เครือข่ายพื้นที่สีเขียว กว่า 31 หน่วยงาน ร่วมระดมสมองในงาน Green next Generation แนวทางใหม่ต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพื่อพัฒนาโมเดลใหม่ดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแก้ปัญหาเมืองด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์เมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงง่าย
“พื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่ การพักผ่อน แต่ต้องมอง มิติการเป็นพื้นที่รับน้ำ, การบำบัดสุขภาพ, พื้นที่ทางสังคม เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศของเมือง
มีความหวังอยากจะเห็นอีกหลาย ๆ โมเดลที่จะช่วยสร้างพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นให้กับเมืองได้…“
ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park
“กทม. เป็นมหานครที่มีความหนาแน่นน้อยติดอันดับโลก แต่ในความจริง พื้นที่สีเขียวมักอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล หมู่บ้านจัดสรร ที่ดินรัฐที่ประชาชนเข้าถึงยาก…
ปัญหาการขาดพื้นที่สาธารณะของไทย คือ รัฐไม่ให้ เพราะรัฐไม่เคยคิดว่า พื้นที่ของรัฐ ประชาชนเข้าไปใช้ได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดของรัฐ เราจะไม่มีพื้นที่แบบนี้เลย“
รศ.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum)
“สิ่งที่เจ้าของที่ดินคิดตอนนี้ คือ การเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อจ่ายภาษีให้น้อยลง…
เสนอให้เอกชนลงทุนเอง และให้รัฐช่วยดูแล เช่น ถ้ามีที่ดิน 10 ไร่ ทำบางส่วนเป็นสวนสาธารณะ ตัดที่ดินอีกครึ่งมาใช้เพื่อธุรกิจได้หรือไม่? เพื่อเป็นประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน
ถ้าทำได้ โอกาสที่ พื้นที่สีเขียวจะเกิดขึ้นได้ ก็มีมากขึ้น”
กรกช อรรถสกุลชัย Senoir Executive Director และ Chief Non-Capital Maket Solution Private Banking Group ธนาครกสิกรไทย
“ระบบระบายน้ำ กทม. เหลืออยู่เพียง 43.5%
ศักยภาพการระบายน้ำ กทม. ทำได้เพียง 60 มม./ ชม.ถ้าจะให้ง่ายกว่าการห้ามธรรมชาติ, สร้างโครงสร้างฯ ,รื้อระบบระบายน้ำ… ฯลฯ เรายังมีความหวัง ที่เหลือคือเพิ่มพื้นที่รับน้ำ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง ในทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า การปรับตัว และมีพื้นที่ซับน้ำ ทำได้ง่ายที่สุด”
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
“กทม.ยังไม่เคยเจอมิตินโยบายภาษีที่ดินใหม่ กลายเป็นว่ามีผู้มาเสนอที่ดินให้ กทม. บริหารจัดการ
แต่นโยบายผู้ว่าฯ ไม่ให้ตัดสินใจโดยบุคคล จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา หากพื้นที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน กทม. ก็จะไม่รับ และเลือกเก็บภาษีที่ดินมาใช้ประโยชน์ในมิติอื่น…
เราต้องการเห็น ประชาชน มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ กทม.อยากเน้นผลสัมฤทธิ์ เปิดพื้นที่สีเขียวแล้วต้องยั่งยืน มีโมเดลที่ชุมชนช่วยการดูแลต่อได้อย่างยั่งยืน“
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษผู้ว่าราชการ กทม.
“การทำสวนสาธารณะ เราคำนึงถึงปัจจัยหลากหลาย ต้องการพัฒนาต้นแบบหลายแบบ งานใหญ่เยอะเกินไปจะขยายยาก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นไม่ใช่แค่ กทม. จะขยายผลพื้นที่สีเขียวไปต่างจังหวัดต่ออย่างไร”
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
“สิ่งที่ขาดไปของการมีพื้นที่สีเขียวที่ดี คือ ขาดคนที่จะมาชวนทุกคนมาร่วมกัน เราอาจจะต้องการมนุษย์พันธุ์ใหม่ มาชวนทุกคนให้มองเป้าหมายเดียวกัน
อยากให้ กทม.เป็นตัวกลางในการเชื่อมคนที่มีเป้าหมายเดียวกันมาช่วยกันมองปัญหา เพื่อแก้ปัญหา”
ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย TALA
“วันนี้เราเจอ PM 2.5 และอย่าลืมว่าน้ำเคยท่วม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องไม่ใช้อาสาสมัคร ประเทศนี้มีมืออาชีพ มีคนที่รู้ และทำได้อย่างเป็นระบบ แต่ประเทศไทยกลับไม่ค่อยมีนักวิจัยที่ถูกจ้างเพื่อมาสร้างโครงสร้างของเมือง…
แม้เราไม่สามารถลบโครงสร้างต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในประเทศได้ แต่เราทำให้ดีขึ้นได้ อีก 10 ปีข้างหน้า ผมว่า เราสร้างผังเมืองที่น่าอยู่ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของโลกใบนี้ได้”
ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ไม่ว่าจะเป็น เอกชน หรือประชาชน ก็อยากให้ กทม. เขียวขึ้น ทุกคนพร้อมจะทำงาน แต่จะเป็นระบบอาสาสมัครไปเรื่อย ๆ คงไม่ได้ คงต้องมีมืออาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยทำให้พื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืนมากขึ้น ระยะยาว คือ การดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวนั้นต้องทำอย่างไร”
อรยา สูตะบุตร Big Trees กลุ่มอนุรักษ์ “ต้นไม้ใหญ่” ในเมือง
“คนรุ่นต่อไปเริ่มมีความหวัง และนักออกแบบทุกคนก็เลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่อง พื้นที่สีเขียวมากขึ้น
อยากเห็นพื้นที่ตรงกลางให้จิ๊กซอว์หลายตัวต่อกันได้มากขึ้น… เช่น สวนเบญจกิตติ เราทำสวนป่า นำคอนกรีตออกทั้งหมด เพื่อให้ดินเก็บน้ำ และลดความแรงของน้ำ มีการจัดการโดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง น้ำไม่ท่วมคนใช้งานได้ปกติ พอพายุเข้าเราก็เปิดเป็นที่เก็บน้ำ
ถ้า กทม.เริ่มทำจะช่วยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น”
ชัชนิล ซัง
สถาบันอาศรมศิลป์