ปากคำของผู้ถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติ

มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปราศจากการกีดกันทุกรูปแบบ แต่ต้องยอมรับว่า สังคมไทยเวลานี้ หลายคนยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การถูกตีตราและการเลือกปฏิบัติ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนจับมือกัน ใช้พื้นที่บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดตัว เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) มูฟไปข้างหน้า เพื่อสร้างสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลายไม่เลือกปฏิบัติ แล้วเราจะมีทางออกเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

The Active ร่วมกับ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ(MovED) เปิดพื้นที่พูดคุยแสดงเจตจำนงค์ไม่ผลิตซ้ำคำพูดและการกระทำที่เป็นการตีตรา เลือกปฏิบัติ ช่วงหนึ่งของกิจกรรมคือ ” Stigma Talk” 5 ปากคำของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ ประกอบด้วย เครือข่ายพนักงานบริการ, เครือข่ายชาติพันธุ์, การยุติการตั้งครรภ์, เครือข่ายผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด และเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับ HIV  

วิทวัส เทพสง เครือข่ายชาติพันธุ์ ระบุ ที่ผ่านมามีกฎหมายนโยบาย ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาถูกเรียกว่า ไอพวกชาวเขา ไอพวกไทยใหญ่ พวกชนกลุ่มน้อย พวกคนต่างวัฒนธรรม ความต่างเหล่านี้กลายเป็นผีที่หลอกหลอนสังคมไทย จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเลิกกลัว ความแตกต่าง มูฟดิรวมผู้คนที่หลากหลายกลุ่ม ต้องไม่มีอคติทั้งในที่มืดและที่สว่าง พวกเราผู้มีความหลากหลายต้องมีความเท่าเทียม สิ่งสำคัญ คือ ความเข้าใจ และความเชื่อว่าคนเท่ากัน โดยยืนยันว่าจะเสนอผลักดันกฎหมายเลิกการเลือกปฏิบัติให้กับรัฐบาลชุดใหม่

“กลุ่มชาติพันธุ์ มักถูกเรียกว่า ไอ้พวกชาวเขา ไอ้พวกไทยใหญ่ พวกชนกลุ่มน้อย พวกคนต่างวัฒนธรรม จะทำอย่างไรให้สังคมไทยเลิกกลัวความแตกต่าง”

วิทวัส เทพสง เครือข่ายชาติพันธุ์

นิศารัตน์ จงวิศาล เครือข่ายการยุติการตั้งครรภ์ ระบุ ทำแท้งแล้วชีวิตไม่ได้บัดซบ เขา คือ ปากคำของคดีอาชญกรรมของคดีล่าแม่มด ไม่ยุติธรรม พร้อมเรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ สถานที่ทำแท้งให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อความปลอดภัย และหยุดบอกว่า การทำแท้งปลอดภัยกว่าการคลอด ขณะที่สื่อมวลชนก็ต้องออกมาขอโทษ ที่เคยพาดหัวข่าวว่าคนกลุ่มนี้เป็นแม่ใจยักษ์ เพราะแท้จริงแล้วพวกเธอก็มีความรู้สึก เพียงแค่มีเหตุผลที่แตกต่างจากคนอื่นเท่านั้น

“กระทรวงสาธารณสุข ต้องบอกเราว่าควรทำแท้งที่ไหน เพื่อให้เราปลอดภัย สื่อขอโทษเราสักทีที่เคยพาดหัวว่าเป็น “แม่ใจยักษ์” เรามีความรู้สึก เพียงแค่มีเหตุผลที่แตกต่าง”


นิศารัตน์ จงวิศาล  เครือข่ายการยุติการตั้งครรภ์

สุรศักดิ์ เนียมถนอม เครือข่ายพนักงานบริการ ระบุ อาชีพที่มีมายาวนาน คือ พนักงานบริการทางเพศ ไม่มีใครลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า ฉันอยากเป็นพนักงานบริการทางเพศ แต่สภาพสังคมทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงอาชีพ เป็นการเลือกสิ่งที่ช่วยเติมเต็มครอบครัวได้ รัฐบาลไทยไม่เคยมองว่าอาชีพนี้มีตัวตน แต่การมีอยู่ของอาชีพนี้ ทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่เคยได้รับอะไรตอบแทน

ช่วงโควิด19 พี่น้องเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากภาครัฐ และต้องโกหกว่ากำลังทำอาชีพอะไร เพราะฉะนั้นพนักงานบริการไม่ถูกมองว่าเป็นอาชีพ แต่กลับถูกผลักให้อยู่ในอาชีพ สีเทา “เรามีคนที่เรารัก มีคนที่เราต้องการให้เขามีโอกาสที่ดี สิ่งที่เกิดคือ เรา 1 คนดูแลครอบครัวเกิน 10 คน เราอยากให้มองว่า พวกเราไม่ผิดกฎหมาย  มองคนให้มากกว่าอาชีพ ไม่ควรลดทอน และให้ค่าเพียงว่าเธอเป็นคนให้บริการทางเพศ

รัฐบาลไทยไม่เคยมองว่าอาชีพนี้มีตัวตน เราอยากให้มองว่า พวกเราไม่ผิดกฎหมาย  ไม่ควรลดทอนคุณค่าของเราเพียงแค่เราเป็น “คนให้บริการทางเพศ”


สุรศักดิ์ เนียมถนอม เครือข่ายพนักงานบริการ

ระวิวรรณ หาญวงษ์ เครือข่ายผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด ใช้ยามา 30 กว่าปี ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน แม้จะเป็นหน่วยงานที่ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติแต่ในความจริงกลับไม่มีความเท่าเทียม ตราบใดที่วัดคุณค่าเราด้วยผลปัสสาวะ รู้สึกแย่ เคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ช่วยพยาบาลว่า “ผู้ป่วยเตียงนี้ติดยา” วอนสังคมโปรดปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

แม้จะทำงานในหน่วยงานที่ลดการตีตรา และเลือกปฏิบัติ แต่ในความจริงกลับไม่มีความเท่าเทียม ตราบใดที่วัดคุณค่าเราด้วยผลปัสสาวะ… รู้สึกแย่ เคยมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติจากผู้ช่วยพยาบาลว่า “ผู้ป่วยเตียงนี้ติดยา” 


ระวิวรรณ หาญวงษ์ เครือข่ายผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด 

มีมี่ เยาวชนที่เติบโตมากับ HIV ย้อนกลับไปชีวิตของเธอเคยถูกตีตรา ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เธอเล่าว่าเธออยากเป็นพยาบาล และพยายามลองไปดูแลคนพิการ เด็กพิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งค้นพบว่าเธอเองสามารถทำได้ แต่ด้วยคุณสมบัติและความเข้าใจในสังคม ทำให้เธอถูกเลือกปฏิบัติในที่สุด 

นี่เป็นเรื่องเล่าอีกเรื่องของเยาวชนที่เติบโตมากับ HIV โดยเพื่งรู้ว่า เธอมีสถานะแบบนี้ในวัย 8 ขวบ เมื่อถูกเพื่อนล้อว่า เด็กป่วย, เด็กเอดส์ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร จนเริ่มสังเกตได้ว่า ทีท่าที่เขาพูดเหมือนรังเกียจ

การตรวจ HIV ไม่ใช่ตัววัดศักยภาพการทำงาน เพราะภาพจำของ HIV ถูกตีตรา นี่คือความเจ็บปวดใจ ที่ผลเลือดเป็นตัวกีดกันเราขนาดนั้น ทั้งที่เราก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล เพราะนี่เป็นการละเมิดสิทธิ์ของคนกลุ่มนี้

การตรวจ HIV ไม่ใช่ตัววัดศักยภาพการทำงาน  นี่คือ ความเจ็บปวดใจที่ผลเลือดเป็นตัวกีดกัน เพราะนี่เป็นการละเมิดสิทธิ์ของเรา”


มีมี่ เยาวชนที่เติบโตมากับ HIV

กิจกรรมครั้งนี้ ยังมี VDO Presentation สถานการณ์การเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ The Active รวบรวมมาบางส่วน จากผู้คนหลากหลายอาชีพ เช่น 

ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี นักข่าว โดยเธอพบเห็นการตีตรา และเลือกปฏิบัติที่ยังคงอยู่ในแวดวงคนทำสื่อ โดยยกตัวอย่างการพาดหัวข่าวที่สร้างความตื่นเต้น เช่น ทอมดุ ทอมหึงโหด สร้างภาพจำต่ออัตลักษณ์ทางเพศ เช่น การทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบทอม สะท้อนถึงความรุนแรงก้าวร้าว การทำข่าวที่เน้นความรวดเร็ว ต้องการให้ฉุกคิดเกี่ยวกับการเขียนข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลาย และช่วยกันอัพเดทแนวปฏิบัติต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เพื่อให้สังคมเปิดใจและโอบรับความหลากหลายอย่างแท้จริง

สามน้ำหอม คนไทย ลูกหลานไทยใหญ่ ระบุว่า คนที่มีสัญชาติ กับ ไม่มีสัญชาติ ต้นทุนต่างกันตั้งแต่ออกจากบ้าน โดยยกตัวอย่างลูกหลาน ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีบัตรประชาชน สะท้อนถึง การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปล่อยปละละเลย แรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานใน กทม. ไม่กล้าเข้าถึงการรับบริการหลายอย่าง เช่นบริการด้านสาธารณสุข หลายครอบครัวไม่มีเงินต้องกู้ยืมเพื่อเข้ารับการรักษา 

ปิยะบุตร เที่ยนคำศรี ประธานทูตอารยสถาปัตย์ กทม. ระบุการเดินทางมักไม่รองรับคนพิการ ทางเท้ามีอุปสรรค ในมุมมองของเขามองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะคนพิการไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ คนที่ใช้รถเข็นก็เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับครอบครัวได้ยาก พร้อมขอฝากถึงเรื่องสิทธิคนพิการ ให้เว้นที่ไว้เพื่อคนพิการ ที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชาลี คงเปี่ยม