การลาออกครั้งใหญ่ของแพทย์จบใหม่ใช้ทุน (Intern) หรือแม้แต่กระทั่งแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ (Staff) ซึ่งดูแลผู้ป่วยสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง กำลังจะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสอาจเข้าถึงการรักษาไม่ง่าย ในขณะที่คนมีเงินก็จะสามารถเลือกช่องทางในการรักษาที่รวดเร็วและมีคุณภาพมากกว่า
นี่เป็นโจทย์ท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะทำอย่างไรจึงหยุดภาวะสมองไหล ไม่ให้หมอลาออกไปจากระบบมากกว่านี้
อีกทั้งการที่หมอคนหนึ่งต้องอยู่เวรข้ามวันข้ามคืน อดหลับอดนอน สะท้อนปัญหาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลายเป็นความชินชาในระบบที่มีมานานแล้ว และปัจจุบันมีความพยายามจากหมอรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้มีกฎหมายกำหนดชั่วโมงการทำงาน เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ควรถูกแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ทนกันไป
ขณะเดียวกัน หมอเกือบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดคือช่วงเวลาที่เป็นแพทย์ใช้ทุนหรือ intern” หลายคนเมื่อใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน หรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย และ แพทย์ intern บางคนก็ลงทุนหาเงินมาโปะ แล้วลาออกจากระบบเพราะทนกับสภาพความเป็นอยู่ไม่ไหว โรงพยาบาลรัฐในทุกวันนี้จึงคล้ายกับแก้วน้ำที่มีรูรั่ว เติมน้ำเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ไหลออกไปหมด
The Active สรุปได้ว่าสาเหตุที่หมอลาออกจากระบบมีอยู่ด้วยกันสี่ประเด็นใหญ่คือ
1.ทำงานหนัก อยู่เวร 100 ชม./สัปดาห์: บุคลากรที่ไม่เพียงพอทำให้หมอต้องอยู่เวรติดต่อกัน นอกเวลาราชการ ต่อเนื่องไปจนถึงในเวลาราชการของอีกวัน ถ้าจะเปรียบเทียบอย่างง่าย คือคนธรรมดาทั่วไปทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วัน ในหนึ่งสัปดาห์เราทำงานเพียง 40 ชั่วโมง แต่แพทย์อาจทำงานมากถึงสัปดาห์ละ 100 – 120 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว
2.ค่าตอบแทนต่ำกว่าเอกชน 10 เท่า: กรอบอัตรากำลังการบรรจุแพทย์ในระบบข้าราชการก็มีเพดานไว้ไม่เกิน 40% ของงบประมาณด้านบุคลากร ทำให้ไม่สามารถบรรจุแพทย์ทั้งหมดเป็นข้าราชการได้ ต้องจ้างลักษณะสัญญาจ้าง ซึ่งค่าตอบแทนของภาครัฐก็จะต่ำกว่าภาคเอกชน แพทย์หลายคนจึงเลือกไปเปิดคลินิกส่วนตัว หรือไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนไปเลย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
3.สวัสดิการ คุณภาพชีวิตแย่: หมอไม่ได้แค่มีหน้าที่รักษาคนอย่างเดียวแต่อาจจะต้องทำงานด้านเอกสาร กรอกข้อมูลต่าง ๆ ส่ง สปสช. หรือทำข้อมูลรายงานเพื่อรองรับการตรวจสถานพยาบาลหรือ HA ด้วย และยังมีการประชุมนอกสถานที่ นอกจากนี้ สำหรับแพทย์จบใหม่ บ้านพักแพทย์ที่เก่าโทรม ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น
4.วัฒนธรรมองค์กร สิ่งแวดล้อมเชิงลบ: เป็นที่ยอมรับกันว่าวัฒนธรรมองค์กรของแพทย์ค่อนข้างมีชนชั้น แพทย์จบใหม่ หรือ Intern จะมีพี่เลี้ยงเป็นแพทย์รุ่นพี่ หรือ staff แต่แพทย์รุ่นพี่บางคนก็มักจะผลักภาระงานให้แพทย์รุ่นน้อง มีการพูดจาไม่ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นวัฏจักรที่แพทย์รุ่นพี่เองก็เคยเจอปัญหาแบบนี้เมื่อเคยเป็น Intern มาก่อนก็เลยกลายเป็นวัฒนธรรมรุ่นพี่ กดดันรุ่นน้อง สืบต่อกันมา
กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข มีมานานแล้ว และไม่สามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้อย่างเร่งด่วน ประกอบกับแพทย์ลาออกจำนวนมาก โดยในส่วนของแพทย์ อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ ต้องดูแลประชากรประมาณ 75-80% คิดเป็น สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1: 2,000 คน ถือเป็นภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ขณะที่มาตรฐาน WHO กำหนดสัดส่วนไว้ประมาณ 1 :1,000 คน
ขณะที่กำลังการผลิตแพทย์ภาครัฐและเอกชนรวมกันได้ปีละ 3,300 คน จำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็นการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรฯ (Consortium) และมีหน่วยงานรับจัดสรรหลายสังกัด
แผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2561-2570 พบว่าต้องการแพทย์เข้าสู่ระบบปีละ 2,055 คน แต่ได้รับการจัดสรรประมาณปีละ 1,800 – 1,900 คน
ปี 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา 2,759 คน ได้รับการจัดสรร 1,960 คน ที่เหลือจัดสรรให้กระทรวงกลาโหม คณะแพทยศาสตร์ 6 แห่งในภูมิภาคและส่วนราชการหน่วยงานต่าง ๆ สอดคล้องกับจำนวนแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์นที่แพทยสภากำหนดให้ฝึกทักษะในโรงพยาบาล 117 แห่ง ซึ่งปี 2565 ศักยภาพในการรับอยู่ที่ 3,128 คน แต่ได้รับจัดสรร 2,150 คน คิดเป็น 68.7%
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการสำรวจช่วงวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 พบว่า โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์มี 65 แห่ง แบ่งเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59 ชั่วโมง/สัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52 ชั่วโมง/สัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 23 แห่ง ได้มีการวางแผนแก้ไขเป็นระยะ 3, 6, 9, 12 เดือนสามารถลดชั่วโมงการทำงานได้แล้ว 20 แห่ง
ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) พบว่า มีการบรรจุแพทย์รวม 19,355 คน
- แพทย์ใช้ทุนปี 1 ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ซึ่งจำนวนค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีข้อกำหนดให้แพทย์ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะก่อนไปศึกษาต่อ
- แพทย์ใช้ทุนปี 2 ลาออก 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน กลุ่มนี้จะมากสุดเนื่องจากสามารถไปศึกษาต่อได้แล้ว
- แพทย์ใช้ทุนปี 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังใช้ทุนครบ 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน
รวมแพทย์ลาออกปีละ 455 คน รวมกับแพทย์ที่เกษียณปีละ 150-200 คน จึงมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ซึ่งหากดูแพทย์ที่คงอยู่ในระบบพบว่า แพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) จะคงอยู่ในระบบได้มากถึง 80-90% เนื่องจากเป็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จากคนในพื้นที่
กระทรวงสาธารณสุขจะแก้ปัญหาหมอลาออก อย่างไร ?
นพ.ทวีศิลป์ ในฐานะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ
- การเพิ่มค่าตอบแทน มีการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ
- สวัสดิการ ทั้งเรื่องที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
- ความก้าวหน้าในการทำงาน ได้หารือกับ ก.พ. เรื่องกรอบอัตรากำลัง การกำหนดตำแหน่งสูงขึ้น
- เรื่องภาระงาน ยังต้องผลิตแพทย์และขอรับการจัดสรรเพิ่มเพื่อมาเติมในระบบ โดยกรอบอัตรากำลังใหม่ที่ประกาศใช้ปี 2565-2569 ในปี 2569 กำหนดอัตราแพทย์ 35,000 คน รวมทั้งมีการหารือกับ ก.พ. ในการบริหารกำลังคนรูปแบบใหม่ ๆ และการจ้างงานที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจาก ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์การแพทย์แม่นยำศิริราชพยาบาล ที่ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า การชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแค่การอธิบายสถานการณ์ด้วยตัวเลข นอกจากจะขอให้อดทนแล้วยังไม่เห็นคำตอบว่ามีทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไร ดังนี้
- จะลดปริมาณงานที่ไม่จำเป็นได้ยังไง
- จะเพิ่มคนเอาตำแหน่งและเงินจากไหน
- จะเพิ่มค่าตอบแทนเงินมาจากไหน
- แก้ไข Toxic Envrinment ในโรงพยาบาล จะต้องแก้ไขอย่างไร
ซึ่ง ศ.นพ.มานพ ก็ได้ชี้ทางว่า การจะลดปริมาณงานที่ไม่จำเป็นและการแก้ไขวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ (Toxic Envrinment) ในโรงพยาบาลนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ กระทรวงสาธารณสุขเองจะต้องมีการกำหนดนโยบายแก้ไขส่วนนี้ออกมา ส่วนจะเพิ่มคน เอาตำแหน่งและเงินจากที่ไหน อันนี้คนที่มีอำนาจในการแก้ไขคือ ก.พ. ขณะเดียวกันเงินที่จะเอามาจ้างคนเพิ่ม และค่าตอบแทนที่จะเพิ่มจะนำเงินมาจากที่ไหน ส่วนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. เป็นผู้กำเงินรายหัวของประชากรประชาชนที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง