DRAG ได้กิน ใช่กิน…เพียงตัว

“Drag เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะซึ่งต้องให้การสนับสนุน สามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ร่วมกับหลายอุตสาหกรรม คิดว่าในอนาคตเราจะได้โอกาส
เห็นการทำงานระหว่างทีมซอฟต์พาวเวอร์ฯ
และ ชุมชน Drag แน่นอนค่ะ”

แพทองธาร ชินวัตร

ถ้าแค่บทบาทของนักการเมือง สิ่งที่ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตบปากรับคำภายในงานแถลงข่าว “Drag Bangkok  Festival 2024” เทศกาลแดร็ก (DRAG) ครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา… ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

แต่นี่คือการยอมรับถึงศักยภาพของการแสดง “แดร็ก” (Drag) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมรับปากสนับสนุนอย่างเต็มที่ เข้าสู่คณะอนุกรรมการ Soft Power ด้านศิลปะ ยิ่งทำให้ แดร็ก ถูกจับตามากขึ้น

เพราะหากทุกคำพูดที่ อุ๊งอิ๊ง รับปากทำได้จริง นั่นอาจหมายถึง แดร็กไทยจะกลายเป็นความหวังของการมีอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นอีกสิ่งที่ตอกย้ำว่าเมืองไทย คือ ดินแดนแห่งความหลากหลายทางเพศ อย่างแท้จริง

Drag คืออะไร ? 

แดร็ก (Drag) เป็นศิลปะการแสดงที่นำเสนอตัวตนผ่านการแต่งกาย การแต่งหน้า และการแสดงออก ในประเทศไทยแดร็กได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และไม่ได้จำกันอยู่แค่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เท่านั้น

ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์ ดารา และนักแสดงมากมาย ที่นำเสนอตัวตนผ่านการเป็นแดร็ก ในสื่อกระแสหลัก สังคมออนไลน์ งานอีเวนต์ แฟชั่นโชว์ ต่างจากในอดีตที่มักได้ยินคำว่า แดร็กควีน (Dressed Resembling A Girl) หรือการแต่งกายเป็นผู้หญิง ที่มักใช้กับกลุ่มเพศสภาพชายที่แต่งกายเป็นหญิง 

Drag Race Thailand

แต่ที่เป็นกระแสจน แดร็ก เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง คือ รายการ Drag Race Thailand เรียลลิตี้ค้นหาแดร็กซูเปอร์สตาร์ของไทย และรายการ รูพอลส์ แดร็ก เรซ (RuPaul’s Drag Race) จนหลายคนยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง หรือทำเป็นธุรกิจ เพื่อรองรับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย และต่างชาติ

Drag สู่มูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก

แม้ตัวตนของ แดร็ก เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ปัจจุบันบาร์ที่แสดง Drag Show กลับมีอยู่ประมาณ 8 แห่ง กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเพราะทัศนคติที่มองว่ายังเป็นการแสดงของกลุ่ม LGBTQIAN+ เท่านั้น

สวนทางกับชาวต่างชาติที่มองว่า แดร็ก เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง จึงให้ความสำคัญ และเป็น 1 ในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนประเทศไทย แม้ว่ายังไม่เคยมีหน่วยงานใดเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ ถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม Drag Show ในไทยก็ตาม 

ที่ต้องยอมรับคือผลพวงของการแสดงแดร็ก ไม่ได้สร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจสถานบันเทิง หรือแม้แต่ตัวนักแสดงแดร็กเท่านั้น เพราะถ้ามองไปรอบ ๆ กว่าจะมาเป็นแดร็กได้ ยังมีธุรกิจระดับฐานรากอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลพวงนี้ไปด้วย

เพื่อให้เห็นกับตา The Active ลองไปสำรวจ และพูดคุยกับผู้ค้า ศูนย์การค้าวอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน ย่านประตูน้ำ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งช็อปปิ้งเสื้อผ้า หน้าผม ครบจบในที่เดียวให้กับบรรดาแดร็กมาหลายยุคหลายสมัย

วิกผม – สิ่งสำคัญที่ต้องมี หากจะเริ่มต้นอาชีพแดร็ก อย่าง ร้าน “วิกทอง” ถือเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่มีงบฯ น้อย ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 600 – 10,000 บาท อยู่ที่สไตล์การจัดทรงว่าจะโฮ่งมาก โฮ่งน้อย ผมแท้ ผมเทียม โดยส่วนแบ่งยังกระจายไปถึงช่างจัดทรง ที่ต้องมีประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ด้วย 

ผู้จัดการร้านวิกทอง ที่เหล่าแดร็ก เรียกว่า “คุณแม่” บอกกับเราว่า เฉลี่ยต่อเดือน ลูก ๆ จะเข้ามาจอง และซื้อวิกที่ร้าน 1-2 ชิ้น รวมแล้วเฉพาะกลุ่มแดร็กจะอยู่ที่ 20-30 ชิ้น/เดือน ขณะที่กิจกรรมบางกอกไพรด์ ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ช่วยกระตุ้นยอดขาย และแน่นอนว่าคิวจัดทรงวิกผมถึงตอนนี้เต็มหมดแล้ว

ชุด เสื้อผ้า – อีกหนึ่งองค์ประกอบของแดร็กที่สะท้อนความเป็นตัวตน หรือจะแต่งตามต้นแบบศิลปินที่ตัวเองต้องขึ้นแสดงโชว์ ซึ่งที่นี่มีร้านตัดชุดในตำนานมากว่า 20 ปี ราคามีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

ชุดจัดเต็มกันขนาดนี้ เจ้าของร้าน ยอมรับว่าการตัดเย็บไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะต้องทำตามแบบที่เหล่าแดร็กออกไอเดียให้ หนึ่งชุดจึงต้องใช้เวลาตั้งแต่ 3 วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์เลยทีเดียว และเช่นกัน กิจกรรมไพรด์พาเหรด ช่วยกระตุ้นยอดจองตัดชุด ซึ่งตอนนี้คิวก็แน่นไปตลอดทั้งเดือนมิถุนายนแล้ว

สนนราคาชุดในท้องตลาดทั่วไป จากการสำรวจ ก็ยังพบว่าสูงได้ถึง 30,000 บาท ไม่นับรวมเครื่องประดับอื่น ๆ เช่น สร้อย, ต่างหู, กำไล ราคาตกอยู่ที่ 100-1,000 บาท, ถุงน่อง 100-1,000 บาท, เมคอัพ 1,500-5,000 บาท, รองเท้า 600-1,000 บาท   

“เพชรพาหุรัด สำเพ็งหมดแน่ ผ้าปักเลื่อมต้องเหมาไม้” คำกล่าวนี้…ไม่เกินจริง!

The Active มีโอกาสพูดคุยกับ ไจ๋ ซีร่า –  ศิรม์วิชญ์ กมลวรวุฒิ บิวตี้บล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ฉายาแดร็กควีนพันหน้า มาดอนน่าเมืองไทย ที่นอกจากจับกระแส จนเปิดร้านวิกผมเป็นของตัวเองแล้ว ยังเห็นความเป็นไปได้ทางโอกาส ที่คนตัวเล็กตัวน้อย จะมีรายได้จากการผลักดันให้แดร็กเป็นซอฟต์พาวเวอร์ใหม่ของไทย

เห็นได้จากปีนี้ร้านเครื่องประดับ ขายผ้า หรือการจองคิวเพื่อตัดชุดเดินขบวนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ สำหรับตัวเธอแล้วไม่สามารถหาร้านตัดเย็บชุดแดร็กได้แล้ว

“มันมีวลีกะเทยว่า เพชรพาหุรัด สำเพ็งหมดแน่ ผ้าปักเลื่อมต้องเหมาไม้ วลีนี้ไม่เกินจริง เพราะมีงานใหญ่แบบนี้ มีคนชื่นชอบแดร็กมากขึ้น ก็ต้องวางแผนแต่งตัวให้ปัง ยังไม่นับรวมเม็ดเงินที่จะเข้ามาแล้วกระจายไปที่ร้านอาหาร ถ้ารัฐทำอย่างจริงจัง เป็นชั้นตอน สำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้จาก Drag Show จะได้ไม่ต้องรอเทศกาล หรือฤดูกาลท่องเที่ยว แต่ขับเคลื่อนด้วยตัวธุรกิจเองในระยะยาวได้”

ไจ๋ ซีร่า
ภัทร เลิศสุกิตติพงศา กรรมการบริษัท เยลโล่ แชนแนล จำกัด ผู้ก่อตั้งและผู้จัดงาน Drag Bangkok Festival 2024

สอดคล้อง ภัทร เลิศสุกิตติพงศา กรรมการบริษัท เยลโล่ แชนแนล จำกัด ผู้ก่อตั้งและผู้จัดงาน Drag Bangkok Festival 2024 บอกว่า เริ่มทำข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมเกี่ยวกับแดร็กในประเทศไทย เมื่อปี 2560 ภายใต้การเล็งเห็นถึงการเติบโต และความเข้มแข็งของชุมชนแดร็กไทย ที่มีศักยภาพเป็นหนึ่งในกลุ่มศิลปิน เป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชน LGBTQIAN+ ประเทศไทย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้การนำเสนอ 4 ด้าน คือ Art, Culture, Gender, Community

ผู้ก่อตั้งและผู้จัดงาน Drag Bangkok Festival 2024 ยอมรับยังตอบยาก ว่า ณ วันนี้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมแดร็กมีเท่าไร แต่สามารถตอบได้ผ่านกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้น แม้เป็นการขับเคลื่อนด้วยตัวของชุมชนเองก็ตาม

“เราไม่ได้ทำเพื่อความสนุกสนาน ทุกวันนี้เราลงทุนไปมากกว่าสิ่งที่เราได้ เพราะเราลงทุนด้วยตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า ลองคิดดูว่าทั้งหมดนี้ที่เราลงทุนใน community กันเอง โดยไม่มีภาครัฐสนับสนุนเรายังสามารถสร้างมูลค่าได้ขนาดนี้ ถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนจะเติบโตไปได้ขนาดไหน ที่สำคัญมันคืออาชีพของคนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเลย ดังนั้นผมมองเห็นโอกาสและเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต”

ภัทร เลิศสุกิตติพงศา

ถึงตรงนี้จึงมีข้อสังเกต ว่า ในเมื่อกลุ่ม LGBTQIAN+  มักถูกโยงเข้ากับการท่องเที่ยว หรือธุรกิจ ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ แต่รัฐได้ให้สิทธิ และเสรีภาพกับพวกเขาแล้วหรือยัง ?

หรือมองชุมชนแดร็กเป็นเพียงตัวเลข บิดประเด็นไปที่เรื่อง “หาเงิน หาทอง” แต่ไม่มองเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และยอมรับในศักยภาพของการมีส่วนร่วมออกนโยบายสาธารณะ ที่สอดรับกับตัวตนของพวกเขา


นอกจากกิจกรรม บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024 ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ศิลปิน Drag นับร้อยชีวิตทั้งไทย และต่างชาติ จะร่วมขบวนไพรด์พาเหรด ภายใต้ธีม Celebration of Love ในขบวนสีเหลือง Love For Identity แล้ว ยังมีกิจกรรมแสดงพิเศษ Drag Bangkok Festival 2024 พร้อมเวทีเสวนาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. – 3 มิ.ย.67 @Park Paragon โดย The Active ไทยพีบีเอส รับหน้าที่ถ่ายทอดสด Policy Forum นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีรุ้ง ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 – 12.00 น. 

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล