“แฟชั่นไทย” อยู่ตรงไหนบนพรมแดงระดับโลก

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ช่วยสร้างคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจต่อชุมชน และยังสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อ Soft Power ของประเทศ โดยปี 2564 อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไทย มีรายได้ 3.7 แสนล้านบาท มูลค่าการส่งออก 2.2 แสนล้านบาท (1.3% ของ GDP) มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ 7.5 แสนคน แต่ตลาดแฟชั่นของไทยวันนี้กำลังขาดดุล เพราะมูลค่าการนำเข้ามากกว่ามูลค่าการส่งออก แนวโน้มการเติบโตน้อยลง ทั้งในไทยและระดับสากล จำเป็นต้องเร่งหาแนวทางแก้ไข

The Active นำเสนอแนวทางการสร้าง Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไทยในยุคหลัง โควิด-19 จากการศึกษาของ เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)

แฟชั่นไทย

แฟชั่นไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง?

สถิติการกรมศุลกากร รายงานว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าแฟชั่นของไทยมีแนวโน้มลดลง แต่การนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เห็นได้ว่า ในปี 2560-2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าแฟชั่นอยู่ที่ราวๆ 2.5 แสนล้านบาท ลดลงในปี 2562 เป็น 2.4 แสนล้านบาท ลดลงต่อเนื่องเป็น 1.8 แสนล้านบาทในปี 2563 และ 2.3 แสนล้านบาท ในปี 2564 ข้อสังเกตคือ สินค้าที่ส่งออกได้เป็นปริมาณมากที่สุดคือ สินค้าประเภทเครื่องประดับ

ส่วนการนำเข้าสินค้าแฟชั่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3 ใน 4 เป็นการนำเข้าเสื้อผ้า เครื่องหนัง และรองเท้า ในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาท ปี 2561 1.1 แสนล้าน ปี 2562 1.2 แสนล้าน ปี 2563 9 หมื่นล้านบาท และปี 2564 9 หมื่นล้านบาท

มีผลทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นของไทยมีแนวโน้มลดลงด้วย โดยพบว่า ช่วงก่อนโควิด-19 มีแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากกว่า 9 แสนคน แต่ปัจจุบันปรับลดลงเหลือราว ๆ 7.5 แสนคน เกินครึ่งเป็นแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีระดับการศึกษาไม่สูงมากนัก เนื่องจากทำงานในสายการผลิต

“ที่ผ่านมา เราจะเห็นภาครัฐพูดกันมากในเรื่องของ soft power แล้วมีใครเป็นเจ้าภาพอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีคนบอกว่าเรามีเงินไม่เพียงพอหรือเปล่ากับเรื่องนี้ ที่จริงแล้วเรามีเงินพอสมควร แต่เราขาดกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน และการทำงานอย่างต่อเนื่อง ในการที่เราบอกว่าจะก้าวข้ามกับดักประเทศปานกลางไปได้ สิ่งสำคัญคือต้องสามารถทำงานบูรณาการร่วมกัน อย่างมีทิศทาง ถ้าเรามองเงื่อนไขทางการเมืองจะพบว่า นักการเมืองจะทำงานระยะสั้น เช่น งานอิเวนต์ให้ไปเปิดตัว ให้ประชาชนรู้จัก ทำได้แต่อย่าละเลยว่าจัดอิเวนต์เพื่ออะไร และมันจะต้องไม่แค่อีเวนต์ แต่เป็นคอนเทนต์ ว่าทำยังไงที่จะเป็นแผนที่ทำให้ไทยเป็น Hub ของสินค้าแฟชั่นในเอเชียหรือในโลกได้”

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน กับ TDRI

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) วิเคราะห์อุปสรรคในการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นไทย ดังนี้

1. สินค้าแฟชั่นไทยเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้ยาก เพราะคงไทยไม่นิยมใช้แฟชั่นแบรนด์ของไทย ประเทศไทยไม่มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเกี่ยวกับแฟชั่น (Nation Branding) ขาดพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน

โดยพบว่า สินค้าจากอุตสาหกรรมแฟชั่นทุกประเภท ยอดขายสูงสุดเป็นแบรนด์ต่างประเทศทั้งสิ้น แบ่งตามประเภทสินค้า ดังนี้ ประเภทเสื้อผ้า ยอดขายอันดับ 1 คือ ยูนิโคล่ รองลงมาคือ วาโก้ เอชแอนด์เอ็ม อะดิดาส ประเภทกระเป๋า ยอดขายอันดับ 1 คือ กุชชี่ รองลงมาคือ หลุยส์วิตตอง แอเมส แซมโซไนท์ ประเภทรองเท้า ยอดขายอันดับ 1 คือ อะดิดาส รองลงมาคือ ไนกี้ นันยาง แอดด้า และสุดท้าย ประเภทเครื่องประดับ ยอดขายอันดับ 1 คือ คาร์เทียร์ รองลงมาคือ จูบิลี่ สวารอฟสกี้

เมื่อดูจากดัชนีชี้วัดมูลค่าในตลาดโลก ยังพบว่า ประเทศไทยไม่ติดอันดับ Top 20 ในการจัดอันดับประเทศชั้นนำด้านแฟชั่นของโลก โดย Brands Countries IPX (Index)

“คนไทยเรายังนิยมสินค้าแฟชั่นไทยน้อย เราจะเห็นว่าแบรนด์ที่ขายในไทย 10 อันดับแรก ส่วนมากเป็นแบรนด์ต่างชาติ สะท้อนค่านิยมของคนไทย จะทำยังไงให้คนไทยหันมานิยมสินค้าไทยให้มากขึ้น การที่เราจะขายตลาดต่างประเทศก็มีปัญหาว่า ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีเงินทุนจำกัด แต่การจะสร้างแบรนด์ต้องใช้เงินทุนมาก เป็นคำถามว่าการขยายเงินทุนจะได้รับการสนับสนุนอย่างไร”

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

2. นักออกแบบส่วนหนึ่งขาดความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจ

3. ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และขาดเงินทุนในการขยายธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตของแฟชั่นแบรนด์ไทยในตลาดโลกต้องอาศัยเงินทุนในการทำการตลาด และการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ แต่ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีเงินทุนจำกัด จึงเป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจในประเทศ และต่างประเทศ

4. บัณฑิตจบใหม่ส่วนหนึ่งมีปัญหาด้านคุณภาพ และขาดทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาด ผู้ประกอบการบางส่วนสะท้อนว่า บัณฑิตจบใหม่มีความสามารถในการออกแบบ แต่ไม่ตอบโจทย์ตลาดจริง เมื่อไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ทำให้บัณฑิตจบใหม่ส่วนหนึ่งมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม โดยการออกหลักสูตรการเรียนมีผลสำคัญ หากให้บัณฑิตได้รับการส่งเสริมให้สร้างผลงานที่ใช้ได้จริง มีประสบการณ์ในการทำงานจากบริษัทที่ได้มาตรฐาน มีอาจารย์พิเศษมากประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัย จะเป็นทักษะสำคัญให้บัณฑิตสามารถประกอบอาชีพได้

5. โครงการสนับสนุนของภาครัฐมีความซ้ำซ้อน และไม่ต่อเนื่อง พบว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นมีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา แต่พบว่าหน่วยงานต่าง ๆ มีการดำเนินงานในลักษณะรายโครงการ โพรเจกส์ขาดการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ขณะที่การสร้างแบรนด์ประเทศ สร้างแบรนด์สินค้า จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ต่อเนื่องครบมิติ

6. ปัญหาอื่น ๆ เช่น โครงสร้างภาษีที่ซับซ้อน แรงงานอายุมาก แรงงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงานน้อย

“อุตสาหกรรมแบรนด์สินค้าไทยที่จริงมีโอกาสมากเพราะว่าเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีช่างฝีมือ เทคโนโลยีดิจิทัลก็ช่วยให้สามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ใช่ปัจจัยเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคได้ เช่น เทคโนโลยี ถ้าเราไม่ปรับเอามาใช้กลายเป็นว่าเราถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือต้นทุนทางวัฒนธรรมถ้าเราไม่สนับสนุนจริงจัง ไม่เอามาเป็นจุดขาย เป็นแบรนด์ประเทศ สุดท้ายการที่เราจะขายสินค้าแฟชั่นไทยก็จะขายได้ยาก ถ้าถ้าจะตีตลาดโลกได้ แบรนด์ประเทศ (nation brand) ต้องแข็งแรง”

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ตั้งเป้าการเป็นศูนย์การแฟชั่นระดับสากล

ทีดีอาร์ไอ (TDRI) นำเสนอวิสัยทัศน์ และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นของไทยให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านแฟชั่นในภูมิภาคเอเชีย” เป้าหมาย ปี 2566-2570 ไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 4.4% แบรนด์สินค้าแฟชั่นไทยติดอันดับ Top 10 แบรนด์สินค้าที่มียอดขายสูงสุดในไทย และให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

แผนการ ดังนี้ 1. ขยายตลาดในประเทศ อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้เพิ่มขึ้น 4.4% ต่อปี ด้วยการสร้างค่านิยมสินค้าแฟชั่นไทย จัดทำแผนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างค่านิยมให้คนไทยใช้สินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทย

2. ขยายตลาดต่างประเทศ ให้ไทยติดอับดับ Top 15 ประเทศที่ส่งออกสินค้าแฟชั่นมากที่สุด ด้วยการพิจารณาความพร้อมและสนับสนุนตามความต้องการของแต่ละราย เช่น เงินทุน ผู้เชี่ยวชาญ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ให้เกิดการจับคู่พันธมิตรธุรกิจ (business matching) หรือเพื่อประชาสัมพันธ์งานออกแบบของไทยภายในปี 2570

3. สร้างแบรนด์ประเทศด้านแฟชั่น ให้แบรนด์สินค้าไทยติดอันดับ Top 10 แบรนด์สินค้าแฟชั่นที่มียอดขายสูงสุดในไทย และมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ด้วยการหนุนภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าไทย ต่อยอดโครงการต่างๆ เช่น จัดงาน Bangkok Fashion Week เพื่อเป็นพื้นที่แสดงผลงาน อาจจัดร่วมกับงาน Bangkok Design Week ที่จัดโดย CEA สนับสนุนการจัดงาน Fashion Week โดยเอกชน เชื่อมโยงภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว ภาพยนตร์

4. พัฒนาบุคคลากร ให้สัดส่วนนักการตลาดและนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นเพิ่มขึ้นเท่าตัว ภายในปี 2570 เช่น การให้ความรู้ด้านการบริการ การตลาด และเทคโนโลยี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟชั่น จัดการประกวด/พัฒนาแบรนด์ ที่มีการส่งเสริมครอบวงจรให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้จริง พร้อมพัฒนากลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ภาคการศึกษามุ่งสอนเชิงปฏิบัติ เปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานและควบคุมคุณภาพการเรียรู้อย่างจริงจัง

“ภาครัฐต้องสร้างแบรนด์ของประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มุ่งเป้าหวังผล อย่างที่เราเห็นหลายประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อิตาลี เขาทำมาอย่างต่อเนื่องทั้งนั้น เพราะการสร้างแบรนด์ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น สองสนับสนุนสินค้าแฟชั่นของไทยโดยวิเคราะห์ศักยภาพของแบรนด์และในแต่ละปีอาจจะคัดเลือก แบรนด์ที่เห็นโอกาสมาปลุกปั้นเป็นแบรนด์แนวหน้า จากนั้นค่อย ๆ ขยายโอกาสไปเรื่อย ๆ โดยต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างจริงจังว่าถ้าจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นจริง ๆ ต้องมีการทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเอกชนรัฐ การศึกษา สื่อมวลชน ถ้าไม่ร่วมมือก็จะไม่สามารถทำให้สินค้าไทยอยู่ในระดับแนวหน้าได้”

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์