‘ความเหลื่อมล้ำ’ ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมากลับถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เรามักจะได้ยินเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าแรง สุขภาพ ฯลฯ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกร้องให้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ทั้งที่ หากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า ‘ช่องว่าง’ ของความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคม คือชนวนสำคัญนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ มากมาย ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มความเท่าเทียม สร้างโอกาสให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ยังช่วยป้องกัน หรือลดความรุนแรงของของปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย
ข้อมูลจากงานวิจัยนานาชาติพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาอื่น ๆ ได้ในหลายมิติ ในทางตรงกันข้าม หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายความเสียหายย่อมวนกลับกลับมาซ้ำเติมสร้างปัญหาอื่น ๆ อีกไม่รู้จบ
ดิ้นไม่หลุด ติดกับดักรายได้ปานกลาง
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของไทย คือ การก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามต่อเนื่อง ทั้งการเบนเข็มจากแนวทางเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม หรือมาตรการกระตุ้นการส่งออกและท่องเที่ยว หวังเพิ่มรายได้เข้าประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะฉุดกระชากลากให้ไทยขยับสถานะไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้สำเร็จ
ชวนให้ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเส้นทางที่กำลังเดินไปไปสู่เป้าหมายนั้น มาถูกทางแล้วหรือไม่?
โดยเฉพาะกับแนวทางเน้นสร้าง “รายได้” โดยไม่ได้มุ่งแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” สุดท้ายอาจะไปซ้ำเติมปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” กลายเป็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลชัดเจนเจาะจงไปยังกลุ่มผู้มีรายได้สูงบนยอดพีระมิด แต่ส่วนฐานรากซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่ได้เติบโตไปพร้อมกันอย่างที่ควรจะเป็น สุดท้ายภาพรวมเศรษฐกิจจึงไม่อาจดีขึ้นเพียงพอจะทำให้ประเทศก้าวพ้นหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางไปได้
จากงานวิจัยของ Asian Development Bank Institute เรื่อง INEQUALITY, AGING, AND THE MIDDLE INCOME TRAP พบข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ มีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ดีกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง
โดยจากการสำรวจ 199 ประเทศ พบว่าประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว หรือมีรายได้สูงทั้ง 57 ประเทศ ทั้งหมดเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่่อมล้ำต่ำ ขณะที่กลุ่มประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางนานเกิน 50 ปี พบว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยังส่งผลกระทบในมิติด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality and Unsustainable Growth: Two Sides of the Same Coin? พบว่าความเหลื่อมล้ำส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น หมายความว่าเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำจะเติบโตในระยะสั้น เร็วกว่าเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียม แต่ในระยะยาวสังคมที่มีความเท่าเทียม จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า
ดังนั้น ในระยะยาวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีควรจะต้องส่งเสริมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจแก่คนยากจน หรือนโยบายตลาดแรงงานที่ส่งเสริมการจ้างงาน
อีกด้านหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำยังส่งผลต่อ ‘หนี้ครัวเรือน’ เชื่อมต่อไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจอีกด้วย จากงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย
ยิ่งเหลื่อมล้ำ อาชญากรรมยิ่งสูง
ไม่เพียงแค่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ในมิติทางสังคม ‘อาชญากรรม’ ก็ถือเป็นอีกผลพวงจากความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบทางตรงหรือทางอ้อม โดยในมุมมองของนักสังคมวิทยา วิเคราะห์ว่า สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันอาชญากรรมได้เพียงพอ
หรือหากจะมองในมุมการประกอบอาชีพหารายได้ ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนบางกลุ่มจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งงานได้น้อยกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดอ่อนทำให้คนที่เข้าไม่ถึงแหล่งงาน ไม่สามารถหารายได้ หาเลี้ยงครอบครัว เมื่อไร้หนทางหาเลี้ยงชีพ หลายคนก็อาจต้องเลือกเดินไปสู่เส้นทางที่ไม่ถูกต้องเพื่อความอยู่รอด
สอดรับกับงานวิจัย Income inequality, trust and homicide in 33 countries ซึ่งทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ความเชื่อใจ (Trust) และ การใช้จ่ายภาครัฐในด้านสาธารณสุขและการศึกษา พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับ ความแตกต่างของอัตราฆาตกรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ ภายในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลาง โดยความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สามารถอธิบายความแปรปรวน (Variance) หรือความแตกต่างของฆาตกรรมได้ถึง 64%
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการฆาตกรรม สามารถถูกบรรเทาลงได้ด้วยความเชื่อใจ (Trust) แต่ไม่สามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้จ่ายภาครัฐในด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา
เท่ากับว่าหากการแก้ปัญหาเรื่องการฆาตกรรมให้เกิดประสิทธิภาพ ควรจะต้องให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่าการทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งไม่ได้ช่วยคลี่คลายปัญหาเรื่องฆาตกรรมอย่างที่คาดหวัง
หากย้อนกลับมาดูข้อมูลของไทยจะพบว่า สถิติคดีอาญาเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ ที่ได้รับแจ้ง มีแนวโน้มที่ลดลง จากปี 2017 ที่อยู่ที่ 30 คดี ต่อประชากร 100,000 คน และในปี 2020 อยู่ที่ 22 คดี ต่อประชาชน 100,000 คน
ผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ
ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ประชากรจะมีปัญหาสุขภาวะเพิ่มขึ้น
แม้แต่มิติของ ‘สุขภาพ’ ก็ยังพบความเชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยพบว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีประชากรที่มีปัญหาสุขภาพมากกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ
จากงานวิจัย Income inequality, mortality, and self rated health: meta-analysis of multilevel studies ได้ทำ Meta-analysis ศึกษางานวิจัยต่าง ๆ ที่มีข้อมูลรายได้ของปัจเจกบุคคลและข้อมูลการกระจายรายได้ของหน่วยพื้นที่ที่บุคคลนั้นอยู่ ประกอบกับข้อมูลการเสียชีวิต แบบ Cohort Studies (การศึกษาที่ติดตามกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งข้ามช่วงเวลา) หรือประกอบกับข้อมูลสุขภาพที่รายงานเอง (Self Reported Health) แบบ Cross Sectional Studies (การศึกษาที่พิจารณาข้อมูลจากประชากร ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง) รวม 59,509,857 คน จาก Cohort Studies 9 ชิ้น และ 1,280,211 คน จาก Cross Sectional Studies 19 ชิ้น
พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลลบระดับปานกลางต่อสุขภาวะ กล่าวคือ เมื่อ Gini Index เพิ่มขึ้นทุก 0.05 % จะมีผลไปเพิ่มความเสี่ยงของความตายเกินปรกติ หรือ Excess Deaths 8% (Excess Deaths หรือ Excess Mortality เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในระบาดวิทยาและการสาธารณสุข หมายถึงจำนวนการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีวิกฤต และสูงกว่าจำนวนที่ควรจะเกิดขึ้นภายใต้สภาวการณ์ปรกติ)
โดย ‘ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้’ จะเริ่มส่งผลกระทบกับ ‘สุขภาวะ’ ก็ต่อเมื่อระดับ Gini Index เท่ากับหรือมากกว่า 0.3 ขึ้นไป
หากพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่าประเทศเม็กซิโก ที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง มีความตายเกินปรกติ ถึง 425,759 คน แตกต่างจากประเทศ ไอร์แลนด์ ที่มีความเหลื่อมต่ำ ซึ่งพบว่าไม่มีความตายเกินปรกติ
Lost Einstein ความสูญเสียทั้งโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเป็นอีกประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังสนใจและหันมาให้ความสนใจเพราะส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ ที่ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ หากเด็กกลุ่มนี้ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ย่อมเกิดความเสียหายกับประเทศในระยะยาว
โดยเฉพาะกับ ‘เด็กช้างเผือก’ ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ด้วยฐานะทางบ้านหรือข้อจำกัด อุปสรรคในมิติอื่น ๆ ทำให้พวกเขาไม่ได้เรียนต่อ สุดท้ายย่อมกลายเป็นความสูญเสียทั้งต่อตัวเด็กเองและภาพรวมของประเทศ
เยาวชนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย 25% ล่างสุดของประเทศ มีกลุ่มเด็กช้างเผือก (Resilient Student) อยู่ราว 3.3% หรือคิดเป็นจำนวนราว 6,111 คน โดยพวกเขามีความรู้ความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเยาวชนหัวกะทิในกลุ่มที่มาจากครอบครัวรายได้สูง 25% สูงสุด
ข้อมูลจาก OECD พบว่า 80% ของเด็กช้างเผือกเหล่านี้ มีความประสงค์จะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และหลายคนมองไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี
แต่เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดในกลุ่ม 20% ล่างสุด มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าชั้นมัธยมปลายเพียง 5% คิดสัดส่วนแล้วถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่ 32% หมายถึงช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาที่แตกต่างกันถึง 6 เท่า
ก้าวไม่พ้นความจนข้ามรุ่น
ไม่เพียงแค่ขัดขวางทำให้การก้าวพ้นความจนข้ามรุ่นเป็นไปได้ยากแล้ว ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ การขยับสถานะทางสังคมเป็นไปได้ยากด้วยเช่นกัน
เมื่อช่องว่างของความเหลื่อมล้ำถูกถ่างขยาย ‘โอกาส’ ของคนในสังคมก็ยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ โอกาสทางด้านสาธารณสุข และโอกาสในมิติอื่น ๆ
วงจรที่เสียเปรียบตั้งแต่โอกาสทางการศึกษาในวัยเด็ก ส่งผลให้เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่อาจไปแข่งขันกับเด็กที่มีฐานะทางสังคมที่ดีกว่า สุดท้ายก็ทำให้เสียเปรียบต่อเนื่อง ทั้งแข่งขันหางานทำ การหารายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสถานะทางสังคมได้ยากในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง
จากงานวิจัย เรื่อง Inequality from generation to generation: the United States in Comparison ศึกษาความเหลื่อมล้ำที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยคำนวณความยืดหยุ่นระหว่างรุ่นของรายได้ (Intergenerational Elasticity in Earnings หรือ Intergenerational Earnings Elasticity, IGEE) พบว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยิ่งสูง ความยืดหยุ่นของรายได้ระหว่างรุ่นยิ่งสูง และทำให้พลวัตทางสังคมยิ่งต่ำ
หมายความว่า ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ลูกของพ่อแม่ที่มีรายได้น้อย จะประสบความสำเร็จได้ยากกว่าลูกของพ่อแม่ที่มีรายได้มาก
ทั้งหมดนี้ ป็นเพียงแค่ผลกระทบบางส่วน ที่เกี่ยวพันต่อเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในความเป็นจริงยังมีผลกระทบในอีกหลายมิติ ดังนั้น การให้ความสำคัญแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ สุดท้ายแล้วย่อมช่วยคลี่คลายบรรเทาผลกระทบจากปัญหาอื่น ๆ ตามไปด้วย
อ้างอิง
- INEQUALITY, AGING, AND THE MIDDLE INCOME TRAP
- Inequality and Unsustainable Growth: Two Sides of the Same Coin?
- Inequality, Leverage and Crises
- The Equality Trust works to improve the quality of life in the UK by dismantling structural inequalities.
- Income inequality, trust and homicide in 33 countries
- Income inequality, mortality, and self rated health: meta-analysis of multilevel studies
- The Lost Einstein หยุดวงจรสูญเสีย “เด็กช้างเผือก” เพราะความยากจน
- Inequality from generation to generation: the United States in Comparison
- Do Poor Children Become Poor Adults? Lessons from a Cross Country Comparison of Generational Earnings Mobility