เมื่อ”การศึกษา” กลายเป็นเครื่องมือถ่างความเหลื่อมล้ำ

วิเคราะห์ปัจจัยทำให้การศึกษาไทยล้าหลัง

นักการศึกษา ชวนสังคมทบทวนปรากฎการณ์มวลชนนักเรียน-นักศึกษา ลุกฮือ เรียกร้องอนาคตทางการศึกษา สะท้อนว่า การศึกษาภายใต้ระบอบอำนาจการรวมศูนย์ สั่งการแบบ Top down ฉุดรั้งคุณภาพการศึกษาหรือไม่

ระบบราชการที่รวมศูนย์ เป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน แม้เราจะเคยได้ยินวาทกรรม “กระจายอำนาจการศึกษา” แต่จนแล้วจนรอดก็ยังถูกครอบด้วยระบบสั่งการแบบ Top down ทำให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับพื้นที่ไปไม่ถึงไหนเช่นเดิม จนกระทั่งผลกระทบจากโควิด-19 ทั่วโลกเผชิญปัญหาใหญ่เรื่องการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชนที่กำลังถดถอย หลุดระบบการศึกษา และกังวลว่าจะมีทักษะที่เพียงพอแข่งขันกับโลกอนาคตได้อย่างไร…

The Active สัมภาษณ์พิเศษ นักการศึกษา ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึง รากปัญหาการศึกษาไทยที่ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไทยล้าหลัง ก้าวไม่ทันโลกยุคใหม่ อาจสายเกินไปหากยังไม่ปรับตัวให้การศึกษายืดหยุ่น และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา

การศึกษา เป็นกลไกหนึ่งที่ การเมืองมักจะเข้ามาควบคุมสูง เพราะเป็นเครื่องมือเตรียมคน สร้างอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การศึกษา เป็นปฏิบัติการทางการเมือง ยิ่งรัฐควบคุมมาก แสดงว่า รัฐใช้อำนาจในการควบคุมการเรียนรู้ของคนมาก พอเป็นแบบนี้ก็เป็นแรงกดดันทำให้โรงเรียนอึดอัดในการทำงาน และถูกส่งต่อมาที่ห้องเรียน ไปถึง ตัวเด็ก…”

การศึกษา เครื่องมือการเมืองไทยแท้ ?

ผศ.อรรถพล หรือ อ.ฮูก มองว่า การศึกษาเป็นการเมืองในตัวเอง และเป็นกลไกหนึ่งที่การเมืองมักจะเข้ามาควบคุมสูง เพราะเป็นเครื่องมือเตรียมคน สร้างอนาคต ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษา เป็นปฏิบัติการทางการเมืองในตัวเอง ยิ่งรัฐควบคุมมากก็แสดงว่ารัฐใช้อำนาจในการควบคุมการเรียนรู้ของคนมาก พอเป็นแบบนี้ ก็เป็นแรงกฎดันทำให้โรงเรียนอึดอัดในการทำงาน เพราะมีบรรยากาศบางอย่างที่ตึงเกินไปไม่ยืดหยุ่นในการทำงาน ถูกส่งต่อมาที่ห้องเรียน ไปถึงเด็ก

แต่แรงกดดันดังกล่าวก็นำมาสู่การตั้งคำถามของสังคม โดยเฉพาะกระแสของคนรุ่นใหม่ที่ลงถนน ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ #ปฏิรูปการศึกษา ผศ.อรรถพล มองว่า สังคมไทยควรหันมาทบทวนกระแสความตื่นตัวของวัยรุ่นด้านประชาธิปไตยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเหมือนภาพสะท้อนชัดว่า เป็นแรงดีดกลับ เมื่อรัฐพยายามจะควบคุมสูง Top down ทำให้เราเห็น เด็กนักเรียน คุณครูรุ่นใหม่ๆ ต้องการพื้นที่อิสระ รับฟังเสียงมากขึ้น จึงควรจะถอดบทเรียนได้แล้วว่าตลอด 8 ปี ทุกครั้งที่เสียงสะท้อนครู เด็ก โรงเรียนดังขึ้น เพราะอะไร…

“สังคมไทยควรหันมาทบทวนกระแสความตื่นตัวของวัยรุ่นด้านประชาธิปไตยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเหมือนภาพสะท้อนชัดว่า เป็นแรงดีดกลับ เมื่อรัฐพยายามจะควบคุมแบบ Top down

8 ปี เรารับฟังเสียงคนทำงานน้อยมากจริง ๆ เราเปลี่ยนรัฐมนตรีไปแล้ว 3-4 คน แต่หลายปัญหาก็ยังเป็นเรื่องเดิม”

โควิด-19 ภาวะแทรกซ้อนการศึกษา อย่าลืม! ให้เครดิต “คุณครู”

โควิด-19 ทำให้เราเห็นปัญหาการศึกษาที่เด่นชัด ทั้งการเรียนออนไลน์ และภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) ของนักเรียน แต่ในทางกลับกันสังคมไทยพบความหวังมากขึ้น ผศ.อรรถพลย้ำว่า ผ่านมา 2 ปีครึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 มาได้ คุณครู เป็นบุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่านี้ เพราะสามารถพานักเรียน ผ่านความยากลำบากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) นานกว่า 2 เดือน

อ.ฮูก ยังกล่าวถึงคุณครูรุ่นใหม่ที่มีความมหัศจรรย์ เพราะหลายคนทนไม่ไหว ลาออก ส่วนหนึ่งเพราะผิดหวังกับการสอนของตัว ที่คาดหวังว่าจะทำได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น และตั้งคำถามว่าทำไมต้องอยู่กับระบบที่ส่งเสียงไปแล้วผู้ใหญ่ไม่ฟัง เสนอทางออกให้แล้วก็ยังไม่ฟัง ยังจะใช้วิธีแบบเดิม ครูเก่งที่ดื้อจึงพากันถอย แต่คนที่ยังอยู่ไม่ใช่คนขี้ขลาด หรือ คนแพ้ อาจารย์ฮูก ย้ำว่า คุณครูเหล่านี้คือนักสู้ จากวิกฤตโควิด19 ที่พบเห็นการรับฟังเกิดขึ้นน้อย การตัดสินใจเชิงนโยบายการศึกษามีน้อย เรากลับเห็นฝั่งคนทำงาน (Actor) กลายเป็นผู้ที่เข้มแข็ง ขณะที่สังคมก็ตื่นตัว และสนใจที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น

“ช่วงโควิด-19 ครูหลายคนลาออกเพราะทนไม่ไหว ส่วนหนึ่งผิดหวังกับตัวเอง และตั้งคำถามว่า ทำไมต้องอยู่ในระบบที่ส่งเสียงแล้วผู้ใหญ่ไม่ฟัง

ครูเก่งที่ดื้อพากันถอยไปก่อน แต่คนที่อยู่ไม่ใช่ คนขี้ขลาด แต่พวกเขาคือ นักสู้มาก ๆ สำหรับผม เราให้เครดิตหมอ พยาบาลแล้ว เราต้องอย่าลืมให้เครดิตครู พวกเขาแข็งแกร่งมากที่พาเด็ก ๆ รอดมาได้ 2 ปี “



อ.ฮูก ทิ้งท้าย ประเด็น การแก้ปัญหานักเรียนในช่วงโควิด-19 ไม่อาจแก้เพียงปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นแต่ต้องไม่ลืม “ครู” ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของการศึกษาที่ต้องเร่งติดอาวุธกอบกู้สถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ให้ได้ โดยอาจารย์ มองว่า องค์กรอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. มาทันเวลาในช่วงที่ความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ ความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วนกำลังเกิดขึ้น กสศ. เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่มาช่วยได้ทันเวลา แต่จริงๆ มันก็ยังมีโจทย์ที่ต้องคิดต่อเพื่อเปลี่ยนระบบ การระดมเงินช่วยเหลือ และมีระบบติดตามอาจยังน้อยเกินไป สิ่งสำคัญมากที่สุดอีกเรื่อง คือ การเตรียม และพัฒนาครู

กระจายอำนาจการศึกษา วาทกรรมย้อนแย้งรัฐบาลรวมศูนย์

“ผมคิดว่า 8 ปีนี้ การพูดเรื่องกระจายอำนาจการศึกษาดังขึ้น แต่การเคลื่อนไหว (Movement)ที่จะเกิดขึ้นจริงน้อยมาก เพราะบรรยากาศประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น โครงสร้างออกแบบให้อำนาจทำงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะแนวคิดการกระจายอำนาจ (Decentralization) ต้องเชื่อก่อนว่า อำนาจอยู่ในมือของคนในระดับพื้นที่ สามารถตัดสินใจได้ แต่รัฐไทยมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจการปกครองท้องถิ่นมายาวนาน

โดย อ.ฮูก ยกตัวอย่าง 8 ปีภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ว่า มีโรงเรียน สังกัด อปท. ทั้ง อบจ. และเทศบาล ดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนทำให้หลายคนเชื่อแล้วว่า การปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาเป็นทางออกหรือไม่ แต่ส่วนกลางกลับไม่มีท่าทีว่าจะเชื่อแบบนั้น…

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดความย้อนแย้ง เช่น การมีหน่วยงานระดับจังหวัด ศึกษาธิการภาค ศึกษธิการจังหวัด ทำให้เกิดความลักลั่นว่า ตกลงแล้วจะกระจายอำนาจไปให้เขต และโรงเรียน หรือไม่ เพราะสุดท้ายก็ยังมีหน่วยงานขึ้นมาครอบอยู่มากมาย

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของ แนวคิดจัดตั้ง ซุปเปอร์บอร์ด ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวของ อ.ฮูก มองว่าเป็นเรื่องที่อันตรายหากจะมี ซุปเปอร์บอร์ด มีบทบาทอยู่เหนือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษธิการ สะท้อนถึงความไม่ยืดหยุ่น 8 ปี ของระบอบการปกครองในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง การศึกษารวมศูนย์และสั่งการมากขึ้น ขณะที่เสียงสะท้อนจากคนทำงาน สังคม กลับต้องการให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น มีระบบการรับผิดรับชอบที่คำนึงถึงคนหน้างานมากขึ้น

“8 ปี ของรัฐบาลปัจจุบัน เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง การศึกษารวมศูนย์ และสั่งการมากขึ้น ขณะที่เสียงสะท้อนจากคนทำงานกลับต้องการให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น

การกระจายอำนาจ (Decentralization) ต้องเชื่อก่อนว่า อำนาจอยู่ในมือของคนในระดับพื้นที่ แต่รัฐไทยมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจการปกครองท้องถิ่นมายาวนาน”

เมื่อ… นโยบายการศึกษา สร้างความเหลื่อมล้ำเสียเอง

ตลอดหลายทศวรรษ นอกจากการความพยายามจะปฏิรูปการศึกษาแล้ว สังคมไทยยังมุ่งมั่นที่จะใช้การศึกษาเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แก้ปัญหาการส่งต่อความจน และถูกทำให้เชื่อว่าการศึกษา คือ เครื่องมือที่จะช่วยพัฒนาชีวิตให้ไปต่อได้ แต่ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยที่การกระจายอำนาจเป็นเพียงวาทะกรรม ความพยายามที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับแย่ลง จึงทำให้ในบางสถานการณ์ การศึกษากลับกลายเป็นปัจจัยเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้วยตัวเอง

อ.ฮูก อธิบายประเด็นการศึกษาสร้างความเหลื่อมล้ำในตัวเอง เพราะในบางครั้งการกำกับนโยบายทางการศึกษา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างมากขึ้น เช่น โรงเรียนใหญ่ได้ทรัพยากรเยอะ โรงเรียนเล็กได้ทรัพยากรน้อย ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน ทั้งที่การศึกษาควรจะมีไว้ให้คนได้พัฒนาตัวเอง เพิ่มโอกาสในชีวิต แต่การศึกษาก็มีปัญหาในตัวเองได้เช่นกัน

เราคาดหวังให้ การศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในมุมกลับกัน การศึกษาก็เป็นเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำด้วยตัวเอง

เพราะในบางครั้งการกำกับนโยบายทางการศึกษา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างมากขึ้น เช่น โรงเรียนใหญ่ได้ทรัพยากรเยอะ โรงเรียนเล็กได้ทรัพยากรน้อย ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน จะแก้ไขได้ก็ต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมืองร่วมกัน”

ทางออกสำคัญ คือ การมองเป้าหมายการศึกษาต้องชัดเจน และยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เวลานี้ไทยมี มาตรฐานการศึกษาชาติ (DOE : Desired Outcomes of Education) ที่กำหนดเข็มทิศใหญ่ ในการออกแบบกลไกประเมินโรงเรียน หลักสูตร โดย สรุปมีเพียงแค่ 3 คำ คือ เรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างสรรค์นวัตกรรม และการเป็นพลเมืองตื่นรู้ สุดท้ายห้องเรียนจะถูกบังคับให้เป็นแบบเดียวกันหมดหากภาพการศึกษาชัด แต่ขาดความยืดหยุ่น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถผลิตคนได้ด้วยวิธีการคนละแบบ ถ้าจะโปรโมทว่า ไทยจะยึดหลักสูตรฐานสมรรถนะ ยิ่งต้องยืดหยุ่นไม่ใช้วิธีการเดียวกันในการพัฒนาเด็ก

อาจารย์ยังได้กล่าวถึง ปัญหาที่กำลังเป็นกระแสอย่างหนี้ กยศ. และชวนคิดต่อว่าสังคมมีตัวเลือกอื่นที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เพื่อการศึกษาอีกหรือไม่ เช่นการเปลี่ยนจากการกู้ยืม มาเป็นสวัสดิการเรียนฟรีถ้วนหน้า ถ้าสังคมเห็นพ้องก็ค่อยเดินหน้าทำ Action plan สิ่งสำคัญคือ การเห็นภาพตรงกันก่อน และต้องมีแรงส่งทางการเมือง การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนผ่านสังคม ไม่ควรมีไว้ตัดสิน ซ้าย หรือ ขวา เท่านั้น


Thailand Talks พื้นที่ทดลองพูดคุยกับ “คนแปลกหน้า”
สมัครร่วมโครงการ ผ่านการตอบคำถาม 7 ข้อ
14 ส.ค. – 14 ก.ย. 2565

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์