ทำความรู้จัก ‘Incel’ พัฒนาการความเกลียด สู่ความรุนแรงต่อผู้หญิง

“พอเห็นว่าเป็นผู้หญิงผมสั้น เธอต้องเป็นเฟมินิสต์แน่นอน งั้นเธอต้องโดนซักหน่อย”

ภาพ : @stich_pololo

นี่คือคำพูดของผู้ต้องหาชายที่ก่อเหตุทำร้ายพนักงานหญิงร้านสะดวกซื้อ ณ เมืองจินจู ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ด้วยเหตุผลที่เขาคิดไปเองว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ โดยเธอไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่ผมของเธอเท่านั้นที่ไม่ได้ยาวเหมือนอย่างที่สังคมกำหนด ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เอง เป็นตัวอย่างหนึ่งของของกลุ่ม Incel ที่สร้างแผลให้กับผู้หญิงอย่างไร้เหตุผล เพียงเพราะ ‘เธอเป็นผู้หญิง’   

มากกว่าร้อยปีแล้วที่มีการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย นับตั้งแต่เรื่องใหญ่ ๆ อย่างการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถมีการศึกษาได้ หรือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในเรื่องเล็ก ๆ อย่างงานบ้านเป็นของทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ระบบชายเป็นใหญ่’ ยังคงฝังรากลึกอยู่ในทุกหย่อมของสังคมขณะที่สังคมมีการตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

จุดเริ่มต้น Incel ไร้รัก-ไร้เซ็กส์ โดยไม่สมัครใจ 

การกดขี่ข่มเหงและความรุนแรง ยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตของหญิงสาวทั่วโลกมาตั้งแต่อดีต น้อยครั้งที่ความบอบช้ำทางกายและทางใจที่ผู้หญิงต้องเจอจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้จะมีข้อมูลชี้ชัดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีอัตราลดลงอยู่บ้างเมื่อเทียบจากหลายปีที่ผ่านมา แต่หากมองในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงยังคงน่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้มีการก่อตัวของกลุ่มผู้ชายที่มีความเกลียดชังผู้หญิง และนับวันยิ่งมีการขยายชุมชนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

บางคนระบายความคับแค้นใจนี้ออกมาเป็นความรุนแรง จนอาจนำไปสู่ความตายในที่สุด โดยพฤติกรรมดังกล่าวเป็นคำนิยามของคำว่า ‘Incel’ ซึ่งเราจะมาย้อนดูกันว่า Incel มีที่มาที่ไปอย่างไร

จากการสัมภาษณ์ ‘Alana’ โดย Anna Foster แห่ง BBC Radio 5 live กล่าวว่า ขณะนั้นยังไม่มีสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Instagram หรือแพลตฟอร์มหาคู่ยอดนิยมในปัจจุบันอย่าง Tinder   ด้วยความหวังดีของ Alana เธอจึงสร้างเว็บไซต์หาคู่ ‘Alana’s Involuntary Celibacy Project’ เพราะมีชาย-หญิงที่กำลังเหงาและโดดเดี่ยวที่ไม่สามารถหาคนรู้ใจยามเหงาได้ในชีวิตจริง

“นี่คือเวทีของทุกคน และเป็นสถานที่ซึ่งเป็นมิตร

คำถามที่ว่าทำไม ทั้งเขาและเธอยังไม่พบใครเลย สามารถส่งเสียงผ่านเว็บไซต์ของฉันได้”

เธอได้ให้คำนิยามหนุ่มสาวเหล่านี้ว่า ‘Invcel (Involuntary Celibate)’ ในปี 2540 เป็นครั้งแรก และภายหลังได้เปลี่ยนเป็น ‘Incel’ เนื่องจากเป็นชื่อที่เรียกได้ง่ายกว่า ในความหมาย ‘โสดโดยไม่สมัครใจ’ ซึ่งไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นเพศชายหรือเพศหญิงเพียงอย่างเดียว

เวทีแห่งนี้ ไม่เป็นมิตรอีกต่อไป…  เมื่อความผิดหวัง ถูกเก็บมาเป็นความเคียดแค้น

หลายปีต่อมา ชุมชน Incel เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก พื้นที่ที่ Alana สร้างขึ้นให้เป็นมิตรสำหรับทุกคน ได้กลายมาเป็นพื้นที่ระบายความโกรธแค้นของชายที่ถูกปฏิเสธจากหญิงที่ชอบ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะเฟมินิสต์ ที่มีส่วนทำให้พวกเขาเหล่านี้พบเจอกับความผิดหวัง

แต่ทว่า ความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นภายในใจของเขาเหล่านั้นกลับไม่สามารถระบายออกมาได้แค่เพียงตัวหนังสือ ความรุนแรงจึงเป็นทางหนึ่งที่จะสนองอารมณ์ของชายผู้ผิดหวังให้รู้สึกดีขึ้นบ้าง ซึ่งก็ทำให้หลายชีวิตถูกพรากไปจากโลกนี้ด้วยคำว่า ‘แก้แค้น’

“พรุ่งนี้คือวันแห่งการแก้แค้น ผมจะแก้แค้นให้ทุกคนเอง”

 นี่คือคำพูดก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 6 ศพ ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดย ‘Elliot Rodger’ นักศึกษาวัย 22 ปี ผู้เพียบพร้อมไปด้วยเอกสิทธิ์ (Privilege) มาตั้งแต่เกิด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความโดดเดี่ยวและความผิดหวังได้ แม้แต่จูบสักครั้ง เขายังไม่เคยได้สัมผัสมันจากหญิงคนไหนมาก่อน เขาจึงมองว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับเขาที่หลายคนได้มีความสุข ทั้งเรื่องความรักและเรื่องเซ็กส์ในช่วงวัยที่ทุกคนควรจะสนุกที่สุด

และเมื่อหญิงเหล่านั้นเลือกที่จะปฏิเสธเขา เขาจึงต้องการลงโทษสายตาที่เพิกเฉยด้วยการจบชีวิตเหยื่อ 6 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 14 ราย ด้วยการแทงและยิงด้วยปืนพก พร้อมอัดวิดีโอขณะที่เขากำลังก่ออาชญากรรมครั้งนี้ ก่อนที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยปืน

“เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ผมเป็นเหยื่อที่แท้จริง”

คำพูดสุดท้ายจากเอกสาร 141 หน้า ที่เขาส่งให้กับคนรู้จัก 22 คน เป็นหลักฐานสำคัญที่สามารถอธิบายสาเหตุในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเนื้อหาทั้งหมดล้วนแต่เป็นการระบายความเคียดแค้นที่มีต่อคนรอบข้างซึ่งปฏิเสธความรักจากเขา ดังนั้น เขาจึงยกความผิดในการก่ออาชญากรรมนี้ให้กับผู้หญิงและถือว่าเป็นการแก้แค้นผู้หญิงที่ปฏิเสธเขาทั้งเรื่องความรักและเรื่องเซ็กส์

จาก 6 สู่ 10 : เมื่อมีคนเริ่ม ย่อมมีคนตาม

“การกบฏของ Incel ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว..

เราขอยกย่อง Elliot Rodger ให้เป็นเหนือสุภาพบุรุษ”

นี่คือข้อความบน Facebook ของ ‘Alek Minassian’ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยในการสังหาร 10 ศพ ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยสังคมส่วนใหญ่มองว่านี่คือการฆาตกรรมที่เป็นผลมาจากโศกนาฏกรรม 6 ศพของ Elliot Rodger ซึ่งเห็นได้จากโพสต์บน Facebook ที่ยกย่อง Elliot Rodger ประกอบกับรายงานของตำรวจโตรอนโตที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

กลุ่ม Incel คิดอะไร

เมื่อกลุ่ม Incel ถูกปฏิเสธจากหญิงที่รักประกอบกับความคิดข้างต้น เขาเหล่านั้นจึงโยนความผิดให้กับผู้หญิง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ผิดหวัง เปรียบเหมือนการด้อยค่าความเป็นชาย และผลักให้เขากลาย ‘เป็นอื่น’ ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากเขามีความแตกต่าง ไม่เป็นไปตามที่สังคมขีดเส้นความเป็นชายไว้ ดังนั้น ความคับแค้นใจจึงถูกส่งต่อมาเป็นความเกลียดชัง และสร้างพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อผู้หญิงได้

ในปี 2565 มีการศึกษาเกี่ยวกับ ‘Involuntary Celibacy: A Review of Incel Ideology and Experiences with Dating, Rejection, and Associated Mental Health and Emotional Sequelae’ พบข้อสรุปของความคิดของกลุ่ม Incel ดังนี้

  1.   รูปลักษณ์ภายนอก ส่งผลต่อการถูกยอมรับของคนในสังคมและโอกาสในการสานสัมพันธ์
  2.   ผู้หญิงจะเลือกคู่ที่สามารถยกระดับฐานะตนเองได้
  3.   ชายเหล่านี้ไม่ชอบนักสตรีนิยม

ความหมายของ คำว่า ‘Incel’ จึงเปลี่ยนไปจากความหมายแรกของ ‘Alana’ และกลายมาเป็นคำที่ใช้สำหรับการนิยามตนเองของผู้ชายบางส่วนในกลุ่มผู้ใช้เว็บไซต์ข่าวสารและสนทนา Reddit ของสหรัฐอเมริกาว่าเป็น ‘กลุ่มผู้ชายที่มีความเกลียดชังผู้หญิง’ และสร้างชุมชนแห่งความเกลียดชังจนมีสมาชิกถึง 41,000 คน ซึ่งถูกปิดตัวลงในที่สุดหลังจากเกิดความขัดแย้งมากมาย

แม้ว่าชุมชน Incel ใน Reddit ได้ปิดตัวลงไปแล้ว แต่ชายที่มีความคิดเกลียดชังผู้หญิงยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน และได้เกิดชุมชน Incel ใหม่ตามเว็บบล็อกและชุมชนออนไลน์ต่าง ๆ ที่ปฏิเสธแนวความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เช่น Men Going their Own Way (MGTOW), The Red Pill ซึ่งเป็นชุมชนย่อยของ Reddit ที่มีสมาชิกมากกว่า 200,000 คน

สถานการณ์การเกลียดชังเพศหญิงอย่าง Incel ในสังคมไทย

เมื่อพูดถึงกลุ่ม Incel ในประเทศไทย อาจไม่ได้เป็นกลุ่ม Incel ที่ขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่และไม่ได้ก่อความวุ่นวายเช่นเดียวกันกับต่างประเทศ แต่ด้วยความคิดเกลียดชังผู้หญิงของชายเหล่านี้ที่ถูกสื่อออกมาเป็นคำพูดและการกระทำในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นว่าความเกลียดชังภายในใจนี้อาจบานปลายไปสู่ความรุนแรงอย่างต่างประเทศเช่นเดียวกัน

“เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า มีปืน 1 กระบอกแล้วเดินไปเจอเสือกับหมี ให้ยิงเฟมทวิตก่อน”

ข้อความข้างต้น คือความคิดเห็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งในภาพการ์ตูนของเพจการ์ตูนล้อเลียนสังคม ‘มะมู๋’ ซึ่งเป็นภาพตัวละครชายรูปร่างอ้วน ใส่แว่น ถือปืนที่มีกระสุน 3 นัด และเล็งปืนไปทางหญิงเฟมินิสต์ หญิงเป่านกหวีดที่กำลังไล่คนชังชาติ และซอมบี้ ในภาพสุดท้าย ตัวละครชายดังกล่าวเลือกที่จะยิงหญิงเฟมินิสต์ทั้ง 3 นัด

แสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังและความคับแค้นใจที่มีต่อหญิงเฟมินิสต์เป็นอย่างมาก อีกทั้งข้อความข้างต้นยังตอกย้ำให้เห็นว่ามีผู้ชายในสังคมมีความคิดเห็นเกลียดชังผู้หญิงเช่นเดียวกันกับเพจนี้อีกไม่น้อย

ผู้ใช้รายหนึ่งบนแพลตฟอร์ม X ได้แสดงความคิดเห็นที่มีต่อภาพการ์ตูนเพจดังกล่าวว่าอาจเกิดจากปมของตัวผู้วาด ซึ่งเกิดจากการถูกผู้หญิงปฏิเสธด้วยลักษณะของผู้ชายที่ไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง และได้ส่งต่อมาเป็นความคิดในแง่ลบที่มองว่าผู้หญิงเห็นแก่เงิน เมื่อเจอผู้ชายที่หน้าตาดีก็จะคิดแต่เรื่องเซ็กส์ หรือทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มเฟมินิสต์เป็นไปในแง่ลบ ซึ่งไม่ต่างจากการโจมตีผู้หญิงทางอ้อม จึงเรียกได้ว่าเพจมะมู๋เป็นเพจของกลุ่ม Incel ที่มีความคิดเกลียดชังผู้หญิง

ทางด้าน ‘เพจมะมู๋’ ปฏิเสธเรื่องที่หลายคนมองว่าเขามีความคิดเหมือนกับกลุ่ม Incel และชี้แจงถึงผลงานหลายชิ้นที่เป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับผู้หญิงว่าเป็นการ ‘แปลงมุก’ จากกลุ่มเฟมินิสต์ที่มีการเคลื่อนไหวผ่านช่องทางทวิตเตอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เฟมทวิต’ ซึ่งเหมือนกับการเอาเนื้อหาที่เฟมทวิตได้โพสต์มากลับด้าน ‘จากหญิงเป็นชาย จากชายเป็นหญิง’

เช่นเดียวกับภาพที่ยิงหญิงเฟมินิสต์ ก็เริ่มมาจากกลุ่มเฟมทวิตก่อน ซึ่งอยากให้ผู้หญิง โดยเฉพาะเฟมทวิต เข้าใจความรู้สึกโกรธแค้นของผู้ชายที่ถูกผู้หญิงต่อว่าหรือชี้นำความคิดให้บางคนมองว่าผู้ชายเป็นเพศที่อันตราย และอีกหลาย ๆ ภาพก็ต้องการที่จะสร้างความเท่าเทียมให้กับทั้งสองเพศ

แม้ว่าภาพเหล่านั้นอาจเป็นการเสียดสีหรือการใช้ความรุนแรงก็ตาม ดังนั้น ภาพการ์ตูนส่วนใหญ่ที่มีเนื้อหาเสียดสีผู้หญิง จึงเหมือนกับการ ‘เอาคืน’ ของฝั่งผู้ชายจากเฟมทวิตนั่นเอง

ไม่ใช่เพียงเพจมะมู๋ที่คนในสังคมมองว่ามีการแสดงการเกลียดชังผู้หญิง ยังมีความเห็นจากผู้ใช้อีกรายหนึ่งบนแพลตฟอร์ม X ว่า กลุ่มต่าง ๆ บน Facebook อย่าง ผู้ชายกลุ่มธเนศ, กลุ่มสมาคมต้มยำปลาคังแห่งสยามประเทศ, กลุ่มแมนมินิสต์คุยกันหน่อย V.2 (สภากาแฟชายแท้แห่งประเทศไทย) เป็นศูนย์รวม Incel และมีการบ่มเพาะความเกลียดชังผู้หญิง รวมถึงกลุ่มเพศ LGBTQ+ อีกด้วย

หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการฆาตกรรมเฉพาะผู้หญิง

ความรุนแรงมากมายที่คนอย่างเพศหญิงต้องเจอไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดที่ออกมาจากคนใกล้ชิด หรือความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกเผยแพร่ออกมาในสื่อออนไลน์ ยังคงผลิตซ้ำค่านิยมผ่านแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างไม่มีสิ้นสุด จนก่อให้เกิดการเกลียดชังระหว่างเพศ และเกิดความขัดแย้งกันในสังคมได้ แม้ว่าไม่มีความรุนแรงหรือเกิดความเสียหายทางกาย แต่สิ่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สุดท้ายจะนำไปสู่การฆาตกรรมได้

ทุก ๆ 1 ชั่วโมง มีผู้หญิงถูกฆาตกรรมโดยผู้ชายมากกว่า 5 คน

จากรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงทั่วโลกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในปี 2564 โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) พบว่าในปี 2564 มีผู้หญิงถูกฆาตกรรมประมาณ 81,000 คน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจที่จำนวนของผู้หญิงถูกฆาตกรรมด้วยคู่รักของตนเองและสมาชิกในครอบครัวมีถึง 45,000 คน หรือประมาณร้อยละ 56 นั่นหมายความว่า   ‘บ้าน’ และ ‘ชายใกล้ชิด’ ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงจนนำไปสู่ความรุนแรงและการเสียชีวิตในที่สุด ในขณะที่ผู้ชายมีสถิติถูกฆาตกรรมนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่

สำหรับประเทศไทยเอง ‘การฆาตกรรมเฉพาะผู้หญิง’ ยังไม่มีเหตุชี้ชัดว่าเกิดจากการเกลียดชังผู้หญิงของกลุ่ม Incel เนื่องจากคำว่า Incel ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง แต่จากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวประจำปี 2564 โดยรวบรวมจากข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวออนไลน์ และจากการให้บริการของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่ามีการฆาตกรรมผู้หญิงถึง 195 ข่าว โดยมี 4 ข่าวเกิดจากการถูกบอกเลิกและการถูกปฏิเสธ ซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุผลในการก่ออาชญากรรมของต่างประเทศที่เกิดจากการถูกปฏิเสธความรักเช่นกัน

เป็นได้หรือไม่ว่าเหตุผลของโศกนาฏกรรมเหล่านั้นอาจเกิดจากความคิดเช่นเดียวกันกับกลุ่ม Incel และสื่อที่สร้างความเกลียดชังผู้หญิงข้างต้นมีส่วนทำให้เกิดการฆาตกรรมเฉพาะผู้หญิงหรือไม่

ทางด้าน ‘เพจมะมู๋’ ยอมรับว่าการวาดการ์ตูนที่มีเนื้อหาเสียดสีและสร้างความขัดแย้งอาจทำให้คนในสังคมไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง-ชาย หรือเพศอื่น ๆ เกลียดชังกันและกัน จนอาจนำไปสู่ความรุนแรงเช่นเดียวกับต่างประเทศได้ แต่ไม่สามารถพูดได้ว่าเพศใดเป็นคนเริ่มก่อน และขึ้นอยู่กับผู้ที่เสพสื่อว่าสามารถจะมีวิจารณญาณได้มากน้อยแค่ไหน เพราะภาพที่เพจเผยแพร่ออกมาเป็นเพียงภาพการ์ตูน จากจินตนาการของผู้วาด ซึ่งเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ จึงอาจเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง

ชเนตตี ทินนาม

ต่างจากความเห็นของ ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประเด็นเพศสภาพและเพศวิถีในสื่อ กลับมองว่า การใช้สื่อที่สร้างความเกลียดชังระหว่างเพศอย่าง ‘ภาพการ์ตูนยิงหญิงเฟมินิสต์’ เป็นการส่งสารที่รุนแรงและไม่สามารถยอมรับได้ แม้จะเป็นเพียงตัวละครในภาพการ์ตูนก็ตาม

เพราะเป็นการส่งต่อความคิดและความเกลียดชังให้กับผู้ติดตามเพจ จนเกิดเป็น ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน (Echo Chamber)’ ที่ปิดกั้นความเห็นต่างและขังตัวเองอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ในลักษณะของการถูกล้อมไปด้วยเสียงสะท้อนของคนที่มีความเชื่อในวิถีเดียวกัน นั่นคือ ‘การเกลียดชังผู้หญิง’ จึงทำให้ผู้ที่เสพสื่อที่มีเนื้อหาเช่นนี้ซ้ำ ๆ ไม่พร้อมที่จะเชื่อในความคิดต่างและตีกรอบให้คนมีความคิดเหมือนกัน

“ด้วยอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่ส่งอะไรที่เราสนใจหรืออ่านบ่อย ๆ

มันเอื้อต่อการถูกขังให้อยู่ในห้องแคบ ๆ  โดยที่เราไม่รู้ว่าเสียงที่คิดต่างมันเป็นยังไง

เพราะเหมือนการขังตัวเองอยู่กับสิ่งที่เราเชื่อ ทำให้ไม่พร้อมที่จะเชื่ออะไรใหม่ ๆ 

และตีกรอบคนให้มีความคิดเหมือน ๆ กัน”

ชเนตตี ทินนาม 

การเสพสื่อที่ส่งต่อความคิดเกลียดชังผู้หญิงหรือความต้องการทำร้ายผู้หญิง จะกลายเป็นการบ่มเพาะที่ซึมลึกมากขึ้น ซ้อนทับอยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ที่เสพสื่อไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องโต้แย้งเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ จนเกิดเป็นความโกรธ ความคิดที่ถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกที่หลายคนมองว่าไม่มีผลกระทบจากการเสพสื่อซ้ำ ๆ อาจเป็นแรงผลักที่ทำให้จับอาวุธปืนขึ้นมาสร้างความรุนแรงเช่นเดียวกับภาพดังกล่าวของเพจมะมู๋ก็เป็นได้ ในฐานะที่เพจมะมู๋เป็นเพจสาธารณะ จึงควรตระหนักถึงผลที่ตามมาก่อนที่จะนำเสนอสื่อต่าง ๆ เช่นนี้  

ต้องรื้อระบบการศึกษา สร้างความตระหนักรู้เรื่องเพศ

ทางแก้ของปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพศ ชเนตตี มองว่า จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษา โดยเฉพาะในชั้นเรียน เพราะเดิมที เด็กและเยาวชนเกิดมาพร้อมกับตำราเรียนเรื่องการเมืองการปกครองและอำนาจรัฐ แต่ไม่ได้พูดเรื่องอำนาจความเป็นหญิงความเป็นชายในสังคม และความสัมพันธ์กันในสังคม ทำให้วิธีคิดอย่างปิตาธิปไตยฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยอย่างยาวนาน เช่น การถูกฆ่าของผู้หญิงจากการปฏิเสธความรัก ก็เป็นผลมาจากการปลูกฝังความคิดชายเป็นใหญ่มาตั้งแต่เด็กว่าผู้ชายจะต้องมีอำนาจเหนือในเรื่องความสัมพันธ์เสมอ เมื่อถูกปฏิเสธ จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

ดังนั้น การศึกษาจะต้องทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจผ่านบทเรียนในรายวิชาต่าง ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงปรับวิธีคิดในเชิงอำนาจของทุกเพศให้สมดุลอีกด้วย

“กลับไปรื้อระบบการศึกษาใหม่หมด การศึกษาไทยต้องสอนคำว่าอำนาจนิยมใหม่

ปรับวิธีคิดในเชิงอำนาจของเด็กเหล่านี้ให้สมดุล

และปลูกฝังว่าความสัมพันธ์ของหญิงชายเป็นเรื่องที่ไม่มีเงื่อนไข”

ชเนตตี ทินนาม

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น