ภาพจำของ “คลองเตย” ชื่อชุมชนขนาดใหญ่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ของแต่ละคนอาจไม่แตกต่างกันมากนัก
สัก 20 ปีที่ผ่านมา เคยมีคนกล่าวว่า “สลัม” ในกรุงเทพฯ หมดไปแล้ว เพราะภายหลังแทนที่ด้วยคำว่า “ชุมชนแออัด” ยิ่งตอกย้ำจินตนาการรูปแบบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนเป็นกังวลใจ หลังปรากฏข่าว “พบคนคลองเตยติดเชื้อ”
ประชากรเหยียบแสนคน บนพื้นที่กว่า 12 ตารางกิโลเมตร ยังมีความหลากหลายของผู้คน อาชีพ วิถีชีวิต และรูปแบบความเป็นอยู่ หาก “คลองเตย” เป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่และมาก่อนกาล ก่อนที่จะเกิดชุมชนแออัดอื่น ๆ ใจกลางมหานคร ความแออัดนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถสร้าง “ระยะห่างทางกายภาพและสังคม” (Social Distance) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
“คลองเตย” จึงเป็นต้นแบบการเรียนรู้ ที่ The Active ชวนทำความรู้จักให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจชุมชนแออัดอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ในสถานการณ์ที่ยากลำบากของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่รู้จุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน
ภาพ “ชุมชนแออัด” ที่มีประชากรหนาแน่น อาจเป็นความจริงส่วนหนึ่งและเป็นความจริงโดยส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว “คลองเตย” เป็นชื่อเขตหนึ่งในจำนวน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีเส้นเขตแบ่งพื้นที่เชิงกายภาพติดแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อกับอีกหลายเขต ทั้ง วัฒนา ปทุมวัน สาทร ยานนาวา และ “มีที่มาที่ไป”
ด้วยภูมิศาสตร์ติดแม่น้ำ ทำให้เมื่อ 80 กว่าปีก่อน หรือราวปี 2480 การสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ บนคุ้งน้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นที่นี่ มีการเวนคืนพื้นที่ และย้ายวัดเก่าทั้งหมดไปรวมในพื้นที่ใหม่ ที่วัดธาตุทอง (เอกมัย) เพื่อเปลี่ยนคลองเตย ให้เป็น “ท่าเรือ” และพื้นที่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ท่าเรือคลองเตย” หรือ “ท่าเรือกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นท่าเรือหลักของประเทศมากว่าครึ่งศตวรรษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
การก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ ทำให้มีการเข้ามาของแรงงานจำนวนมาก ทั้งเพื่อก่อสร้าง การขนส่ง รับจ้าง และการบริการ จากนั้น แรงงานลงหลักปักฐานอยู่ใกล้พื้นที่ท่าเรือ บ้างก็เปลี่ยนมือ เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ได้อยู่ในพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ ช่วงปี 2510-2530 จึงเกิดเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ และขยายตัวออกไปอย่างไม่มีทิศทาง
เขตคลองเตยมีพื้นที่ไม่ใหญ่ หากเทียบกับเขตอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ แต่มีประชากรมากเป็นอันดับ 18 จากทั้งหมด 50 เขต
ทั้งสัดส่วนประชากรและขนาดพื้นที่ ถือว่าเป็นส่วนเล็ก ๆ ของมหานครเท่านั้น แต่ทำไมเมื่อเกิดการระบาดขึ้นที่ “คลองเตย” หลายคน หลายส่วน จึงต้องเร่งเข้าไปช่วยควบคุมสถานการณ์?
เมื่อแยกเป็นรายแขวง จะพบว่า ชุมชนย่อยทั้ง 41 ชุมชนในเขตคลองเตย* ลักษณะชุมชนแบบที่เราเคยรู้จัก กระจุกตัวอยู่ใน “แขวงคลองเตย” กล่าวได้ว่า 27 ชุมชน จากทั้งหมด 41 ชุมชน มีที่ตั้งอยู่ในแขวงคลองเตย นอกจากมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดจากทั้ง 3 แขวง คือ คลองเตย พระโขนง และคลองตัน แต่ก็มีประชากรมากที่สุดเช่นกัน มากกว่าอีก 2 แขวงรวมกัน 2 เท่าตัว
นั่นทำให้ “แขวงคลองเตย” มีประชากรหนาแน่นกว่า หากเทียบเป็นจำนวนคนต่อตารางกิโลเมตร แขวงคลองเตย จะมีประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 คน ต่อ ตารางกิโลเมตร ขณะที่อีก 2 แขวงอยู่ที่ราว 6 พันคน คือ แขวงคลองตัน 6,112 คนต่อตารางกิโลเมตร แขวงพระโขนง 6,093 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนความหนาแน่นประชากรเฉลี่ยของ กรุงเทพฯ อยู่ที่ 3,562 คนต่อตารางเมตร
แต่ “คลองเตย” มีชุมชนหลายรูปแบบ
ชุมชนคลองเตย มีบ้านและที่อยู่อาศัยหลายรูปแบบ แยกเป็น ชุมชนแออัด 23 ชุมชน ชุมชนเมือง 11 ชุมชน เคหะชุมชน 4 ชุมชน อาคารสูง 2 ชุมชน และชุมชนจัดสรรบนกรรมสิทธิ์ของเอกชนอีก 1 ชุมชน
แต่ แต่… อย่าเพิ่งวางใจ ตัวเลขข้างบนนั้น เป็น “ตัวเลขทางการที่นับได้” เท่านั้น ในข้อเท็จจริง ยังพบว่า มีประชากรแฝง ที่มาจากแรงงานอพยพใหม่ทั่วประเทศเข้ามาทำงานรับจ้างรายวัน และแรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติมา “เช่าอยู่” ที่คลองเตยในฐานะ “ชุมชนเช่าขนาดใหญ่” ในชุมชนแออัดที่ไม่สามารถประเมินตัวเลขประชากรแฝงได้
แม้ “ชุมชนคลองเตย” จะเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ชุมชนที่หนาแน่นที่สุดของ กรุงเทพฯ ข้อมูลจาก กทม. พบว่า ชุมชนที่หนาแน่นที่สุดของกรุงเทพฯ (รายแขวง) คือ แขวงปากคลองภาษีเจริญ ป้อมปราบ บ้านบาตร สี่แยกมหานาค และศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งทั้ง 5 แขวงนี้ อยู่ในย่านชุมชนเมืองและย่านเก่าของ 4 เขต คือ ภาษีเจริญ พระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย
นั่นหมายความว่า หากเวลานี้การระบาดคลัสเตอร์ชุมชนขนาดใหญ่ จะมีคลองเตยเป็น 1 ในพื้นที่สีแดง ต้องเร่งควบคุมโรคและเฝ้าระวังการติดเชื้อ การมองไปที่ชุมชนที่มีลักษณะแออัดหรือหนาแน่น เพื่อเฝ้าระวังป้องกันกระแพร่กระจายของโควิด-19 จะช่วยให้ไม่เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่ยากเกินควบคุม ด้วยปัจจัยเสี่ยงเรื่องความแออัดและจัดการได้ยาก
สอดคล้องกับการเปิดเผยชุมชนเฝ้าระวังของการควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร ของ ศบค. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2564 ว่า 4 ชุมชนที่ต้องจับตา อยู่ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงเป็นอันดับต้นของ กรุงเทพฯ คือ 1. ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 2. ชุมชนวัดญวนคลองลำปัก เขตดุสิต 3. ปากคลองตลาด เขตพระนคร และ 4. ศูนย์การค้าเขตพระนคร
มีคนกล่าวว่า “ถ้าคนคลองเตยปลอดภัย คนกรุงเทพฯ ก็ปลอดภัย” เป็นนัยยะให้เราเรียนรู้จากคลองเตย และจับตามองบทบาท โครงสร้างหน้าที่ของ “กรุงเทพมหานคร” ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะควบคุมโควิด-19 ครั้งนี้อย่างไร
เพราะหากจะหยุดการระบาดของโควิด-19 ใน กรุงเทพฯ จึงไม่ควรหยุดแค่คลองเตย แต่ยังหมายถึงชุมชนที่มีความหนาแน่นอื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ด้วย