ทำยังไง ? ถ้าเจอ ‘คนคลั่งยา-ผู้ป่วยจิตเวช’

1.9 ล้านคน คือ จำนวนผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศไทย ปี 2567 จำนวนนี้เป็นกลุ่ม ผู้ป่วยสีแดง มีอาการรุนแรง หรือ ผู้ติดยาเสพติด 38,000 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวช ประมาณ 6 แสนคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 เป็น คนเร่ร่อน

การระบาดยาเสพติด นับวันจึงยิ่งส่งผลให้ผู้ป่วยจิตเวชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่คือผู้ติดยาเสพติด กลุ่มนี้หากมีอาการหลอน หูแว่ว ก้าวร้าว อาจไปทำร้ายคนอื่น สร้างความไม่ปลอดภัยในชุมชน ขณะที่บางส่วนก็เป็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ที่ไม่ได้ใช้ยาเสพติด บางกรณีเดินเปลือยกาย เร่ร่อน ก็อาจตกเป็นเหยื่อถูกคนอื่นทำร้ายได้

คำถามคือ “หากเราเจอกับคลั่งยา หรือ ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเหล่านี้ เราจะต้องทำอย่างไร ?”

ประเทศไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถนำส่งผู้ป่วยจิตเวช เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ คือ ตำรวจ, แพทย์/พยาบาล, นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

เบื้องต้นหากพบคนคลั่งยา หรือ ผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน สิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ ประเมินสถานการณ์ ก่อนว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะสงบ หรือ มีอาการรุนแรง หลอน จะทำร้ายผู้คน 

หากอยู่ในอาการสงบ ไม่มีอาวุธ​ ให้แจ้งผู้นำชุมชน ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังเจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือใน กทม. คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด หรือหากไม่สามารถประสานคนในพื้นที่ได้ให้โทร. สายด่วน

  • 1323 สายด่วนสุขภาพจิต

  • 1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน

  • 1300 สายด่วน พม.

  • 061-909-1840 สายด่วนมูลนิธิกระจกเงา

แต่หากผู้ป่วยมีอาการทางจิตรุนแรง ทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น เดินเปลือยกาย เร่ร่อน สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ให้ผู้พบเห็น แจ้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมกับแจ้งตำรวจในพื้นที่ หรือ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับตัวผู้ป่วยแล้ว จะประเมินอาการแบ่งระดับตามสีต่าง ๆ ได้แก่ 

  • สีแดง : คลุ้มคลั่ง อาละวาด

  • สีส้ม : ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิด ฉุนเฉียว หวาดระแวง 

  • สีเหลือง : มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย แต่อยู่ในระยะอาการสงบ 

  • สีเขียว : ปกติไม่มีอาการทางจิตเวช 

ทั้งนี้หากเป็น ผู้ป่วยสีแดง จะถูกส่งไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ก่อนรักษาแบบ “ผู้ป่วยใน”​ จนอาการดีขึ้น เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยสีส้ม และสีเหลือง ที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน บำบัดอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาลจิตเวชที่ “มินิธัญญารักษ์” ขณะที่ผู้ป่วยสีเขียว จะต้องเข้าสู่การรักษาแบบ “ผู้ป่วยนอก” กับโรงพยาบาลชุมชน และบำบัดอยู่ใน “ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx”

หลังผู้ป่วยสีแดง สีส้ม และสีเหลือง เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่มินิธัญญารักษ์จนอาการดีขึ้นแล้ว จะถูกส่งกลับมาบำบัดภายในชุมชน และจะต้องติดตามไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ ส่วนผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ไม่ได้เสพยา พม. จะติดต่อญาติ คืนสู่ครอบครัวต่อไป 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อรองรับผู้ป่วยจิตเวช ผู้เสพคือผู้ป่วย ดังนี้

  • จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลชุมชน ทุกจังหวัด เวลานี้มีโรงพยาบาลชุมชน ขอจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง 1,957 เตียง

  • มีหอผู้ป่วยจิตเวชที่โรงพยาบาลศูนย์ครบทุกจังหวัดแล้ว

  • จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ เวลานี้มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง จากโรงพยาบาลชุมชน 776 แห่ง

  • มี 1 ตำบล 1 ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx  ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 2,000 ชุมชนใน 687 อำเภอจาก 879 อำเภอ คิดเป็น 78% 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS