจว่าจะมีชีวิตรอดในโรงเรียนได้อย่างไร ครูประถมฯ ต้องย้อนกลับไปดูความพร้อมของเด็ก
“99.8% ของเด็ก ป.2 แรงบีบมือต่ำกว่ามาตรฐาน เราต้องชะลอการเขียนอ่าน 8 สาระวิชา ไม่ให้เด็กตกที่นั่งลำบาก การเล่นจะทำให้เขาได้พัฒนาฐานกาย และสมอง อย่าทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ทุกข์ทรมานของเด็ก”
ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์
ทางด้านของ ดวงพร สุขธิติพัฒน์ ประธานสาขาวิชาการปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งได้ลงพื้นที่ ร่วมกับ กสศ. เน้นย้ำเรื่องสุขภาวะของเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ที่สำคัญคือ ต้องสนับสนุนครูเพื่อช่วยเรื่องวิชาการ โดยอาจให้เป็นบทบาทของปราชญ์ชาวบ้านในชุมชน พร้อมเสนอให้การผลิตบัณฑิต ต้องปรับกระบวนการ ทั้งต้นทาง ปลายทาง ปรับรายวิชาให้มีความทันสมัย ปรับหลักสูตรเชิงรุกให้สามารถพัฒนาสมอง EF ของเด็กได้จริง รวมถึงการทำวิจัยกับท้องถิ่นให้มากขึ้น และมองหาการมีส่วนร่วมจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
“พื้นที่ห่างไกลครูปฐมวัยไม่มี จึงต้องร่วมมือกับชุมชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหา…การผลิตบัณฑิต จำเป็นต้องปรับหลักสูตรเชิงรุก ให้พัฒนาสมอง EF ได้จริง และต้องทำวิจัยกับท้องถิ่น และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นการแก้ปัญหาจะยั่งยืน”
ดวงพร สุขธิติพัฒน์