ชาวโซเชียล พูดถึง Incel กันว่าอย่างไรบ้าง!

Incel เป็นการนิยามตนเองของผู้ชายบางกลุ่มว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ชายที่มีความเกลียดชังผู้หญิง’ ซึ่งปัจจุบันได้ ‘ส่งต่อ’ ความเกลียดชังกันไปในวงกว้าง และขยายความรุนแรง จนถึงขั้นนำไปสู่การพรากชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งได้

หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือการฆาตกรรมผู้หญิง ทำให้คนในสังคม หันมาสนใจพูดถึงความเกลียดชังผู้หญิงของกลุ่ม Incel มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทั้งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และต้องการหาทางป้องกันแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ดูจะคล้อยตามไปกับแนวคิดเกลียดชังผู้หญิงจนน่าเป็นห่วง

incel

แม้ Incel อาจเป็นคำที่ดูจะไม่คุ้นหูในวงกว้าง แต่ก็เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นโดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ และยิ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของแนวคิดดังกล่าวที่จากการสำรวจเสียงคนในโซเชียล ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. ถึง 19 ธ.ค. 66 พบว่ามีการพูดถึง Incel จำนวน 1,641 ข้อความ และ 562,314 Engages

ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดย

  • X (Twitter) มีการพูดถึงสูงสุดถึง 86.84%
  • Facebook 10.54%
  • Forum 1.34%
  • YouTube 0.91%
  • Instagram 0.24%
  • TikTok 0.12%

เมื่อมาดูการพูดถึง Incel ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีการพูดถึง Incel มากที่สุด จำนวน 177 ข้อความ และ 130,281 Engages ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ ‘เด็ก 14 กราดยิงพารากอน’ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย โดยเหยื่อทั้ง 7 เป็นผู้หญิงถึง 6 ราย จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าการก่อเหตุในครั้งนี้มาจากแนวคิดเดียวกันกับกลุ่ม Incel หรือไม่

ไม่ต่างจากกันกับเหตุการณ์อื่น ๆ ที่คนในสังคมให้ความสนใจและพูดถึงเกี่ยวกับ Incel โดยเรียงลำดับตามจำนวนข้อความและเอ็นเกจเมนต์ ดังนี้

  • กรณี ‘อันโบฮยอน’ ศิลปินเกาหลีกับการกดไลก์เพจแอนไทเฟม ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 มีการพูดถึง 177 ข้อความ
  • การถูกไล่ออกของพนักงานนักออกแบบเกมหญิงจากเกาหลี หลังผู้เล่นเกมกลุ่มผู้ชายไม่พอใจที่ตัวละครในเกมไม่ใส่บิกินี่ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 มีการพูดถึง 38 ข้อความ และ 33,878 Engages
  • เพจ ‘มะมู๋’ วาดการ์ตูนที่มีเนื้อหาล้อเลียน ‘เฟมทวิต’ และเหตุการณ์ที่พนักงานหญิงร้านสะดวกซื้อถูกชายทำร้ายร่างกาย เพราะเข้าใจผิดว่าเธอเป็นเฟมินิสต์จากการที่เธอตัดผมสั้น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 มีการพูดถึง 30 ข้อความ และ 33,754 Engages
  • โพสต์เล่าเรื่องเพื่อนร่วมงานผู้ชายที่เข้าใจผิดว่าชอบ เพียงเพราะทำดีด้วย ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) มีจำนวนเอ็นเกจเมนต์ 67,626 Engages
  • กรณี Noel ศิลปินเกาหลีทำร้ายร่างกายผู้หญิงและบริจาคเงินสนับสนุนกลุ่มแอนไทเฟม ในวันที่ 21 กรกฎาคม  2566 มีจำนวนเอ็นเกจเมนต์  41,714 Engages

  

จากข้อมูลยังพบอีกว่า นอกจากคำว่า อินเซล (Incel) ที่เป็นการนิยามตนเองของกลุ่มผู้ชายที่มีความเกลียดชังผู้หญิง ซึ่งมีการพูดถึงมากที่สุดคิดเป็น 45.63%  แล้วนั้น ยังมีคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและถูกพูดถึงในลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่นคำว่า แอนไทเฟม หรือ Anti-feminism ที่เป็นกลุ่มต่อต้านสตรีนิยม จำนวน 41.65% และแมนมินิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชายที่มีความคิดค่อนข้างสวนทางกับแนวคิดสตรีนิยม จำนวน 12.71% ร่วมด้วย

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังและความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิง ซึ่งไม่มีทีท่าว่าความคิดเหล่านี้จะหายไปจากสังคม นอกจากนี้ จากเหตุการณ์ข้างต้นที่ผู้หญิงต้องเผชิญ แม้ว่าเธอเหล่านั้นยังไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็ตาม ไม่ว่าการกระทำ หรือคำพูดบนโลกออนไลน์และชีวิตจริง ล้วนแต่ตอกย้ำให้เห็นว่า ‘ความปลอดภัย’ หรือ ‘ความสบายใจ’ ในพื้นที่ทางสังคมของผู้หญิงแทบไม่มีอยู่เลย

ในอีกมุมหนึ่งการถูกพูดถึง Incel ในโลกออนไลน์ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจที่สังคมหันมาตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกันมากยิ่งขึ้น และน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา ทำให้แนวโน้มการเกลียดชังระหว่างเพศลดน้อยลงในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น