ไทยอยู่จุดไหนของโลก ?
ประเด็นนิยาม “ความจน” กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันอีกรอบ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ‘ของแพง ค่าแรงถูก’ แต่ตัวเลขคนจนจากการสำรวจล่าสุดกลับลดเหลือแค่ 4 ล้านคน ตามการอ้างอิงจากเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ฯ โดยนับเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
หลายเสียงสะท้อนว่าปัญหาความยากจนไม่ได้หมดไป แค่ปรับคำนิยามใหม่ อัพเกรดสถานะผู้ถือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ อีก 13.5 ล้านคน เป็น กลุ่มเปราะบาง “ไม่ถือว่าเป็นผู้มีความยากจน” ทั้งที่หากพิจารณารายได้ของชาวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะพบว่ามีรายได้เฉลี่ยอยู่แค่ 8,333 บาท ต่อเดือน และยังต้องได้รับความช่วยเหลือในแง่ค่าใช้จ่ายจากรัฐ
แต่ไม่ว่าจะหาหลักเกณฑ์มาอะไรมาขีดแบ่งความยากจน เพื่อทำตัวเลขให้ดูดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากปรากฏการณ์นี้ก็คือการให้น้ำหนักของปัญหาพุ่งเป้าไปที่ “ความยากจน” และดูจะเหมือนมองข้ามปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ทั้งที่ ความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญในสังคมไทย และยังส่งผลกระทบต่อไปถึงปัญหาในมิติอื่น ๆ อย่างกว้างขวางรุนแรง ไมว่าจะเป็นด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ
การไม่เข้าไปเร่งสลายช่องว่างในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ สุดท้าย สังคมก็ยังวนเวียนอยู่กับสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” แบบไม่มีทางหลุดพ้น การเริ่มต้นแก้ปัญหานี้อาจต้องตั้งต้นตัั้งแต่การสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่…
ในอดีตสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยเคยทวีความรุนแรงมากขึ้นจนติด TOP 5 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก จากข้อมูล Gini Wealth Index ปี 2018 ของ เครดิต สวิส (Credit Suisse)
แม้ล่าสุด อันดับ Gini Wealth Index ปี 2021 ไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด คือก้าวจากจาก อันดับ 4 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด มาอยู่ที่อันดับ 97
โดยถือเป็นประเทศที่ติด Top 5 ความเหลื่อมล้ำที่ดีขึ้น โดยอยู่อันดับที่ 4 ดีขึ้น 13.1% รองจาก ไอซ์แลนด์ ดีขึ้น 22.2 % คาซัคสถาน ดีขึ้น 18.8% โดมินิคา ดีขึ้น 14.9 %
แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นว่าช่องว่างระหว่าง “คนรวย” และ “คนจน” ในสังคมไทยนั้นลดน้อยลงมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อสถานการณ์รอบตัวดูจะไม่คล้อยตามไปกับดัชนีที่ปรากฏ
หนึ่งในข้อสังเกตจาก สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นว่าจากข้อมูล อาจทำให้เข้าใจได้ว่า ภาพความเหลื่อมล้ำที่ดูเหมือนดีขึ้น เพราะความ มั่งคั่งของ “คนรวย” ตกลงมากในช่วงโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ ในขณะที่ความมั่งคั่งของคนจนไม่ได้ดีขึ้น
ทั้งที่ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศยังคงมีอยู่ ทำให้ต้องคิดต่อไปว่าใน ปีนี้หรือปีหน้า เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะกลับมารุนแรงเหมือนในปี 2018 อีกหรือไม่
สำรวจความเหลื่อมล้ำไทยปี 2018
หากมาลองพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดปี 2018 จะพบว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดคือ ยูเครน ดัชนีความมั่งคั่งจีนี อยู่ที่ 95.5 % รองลงมาคือ คาซัคสถาน 95.2 % อียิปต์ 90.9 % ไทย 90.2 % และ ไซปรัส 89.8 % ไนจีเรีย 89.4 % เลบานอน 88.9 % รัสเซีย 87.5 % ตุรกี 87.1 % สวีเดน 86.5 % (ยิ่งตัวเลขมากยิ่งเหลื่อมล้ำมาก)
ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สโลวาเกีย 50.3% ติมอร์-เลสเต 54.1% และ พม่า 58.2%
ทั้งนี้ เป็นการพิจารณาความเหลื่อมล้ำในมุมของ ‘ด้านความมั่งคั่ง’ ซึ่งไม่ได้ดูเฉพาะมิติด้าน “รายได้” เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความมั่งคั่งด้านอื่น เช่น การถือครองหุ้น ทรัพย์สินอื่น ซึ่งจะช่วยให้สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น
เพราะในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเฉพาะมิติด้านรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต และอื่น ๆ
ทว่าหากย้อนไปดูข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ซึ่งสะท้อนว่าสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงสูงเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ จากรายงานของ World Economic Forum 2018 ระบุว่าระดับ ความไม่เสมอภาคของไทยสูงเป็นอันดับที่ 25 จาก 107 ประเทศทั่วโลก
จากข้อมูลจะพบว่า ค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งอยู่ที่ 322,132 บาท ต่อประชากรผู้ใหญ่หนึ่งคน หรือ และ คนไทยมากถึง 91.7 % มีความมั่งคั่งต่ำกว่า 323,134 บาท และมีเพียงแค่ 0.1% ที่มีความมั่งคั่งเกิน 1 ล้าน USD หรือ 32.31 ล้านบาท
2021 อันดับความเหลื่อมล้ำไทยดีขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่ 97
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะกลับมาดีขึ้นนั้น ข้อมูลล่าสุด Gini Wealth Index 2021 ซึ่งพิจารณาข้อมูลใน ปี 2020 ระบุว่า ดัชนีความมั่งคั่ง ลดลงมาอยู่ที่ 77.1 % จาก 90.2% จากอันดับ 4 มาอยู่ที่ อันดับ 97
โดยพบว่าความมั่งคั่งเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 25,292 USD หรือ ประมาณ 791,179 บาท ต่อประชากรไทยผู้ใหญ่ 1 คน และพบว่า สัดส่วนประชากรไทยมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น โดย ความมั่งคั่งในระดับที่ต่ำกว่า 10,000 USD หรือ 312,818 บาทซึ่งเคยเป็นสัดส่วนถึง 91.7% ลดลงมาอยู่ที่ 55.5 % และไปเพิ่มในสัดส่วนของผู้มีความมั่งคั่งระหว่าง 312,818 – 3,128,180 บาท ที่เคยอยู่ที่ 7.5% เพิ่มขึ้นเป็น 41.9%
สำหรับ ในปี 2021 ประเทศที่มีอันดับความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุด ได้แก่ บรูไน 91.6 % บาฮามาส 91.4 % บราซิล 89 % บาห์เรน 88.9 % สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 88.8 % เลโซโธ 88.6 % แอฟริกาใต้ 88 % เยเมน 88 % ลาว 87.9 % รัสเซีย 87.9 %
ในขณะที่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดคือ สโลวาเกีย 50.3% ไอซ์แลนด์ 50.9 % กาต้าร์ 58.1 %
อย่างไรก็ตาม ในแง่วิชาการก็ยังมีการตั้งคำถามถึง ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลที่ใช้ในรายงาน Global Wealth Report แสดงให้เห็นว่า ไทยไม่มีการเก็บข้อมูลสำหรับใช้ในการทำการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินได้ดีเพียงพอ หรือไม่มีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ ทั้งที่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ ของประเทศ
พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า Global Wealth Index ของ Credit Suisse ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะด้านฐานข้อมูล เนื่องจากดัชนีดังกล่าวต้องใช้ข้อมูลทั้งด้านสินทรัพย์ทางการเงินและสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน ซึ่งมีเพียง 25 ประเทศจากทั้งหมด 227 ประเทศที่มีข้อมูลครบทั้งสองด้าน และมีประเทศอีก 26 ประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่มีเฉพาะข้อมูลด้านสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้การจัดทำดัชนีดังกล่าวมีข้อมูลระดับประเทศเพียง 53 ประเทศ ส่วนประเทศที่เหลือใช้การประมาณการโดยเทคนิคทางเศรษฐมิติจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ
อีกทั้งความถี่ของการปรับปรุงฐานข้อมูลของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันซึ่งจะส่งผลต่อการจัดทำดัชนีที่มีการเผยแพร่ทุกปีและทำให้ผลที่ได้มีความผันผวนสูง เช่นดัชนีจีนี (Gini) ของไทยจากรายงานในปี 2018 อยู่ที่ 90.2 แต่ล่าสุดในปี 2021 กลับลดลงมาอยู่ที่ 77.1
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มี สำหรับการเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน ทั้งนี้ทาง Credit Suisse เองก็ได้มีการเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำดัชนีนี้โดยละเอียดซึ่งพอจะทำให้เราเห็นข้อจำกัดและข้อควรระวังในการนำมาใช้งานอ้างอิง
รู้จัก Gini Index
ย้อนกลับมาทำความรู้จักกับ ดัชนีจีนี หรือ GINI Index (ตั้งขึ้นตามชื่อของ Corra Gini นักสิถิติชาวอิตาเลียน) โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient) ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 (ขณะที่ดัชนีจีนีจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100) เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คือหากทุกคนในสังคมมีทรัพย์สินเท่าเทียมกันค่าสัมประสิทธิ์ จะเข้าใกล้ 0 และ จะเป็น 1 หากมีคนเพียงคนเดียวที่ได้รับรายได้ทั้งหมด
หากลงรายละเอียดการคำนวณโดยใช้ โค้งลอเรนซ์ (Lorenz Curve) ซึ่งสร้างโดยนำรายได้/ความมั่งคั่งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ทั้งหมดในประเทศหรือระบบเศรษฐกิจ มาเรียงลำดับจากน้อยไปหามาก แล้วคำนวณค่ารายได้/ความมั่งคั่งสะสม
ดัชนีจีนียิ่งมีค่ามาก แสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่สูง พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยพิจารณาตามรูปประกอบ คือ ยิ่งเส้นกราฟมีความโค้งมากยิ่งเหลื่อมล้ำมาก และหากเข้าใกล้เส้นตรงก็ยิ่งเหลื่อมล้ำน้อย
สำหรับความแตกต่าง ของ Global Wealth Databook ของ Credit Suisse กับ Gini Index ของธนาคารโลก นั้น จะแตกต่างในรายละเอียดที่นำมาคำนวณโดย Credit Suisse จะใช้ “ความมั่งคั่ง” คำนวณออกมาเป็น Gini Wealth Index ขณะที่ทาง ธนาคารโลก ใช้ “รายได้” มาคำนวณ ที่จะอาจจะทำให้เห็นภาพความแตกต่างกันในรายละเอียด
หากพิจารณาความแตกต่างจะพบว่า รายได้ (Income) คือ เงินที่ได้รับจากการทำงานหรือจากการลงทุน ขณะที่ ความมั่งคั่ง (Wealth) คือ มูลค่าที่ทำการตลาดได้ (Marketable) ของสินทรัพย์ทางการเงิน และ สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (โดยหลักคือ อาคารที่อยู่อาศัยและที่ดิน) หักลบด้วยหนี้
ดังนั้น การพิจารณาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ จึงเป็นการวัดการกระจายรายได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งพิจารณาจากการสะสมทรัพย์สินซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา
ภาพความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของ ASEAN
หากพิจารณาข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของธนาคารโลก หรือ World Bank ก็จะพบว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2000 ที่ ดัชนีเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะอยู่ที่ 42.8 และดีขึ้นมาเป็น 39.4 ในปี 2010 และ 34.9 ในปี 2019
เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำใน ASEAN
หากพิจารณาข้อมูลความเหลื่อมล้ำจาก ดัชนีความมั่งคั่งจีนี เปรียบเทียบในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างปี 2018 และ 2021 จะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ มีสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลง มีเพียงแค่ ไทย และ อินโดนีเซีย ที่ดีขึ้นโดยไทยจาก GINI Wealth Index ที่ 90.2% ขยับมาอยู่ที่ 77.1 % โดยขยับจากประเทศอันดับ 4 ที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด มาอยู่ที่อันดับที่ 97 และ เป็นอันดับที่ 3 ที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดในอาเซียน
สำหรับประเทศในอาเซียนที่มีความเหลื่อมล้ำในปี 2021 มากที่สุดคือ บรูไน 91.6% โดยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก กระโดดขึ้นมาจากจากอันดับ 49 รองลงมาคือ ลาว 87.9% ขยับขึ้นมาจาก 79.7 % และ ฟิลิปปินส์ 86.9% ขยับขึ้นมาจาก 82.6 %
แนวทางแก้เหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI ประเมินข้อมูลจาก จากรายงาน Global Wealth Databook ปีล่าสุด 2021 ซึ่งเป็นข้อมูลปี 2020 จะพบว่ามีคนรวยในไทยมีความมั่งคั่งลดลงไปมากกว่าหลายประเทศ ทั้งจากหุ้นไทยที่ตกมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการปิดเมือง ที่ผ่านมาเราพึ่งนักท่องเที่ยวมาก ทำให้ความมั่งคั่งของคนรวยลดลง เจ้าสัวที่ถือครองหุ้น พอหุ้นลงความมั่งคั่งก็ลดลงไป
อีกปัจจัยคือราคาบ้าน คอนโดฯ ซึ่งก่อนหน้าโควิด-19 เคยขายให้กับคนจีนมากพอสมควร แต่พอคนจีนไม่มาราคาก็เริ่มตก ข้อมูลราคาบ้านของ ที่เครดิต สวิส นำมาใช้ตกลงไป 8% ทำให้น่าจะเป็น สาเหตุหลักที่ทำให้ รายงานปี 2021 ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยจึงดีขึ้น โดยปี 2020 ตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ คนจนไม่ได้แย่ลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลแจกเงินเยอะ
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากความความคิดสองส่วนที่ต้องแก้ไขไปพร้อมกัน ส่วนแรกคือ มีคนรวยโดยไม่สมควรรวยเยอะมาก ทั้งการคอร์รัปชัน ผูกขาด อภิสิทธิ์ ระบบพรรคพวกเส้นสายทางการเมือง ที่เป็นปัญหารากเหง้า ต้องปรับโครงสร้างอำนาจ แก้ปัญหาการเมืองเชิงธุรกิจกระจุกตัว
ส่วนที่สองคือคนจนที่ไม่สมควรจน โดยต้องสร้างโอกาสให้คนจนที่รักดี ใฝ่ดี ให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน โดยต้องทำเรื่องสวัสดิการ Social Protection พัฒนาศักยภาพ Up-skill Re-skill คล้ายกับโมเดล skill future ของสิงคโปร์ ที่ให้คูปอง คนไทยทุกคนอายุ เกิน 15 ปี จบการศึกษาไมเกิน ม.3 เข้าอบรมได้ทักษะที่ถูกต้อง โดยคูปองจะไปใช้กับเทรนนิง เซ็นเตอร์ของภาคเอกชนที่เข้าใจความต้องการของตลาด ทดแทนบทบาทภาครัฐอย่างศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน
รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษา ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง โรงเรียนเล็กยังเป็นปัญหา ไปจนถึงเรื่องการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ดีกว่าการศึกษาแบบเก่าแต่น่าเสียดายที่ถูกปฏิเสธจากภาคการเมือง ทั้งที่หลายฝ่ายร่วมฝ่าฟันจนเป็นรูปเป็นร่างออกมาเป็นแซนด์บอกซ์ อีกด้านหนึ่งต้องผลักดันการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นของฟรี โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้คนจนเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ
อีกหนึ่งในข้อเสนอการแก้ไขอย่างเป็นระบบคือ ขนมชั้นสวัสดิการ “Multi-tier Social Portection” แบ่งเป็นชั้นแรก สวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้า มีทั้งการประกันรายได้พื้นฐานกึ่งถ้วนหน้า Quasi-Universal Basic Income) คนจนได้เงินมาก คนรวยได้เงินน้อยหรือไม่ได้เงิน ช่วยป้องกันการตกหล่น และใช้งบน้อยกว่า UBI โดยเริ่มให้ทุกคนได้รับเงินจำนวนหนึ่งทุกเดือนแล้วคัดคนรวยออก ด้วยฐานข้อมูล เช่น คนมีเงินฝากมาก เจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างมูลค่าสูง ฯลฯ Social Service : การพัฒนาทักษะกึ่งถ้วนหน้า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด Social Insurance ประกันสังคมพื้นฐานชดเชยรายได้กรณีเจ็บป่วย เสียชีวิต การดูแลระยะยาว และ Social Assistane เบี้ยผู้พิการ เบี้ยผู้สูงอายุ
ชั้นที่สอง สวัสดิการเพิ่มจากนายจ้างหรือองค์กรที่ทำงานด้วย เช่น ประกันสังคม ม.33 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สวัสดิการ
ชั้นที่สาม สวัสดิการส่วนเพิ่มกรณีจ่ายเองเป็นหลัก เช่น ประกันเอกชน RMF ประกันสังคมสำหรับ Gig Worker หรือคนที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว สามารถเลือกซื้อประกันสังคมรูปแบบใหม่ที่ให้สิทธิประกันสังคมที่หลากหลายและสูงกว่าประกันสังคมปัจจุบัน เพื่อจูงใจแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ โดยรัฐสนับสนุนในสัดส่วนน้อยกว่า
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้แคบลง และนำพาสังคมเดินหน้าไปสู่ความ “เสมอภาค” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาส ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพาสังคมออกจากวังวนปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมายาวนาน
อ้างอิง
- Global Wealth Data book 2018
- Global Wealth Data book 2021
- Lorenz Curve Explanation
- World Income Inequality Database
- ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของไทยในศตวรรษที่ 21
- ทำความเข้าใจ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ (แบบไม่ดราม่า)
- ความเหลื่อมล้ำ: ตัวฉุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลง
- “ความเหลื่อมล้ำ” คืออะไร ทำความเข้าใจ “ความไม่เท่าเทียมกัน”