หากคำนวณวัน “เลื่อนเปิดเทอม” ปีการศึกษา 2564 จาก 17 พ.ค. เป็น 1 มิ.ย. โดยใช้สูตรคณิตศาสตร์ จะเท่ากับเว้นระยะห่างจากเดิม 15 วัน
แต่หากบวกค่าเสียโอกาสเข้าไป จะพบต้นทุน “เลื่อนเปิดเทอม” เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพและประสิทธิภาพทางการเรียนรู้มหาศาล
The Active รวมนโยบาย “เลื่อนเปิดเทอม” ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องทางการเรียนรู้ฉบับเข้าใจง่าย ชวนติดตามว่านอกจากการมอบหมายนโยบายให้ “ครูพร้อม” รัฐมนตรีและผู้บริหารเตรียมพร้อมสนับสนุนไว้แค่ไหน
เปิดไทม์ไลน์ “เลื่อนเปิดเทอม” ระลอกใหม่
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นแตะหลักพันคนทุกวันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ 27 เม.ย. “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศ “เลื่อนเปิดเทอม” ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากกำหนดเดิม 17 พ.ค. เป็น 1 มิ.ย. ด้วยเหตุผลภาพรวมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ของสถานศึกษา ประกอบกับผู้ปกครองได้แสดงความห่วงใยในความปลอดภัยของบุตรหลาน
จากการคำนวนโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่านักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดที่ “เลื่อนเปิดเทอม” ภาคเรียนนี้ คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ ที่ 8 ล้านคน ครู 6 แสนคน จากสถานศึกษากว่า 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
ทางเลือก “การเรียนรู้” ในภาวะวิกฤต
“เลื่อนเปิดเทอม” ต้องไม่กระทบโอกาสและสิทธิผู้เรียน คือ แนวนโยบายจากรัฐมนตรี “ตรีนุช” ที่ย้ำไปยังผู้บริหารซึ่งดูแลสถานศึกษาในสังกัด เป็นที่มาการออกประกาศให้ครูสำรวจความพร้อมนักเรียน สู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้รองรับเปิดเทอม 1 มิ.ย. 2564 ไว้ 5 รูปแบบ คือ
- ออนไซด์ (On site) การมาเรียนที่สถานศึกษา
- ออนแอร์ (On air) เรียนผ่านโทรทัศน์ที่บ้าน ช่อง DLTV
- ออนไลน์ (On line) ครูผู้สอนกับนักเรียน มีปฏิสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ต
- ออนดีมานด์ (On demand) เรียนบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ตามกำหนด
- ออนแฮนด์ (On hand) ครูนำเอกสารการเรียนและใบงานแบบฝึกหัดไปให้นักเรียนที่บ้าน หรือนัดรับที่โรงเรียน
ทั้ง 5 รูปแบบ กำหนดโดยภาคนโยบาย แต่ไม่ได้จำกัดให้แต่ละสถานศึกษาเลือกรูปแบบเดียว สามารถเลือกจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบตามศักยภาพที่แต่ละแห่งเห็นว่าเหมาะสม
กรณีเลือกเรียน “ออนไซด์” กำหนดให้มีจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกาย, สวมใส่หน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัยตลอดเวลา, มีที่ล้างมือพร้อมจัดเตรียมสบู่หรือแอลกอฮอล์สำหรับใช้ทำความสะอาด, เว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคคล 1-2 เมตร รวมถึงจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งเรียน และที่รับประทานอาหาร, ทำความสะอาดและจัดให้มีการระบายอากาศที่ดีบริเวณห้องเรียนและพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนลดระยะเวลากิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น
ทั้งหมดนี้ ยังไม่ปรากฏนโยบายชัดเจนเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัย
พร้อมแบบไหน เรียนแบบนั้น
“เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ” คือแนวทางที่ระบุไว้ในนโยบายให้สถานศึกษาเลือกว่าจะจัดการเรียนการสอนรูปแบบไหน
ในวันแถลง “การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2564” เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุถึงผลสำรวจความพร้อมจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ
ยกตัวอย่าง โรงเรียนสังกัด สพฐ. มีทั้งหมด 29,084 แห่ง นักเรียนชั้นอนุบาล – ม.6 รวม 5,669,431 คน
แต่ละโรงเรียนได้เลือกรูปแบบจัดการเรียนรู้ จากเฉดสีความปลอดภัยในพื้นที่ และความพร้อมด้านเทคโนโลยีของนักเรียน ดังนี้
“ออนไซด์ (On site)” โรงเรียน 15,107 แห่ง ในพื้นที่ควบคุมสีส้มเลือกใช้วิธีให้เด็ก 680,776 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของนักเรียนทั้งหมดไปโรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์ – เทคโนโลยี
ส่วนโรงเรียนที่เหลือ 13,977 แห่ง นักเรียน 4,988,655 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง และควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสีแดงเข้ม ใช้วิธีเรียนทางไกล 4 รูปแบบ คือ
“ออนแอร์ (On air)” นักเรียน 434,330 คน ที่มีโทรทัศน์รับสัญญานช่องมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ (DLTV) เลือกเรียนวิธีนี้ คิดเป็นร้อยละ 8 ของนักเรียนทั้งหมด
“ออนไลน์ (On line)” นักเรียน 733,638 คน มีอุปกรณ์พร้อมเรียนกับครูผู้สอนผ่านอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ คิดเป็นร้อยละ 13 ของนักเรียนทั้งหมด
“ออนดีมานด์ (On demand)” นักเรียน 202,943 คน ที่มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต เลือกเรียนบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 4 ของนักเรียนทั้งหมด
“ออนแฮนด์ (On hand)” นักเรียน 1,378,290 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของนักเรียนทั้งหมด ไม่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ สัญญานอินเทอร์เน็ต จะเรียนรู้จากเอกสารและใบงานแบบฝึกหัดที่ครูนำไปให้ที่บ้าน หรือนัดรับที่โรงเรียน
ขณะเดียวกันก็มีนักเรียน 2,239,454 คน คิดเป็นร้อยละ 39 ของนักเรียนทั้งหมด เลือกเรียน “Hybrid” หรือการเรียนรู้ 2 รูปแบบขึ้นไป ตามการประเมินความปลอดภัยของโรงเรียนกับ ศบค. จังหวัด และความพร้อมของนักเรียนแต่ละคน
คุณครูต้อง “พร้อม”
“เลื่อนเปิดเทอม” แต่ไม่เลื่อนเตรียมความพร้อม ถูกกำหนดเป็นนโยบายให้ครูซักซ้อมและเตรียมจัดการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด
ห้วงเวลาก่อนเปิดเทอม 17-31 พ.ค. รัฐมนตรี “ตรีนุช” ส่งเสริมให้ครูกับเด็กทดลองทำกิจกรรม เช่น จัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตโดยใช้สถานการณ์เป็นฐาน Active Learning เพื่อปูทางไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษาหน้า
ส่วนช่องทางสนับสนุน ได้เปิดเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ชุมชนออนไลน์ที่รวบรวมองค์ความรู้จากครูที่พร้อมแล้ว ให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เข้าไปฝึกฝนทักษะ
ขณะเดียวกันได้จัดอบรมครู บุคลากรทางการศึกษาออนไลน์ “สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19” ระหว่าง 12-28 พ.ค. โดยมีวิทยากร ติวเตอร์ชื่อดัง ให้แรงบันดาลใจ สร้างแนวทาง เสริมเทคนิคการสอนก่อนเปิดเทอม
ทั้งหมดนี้ รมว.ศธ. ย้ำว่าไม่ได้บังคับครู – นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีเช็กชื่อ ไม่ต้องสรุปรายงาน
Item ส่งเสริมการเรียนรู้ยัง “ไม่พร้อม”
จากการคำนวนด้วยสูตรคณิตศาสตร์ พบว่า “เลื่อนเปิดเทอม” ปีการศึกษา 2564 นักเรียนกลุ่มใหญ่ร้อยละ 88 คงไม่ได้ไปโรงเรียนถ้าสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ไม่ดีขึ้น
The Active สืบค้นข้อมูลจากระบบสาระสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือระบบ iSEE ของ กสศ. พบข้อมูลล่าสุด ปีการศึกษา 2563 มีโรงเรียนสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. รวม 31,620 แห่ง นักเรียน 7,330,870 คน พบว่า มีเครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนอยู่เพียง 426,055 เครื่อง ในจำนวนนี้ ถูกใช้เพื่องานธุรการ 103,727 เครื่อง เท่ากับโรงเรียนรัฐบาลของไทย มีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ 1 เครื่อง ต่อเด็ก 21 คน
ส่วนสภาพความพร้อมเรียนรู้ที่บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรก พบความแตกต่างระหว่างนักเรียนในครอบครัวฐานะดีร้อยละ 20 อันดับแรก สามารถเข้าถึงโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ในพื้นที่เรียนรู้แบบส่วนตัว มากถึงร้อยละ 90 ขณะที่นักเรียนในครอบครัวยากลำบากที่สุดร้อยละ 20 ลำดับล่าง ส่วนใหญ่มีโทรทัศน์ 1 เครื่อง ในพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว บางบ้านไม่มีเลย โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีมีเพียงร้อยละ 10
น่าสนใจว่า ถ้าเปิดเทอมปีการศึกษา 2564 ระบบการเรียนรู้ “ออนแฮนด์ (On hand)” ไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพนักเรียน จะยิ่งส่งผลต่อคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในประเทศให้ถดถอยไปอีก
อุปกรณ์ไม่ใช่คำตอบเดียวในการเรียนรู้
“เลื่อนเปิดเทอม” ระลอกใหม่ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพว่ายากแล้ว ทำให้เด็กยังคงอยู่ในระบบการศึกษายิ่งยากกว่า
ระบบ iSEE ของ กสศ. เปรียบเทียบ “นักเรียนยากจนพิเศษ” ที่มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนน้อยกว่า 1,200 บาท/เดือน ก่อนเกิดโควิด-19 ปีการศึกษา 2562 พบว่ามีจำนวน 761,729 คน ล่าสุด ปิดเทอมปีการศึกษา 2563 พบ “นักเรียนยากจนพิเศษ” เพิ่มขึ้นเป็น 1,173,752 คน
ความไม่พร้อมทางรายได้ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีแรงจูงใจอยู่ในระบบการศึกษาน้อยลง ขณะที่ผู้ปกครองบางคนตกงานขาดรายได้
เปิดเทอมอย่างไรไม่ให้ว้าวุ่น ?
หากตั้งโจทย์ “เลื่อนเปิดเทอม” ปีการศึกษา 2564 แบบนับวัน กระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษา ที่ถูกเว้นระยะห่างจากกำหนดเดิมเพียง 15 วัน อาจไม่เห็นผลกระทบ
แต่ถ้าเพิ่มตัวแปรที่มีนัยสำคัญกับความต่อเนื่องทางการเรียนรู้แบบมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานเปิดโอกาสและคำนึงสิทธิประโยชน์ของนักเรียนทุกคนเป็นที่ตั้ง ตามความตั้งใจในนโยบายที่ประกาศไว้นั้น การเติมเต็มในช่องว่างเท่าที่ทำอาจยังไม่เพียงพอ
นโยบาย “ครูพร้อม” ที่หลายฝ่ายคาดหวังให้ “รมว.ศธ. และผู้บริหารพร้อม” ทำจริงจัง คือ สนับสนุนค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจัดทำใบงานแบบฝึกหัด ค่าอินเทอร์เน็ต และเร่งจัดสรรวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง
ส่วนการเติมเต็มในช่องว่างให้ “เด็กพร้อม” กลับสู่โหมดการเรียนรู้ หลายเสียงขอให้กระทรวงศึกษาฯ เป็นแนวหน้าดูแลปัญหาปากท้องนักเรียน ด้วยการปลดล็อกการจัดสรรอาหารกลางวันที่ขาดหายไปจาก “เลื่อนเปิดเทอม” อัดฉีดการเข้าถึงอุปกรณ์เรียนออนไลน์และอินเทอร์เน็ต จัดสรรวัคซีนโควิด-19 ตลอดจนจ้างงานอาสาสมัครช่วยสอนในชุมชนที่ไม่สามารถไปโรงเรียน
ทั้งหมดนี้ นับเป็นโจทย์วัดใจการหาผลลัพธ์เพื่อยกระดับ “ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย” ตามคำประกาศหลักการ “TRUST” ในการทำงานของรัฐมนตรี “ตรีนุช เทียนทอง” ที่อาจส่งผลต่อคะแนนมวลชนในภารกิจแม่ทัพฝ่ายการศึกษา