วิมานหนัง: เมื่อหนทางสู่โรงหนังของคนต่างจังหวัดเต็มไปด้วยขวากหนาม

จากกระแสความนิยมของภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ สู่การถกเถียงของสาธารณะถึงการ ‘กระจุกตัว’ ของโรงภาพยนตร์ เมื่อประชาชน จ.แม่ฮ่องสอน รายหนึ่งแชร์ความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า ดีใจที่ได้เห็นภาพยนตร์เล่าเรื่องของจังหวัดบ้านเกิด แม้ตนเองจะอยากไปรับชมอย่างเต็มอรรถรสมากแค่ไหน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะใน จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีโรงหนังแม้แต่โรงเดียว

จากการสำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของ 2 ผู้ให้บริการอย่าง SF Cinema และ เครือ Major Cineplex ประกอบกับข้อมูลการสำรวจผ่านทาง Google Map ประมวลโดย The Active พบว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงหนังอยู่อย่างน้อย 270 แห่ง กระจุกตามหัวเมืองใหญ่ต่าง ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร 41 แห่ง, ชลบุรี 15 แห่ง, นนทบุรี 12 แห่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง กลับพบถึง 9 จังหวัด ที่ไม่มีโรงหนังอยู่เลย หากอยากเข้าใช้บริการอาจต้องอาศัยการเดินทางไปยังจังหวัดข้างเคียง โดยสามารถแจกแจงรายจังหวัดได้ดังนี้

จำนวนโรงภาพยนตร์จำนวนจังหวัดรายชื่อจังหวัด
09ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นราธิวาส, บึงกาฬ, ปัตตานี, แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, อุทัยธานี
114กาฬสินธุ์, ตรัง, น่าน, พังงา, แพร่, มุกดาหาร, ระนอง, เลย, สตูล, สมุทรสงคราม, สิงห์บุรี, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง
218กระบี่, กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ฉะเชิงเทรา, ชุมพร, เชียงราย, นครพนม, ปราจีนบุรี, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ยะลา, ลำปาง, ลำพูน, สระแก้ว, หนองคาย, อุตรดิตถ์
3-418เชียงใหม่, บุรีรัมย์, พระนครศรีอยุธยา, พิษณุโลก, ราชบุรี, สกลนคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สุรินทร์, จันทบุรี, ชัยภูมิ, ตาก, ประจวบคีรีขันธ์, พะเยา, เพชรบุรี, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ลพบุรี, ศรีสะเกษ, สมุทรสาคร
5-69ขอนแก่น, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, ปทุมธานี, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, ภูเก็ต, สงขลา, อุดรธานี
7-94นครปฐม, สมุทรปราการ, นครราชสีมา, ระยอง
>103กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, นนทบุรี

ข้อมูลเมื่อ 27 สิงหาคม 2567

The Active ชวนทำความเข้าใจข้อมูลจำนวนโรงหนังในไทย ไปพร้อมกับมุมวิเคราะห์ของ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส. พรรคประชาชน ในฐานะอดีตผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะชวนสำรวจระยะทางในการเข้าถึงภาพยนตร์ของคนต่างจังหวัดที่ไกลห่าง และหาหนทางสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ไปต่ออย่างไรได้บ้าง

222 กิโลเมตร: ระยะทางไปโรงหนังที่ใกล้ที่สุดจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

เราลองใช้เครื่องมือ Google Map สำรวจเส้นทางไปยังโรงหนังที่ใกล้ที่สุดในจังหวัดที่ไม่มีโรงหนัง โดยกำหนดจุดเริ่มต้นที่ศาลากลางของแต่ละจังหวัด พบว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีระยะทางไปสู่โรงหนังไกลที่สุดในบรรดา 9 จังหวัด มีระยะทางอยู่ที่ 222 กิโลเมตร รองลงมาคือ จ.บึงกาฬ 77.7 กิโลเมตร, นราธิวาส 77.6 กิโลเมตร และลำดับอื่น ๆ ดังนี้

จากข้อมูลข้างต้นอิงตามระยะทางที่ใกล้ที่สุดตามข้อมูลที่ปรากฎใน Google Map ไม่ได้อิงตามพฤติกรรมของคนในพื้นที่จริง เช่น ผู้อาศัยใน จ.ชัยนาท อาจเลือกเดินทางไปดูหนังที่ จ.สุพรรณบุรี แทน หากโรงภาพยนตร์ที่สิงห์บุรีไม่มีโปรแกรมหนังที่เขาสนใจรับชม หรือเส้นทางไปยังสิงห์บุรีไม่ใช่เส้นทางหลักที่ทำความเร็วได้มาก ฯลฯ ดังนั้น ระยะทางที่ใช้เดินทางจริงอาจไกลได้มากกว่าที่ปรากฏตามตาราง

อภิสิทธิ์ อธิบายว่า แต่เดิมจำนวนโรงหนัง Stand-alone ในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันการมาถึงของให้บริการ Video Streaming และสื่อบันเทิงออนไลน์อื่น ๆ ทำให้ผู้คนหันมาเลือกเสพภาพยนตร์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว รายได้ของโรงหนัง Stand-alone จึงถดถอยลง และยากที่จะยืนหยัดสู้กระแสโลกาภิวัฒน์ได้ ทางอยู่รอดของโรงหนังในปัจจุบันคือการอาศัยอยู่ตามพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงฐานผู้ชมชนชั้นกลาง

นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการภาพยนตร์ยังมีลักษณะ ‘ผูกขาด’ เนื่องจาก 2 เจ้ายักษ์ใหญ่ ที่ให้บริการอยู่หลายจังหวัด มีอำนาจเหนือตลาด เข้าจับจองพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเสมือนเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ตกลงกันไว้แล้ว ด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยลงไปแข่งอย่างยากลำบาก ประกอบกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ​ ที่กำหนดเงื่อนไขในการสร้างโรงมหรสพเอื้อให้กลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าผู้ค้ารายย่อย

“GDP ต่อหัวในแต่ละพื้นที่มันต่างกัน เพราะเราลงทุนทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันเราเห็นว่าพวกโรงหนังก็ไปอยู่ตามห้างฯ ส่วนโรงท้องถิ่นของคนในพื้นที่มันหายไป นี่จึงเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม”

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส. พรรคประชาชน
อดีต ผอ.สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ภาพ : CEA)

เมื่อโรงหนัง Stand-alone ยืนอยู่ได้ยาก และผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ ๆ จะลงสนามเฉพาะจังหวัดที่มีกำลังซื้อมากพอ จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการเข้าถึงภาพยนตร์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีขนาดทางเศรษฐกิจเล็กอย่าง 9 จังหวัดข้างต้น

อดีตผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผู้อาศัยในหลายจังหวัดยังเข้าไม่ถึงโรงหนังได้โดยสะดวก การจะกระตุ้นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ จะเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ดังนั้น การกระจายอำนาจสู่ชุมชน ส่งเสริมการลงทุนผู้ประกอบการรายย่อย จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการผลักดันทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ไม่เช่นนั้น คนทำหนังรุ่นใหม่ก็ไร้พื้นที่แสดงทักษะของตัวเองอยู่ดี

หนังไทยซ้ำซาก เพราะโรงหนังบีบให้เน้นแมส

อภิสิทธิ์​ ยังถ่ายทอดประสบการณ์ ว่า ในต่างประเทศมี Community Theatre (โรงภาพยนตร์ชุมชน) ซึ่งเป็นโรงหนังขนาดเล็ก มักอยู่ในศูนย์การค้าขนาดเล็ก หรืออยู่ตามห้องแถวในชุมชน มีขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่ง แต่กฎหมายไทยระบุว่า การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ และ กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่ากลุ่มทุน

“จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นทำให้ในอนาคตพรรคประชาชนเตรียมได้เสนอร่าง พ.ร.บ.โรงภาพยนตร์ เพื่อลดเงื่อนไขเชิงกายภาพ สนับสนุนให้เกิดโรงภาพยนตร์อิสระขนาดเล็กได้ง่ายขึ้น โดยถ้าเป็นโรงขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่ง ให้สามารถจดแจ้งเพื่อเริ่มกิจการได้เลย”

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

อภิสิทธิ์ เสริมว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยผลิตหนังได้ปีละ 50 – 70 เรื่องต่อปี แต่ประสบความสำเร็จเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ทำให้คนทำหนังต้องพยายามสร้าง ‘หนังแมส’ หรือภาพยนตร์กระแสหลักที่เข้าถึงมวลชนได้มากกว่า ส่วนภาพยนตร์นอกกระแส หนังเฉพาะทาง หรือ ‘หนังอินดี้’ กลับมีพื้นที่ลงเล่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์น้อยมาก

ดังนั้น หากไทยมีโรงหนังอิสระรายย่อยมากขึ้น หรือมีโรงหนังเฉพาะกลุ่มมากขึ้น คนทำหนังก็จะมีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างหลากหลาย รวมถึง ผู้กำกับรุ่นใหม่ก็จะได้มีพื้นที่ทดลอง พื้นที่แสดงผลงานของตัวเองได้มากขึ้นด้วย

“การลงทุนเพื่อดันหนังสักเรื่องเข้าโรงใหญ่ อย่างน้อย ๆ คือ 12 ล้านบาท แต่ถ้าเรามีโรงหนังขนาดเล็ก เราก็สามารถสร้างหนังฟอร์มเล็กได้ ทั้งผู้กำกับทั้งเจ้าของหนังหน้าใหม่ก็จะมีพื้นที่แสดงผลงานมากขึ้น แนวหนังหลากหลายขึ้น และมุมมองต่อสังคมก็จะหลากหลายตามไปด้วย”

อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล

ถึงตรงนี้ อภิสิทธิ์ จึงย้ำทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คือระบบการเซ็นเซอร์ที่ผูกขาดความผิด-ถูก อยู่ที่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมองว่า การกำกับเรตติ้งภาพยนตร์ควรจะใช้ระบบการกำกับดูแลกันเอง โดยผู้สร้างหนังเป็นผู้กำหนดเรตติ้ง และใช้กลไกของคณะกรรมการอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นตัวกำกับความเหมาะสม หลายประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมหนังเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการยื่นแก้ไขกฎหมายเซนเซอร์ภาพยนตร์โดยพรรคประชาชน จะได้รับการเห็นชอบผ่านสภาฯ นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด