ปัญหา “ขยะมูลฝอย” นับเป็นอีกความท้าทายของผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ กับการเข้ามาวางระบบบริหารจัดการสิ่งขยะและสิ่งปฏิกูลในเมืองหลวง
ด้วยเป้าหมายที่จะเดินหน้าไปสู่ “มหานครปลอดภัย” ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดให้เมืองหลวงแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดมลพิษ มีระบบการจัดการขยะ บริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste management) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มี่ประสิทธิผล
จากการสำรวจพบว่า ปี 2562 กรุงเทพฯ มีขยะรวม 3,850,069 ตัน หรือ เฉลี่ย 10,548 ตัน/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จากรายงาน “การพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย (2563) บนเว็บไซต์: กรณีศึกษาและการประยุกต์ใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร” พบว่า ในการรักษาความสะอาด ในช่วงปี 2555-2562 กทม. ใช้เงินงบประมาณในการรักษาความสะอาดและจัดการขยะมูลฝอย รวม 94,037 ล้านบาท คิดเป็น 16.18% ของงบประมาณทั้งหมด
หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่างบประมาณที่เกี่ยวกับการรักษาความสะอาดนั้นจะเป็นงบประมาณของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยส่วนหนึ่งอยู่ในแผนงานรักษาความสะอาดของสำนักสิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งจะเป็นงบประมาณของสำนักงานเขตต่างๆ ที่จะมีแผนงานรักษาความสะอาดของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น ปี 2563 กทม. ซึ่งมีงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งหมด 8.3 หมื่นล้านบาท มีงบประมาณในแผนรักษาความสะอาดของสำนักสิ่งแวดล้อม 5,955 ล้านบาท และงบประมาณแผนงานรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตต่าง ๆ 6,372 ล้านบาท
แต่หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญคือรายได้จากค่าจัดเก็บขยะของกทม.ตกปีละ 500 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 5% ของค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะทั้งหมด ที่กทม.ต้องจัดงบประมาณมาชดเชย
จากข้อมูลพบว่าในปี 2562 เขตที่มีขยะมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. ปทุมวัน 6.529 กก./คน /วัน 2. พระนคร 4.057 กก./คน/วัน และ 3. วัฒนา 3.5 กก./คน/วัน
ส่วนเขตที่มีขยะน้อยที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. หนองจอก 0.768 กก./คน/วัน 2. คลองสามวา 1.057 กก./คน/วัน และ 3. ทุ่งครุ 1.083 กก./คน/วัน
หากลงไปสำรวจขยะมูลฝอยในพื้นที่กทม.จะพบว่า ขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ เป็น เศษอาหาร 45.41% รองลงมาคือ พลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิล 16.30% กระดาษที่ไม่สามารถรีไซเคิล 11.31% กิ่งไม้และใบไม้ 4.94% ผ้าสิ่งทอ 4.15% แก้ว 2.30% โฟม 1.34% ฯลฯ
ในแง่ของ กลไกการจัดการขยะ ซึ่งเริ่มต้นจากขยะมูลฝอยในบ้านเรือน ชุมชน ที่จะถูกขนไปทิ้งผ่านรถขยะไปยังโรงขยะ ซึ่งปัจจุบันเป็นรถขยะของเอกชน 1,829 คัน และรถของกทม. 349 คัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่คือ ไม่มีจุดทิ้ง หรือไม่มีคนไปจัดเก็บ ซึ่งสำนักงานเขตจะเข้าไปช่วยคิดหาวิธีการดำเนินการแก้ไขร่วมกับชุมชนในการจัดการขยะของแต่ละพื้นที่
ในขณะพื้นที่ทั่วไป มีการตั้งจุดตั้งถังขยะประมาณ 5,000 แห่งใน 50 เขต ทั้่วกทม. โดยแยกเป็น ขยะทั่วไป 2,080 จุด ขยะติดเชื้อ 2,066 จุด ขยะอันตราย 1,000 จุด พนักงานชักลาก
วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. อธิบายว่า ในต่างประเทศประชาชนต้องนำขยะมาทิ้งในจุดที่กำหนด แต่สำหรับประเทศไทยจะต้องจัดทีมลงไปจัดเก็บ ดังนั้นเพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็อาจจะต้องเพิ่มจุดจัดเก็บหรือเพิ่มเจ้าหน้าที่ลงไปในจุดที่ยังมีปัญหา อีกทั้ง อาจต้องเพิ่มเทคโนโลยี ไม่ให้รถขยะต้องวิ่งไปไกล อาจจัดให้แต่ละเขตมีพื้นที่รับขยะของตัวเองเพื่อไม่ให้ขยะต้องเดินทางไกล
อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่ากทม. ไม่ได้ทำการเผาหรือฝังกลบขยะที่จัดเก็บในพื้นที่กทม. แต่ส่งออกขยะไปฝังกลบในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องท้าทายที่ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะต้องเผชิญและหาทางบริหารจัดการขยะมูลฝอยเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพทั้งในภาพกว้างและระดับพื้นที่ต่อไป