11 พรรคการเมือง เสิร์ฟ นโยบายเกษตร และ ความมั่นคงทางอาหาร ​

นับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งล่วงหน้า  แน่นอนว่านโยบายเกษตร ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ต่อการตัดสินใจของประชาชน เพราะเกษตรกร ในฐานะผู้ผลิตมีสัดส่วนมากถึง 40 % ส่วนประชากรที่ไม่ได้เป็น หรืออยู่ในครอบครัวเกษตรกร ล้วนมีความเชื่อมโยงกับระบบเกษตร ในฐานะผู้บริโภค และความหวังต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศ 

เพระจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนที่สะท้อนเด็กไทยต้องจำยอมกินไข่ต้มครึ่งใบคลุกน้ำปลา  ไปถึงคำถามต่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง ที่เด็กไทยต้องเผชิญ  กับข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ ปี2562 พบเด็กไทย 0-5 ปี ประมาณกว่า 4 แสนคน คิดเป็น 13% มีภาวะขาดโภชนาการ เตี้ยแคระแกร็น 

สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี และภาคีเครือข่ายที่ได้รวบรวม พบเด็ก 0-14 ปี กว่า 1 ล้านคน มีภาวะขาดโภชนาการเตี้ย แคระแกร็น   สะท้อนการเข้าถึงอาหารที่ไม่เพียงพอ  แต่กลับสวนทางกับตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย ที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ยิ่งทำให้เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญในนโยบายการเกษตรของไทย 

ขณะที่ข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศรัตรูพืช (Thai Pan) พบความไม่ปลอดภัยในอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานเกินครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ในประเทศที่มีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารสูงกว่า เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา พบการตกค้างเพียง 3-5% เท่านั้นและชี้ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ ที่อยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ 

รวมไปถึงคำถามต่อกลไก และมาตรการ เพื่อลดปัญหาการรวมศูนย์ทั้งด้านการผลิต การตลาดรวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการเกษตรของประเทศ และที่สำคัญ คือ แนวทางการเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรมที่ต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมากทุก ๆ ปี เพื่อก้าวไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น

เหล่านี้แล้วเป็นโจทย์สำคัญ ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี(BioThai) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีพรรคการเมือง พบภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรประชาชน แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอนโยบายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร  เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา 

ซึ่งวันนั้น มีพรรคการเมือง ถึง 11 พรรค ที่ตบเท้าตอบคำถามและเสิร์ฟนโยบายการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร  The Active ได้รวบรวมข้อสรุปนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองให้ได้ติดตาม

เดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เงินอุดหนุนด้านการเกษตร ถือเป็นปัญหามากที่สุด แต่อีกด้านหนึงก็ไม่ปฏิเสธ ว่าเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนในแง่เศรษฐกิจ มีรายได้ที่ลดลงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเพราะฉะนั้นส่วนที่เป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตร กับนอกภาคเกษตรก็เพิ่มมากขึ้น แล้วคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรจะดีขึ้นได้อย่างไร หากเราไม่มีการอุดหนุนสินค้าเกษตร 

คำตอบก็คือพรรคก้าวไกลเชื่อในแนวทางที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็เลือกได้ ซึ่งการให้เงินอุดหนุนการเกษตร ส่วนที่มันเป็นปัญหามากที่สุดในมุมมองของพรรคก้าวไกล ก็คือเป็นการให้เงินอุดหนุนที่ยังต้องติดอยู่กับพืชเดิม คือถ้าอยากจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเรายังต้องปลูกพืชเดิมต่อ  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกความช่วยเหลือของรัฐบาล กับพืชที่ปลูกออกจากกัน   

คำถามว่าแล้วมันช่วยได้อย่างไร  คำตอบก็คือ สวัสดิการถ้วนหน้า”เพราะปัจจุบันเกษตรกรประมาณ 50% ของประเทศ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปจะเพิ่มมากขึ้น โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรจะต้องเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท เป็น 3,000 บาท / เดือน เงินอุดหนุนเด็กเล็กจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเป็น1,200 บาท/เดือน

เมื่อได้รับความช่วยเหลือที่เปลี่ยนจากการที่จะต้องอิงกับพืชที่ปลูก เปลี่ยนเป็นได้รับตามสิทธิของความเป็นคนไทยแล้ว จะปรับให้เปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องปลดล็อก 3 อย่าง ที่สำคัญ ได้แก่ ที่ดิน หนี้สิน และแหล่งน้ำ

ที่ดิน ยังมีพี่น้องอยู่ในพื้นที่ 50 ล้านไร่ของประเทศไทย ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน จำเป็นที่จะต้องมีกองทุนในการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน  และในพื้นที่ 50 ล้านไร่ เราเลยตั้งงบประมาณไว้ 10,000 ล้านบาท และจะเคลียร์ให้เสร็จภายใน 4 ปี รวมถึงพื้นที่ สปก. ก็ต้องเปลี่ยนเป็นโฉนด

หนี้สิน มีทางเลือก 3 ทาง 1.ถ้าชำระได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือรัฐบาลจัดการให้ 2.ถ้าไม่มีเงิน ทางเลือกแรกขออนุญาตเช่าที่ดินไม่เกินครึ่งหนึ่ง โดยมาปลูกไม้เศรษฐกิจ แล้วก็ชำระหนี้แทนท่านตั้งแต่วันแรกที่เช่าที่ดิน และเมื่อครบกำหนดการเช่าที่ดิน ซึ่งเช่าระยะยาว เราคืนที่ดินให้ หนี้หมดตั้งแต่วันแรกเราคืนที่ดินให้ แถมคืนต้นไม้ให้อีกครึ่งหนึ่งด้วย 3.ถ้าไม่มีเงิน ไม่มีที่ ขออนุญาตยืมหลังคาบ้านแล้วติดตั้งโซลาเซลล์ แล้วแบ่งโซลาเซลล์กัน ส่วนหนึ่งรัฐบาลเอาไปใช้ในการคืนเงินทุนที่ติดตั้ง อีกส่วนหนึ่งท่านเอาไปตัดชำระหนี้

แหล่งน้ำ จำเป็นจะต้องมีแหล่งน้ำสำหรับทุกพื้นที่ ที่จะทำให้เปลี่ยนจากพืชหนึ่งซึ่งไม่ต้องใช้น้ำเยอะ เป็นพืชที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่อาจจะต้องควบคุมน้ำได้ และวิธีของเราไม่ต้องไปเรียกว่าชื่อโครงการอะไร ขอให้ได้ 1,000 ลบ.ม. อัตราคือ 25,000 บาท สำหรับการลงทุน 10,000 ลบ.ม.ก็คำนวนเพิ่มไป

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องส่งเสริมเรื่องการแปรรูปไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุราก้าวหน้า การแปรรูปสมุนไพร การแปรรูปอาหาร รวมถึงเรื่องมาตรฐาน พรรคก้าวไกลเรามีนโยบายชัดเจนว่าเราจะให้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการตรวจรับรองไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน GAP, ออร์แกนิค, GMP และฮาลาล เพื่อให้การตรวจรับรองมาตรฐานครอบคลุมทั่วถึง และต้องเข้มงวดและจริงจังทำให้มาตรฐานของเรานั้นได้รับการเชื่อถือ การตรวจสารเคมีตกค้างต้องรายงานผลอย่างสม่ำเสมอ โปร่งใสตรงไปตรงมา  

ในส่วนของภาวะเด็กเล็กที่ขาดสารอาหาร ถ้าเราไปดูรายละเอียดผู้ที่ขาดสารอาหารส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดินไม่ค่อยดี แต่วิธีการช่วยเหลือคือเราเชื่อในสวัสดิการถ้วนหน้า  1,200 บาทต่อคน ต่อเดือน 

เรื่องของอาหารกลางวัน จะยกระดับค่าใช้จ่ายในการทำอาหารกลางวันของนักเรียนมาเป็น 30 บาทต่อคนต่อวัน และครอบคลุมไปจนถึงในระดับมัธยมศึกษา เด็กๆ จะได้กินอาหารทั่วถึง มีความหลากหลาย และมีคุณภาพนอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ที่จะสามารถปลูกผัก-ผลไม้แล้วก็มาส่งในตลาดท้องถิ่น

“สิ่งที่พรรคก้าวไกลมองภาคเกษตรก็คือ การเพิ่มทางเลือกขั้นที่ 1 มีสวัสดิการ เพราะว่าถ้าเรามีสวัสดิการถ้วนหน้า เรากล้าที่จะเลือก คนที่จะที่มาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีสวัสดิการถ้วนหน้าก็กล้าที่จะเลือก ขั้นที่ 2 ต้องปลดล็อคที่ดิน แหล่งน้ำ หนี้สิน กฎหมาย ให้ทุกคนสามารถเลือกได้

ขั้นที่ 3 เติมตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดท้องถิ่น ตลาดที่เป็นตลาดแปรรูป ตลาดพรีเมี่ยม ตลาดต่างประเทศที่ต้องแข่งขันให้ได้ ขั้นที่ 4 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น“

เพราะ ไม่มีใครใกล้ชิดกับเกษตรกรมากกว่าท้องถิ่น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ต้องให้ อบต.สามารถที่จะมาบริหารจัดการส่งสินค้าไปยังโรงเรียนได้ ต่อระบบชลประทานในไร่นาได้ และพรรคก้าวไกล ได้ประกาศแล้วภายใน 4 ปี เราจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแน่นอน

ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภูมิใจไทยคิดเรื่องแก้ปัญหาเกษตรกร คือ รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ถ้าเสียหายมีประกัน และไม่เห็นด้วยที่จะใช้งบประมาณเข้ามาแทรกแซงโดยไม่มีความจำเป็น และต้องยอมรับว่าวันนี้เกษตรกรจำนวนมาก ยังประสบปัญหาเดิม ๆ คือเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันตลอด มีปัญหาการจัดการน้ำ  

นอกจากนี้ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของการทำเกษตรที่เหมาะสม แหล่งเงินทุนก็เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหนี้สินก็เป็นปัญหาเดิมอยู่ ซึ่งภูมิใจไทย มีนโยบายในเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนทั้งประเทศ ปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน วัตถุดิบ อาหารสัตว์ ปุ๋ย ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศหมด ต้องปรับทัศนคติให้สามารถทำเกษตรอินทรีย์ ทำปุ๋ย​ได้เอง

อีกเรื่องสำคัญ เรื่องสารพิษ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนว่าเราต้านสารพิษ 3 สาร ผลตรงนั้นคิดว่าจากการแสดงจุดยืน มีผลว่าตัวเลขของสารพิษที่นำเข้ามาสำหรับการเกษตร 3 ชนิดลดลงทันที เราไม่เอาสารพิษ 3 สาร เพราะปัญหาสุขภาพเกิดจากสารพิษตัวนี้ ภูมิใจไทยจะกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญว่าถ้าเราไปเป็นรัฐบาล

คือ 1.เราต้องประกาศนโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพคนไทย ไม่เป็นโรค ลดการใช้สารเคมีลงร้อยละ 50% และ 2.เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อีกอย่างน้อยร้อยละ 200 ภายใน 4 ปี  3. พัฒนาเกณฑ์การตัดสินใจเพื่อให้อนุญาตในเรื่องอนุญาตขึ้นทะเบียนที่มีความเข้มข้นกว่าในปัจจุบัน โดยเอาเกณฑ์ของยุโรป Hazard base cut off criteria และ 4. ยกเลิกการขึ้นทะเบียนหรือจำกัดการใช้สารเคมีอันตรายสูงที่มีคุณสมบัติเข้าได้กับเขตที่ 1 โดยทันที 

5. ยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีข้อตกลงร่วมในระดับนานาชาติแล้ว 6. ยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่สหภาพยุโรปหรือประเทศคู่ค้าของไทยยกเลิกไปแล้ว 7. ยกเลิกการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจและเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม 8. เก็บภาษีสารเคมีจำกัดศัตรูพืชที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตามระดับความเป็นอันตราย 9. ควบคุมสินค้านำเข้าที่ปนเปื้อนสารเคมีอย่างเข้มงวดปฏิเสธการนำเข้าหรือทำลายทิ้งก่อนที่ผู้บริโภคจะได้รับ

การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเป้าหมายเรื่องนี้เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.จัดสรรงบประมาณให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ 2.กำหนดให้ธนาคารของรัฐสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ 3.จัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนทางการเงินแบบอื่นๆจากรัฐบาลให้กับหน่วยงานราชการอื่นซึ่งไม่ไม่เกี่ยวกับกระทรวงเกษตร 4.สนับสนุนตลาดภายในระดับตำบลที่ทำเรื่องของเกษตรอินทรีย์แล้วก็สนับสนุนสร้างตลาดสีเขียวให้เกิดกว้างขวางขึ้นทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและชนบท 5.ส่งเสริมการสร้างความรู้และการจัดการความรู้เผยแพร่ความรู้ที่สนับสนุนเรื่องของเกษตรอินทรีย์โดยค้นหาสถาบันหรือองค์กรใดที่ทำให้ดีที่สุดและรัฐบาลก็ อุดหนุนทุนเต็มที่ให้กับองค์กรเหล่านี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ถ้ารัฐบาลตั้งใจจริง

ผมมีข้อมูลเรื่องเด็กแคระแกร็นไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วโลก ปี 64 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ได้รับผลกระทบ 164 ล้านคนทั่วโลก ภาวะผอมเนี่ย 45 ล้านคน น้ำหนักเกิน 39 ล้านคน แล้วก็แนวโน้มจะสูงขึ้น ประเทศไทยก็จะต้องเร่งแก้ไขเรื่องนี้

เรามีจุดแข็ง จากการสำรวจตามดัชนีของขององค์การ FAO ประเทศไทยอยู่ในเขตที่เรามีงานมีจุดแข็งที่เรามีเพียงพอ ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เราสามารถแก้ได้ภายในตัวเรา ประเทศไทยยังอุดมสมบูรณ์และสามารถที่จะเป็นฐานคาร์โบไฮเดรตให้กับโลก มีโปรตีนบางส่วนป้อนโลกได้แล้วเราสามารถป้อนคนในประเทศและของเราได้เพียงพอ อยู่อยู่ที่การบริหารจัดการ

อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของประชาธิปัตย์ต้องการยกระดับ อัปเกรดรายได้เกษตร รายได้ประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจอาหารของโลก รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางทหาร ทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และเชิงโภชนาการ ความเป็นครัวของโลกต้องกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยลงไปสู่เกษตรฐานรากให้ได้ 

นโยบายเกษตรของประชาธิปัตย์ จึงวางอยู่บนฐานของเกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก เราปฏิเสธตัวเองไม่ได้ว่าเกษตรกรเรามีความสามารถและมีประสิทธิภาพด้านภาคอุตสาหกรรมเกษตร เรามี 10 นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน ดังนี้ 1.ส่งเสริมเกี่ยวกับยั่งยืนเกษตรอินทรีย์ คาร์บอนต่ำลดโลกร้อน เราส่งเสริมจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทยที่เป็นครั้งแรก 2.สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และโภชนาการ 3.ขับเคลื่อนการปลอดภัย ครัวไทยครัวโลก

4.ส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น พืชโปรตีนทางเลือกจากแมลง ซึ่ง FAO ประกาศให้เป็นโปรตีนแห่งอนาคต เราเดินหน้ามาแล้วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จนก้าวสู่การเป็นประเทศแนวหน้าในเรื่องนี้ รวมไปถึงเรื่องของพืชเศรษฐกิจปลอดภัยเป็นท้องถิ่นที่กินได้ เช่น สาหร่าย ผำ แหนแดง และอาหารฮาลาล 5.ส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรสุขภาพ เกษตรดั้งเดิมจะอยู่ในเรื่องเกษตรอาหาร แต่ว่าการสร้างฐานรายได้ใหม่วางบน 4 ฐาน เกษตรอาหาร เกษตรสุขภาพ เกษตรท่องเที่ยว และเกษตรพลังงาน เช่น ลดการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ 

6. คุ้มครองสิทธิเกษตรกร ส่งเสริมสวัสดิการของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขตการค้าเสรี FTA ที่มีอยู่แล้วหรือที่กำลังจะเจรจา รวมถึง CPTPP ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรยืนยันในข้อกังวลที่ยังไม่เห็นด้วย  เพราะว่ามีปัญหาการคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์การคุ้มครองสิทธิก่อนการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เราต้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาหาร ยา และชีวิต เราเป็นประเทศที่ความหลากหลายทางชีวภาพติด 1 ใน 10 ของโลก“

 7. สร้างกลไกใหม่ใช้ความร่วมมือเครือข่ายภาคีระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม เราจึงจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทยที่เป็นครั้งแรก ยกระดับและกระจายอำนาจสู่ชุมชนครับท้องถิ่นด้วยการขับเคลื่อนระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด เราจัดตั้งกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลเรียบร้อย 7,255 ครบทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว

ตรงนี้เป็นฐานรากเศรษฐกิจทางด้านเกษตรกรรมยั่งยืนที่กว้างลึกสำคัญที่สุด ซึ่งถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนฐานพีระมิดขึ้นมาให้มีบทบาทสำคัญ ยังเป็นการบริหารที่มองแบบพีระมิดจากยอดไม่สามารถแก้ไขได้ นโยบายเราจึงเน้นคำว่า เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจฐานโลก สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติในระดับพื้นที่ เช่น Green Bangkok Green City Green School Green Temple Green campus ที่สำคัญเรายังสร้างโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้และเทคโนโลยี 

และ 8.เติมทุนเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ 3 ล้าน 1 หมื่นแปลง เราต้องสร้างแปลงใหญ่ขึ้นมา แทนที่จะเป็นฐานรากใหม่ เสาเข็มตัวใหม่ของประเทศ

นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนาด้านการเกษตรเป็นนโยบาย 1 ใน 9 นโยบายหลัก ต่อจากนโยบายด้านการเกษตร เป็นนโยบายเศรษฐกิจ ของพรรคอื่น ๆ จะอยู่ในนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งของเราไม่ใช่ เกษตรมันยิ่งใหญ่กว่าเศรษฐกิจ เราก็เห็นแล้วว่าเกษตรกรถ้าไม่มีรายได้ ธุรกิจอื่น ๆ พังหมด เพราะเป็นโครงสร้างหลักของประเทศ

นโยบายด้านการเกษตรของเราปรับปรุง ตรงส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสนอไว้เกษตรทฤษฎีใหม่ จริง ๆ แล้วคือทางออกของเกษตรกรไทยซึ่งยากจน ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ไปไม่ได้ น้ำเรามีน้อย และเราต้องใช้สหกรณ์ ไม่งั้นเราจะถูกกินโดยธุรกิจขนาดใหญ่ กินหมด โครงสร้างมันเหมือนหวายเอามันมาแนบ ๆ กัน  มันจะได้แข็งแรง 

ต่อจากนั้นคือนโยบายโครงสร้างภาคเกษตรเรื่องน้ำ เรื่องดิน จนถึงเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการภาคเกษตรแบบครบวงจร การดำรงความเป็นแหล่งอาหารที่มั่นคงและปลอดภัย เราอยู่ใน Well of food ​จากที่เคยคุยกับต่างประเทศว่าคุณผลิตน้ำมันบาร์เรลเดียวเนี่ยเราปลูกข้าว  เขาบอกเขาไม่เคยกินน้ำมันเป็นอาหาร เราอยู่ในที่ที่ดีแล้ว เราบริหารจัดการกันไม่ถูก ดังนั้นนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา เน้นนโยบายการเกษตรเป็นนโยบายที่ใหญ่

หลักการสำคัญเรื่องงบประมาณเรามีน้อย เราต้องมีมากกว่านี้ แต่ภาคอุตสาหกรรมเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย  ไม่ใช่ไทยผลิต สิ่งที่เราจะได้คือท่องเที่ยวกับเกษตรนั่นแหละคือรายได้ 

“เรื่องน้ำ ไม่มีน้ำใช้ เจาะน้ำบาดาลให้ใช้ในภาคเกษตร เรื่องไฟฟ้าที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ ขยายเขตเพื่อการไฟฟ้ายูนิตละ 2 บาท และเกษตรกรยุคใหม่ขายคาร์บอนเครดิตได้

เราเสนอว่าเกษตรกรทำนาได้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint ) ด้วย เรื่องนี้เผื่อแผ่ไปถึงคนสูงอายุที่เป็นเกษตรกร ถ้าเขามีต้นไม้ในพื้นที่ของเขา ก็ดูแลทุกต้นที่เป็นไม้ยืนต้น คุณจะได้คาร์บอน ผลิตแล้วเราจะจัดการขาย คือลงทุนประมาณหมื่นล้าน เราจะได้ประมาณแสนล้าน” 

มนตรี บุญจรัส พรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคประชาชาติยังไม่เคยเป็นรัฐบาล เรารู้สึกเสียดายรัฐบาลหลาย ๆ พรรค เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายการเกษตรยังกดขี่ กดทับ มาตรการหลาย ๆ อย่าง พ.ร.บ.ที่ออกมา ทำให้สภาเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้านง่อยเปลี้ยเสียขา พวกเขาสามารถผลิตปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ได้ และแจกจ่ายลูกหลานเหลือก็แบ่งขาย แต่อยู่ ๆ มีเจ้าหน้าที่ไปถามใบอนุญาตต่าง ๆ เกษตรกรที่เป็นมะเร็งร้ายเขามีหนี้สิน จากการบริหารประเทศที่ผิดพลาด เขาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มันเลยสวนทางว่า ความมั่นคงของอาหารจะขาดแคลน ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเนี่ยในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่เราพัฒนาประเทศยังไงให้ยากจน ให้สินค้าราคาถูก รัฐบาลทำสิ่งต่าง ๆ ที่สวนทาง 

ดังนั้น เกษตรกร 1 ล้าน 1 แสนครัวเรือน เราตั้งมั่นว่าเราจะเอาป่าสงวน 26 ล้านไร่ แบ่งมาสักครึ่งหนึ่ง ป่าอนุรักษ์กับป่าชายเลนไม่แตะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน เอาพื้นที่ที่ไม่มีสภาพป่าแล้ว เรามีพื้นดิน 323 ล้านไร่ เป็นป่า 102 ล้านไร่ อีก 202 ล้านไร่ไม่มีสภาพป่าตรงนี้ เราจะเอาพวกป่าอุทยาน ที่ดิน สปก. เรียกคืนมา แล้วจะใช้กฎหมายฉบับเดิมตั้งแต่สมัยสมุดปกเหลือง ที่มีการกำหนดกฎระเบียบไปว่าเกษตรกรรม ครอบครองได้ไม่เกิน 50 ไร่ ใครเกินละควรจะใช้มาตรการทางภาษี อุตสาหกรรม 10 ไร่ และที่อยู่อาศัยการพาณิชย์คนละ 5 ไร่ หรือรายละ 5 ไร่ เราจะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาพัฒนาประเทศ

ขณะที่ปัญหาสารพิษในประเทศมี 2 แสนกว่าตัน ใช้มากในหลายจังหวัดภาคเหนือ สะสมอยู่ในดินในต้นน้ำ ที่สำคัญเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพด อาหารสัตว์ไม่พอ ยังไปให้เพื่อนประเทศเพื่อนบ้านปลูกอีก เผาเอา PM 2.5 สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สารพิษ เข้ามาบ้านเรา

“ดังนั้น สิ่งที่เราเน้น คือการลดต้นทุนปุ๋ยเกษตรกรให้เป็นปุ๋ยฟรี ขยะหมื่นตันต่อวันของคนกรุงเทพฯ รวมทั้งประเทศ อาจจะ 15,000 ตัน หรือปีละหลายแสนตัน เราควรคัดแยก ส่วนหนึ่งไปทำแก๊สพวกมีเทน ไบโอแก๊สส่วนหนึ่งที่เป็นอินทรีย์วัตถุควรมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ชดเชยควบคู่กับปุ๋ยเคมีที่ให้เกษตรกรทั้งประเทศ เราค่อยๆลดละเลิก เราจะไม่หักดิบไปสู่เกษตรอินทรีย์ทันที เราพยายามส่งเสริมเรื่องเกษตรปลอดภัยเป็นอนุบาลข้างต้นให้พี่น้องเกษตรกรที่อายุมากปานกลางหรือ Smart Farmer มาร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมีอาหารที่ปลอดภัยไปสู่ครัวโลก “ 

ที่สำคัญ ภาคการเกษตร ต้องมี พ.ร.บ.เกษตรปลอดภัย แต่ปัจจุบันเรากลับเอา พ.ร.บ.เกษตรอินทรีย์ไปรวมกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า เรากำลังวนอยู่กับดักเดิม ๆ มาตลอดเวลา 20 ปี ในเรื่องของนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง ก็คือการจำนำข้าว ซึ่งหมดไป 450,000 ล้านบาท ประกันรายได้ก็เป็นแสนล้านบาททุกปี  พรรคชาติพัฒนากล้าจึงดีไซน์ใหม่ว่าจะไปที่ปัญหาต้นทาง แล้วก็ใช้เงินที่มันถูกต้อง เราไม่เน้นเรื่องของการแจกประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตร  ภาคเกษตรมี 2 เรื่องที่เป็นตัวชูหลัก คือ 1.การเป็นเกษตรแปรรูป และ 2.นำสหกรณ์เข้าตลาดหลักทรัพย์

ซึ่งเรื่องที่ 2 เรื่องนี้เกี่ยวพันกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรแม่นยำ ซึ่งทุกตัวนี้สามารถเข้าตลาดได้หมด สิ่งที่พูดไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในนิวซีแลนด์มี fonterra เป็นบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันเป็นยักษ์ใหญ่เกี่ยวกับ นม เนย 

“สหกรณ์ที่เกิดขึ้นใหม่เต็มรูปแบบในแต่ละคลัสเตอร์เกษตรกรไม่ได้ขายเฉพาะแต่วัตถุดิบไป แล้วเกษตรกรจะเข้าไปสู่โหมดของการขายสินค้า เกษตรกรไม่ได้เป็นเพียงแต่คนที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้น แต่หุ้นที่มันเพิ่มขึ้นทุกบาทได้หมด ถ้าสหกรณ์ถูกรวมกลุ่ม เช่น สหกรณ์ปาล์มให้กับบริษัทและข้ามตลาดหลักทรัพย์ ข้อมูลราชการ ผู้ลงทุนรายใหม่ ความโต ความแข่งขันมันทำได้ทันที หุ้นเกษตรกรแปลงเป็นหุ้นตลาดหลักทรัพย์สามารถขายได้เลย“

และอีกเรื่องต้องทำแอปพลิเคชันที่บอกทุกอย่าง เช่น ถ้าเขาทำอยู่ เข้าไปปุ๊บจะบอกหมดเลยว่าตรงนี้ปลูกอะไรได้ ต้องใช้ดินเป็นแบบไหน ปุ๋ยใช้ที่ไหน แล้วก็บอกวิธีการสัดส่วนที่เหมาะสมที่ต้องใช้หรือว่าใครอยากจะไบโอสูตรผสมแบบไหนแล้วก็แนะนำไปเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ

เวลาโรคมา มันมาตามลม จังหวะเวลา ตามแต่ละจังหวัด ถ้ามี community (ชุมชน) เรื่องนี้จะถึงกัน รวมถึงเรื่องการปล่อยน้ำด้วย แต่เรื่องนี้ยังไม่ตั้งงบกัน ราชการไม่ได้ทำได้ทุกเรื่อง แต่ต้องรวมพลังภาคเอกชนด้วย   แต่กลับกลายเป็นว่าสุดท้ายกระทรวงเกษตรฯ กลับทำแอปฯ  Farmer one แต่คนใช้ดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้ยึดติดกับประชาชน นี่คือความล้าหลังของระบบราชการ และเราติดกับดักประชานิยม การแจกเงิน one-stop service ไม่ใช่ all service

พงศา ชูแนม พรรคกรีน กล่าวว่า พรรคกรีนมีแผนเศรษฐกิจ 10 ข้อ คือ

1) จะทำไงให้คนยากจนรู้สึกร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งคือการ  “ตั้งธนาคารต้นไม้ สร้างองค์กรชุมชน เอาต้นไม้ในที่ดินประชาชน ฝากไว้ในธนาคารเป็นทรัพย์ให้ประชาชน เราให้ต้นไม้เป็นทรัพย์ เป็นหลักประกัน ความมั่งคั่ง ให้คนมีมูลค่าต้นไม้ในธนาคาร มีบัตรคนรวย tree asset card บัตรเป็นทุน“ 

2) ระหว่างนั้นก็ทำหวยต้นไม้ ออกเลขรหัส 15 หลักให้กับต้นไม้ ให้ประชนได้ลุ้นได้เงินเพิ่มอีก 

3) ถ้าไม่มีเงิน เพิ่มโรงรับจำนำให้กับต้นไม้ ให้ อบต. หรือกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งประชาชนเอาต้นไม้ไปจำนำได้

4) เมื่อต้นไม้โต สามารถตัดได้ ปลูกบ้าน นำบ้านที่สร้างไปเข้าธนาคารได้ สร้างแรงจูงใจให้คนปลูกต้นไม้

5) เวียดนามขายไม้ได้ 5 แสนล้าน ในอนาคตเงินดิจิตอลต้องเกิด เรามี tree coin, carbon currency เรามีนโยบายพันต้นสามปีมีล้านบาท (ใครมีต้นไม้เกิน 3 ปีให้ต้นละ 1,000 บาท จำนวนพันต้นก็ 1 ล้านบาท)

6) ถ้าไม้ปลูกมาก ไปเผาทำโรงไฟ้ฟ้าชีวมวลจากไม้ ต้องตั้งราคาไม้ที่เป็นธรรมเทียบกับค่าความร้อน ราคากิโลละประมาณ 6 บาท

7) เกษตรกรเปลี่ยนผ่านที่ดินต้องชอบด้วยกฎหมาย ที่ดิน 35 ล้านไร่ ครอบครอง 17 ล้านคน ผิดกฎหมาย ดังนั้นวิธีทำให้ถูกคือ อนุญาต ให้เป็นสัมปทานผู้ปลูกป่ารายย่อย คนรวยคนจนที่ถือครองที่ดิน รัฐอนุญาตสัมปทานผู้ปลูกป่ารายย่อย จะกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

8) สุดท้ายถ้าอยากพาคนไปอยู่ชนบทจริง ๆ Green real estate พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฉบับชนบทให้ทุกคนแบ่งที่ขายได้ แล้วต้นไม้เป็นหลักประกัน

9) เรามีนโยบายเกษตรกรรมสุขภาพ ให้ชาวบ้านปลูกผักริมรั้ว กินผักหญ้าที่สุขภาพดี อสม. ส่งเสริมเรื่องเกษตรปลอดภัย หมู่บ้านไหนสุขภาพดีเงินประมาณปีละ 2 ล้านบาท ก็ส่งเงินกลับไปให้หมู่บ้านเลย แบ่งเงินให้อสม.  1 ล้านบาท  อีกครึ่งซื้อประกันชีวิตให้คนในหมู่บ้าน ส่วนตัวเรียกว่า โครงการ 50 บาทป้องกันทุกโรค

10) และ อีกเรื่องที่สำคัญเรามองเรื่องราคาพืชผลไม่เป็นธรรม ทฤษฎี Adam smith invisible hand ไม่มี  มีแต่ invisible ฮั้ว เราเสนอสมการราคา ข้าวสารทำจากข้าวเปลือก ข้าวสารราคาต้อง 3 เท่าของข้าวเปลือกคือความเป็นธรรม ปาล์มต้อง 8 เท่า จากปาล์มสด

น.สพ.ชัย วัชรงค์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทุกข์ของเกษตรกรคือทุกข์ของแผ่นดิน เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง  ซึ่งประชากรกว่า 40 % เป็นเกษตรกร แต่สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  8% ของ GDP เท่านั้น  พรรคเพื่อไทยจึงกำหนดพักหนี้ 3 ปี รายได้ดีสามเท่า  เพื่อฉุดให้เกษตรกรพ้นจากความยากจนอย่างถาวรผ่าน นโยบายต่อไปนี้

1. พักหนี้เกษตร 3 ปี ตั้งต้น พักดอก รัฐบาลชดเชยเรื่องดอกให้ตั้งตัว เพื่อให้ตั้งหลักเพื่อสร้างรายได้ใหม่ และ 2.เร่งสำรวจ พิสูจน์สิทธิ์ ประกาศโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ที่ สค.ประมาณ 1 ล้านแปลง ที่ สปก.ที่เช็กแล้วประมาณ 33 ล้านไร่ จะสามารถออกโฉนดได้ แต่เงื่อนไขต้องปลูกป่าครึ่งหนึ่ง ที่ป่าเสื่อมโทรม 7 ล้านไร่ เราจะออกโฉนดให้โดยปลูกป่าครึ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน ที่บนที่ราบสูง 10 ล้านไร่ ซึ่งประชาชนอาศัยอยู่มานาน ที่ไม่มีสภาพป่าแล้วพรรคเพื่อไทยก็จะออกโฉนดให้ รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 50 ล้านไร่ 

ส่วนนโยบายการเพิ่มรายได้สามเท่าใน 4 ปี จะเพิ่มรายได้ผ่านภาคการเกษตรในรูป GDP  คือตอนนี้ตก 10,000 บาท ต่อไร่ต่อปี  140 ล้านไร่ ก็ 1.4 ล้านล้านบาท  ซึ่ง 10,000 บาทต่อไร่ต่อปีน้อยมาก ถ้าเทียบ ญี่ปุ่นไต้หวัน เค้าไป 8-9 หมื่นล้าน เราควรยกให้ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี ถ้าเราเพิ่มได้ 2 หมื่นบาท คูณด้วย 140 ล้านไร่แปลว่า GDP ภาคการเกษตร จะเพิ่ม 2.8 ล้านล้านบาท คือประมาณ 16 % ของ GDP ปัจจุบันของทั้งประเทศ แปลว่าภายใน 4 ปี นโยบายเพื่อไทยจะเพิ่ม GDP ภาคเกษตรจาก 8 % ขยับขึ้นไปอีก 16%  คือ 3 เท่า เท่ากับ 24 % โดยผ่านนโยบาย

1) จะเปลี่ยนผ่านชาวนา 20-30 ล้านไร่ เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นตามสมัครใจ  

2) ส่งเสริมโคเนื้อ ที่นาให้ปลูกหญ้าเลี้ยงโค  ให้เงินเข้ากระเป๋าชาวนา 16 เท่า

3) เน้นเรื่องประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริม start up สอดคลองกับพรรคชาติพัฒนากล้า ทำแอปฯ เกษตรกร ทำKPI ผู้บริหารต้องมี ให้ผลผลิตตามเป้า

4) เพิ่มชลประทาน ภายใน 4 ปี เป็น 15 ล้านไร่ ทั้งบนดินและใต้ดิน

5) 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย  800 อำเภอทั่วประเทศ ผลิต 4-5 พันตันต่อปี ป้อนรัศมี 10 กิโลเมตร ใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ย tailored made ทั้งหมดนี้คือแนวคิดพรรคเพื่อไทย เพื่อให้รายได้เพิ่มสามเท่า อุดหนุนเพื่อลงทุนเปลี่ยนผ่านโครงสร้าง ไม่ให้จนถาวร เป็นการอุดหนุนเพื่อการลงทุน เปลี่ยนผ่านไปทางที่ดีกว่า เมื่อเกษตรกรยืนได้ด้วยตัวเอง เราจะถอยออกมา เป็นการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตร

ศรัณยู คงสวัสดิ์เกียรติ พรรคไทยสร้างไทย  กล่าวว่า ชีวิต ครอบครัวเกษตรกรไทยในยุคไทยสร้างไทยจะเป็นแบบไหน พรรคเรามีคูปองซื้ออาหารนม อาหารคุณภาพคนละ 3,000 บาทต่อดือน สำหรับเด็ก 6 ขวบ เรามีนโยบายเรียนฟรีจนจบป.ตรี ลดเวลาเรียนอีก 2 ปี พออายุ 18-19 มาช่วยพ่อแม่ทำงานได้ สำหรับปู่ย่า มีนโยบายบำนาญ 3,000 ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายลูกหลาน

ถ้าป่วยมีโครงการ 30 บาทพลัส ฝากสินค้าเกษตรไว้แหล่งโลจิสติกส์ ที่ไทยสร้างไทยตั้ง ถ้าขายได้ดี มีกองทุนที่เกษตรกรพัฒนาตนเป็นผู้ประกอบการ เพิ่มเงินในกระเป๋าพวกเขา 

จากปี 2562-2564 เราใช้เงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรและตามขนาดที่ดิน 150,000 ล้านบาท ถ้าใช้เงินส่วนนี้ไปกับวิจัยและพัฒนา R&D ให้การเพาะปลูกแตกต่างไปกับลักษณะ หรือ character ของดินในแต่ละพื้นที่ สภาพผลผลิตย่อมแตกต่างตามลักษณะดิน การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีผลผลิตมากกว่าปัจจุบัน และอีกเรื่องคือเพิ่มแต้มต่อให้กับเกษตรกรโดยการลดต้นทุนเพิ่ม Bio technology จะนำเข้ามาผสมกับสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อเพิ่มผลผลิตเชิงพาณิย์ได้

เมื่อเพิ่มงบวิจัย การปลูกออแกนิคเพิ่มมูลค่าผลผลิต ในอนาคตสินค้าเกษตรต้องส่งออกเวทีโลกได้อย่างมีตรามาตรฐานที่มั่นใจได้ว่ามาจากไทย และไม่มีสารพิษตกค้าง

เรื่องอาหารเด็ก จากที่ตอบแต่ต้น เรามีคูปองซื้อนม อาหารเด็กแรก0-6 ปี ส่วน 6-14 ปี ในวัยเรียน อาหารกลางวัน นมโรงเรียนต้องมีคุณภาพ และประกาศสงครามกับการคอร์รัปชันในส่วนนี้

4.เพิ่มอำนาจให้ประชาชนผ่านโลจิสติกส์ ในญี่ปุ่นมี JETRO (Japan External Trade Organization) ทุกคนมีข้อมูลให้คนทุนเข้าไปต่อสู่กับเวทีโลก ติดอาวุธในเกษตรกรให้ไปต่อสู้กับธุรกิจในระดับโลก

นโยบายพรรคไทยสร้างไทย อยู่บนแกน 3 สร้าง 2 ขจัด สร้างแรกประชาธิปไตย สร้างที่สองคือสร้างความสุขจากนโยบายต่าง ๆ และสามสร้างพลังให้คนตัวเล็ก แปรรูปเกษตร สร้างศูนย์พัฒนาเสริมทางเลือกให้เกษตรกรส่งออกสู่ตลาด มีกองทุนสร้างไทยซัพพอร์ต ส่วน 2 ขจัด คือ ขจัดคอร์รัปชัน และ ขจัดความขัดแย้ง นโยบายประกันราคาสินค้าเป็นนโยบายระยะสั้น ราคากลางไม่ได้ทำให้เกษตรกรรวยขึ้น แต่การรวยขึ้นมาจากการแปรรูป และเพิ่มคุณภาพ

ณัฐพร อาจหาญ  พรรคสามัญชน เริ่มต้นด้วยการชวนมองเรื่องเกษตรและความมั่นคงของอาหาร ที่ตอนนี้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม และเกษตรกรรายใหญ่ มีปัญหาที่ดินที่ปัญหาใหญ่ เกษตรกรรายย่อยเข้าไม่ถึงทำให้การเดินหน้าพัฒนาหรือความมั่นคงของประชาชน แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะสนับสนุนเงินในแง่ไหน จะทำให้เกิดการผูกขาด ทุนไม่กี่รายมาควบรวม  ดังนั้นต้องแก้ตั้งแต่ เรื่องแรก คือ เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่หลายพรรคพูดถึง 

และเราชวนมองไปที่อธิปไตยทางอาหาร ประชาชนในประเทศ อาหารการเกษตรควรมองในมุมอธิปไตยของประเทศ เป็นความมั่นคงของประเทศ การอุดหนุนให้คนเข้าถึงอาหาร และต้องปลอดภัย ควรเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

ส่วนปัจจัยการผลิตการเกษตร ได้แก่ แหล่งน้ำ ชลประทาน ทรัพยากร มีการพูดถึงโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูลเพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำโขง เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในภาคอีสาน แต่การนำน้ำมาโดยที่ไม่คำนึงถึงนิเวศในภาคอีสาน ซึ่งพื้นที่ใต้ดิน มันมีโดมเกลือ การวิถีน้ำหลากแล้วก็ไปเป็นวิถีธรรมชาติ เป็นวิถีที่สอดคล้องและหล่อเลี้ยงชาวอีสานมาโดยตลอด คำถามคือมันเหมาะสมกับวิถีชีวิตภาคอีสานหรือเปล่า นอกจาก GDP มีเกษตรกรรายได้จากทรัพยากรที่ช่วยให้ประชาชนอยู่ได้จริง ๆ ดิน น้ำ ป่า ที่เป็นส่วนกลางทุกคนเข้าถึงได้อยู่เดิม แต่ทรัพยากรเหล่านี้กลับถูกใช้จนไม่ใช่สามารถใช้ได้

อีกปัญหา เหมืองแร่โพแทช แหล่งแร่โพแทช มี 2 แห่งที่แอ่งโคราชและแอ่งสกล มี 2 ที่ทำไปแล้วปัญหาที่พบคือเทคโนโลยีที่ไม่ดีทำให้น้ำเค็มกระจาย นั่นคือ ทำลายพื้นที่เกษตรโดยรอบ มันแลกด้วยพื้นที่การทำเกษตรของประชาชน ยังไม่รวม 2 ล้านต้นที่ผลิตไปแล้วในอุดร จึงต้องกลับมาทบทวนว่าการผลิตเกษตรมันต้องแลกมาด้วยอะไร เราอาจทำให้ภาคอีสานไม่สามารถผลิตเกษตรได้

และอีกเรื่องคาร์บอนเครติด มันดูน่าสนใจ แต่ในขณะที่ประเทศใหญ่เป็นต้นเหตุการปลดปล่อยคาร์บอนที่ไม่ยอมลดและใช้พื้นที่ประเทศยากจนสามารถมาขายคาร์บอน ย้อนกลับไปที่กรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามว่าใครจะได้ประโยชน์ บริษัทใหญ่หรือเปล่า แล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์หรือเข้าถึงพื้นที่หรือไม่

เรื่องกลไกระหว่างประเทศ WTO, UPOV หรือ FTA การเข้าถึงกลไกเหล่านั้น เกษตรกรรายย่อยยังมีอำนาจต่อรองในเวทีทางการค้า เรากำลังการปล่อยเสรี แล้วอำนาจอยู่ที่มือใคร เกษตรกรยรายย่อยจะได้ประโยชน์หรือไม่ สิ่งที่เราอยากเสนอ คือปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเกษตรกร และบุคคลที่ทำงานในชนบท เราอยากให้ประเทศไทยรับปฏิญญาตัวนี้ 

“สิ่งหนึ่งที่อยากผลักดันต่อคือ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เราอยากให้แก้ไขตรงนี้ ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี มีปัญหา คือ กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มผู้นำเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ประชาชนตัวเล็ก เราอยากให้มีคำว่าสิทธิเกษตรกรในรัฐธรรมนูญ เรื่องปัจจัยการผลิต ที่ดิน การรับประกัน รังวัดใหม่หมดให้เกิดความขัดเจน แต่ต้องมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และเรื่องกระจายอำนาจ การออกนโยบายจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับพื้นที่ในท้องถิ่น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะแก้ปัญหาเกษตรได้“ 

 

////////////////////

บุรินทร์ สุขพิศาล พรรคพลังประชารัฐ   กล่าวว่า เรื่องนโยบายการเกษตร พรรคพลังประชารัฐ จะพูดเล่น ๆ ไม่ได้เพราะเรามีความคาดหวังว่าจะเป็นรัฐบาล นโยบายแรกคือ 3 ลด 3 เพิ่ม

3 ลด ได้แก่ ลดหนี้ ความเสี่ยง ต้นทุน 3 เพิ่ม ได้แก่ รายได้ ทางเลือก และ นวัตกรรม เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์คือ การเพิ่มรายได้ เกษตรอินทรีย์ ไม่เจาะจงเฉพาะพืชใดหนึ่ง และเพิ่มทางเลือก ซึ่งเกษตรอินทรีย์ก็เป็นทางเลือกเช่นกัน

ถามว่าจะทำอย่างไร คือ ต้องเติมทุน 3 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เราพูดถึงนวัตกรรม แต่เอาเงินจากไหน แรงงานเกษตรไหลไปอุตสาหกรรม มันจึงจำเป็นต้องเติมทุน เพราะรอส่วนราชการไม่ทัน เอาทุนมาทำสิ่งสำคัญต่าง ๆ เช่น ระบบน้ำหยด ตรวจสอบดิน ก็ต้องมีเครื่องมือ เพื่อให้รู้ว่าต้องใช้ปุ๋ยอะไร นำมาสู่การลดต้นทุน เรากำลังดูกลไกธนาคารประชาชน เรื่อง GRAMEEN BANK เกษตรกรดูแลกันแบบมีเงื่อนไข ค้ำประกันร่วมกัน นำเงินไปใช้เพิ่มผลผลิตโดยศึกษานวัตกรรม เทคโนโลยี หรือเพิ่มทางเลือก เช่นเกษตรอินทรีย์ต้องมีสิ่งมาทดแทนสารเคมี  

ต้องสร้าง infrastructure สำหรับเกษตรอินทรีย์มาให้ได้ ต้องสร้างระบบที่เป็นปัจจัยให้กับเกษตรอินทรีย์ กับดักของเราคือสิ่งที่เราอุดหนุน ต้องมานั่งคิดว่าจะทำไงให้ไม่เป็นประชานิยม

เรามีแนวทางที่แตกต่าง เป็นทางเลือกใหม่ที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มาทางเรื่องเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ลดฝุ่น ลดคาร์บอน เกษตรเหมือนผลิตภัณฑ์ทองคำ  นำไฮโดรเจน มาใส่ในพืช ใส่น้ำมันปาล์มกลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่พลังงานสูงมาก ถ้าพลังงานพืช ต้องนำไฮโดรเจนไปใส่ ปุ๋ยใส่ไฮโดรเจนเป็นแอมโมเนีย และยูเรีย ตัวนี้เราสามารถดำเนินการได้ ทำจากชีวภาพได้โดยการแปรรูป

เรื่องของเด็กขาดสารอาหาร ความมั่นคงอาหารที่ให้ข้อมูลไว้ จริง ๆ คาร์โบไฮเดรตบ้านเราล้นประเทศ อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งคาร์โบไฮเดรตแปลงเป็นโปรตีนได้ สร้างมูลค่าได้โดยการแปรรูป ถ้าเราแปรรูปเป็นชีวภาพอินทรีย์ จะมีอนาคตที่ดีมาก เป็นทางเลือกที่ดีมาก เป็นอนาคตที่ดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

นภัทร น้อยบุญมา