ทลายมายาคติปฏิรูปการศึกษา

มองความเป็นไปได้ ข้ามขอบการเรียนรู้

(20 ส.ค.2565) งานประชุมวิชาการ Education Journey 50 ปี การศึกษาไทย ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. และภาคีการศึกษา ณ ห้องประชุมอารีย์ กทม. ระดมภาคีการศึกษาจัดเสวนาต่อเนื่อง โดยช่วงแรกมี ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. นำเสนอความหมายของ “มายาคติ กับการปฏิรูปการเรียนรู้” และต่อด้วย รศ.อนุชาติ พวงสำลี ชวนคนรุ่นใหม่ ภาคีการศึกษา แลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่ผ่านวงคุย “ข้ามขอบการเรียนรู้ สู่ความเป็นไปได้ใหม่”

โดยสรุปช่วงแรก ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาว่า เกิดขึ้นจากมายาคติ เช่น คุณค่า ความเชื่อ ค่านิยม และกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่สั่งมานาน และสามารถควบคุมวิธีคิดของสังคมให้เป็นไปในทางเดียวกัน อาจารย์อดิศร ได้ยกตัวอย่าง รูปธรรมของมายาคติ เช่น การเรียนแพทย์ ที่ถูกฝังแนวคิดว่าเป็นความสำเร็จของผู้เรียน ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนแพทย์หลายคนก็อาจจะไม่ได้มีแรงบันดาลในที่จะเป็นแพทย์อย่างแท้จริง เพียงแต่สังคมบอกว่าต้องเป็นเท่านั้น..

ทำให้การทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษา และการสร้างนวัตกรรมที่หลากหลาย ไม่สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาการศึกษาได้ ขณะเดียวกันการนำโมเดลเชิงพื้นที่ ที่เคยประสบความสำเร็จ มาใช้กับอีกพื้นที่โดยไม่ให้เวลากับการทำความเข้าใจแนวคิด และบริบทสังคมอย่างดีพอ จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ

โดยอาจารย์ยกตัวอย่างแนวคิดในต่างประเทศ “McDonaldization of Education and Learning หรือ การแดกด่วนทางการศึกษา” คล้ายกับการเสิร์ฟอาหารจานด่วนที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับระบบการผลิต และพัฒนาคน แม้ไทยจะต้องเร่งพัฒนาการศึกษาให้ทัน หรือ เร่งผลิตคนให้ทันกับความต้องการของโลกยุคใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่า หัวใจสำคัญของระบบการศึกษา คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิด และมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไทยยังอยู่ภายใต้บริบทสังคมที่เต็มไปด้วยมายาคติ การพัฒนาและใช้โมเดลการศึกษาแบบสำเร็จรูป เร่งด่วน โดยคาดการไตร่ตรอง หรือตั้งคำถาม ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาไทยไม่ประสบความเร็จ..

“McDonaldization of Education and Learning หรือ การแดกด่วนทางกาศึกษา” อาจนำมาสู่ความล้มเหลว หากไม่ได้ศึกษามันอย่างลึกซึ้ง

การศึกษาไม่ควรผลิตซ้ำราวอุตสาหกรรม แต่ควรให้โอกาสผู้เรียนค้นหาตัวเองให้เจอ การศึกษาจึงไม่ควรด่วนสรุป หรือหาแนวคิดสำเร็จรูป..

เราจะต้องปฏิรูปการศึกษา และการเรียนรู้ โดยไม่ตกร่องมายาคติ”

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.อนุชาติ พวงสำลี ชวนคนรุ่นใหม่ ภาคีการศึกษา แลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่ผ่านวงคุย “ข้ามขอบการเรียนรู้ สู่ความเป็นไปได้ใหม่” โดย ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน เล่าผ่านประสบการณ์การสอนของตัวเอง ซึ่งพบว่า การศึกษาไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน ให้เด็กเป็นผู้ร่วมออกแบบกฎกติกากันเองภายในห้อง เพราะที่ผ่านมาครูหลายคนสอนตามหลักสูตร สอนตามหนังสือ เลี้ยงเด็กด้วยใบงาน และตอบคำถามตามแบบเรียน ฯลฯ โดยแทบจะไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่า ใครเป็นคนกำหนดหลักสูตรแกนกลาง เป็นจริงตามนั้นหรือไม่?

ขณะเดียวกัน ครูหลายคนที่พยายามจะก้าวข้ามกรอบการเรียนรู้ มักจะถูกตั้งถาม และรู้สึกเหมือนรถยนต์ติดหล่ม ติดกับดักบางอย่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงห้องเรียนได้จริง จากความพยายามหาคำตอบมาหลายปี ทำให้ ครูทิว ค้นพบว่า “ไม่ใช่ครูคนใดคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ และรู้สึกโดดเดี่ยว มีครูอีกมากมายที่มีความเจ็บปวด หรือ pain point ตรงกันทั้งภาระงาน และนโยบาย จึงเป็นที่มาของ กลุ่มครูขอสอน

“แม้ครูหลายคนจะพยายามข้ามกรอบการเรียนรู้ แต่เหมือนรถยนต์ติดหล่ม ติดกับดักบางอย่างที่ทำให้ครูไม่สามารถเปลี่ยนได้จริง

ผมค้นพบว่า ไม่ใช่ครูคนใดคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ และรู้สึกโดดเดี่ยว มีครูอีกมากมายที่มีความเจ็บปวด (pain point) ตรงกัน คือ ภาระงานของครู และปัญหาเชิงนโยบาย..

ครูไม่ใช่แค่ คนสอน แต่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม”

ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน

ไม่ใช่เพียงกลุ่มครูขอสอนเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีอีกหลากหลายภาคีการศึกษา ที่พยายามสร้างเครื่องมือให้ครู และนักเรียน ได้มีพื้นที่ปลอดภัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยในวงเสวนา “ข้ามขอบการเรียนรู้ สู่ความเป็นไปได้ใหม่” ได้รับเชิญมาอย่างน้อย 3 กลไกการทำงานของคนรุ่นใหม่ เช่น “Inskru, a-chieve, และเพจอะไรอะไรก็ครู” ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความพยายามในการสร้างเครื่องมือเพื่อติดอาวุธ และเป็นทางออกให้กับการศึกษาในปัจจุบัน

ชลิพา ดุลยากร ผู้ก่อตั้ง Inskru มองว่า คุณครูหลายคนที่ตั้งใจ และมีไฟจะเปลี่ยนการศึกษา มักจะเริ่มจากความรู้สึกเป็น “แกะดำ” ในโรงเรียนที่คนส่วนใหญ่ในโรงเรียนไม่เห็นด้วย เพจ Inskru จึงเป็นเหมือนพื้นที่รวบรวมชุมชนครูที่มีความเชื่อเดียวกัน มาอยู่รวมกัน คล้ายกับเป็นการเปิด Co-learning space ให้คุณครูได้มาปล่อยของ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อสงสัย ความน่าสนใจจึงอยู่ตรงที่ “การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ครูได้รับคำตอบ ได้ร่วมกันต่อสู้ ขยับประเด็นทางการศึกษาได้” เวลานี้พื้นที่อย่าง Inskru พิสูจน์ แล้วว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องเอาเวลาไปอบรม หรือดึงครูออกนอกห้องเรียน แต่จะทำอย่างไร ให้วัฒนธรรมออนไลน์ แบบนี้กลับไปสู่ในโรงเรียนได้..

“ความเจ็บปวดมาจากความรู้สึกว่าครู เริ่มเป็น “แกะดำ” ในโรงเรียน Inskru จึงเป็นพื้นที่รวมชุมชนครูที่มีความเชื่อเดียวกัน มาอยู่ด้วยกัน

วันนี้พิสูจน์แล้วว่า Inskru เป็นพื้นที่ปลอดภัย เรียนรู้ แลกเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมออนไลน์ได้ โดยไม่เอาเวลาไปอบรม หรือดึงครูออกนอกห้องเรียน แต่จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมนี้ถูกนำกลับไปสู่โรงเรียนได้ด้วย”

ชลิพา ดุลยากร Inskru

ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย a-chieve อีกภาคีการศึกษา ที่มีแนวคิดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นปัญหาของเด็กนักเรียนที่ไม่สามารถค้นหาตัวเองได้ โดยใช้วิธีการสนับสนุนผ่าน 3 เครื่องมือ คือ การค้นหาตัวเองผ่านตัวตน-วิธีคิด-และข้อมูล หรือที่เรียกว่า “กระบวนการเรียนรู้เพื่อการออกแบบชีวิตอย่างรอบด้าน” โดยจากการทำงานลงพื้นที่พบว่า การค้นหาตัวตน เกิดขึ้นจากตัวเด็ก 100% สิ่งสำคัญคือ การกลับไปสนับสนุน และคืนความเป็นตัวเองให้กับพวกเขา โดย a-chieve ยังได้พยายามทำงานร่วมกับครูแนะแนวทั่วประเทศ เพื่อทำให้ห้องแนะแนวเป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กๆ สามารถค้นหาตัวเองได้อย่างแท้จริง..

a-chieve พยายามสนับสนุนเครื่องมือ ให้เด็กสามารถค้นหาตัวเองผ่านตัวตน วิธีคิด ข้อมูล โดยคืนอำนาจให้เด็ก 100% และพยายามขยายผลกับครูแนะแนวทั่วประเทศ เพื่อสร้างห้องเรียนแนะแนวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย”

ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย a-chieve

ศุภวัจน์ พรมตัน เพจ อะไรอะไรก็ครู เล่าว่าสิ่งแรกที่เป็นคำถามมาตลอดชีวิตของการสอน คือ “เป้าหมายของนักเรียน ตรงกับสิ่งที่ครูกำลังสอนจริงหรือไม่ ?” ที่ผ่านมา ครูศุภวัจน์ พยายามตั้งคำถามและช่วยเด็กหาคำตอบ ผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการในห้องเรียน โดยให้นักเรียนถามตัวเอง ถึงสิ่งที่อยากรู้ อยากเรียน เป็นอันดับแรก โดยสิ่งที่ได้กลับมาคือคำตอบที่เป็นรูปธรรม เช่นเด็กตอบว่า “เรียนภาษาไทย เพราะอยากได้การสื่อสาร พูดเก่ง เป็นยูทูปเบอร์ ฯลฯ ซึ่งไม่ต่างจากคนสั่งอาหาร พวกเขาจะไม่สั่งว่าอยากได้วัตถุดิบอะไร แต่จะสั่งว่าอยากกินอะไร ครูจึงมีหน้าที่ปรุงและเสิร์ฟเป็นจาน โดยไม่ต้องมาสอนว่ามันปรุงมาจากอะไรบ้าง..”

การเรียนรู้ข้ามขอบของครูศุภวัจน์ จึงหมายถึง การข้ามขอบมาตรฐาน ตัวชี้วัด และทำตามความเข้าใจของเรา โดยย้ำว่า 10 กว่าปี ของการทำเพจอะไรอะไรก็ครู เห็นครูเริ่มแชร์ห้องเรียน ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่า อิมแพคกว่านั่งอบรม และไม่ต้องติดกับดักภาระงานเยอะ

เขากำลังทำอะไร อะไรคือ เป้าหมายการเรียนของเขา ไม่ตรงกับสิ่งที่ครูสอนหรือไม่” เป็นสิ่งที่ผมพยามยามตั้งคำถามมาตลอด เพื่อช่วยนักเรียน..

สำหรับผมการข้ามขอบการเรียนรู้ คือ ข้ามขอบมาตรฐาน ตัวชี้วัด และทำตามความเข้าใจของเรา.. ถ้าเปรียบเป็นกะเพรา 1 จาน ครูต้องทำหน้าที่ปรุง และเสิร์ฟเป็นจานพร้อมใช้งาน ไม่ใช่การมาสอนว่า มีวัตถุดิบอะไรบ้างจากอาหารเหล่านี้”

ศุภวัจน์ พรมตัน เพจ อะไรอะไรก็ครู

ณิชา พิทยาพงศกร TDRI มองปรากฎการณ์ใหญ่ 3 อย่าง คือ การแยกตัวจากกันระหว่าง การเรียนรู้ กับ การศึกษา การศึกษาคือ สิ่งที่คนจัดให้ แต่การเรียนรู้ เกิดขึ้นจนตาย ทำให้การเข้าระบบการศึกษาไม่ได้รับประกันว่าเป็นการเรียนรู้ อีกภาพหนึ่งคือ ต่อให้จบการศึกษาสูง อาจจะทำงานไม่ได้สูงตามวุฒิ สะท้อนการแยกกันระหว่างวุฒิการศึกษา กับ ทักษะการทำงาน และอีกปรากฎการณ์ คือ ความลดถอยของระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ความเสื่อมถอยสะท้อนผ่าน ปริมาณเด็กที่ลดลง จำนวนครูที่ลดลง งบประมาณการศึกษาที่ลดลงตามจำนวนเด็กและครู รวมถึงคุณภาพของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ไม่ไว้วางใจ และออกจากระบบการศึกษาอย่างเต็มใจ ไม่ได้ออกเพราะจน แต่ออกเพราะรู้สึกเสียเวลา โดยย้ำว่าในขณะที่เด็ก สพฐ. ลด เด็ก กศน.ไม่เคยลดลง และการงอกงามของการศึกษาทางเลือก

หากระบบการศึกษาไม่เปิดรับ จะเกิดระบบคู่ขนาน ถ้าพร้อมที่จะจ่ายเพื่อทางเลือก ส่วนเด็กของรัฐจะรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสายใยความเป็นสังคม เราจะลดความเป็นราชการของการศึกษาได้อย่างไร เพราะไทยมีจุดกำเนิดแตกต่างจากประเทศอื่น จุดกำเนิดคือความเป็นราชการ กฎระเบียบอะไรที่เป็นอุปสรรค ข้อสอง เราจะดึงให้วุฒิ กับทักษะ มารวมกันได้อย่างไร เราจะยอมรับคนที่เรียนจากนอกรัฐ เทียบเท่าคนที่เรียนกับรัฐได้อย่างไร หรือเรียนในรัฐ จะเอาวิธีคิดนอกรัฐมาใช้ร่วมกันได้อย่างไร ข้อสาม คือ ในช่วงที่ผ่านมาพบระบบการทำงานของสมอง และการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างก้าวกระโดด มีงานวิจัยที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงสิ่งที่เด็กเจอ กับ การเรียนรู้ แต่เรามักจะไม่ได้ยินรื่องนี้ในครุศาสตร์ หากเอาศาสตร์ความรู้มาเชื่อมกันได้ น่าจะแก้ปัญหาการศึกษาได้

“3 ปรากฎการณ์สำคัญ คือ 1) การแยกกันของคำว่า “ศึกษา กับ การเรียนรู้” 2) การแยกกันของ “วุฒิการศึกษา กับ ทักษะ” 3) ความเสื่อมถอยของระบบการศึกษา

หากระบบการศึกษาไม่เปิดรับ จะเกิดระบบคู่ขนาน ระหว่างการศึกษาในภาครัฐ กับ เด็กที่พร้อมจะจ่ายเพื่อหาทางเลือก ส่งผลต่อสายใยความเป็นสังคม”

ณิชา พิทยาพงศกร TDRI

โดยภายในวงเสวนา ยังมีข้อสรุปทิ้งท้ายจาก รศ.อนุชาติ พวงสำลี ผู้ดำเนินวงเสวนาวันนี้ที่เน้นย้ำถึงการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ในโรงเรียนว่า “โรงเรียนต้องปลอดภัย ลดกฎของโรงเรียน ไม่ล้วงลูกการสอนของครู เป็นวัฒนธรรมการไว้ใจ จะอนุญาตให้ความคิดใหม่ได้ทดลอง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะไม่เหมือนกัน แต่ข้อจำกัดของระบบโรงเรียนไทย ทำให้แนวคิดเหล่านี้ไม่สามารถปรากฎได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน