‘ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ’ ปักหมุดตัวตน บนแผ่นดินสยาม…จนวันนี้ สิทธิอยู่ที่ไหน ?

“เราอยู่ประเทศสยาม“

คำยืนยันจากปากบรรพชนชาวเลในอดีต ตอกย้ำและทำให้ เกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นสมบัติล้ำค้าในด้านทรัพยากรธรรมชาติของไทย ปัจจุบันที่นี่จึงไม่ต่างจากเกาะสวรรค์ ที่คนทั่วโลกอยากมาเยือน

เกาะหลีเป๊ะ เป็นชุมชนดั้งเดิม มีชาวเลอาศัยอยู่บนเกาะ มานานกว่า 150 ปี (ก่อนสมัย รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีการแบ่งอาณาเขตประเทศสยามในขณะนั้น 

ข้าหลวงแห่งประเทศอังกฤษ เป็นคนกลางปักปันเขตแดนประเทศสยาม กับ มาเลเซีย “เราอยู่ประเทศสยาม” คือ คำตอบของชาวเลบนเกาะในยุคนั้น ที่บันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุ เป็นคำตอบที่ทำให้เกาะหลีเป๊ะ มีอิสรภาพเหนือการยึดครองของอาณานิคมอังกฤษ เป็นเพชรเม็ดงามกลางทะเลอันดามันของไทยมาจนทุกวันนี้

ชุมชน ถิ่นฐาน ปักหมุดเขตแดนไทยของชาวเลหลีเป๊ะ

“อูรักลาโว้ย“ เป็นคำใช้เรียกชื่อกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวเล หมายถึง ชาวทะเล เรียกสั้นๆ ว่า ชาวเล “อูรัก” แปลว่า คน  ส่วน “ลาโว้ย” แปลว่า ทะเล

ช่วงทศวรรษ 2440 ชาวอูรักลาโว้ย เดินทางและเริ่มตั้งถิ่นฐานที่เกาะหลีเป๊ะ และหมู่เกาะอาดัง-ราวี คำบอกเล่าของชาวเล ระบุว่า โต๊ะฆีรี แจวเรือมาจากอาเจะห์ ระหว่างทางได้หยุดแวะพักที่ฆูนุงณึรัย มาเลเซีย และได้ชวนเพื่อนจำนวน 4 คนได้แก่ โต๊ะเอ็ม โต๊ะบือโดย แจบิแนะ ออกเดินทางหาหลักแหล่งที่ทำกินต่อไป 

จากนั้นได้แวะพักที่เกาะลีดี และเกาะบุโหลนใหญ่ ต่อมาเพื่อนโต๊ะคีรี 3 คนได้แต่งงาน และตั้งถิ่นฐานที่เกาะลันตา แต่โต๊ะฆีรี ยังมีความตั้งใจจะเดินทางแสวงหาที่ทำกินต่อไป หลังจากแต่งงานกับภรรยาคนที่ 1 ซึ่งมีลูกด้วยกัน 1 คน คือ โต๊ะเต๊ะ ที่เกาะลันตาแล้ว โต๊ะฆีรีกับแจบิแนะ ได้ออกเดินทางต่อ จนถึงเกาะหลีเป๊ะ ก็ได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานที่เกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากเกาะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พร้อมชักชวนครอบครัวและเครือญาติย้ายมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะในช่วงนั้นมีอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว (แส้หนา เกาะสิเร๊ะ : สิงหาคม 2563)

ภาพวาดจำลองของโต๊ะฆีรี

แม้ว่าโต๊ะฆีรีจะไม่ใช่ชาวอูรักลาโว้ย แต่ชาวอูรักลาโว้ยที่เกาะหลีเป๊ะและหมู่เกาะอาดัง-ราวี ก็นับถือท่านเป็นบรรพบุรุษ และผู้นำคนสำคัญ โต๊ะฆีรีมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยอันตรายจากผู้บุกรุกต่าง ๆ เช่น โจรสลัด ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาในปี 2452  พระยาภูมินารถภักดี เจ้าเมืองสตูลได้มาพบโต๊ะฆีรีที่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะ ให้ไปชักชวนชาวเลตามเกาะต่าง ๆ มาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าแผ่นดินส่วนนี้เป็นของสยาม เพราะมีครอบครัวชาวสยามอาศัยอยู่ เมื่อครั้งมีการแบ่งเขตเส้นดินแดนระหว่างเมืองสตูลกับเมืองปะลิศ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษที่ครอบครองมลายูสมัยนั้น ต้องการเข้าครอบครองหมู่เกาะหลีเป๊ะและอาดัง-ราวี  

จนที่สุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2452 เป็นวันที่ฝ่ายสยามและอังกฤษตกลงเซ็นสัญญาแบ่งแยกดินแดน ซึ่งนับแต่นั้นมาโต๊ะฆีรี และชาวเลที่ร่วมกันย้ายมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะสมัยนั้น เสมือนเป็นนักรบที่ปกป้องราชอาณาจักรสยามในเขตทะเลอันดามัน (บุญเสริม ฤทธาภิรมย์, 2552)

รู้จักชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

ในช่วงแรก เกาะหลีเป๊ะ มีครัวเรือนมาตั้งถิ่นฐานตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณชายหาด ทางด้านทิศเหนือของเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตั้งชื่อชุมชนว่า “ตูโป๊ะ” ซึ่งแปลว่า หมู่บ้านดั้งเดิม ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มคนเข้ามาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ เพิ่มอีกระลอกหนึ่งจากเกาะลันตา จ.กระบี่ และเกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต โดยได้อพยพจากการที่ทหารญี่ปุ่นขึ้นบกรุกรานในภูเก็ต ทำให้ชาวเลอพยพล่องเรือด้วยการแจวมาหลบอาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ ประชากรชาวเลที่อาศัยแถบเกาะหลีเป๊ะ อาดัง-ราวีจึงเพิ่มมากขึ้น  

แส้หนา ชาวเลเกาะสิเร๊ะ เล่าว่า พ่อชื่ออาหรน เป็นชาวสิงห์(มอแกน) จากเกาะสุรินทร์ มาแต่งงานกับแม่ชื่อ ห่อนะ ที่เกาะสิเหร่ จ.ภูเก็ต ตอนที่มีสงครามญี่ปุ่น พ่อก็เลยพามะตอนนั้นอายุ 7 ปี มาอาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ ตอนนั้นมีคนไม่เยอะอาศัยที่บ้านตูโป๊ะริมชายหาด “บูโล”

ต่อมาชาวเล ก็ได้อยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง-ราวี โดยส่วนใหญ่จะโยกย้ายไปมา ตามช่วงฤดูกาลมรสุมและฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูมรสุมซึ่งภาษาชาวเลเรียกว่า “ตีมอ” ในเกาะจะรับลมตะวันตกจะเรียกชื่อลมว่า “บั๊ยดายา” หรือเรียกภาษาไทยว่า “บันดาหยา” ชาวเลมักจะย้ายมาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะซึ่งอยู่ที่บ้านเดิมของตนเอง แต่พอฤดูแล้งซึ่งภาษาชาวเลเรียกว่า “บารั๊ย” บริเวณทางทิศตะวันออกของเกาะหลีเป๊ะได้รับลมตะวันออก ซึ่งบางครั้งคลื่นลมแรงประกอบกับหน้าแล้งไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้อย่างสะดวกสบาย  จึงโยกย้ายไปอยู่ที่อ่าวต่างๆในเกาะอาดัง-ราวีที่เป็นสวนดั้งเดิมที่เคยบุกเบิก และทำการเพาะปลูกพืชสวนต่าง ๆ  ได้แก่  มะพร้าว, มะม่วง, สะตอ, ลูกเนียง, มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น

แต่เมื่อเกาะหลีเป๊ะ และหมู่เกาะอาดังราวี ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี 2517 จึงมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กดดันให้ชาวเลจากเกาะอาดัง-ราวี ย้ายไปอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะทั้งหมด และยึดพื้นที่หาดต่าง ๆ ของชาวเลเป็นสำนักงานของหน่วยอุทยานฯ แต่ในระหว่างนั้นมีกลุ่มชาวเลบางส่วนที่อ่าวตือโล๊ะปูยะ และอ่าวตือโล๊ะจืองัน อยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะอาดังไม่ยอมย้ายออก 

ทางอุทยานฯ จึงอนุญาตให้อยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งที่ดินทำกินที่สวนบนเกาะหลีเป๊ะ ก็ถูกอุทยานฯ ยึดอ้างว่า เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ชาวเลทิ้งไว้ แต่จริง ๆ แล้วชาวเลปลูกผลไม้ไว้ใช้สอยเลี้ยงชีพตามช่วงฤดูกาลของพืชนั้น ๆ จึงเกิดการขยายชุมชนบนเกาะหลีเป๊ะครั้งใหญ่ ทำให้ชาวเลกระจายอยู่ทั่วบนเกาะหลีเป๊ะ และตั้งชื่อชุมชนตามเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น ๆ

โดยมีการอาศัยแยกเป็นกลุ่มชุมชนที่เรียกชื่อชุมชนเป็นภาษาอูรักลาโว้ย ในเกาะหลีเป๊ะ ปัจจุบันมีทั้งหมด 6  ชุมชน คือ ตุโป๊ะ, ปาดั๊ก, สิเข่ง, อูเส็น, ปาตายดายา, ปาตายปาญัก รวม 261 หลังคาเรือน ประชากร รวม 1,105 คน แบ่งเป็นชาย 577 คน และ หญิง 528 คน

ขณะที่ ชาวเลเกาะอาดัง มี 2 ชุมชน คือ ตือโล๊ะปูยะ และ ตือโล๊ะจืองัน รวม 48 หลังคาเรือน ประชากร รวม 144 คน เป็นชาย 73 คน หญิง 71 คน            

ชาวเลหลีเป๊ะ กับ แง่มุมด้านจิตวิญญาณ พื้นที่พิธีกรรมตามความเชื่อ

ตามความหมายของชื่อ อูรักลาโว้ย ที่แปลว่า ชาวทะเล ชาวเลจึงมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนขณะนอนหลับ ชาวอูรักลาโว้ย จะขาดทะเลไม่ได้แม้กระทั่งนอนหลับต้องได้ยินเสียงคลื่นดัง จะเห็นว่าในอดีตบ้านของชาวอูรักลาโว้ยจะสร้างบ้านบนชายหาดใกล้กับเรือ และสามารถมองเห็นทะเลได้ ส่วนใหญ่หลายคนจะออกมานอนที่ชายหาด เพื่อชมดวงจันทร์เต็มดวง และเพื่อสังสรรค์กับกลุ่มชาวเลด้วยกัน 

ชาวอูรักลาโว้ย มีความชำนาญในการเดินเรือและดำน้ำได้ดีเยี่ยม เนื่องจากถูกสอนด้วยประสบการณ์สั่งสมตั้งแต่เด็ก มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเก็บหาสัตว์ทะเล และมีความชำนาญในการพยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศในบริบทของตนเอง แม้กระทั่งประเพณีและวัฒนธรรมก็ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องราวแห่งท้องทะเล 

โดยในเพลงประกอบพิธีกรรมรำมะนา ของชาวอูรักลาโว้ยจะมีคำบรรยายเกี่ยวกับธรรมชาติและทิวทัศน์ กล่าวถึง น้ำขึ้นน้ำลง ชายฝั่ง การเดินทางด้วยเรือ และการต่อสู้กับลมและกระแสน้ำ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางธรรมชาติในบริบทแวดล้อม ชาวอูรักลาโว้ย บอกว่า พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ที่พึ่งพิงกับทะเลและเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับทะเล ซึ่งชาวเลเกาะหลีเป๊ะมีวัฒนธรรมที่สำคัญดังนี้ 

ประเพณีลอยเรือ ชาวอูรักลาโว้ย จะจัดงานประเพณีลอยเรือปีละ 2 ครั้งคือช่วง ขึ้น 15 ค่ำของเดือน 6 และ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ส่วนใหญ่มักจะตรงกับเดือนพฤษภาคมและเดือนตุลาคมของทุกปี  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลด้วย 

นอกจากงานประเพณีลอยเรือ เพื่อบูชาบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชาวอูรักลาโว้ยก็จะทำพิธีขอให้ทำมาหากินได้ดีในฤดูกาลถัดไป และมีการเสี่ยงทายอนาคตชุมชนด้วยโดยโต๊ะหมอจะเป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆและสื่อสารกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมกับส่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับสู่ดินแดน “ฆูนุงญึรัย”

พิธีปูยาปึนยู หมายถึง การบูชาเต่าทะเล ซึ่งชาวอูรักลาโว้ยจะทำพิธีนี้ในช่วง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 หรือ 11 ชาวอูรักลาโว้ยจะทำพิธีนี้เพื่อให้เต่าทะเลขึ้นมาว่างไข่ และเพื่อให้เต่าทะเลมีอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมีการละเล่นรำมะนา 3 วัน 3 คืน  โต๊ะหมอที่ทำพิธีนี้คือ โต๊ะคีรี  และเครื่องประกอบพิธี ก็จะมี  เทียนขี้ผึ้ง ข้าวตอก แกงเต่าข้าวเหนียวเหลือง   ข้าวเหนียวหวาน ธง และหมากพลู  พิธีนี้ไม่มีการสืบเนื่องในปัจจุบัน

พิธีปูยาลาโว้ย หมายถึง การบูชาทางทะเล ซึ่งชาวอูรักลาโว้ยจะทำพิธีนี้ในช่วง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จะมีพิธีคล้าย ๆ กับบูชาเต่าทะเล ชาวอูรักลาโว้ยจะทำพิธีนี้เพื่อให้สัตว์น้ำที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ เข้ามารวมกันแถบ ๆ ชายฝั่งและวางไข่ เพื่อชาวอูรักลาโว้ยจะได้มีมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และคนที่ประกอบพิธีนี้คือ โต๊ะคีรี พิธีนี้ไม่มีการสืบเนื่องในปัจจุบัน แต่ได้มีการจัดงานเพื่อฟื้นฟูพิธีปูยาลาโว้ย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล เมื่อปี 2560 มีโต๊ะหมอเป็นผู้หญิง คือ อาหยน หาญทะเล เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม

พิธีตูละบาลา หมายถึง พิธีการสะเดาะเคราะห์ พิธีนี้จะทำขึ้นก็ต่อเมื่อชาวอูรักลาโว้ยมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก หรือมีการทำมาหากินลำบาก เกิดเหตุอาเพศในชุมชน ชาวอูรักลาโว้ย จะประชุมและตกลงจัดงานนี้ เพื่อสะเดาะเคราะห์ในตัวเองและชุมชน ชาวอูรักลาโว้ย จะสร้างเรือด้วยลำต้นของกล้วย มีเครื่องประกอบพิธีก็คือเทียนขี้ผึ้ง, ข้าวตอก, หมากพลู, ผ้าขาว, ข้าวสาร, พริกแห้ง, หอม, กระเทียม, ไม้แกะสลักเป็นรูปเตาถ่าน, ต้นกล้วยแกะสลักเป็นรูปคน, ถ่าน, เล็บ และผม เครื่องประกอบพิธีเหล่านี้ก็จะนำมาใส่ในเรือที่ทำมาจากต้นกล้วย 

จากนั้นโต๊ะหมอก็จะเริ่มทำพิธี และให้ชาวบ้านมารวมกลุ่มกัน เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บออกจากคนบนเกาะ และจะนำสิ่งของต่าง ๆ ไปลอยทะเล เพื่อให้สิ่งชั่วร้ายลอยไปกับทะเล ในอดีตคนที่ทำพิธีนี้ก็คือ โต๊ะบอแฆ แต่ปัจจุบันเป็น โต๊ะเต๊ะ หรือ อาหยน หาญทะเล  

รำมะนา ภาษาชาวอูรักลาโว้ยเรียกว่า “บรานา” เป็นชื่อใช้เรียก กลอง เชื่อกันว่าการเล่นรำมะนา เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเกาะจะบันดาลให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ใช้ในโอกาสงานแก้บน ทำบุญบ้าน บูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งใช้กลองรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีอย่างเดียว โดยผู้ชายจะนั่งล้อมวงเป็นวงกลมประมาณ 7-10 คน เพื่อร้องเพลง และตีกลองรำมะนา 

โดยมีโต๊ะหมอรำมะนาภาษาชาวเลเรียกว่า “บานาโด๊บ” ขับนำ 1 คน และผู้ชายจะขับตามโดยใช้ภาษาชาวอูรักลาโว้ยโบราณ  ส่วนผู้หญิงชาวเล ก็จะออกมาเต้นรำอย่างสนุกสนาน หมุนเวียนรอบวงผู้ชาย เจ้าของบ้านใดที่จัดงาน ก็จะต้องเตรียมของกินทั้งคาวหวาน ไว้ให้เพื่อนบ้านที่มาเล่นรำมะนาด้วย โดยส่วนใหญ่ตามพิธีกรรมที่นับถือให้ใช้เล่นจำนวน 7 เพลง

รองเง็ง เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวอูรักลาโว้ย สันนิษฐานกันว่า น่าจะรับมาจากชาวมุสลิมที่เดินทางติดต่อสัมพันธ์กับชาวเล หรืออาจจะสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่อาเจะห์ เป็นการเล่นที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวเล คล้ายการเล่นรำวง แต่รำและร้องอยู่กับที่ มีการร้องเพลงโต้ตอบกันระหว่างคู่รำ ฝ่ายหญิงซึ่งเป็นนางรำกับฝ่ายชายซึ่งเป็นผู้เข้ามาเป็นคู่รำ 

ใช้แสดงในวาระต่าง ๆ เช่น งานรื่นเริง งานแก้บน และการต้อนรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน คณะรองเง็ง ประกอบด้วย มือไวโอลิน 1 คน และมือกลองรำมะนา 2 คน ผู้ร้อง 1-3 คน และผู้รำ 3-15 คนแล้วแต่การจัดการละเล่น ในปัจจุบันการแสดงรองเง็งถูกพัฒนาเป็นอย่างมากเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากรองเง็งดั้งเดิมก็ปรับเปลี่ยนเพิ่มเครื่องดนตรี และท่ารำให้ดูมีความน่าตื่นเต้น ส่วนใหญ่จะเน้นแสดงเพื่อโชว์บนเวที ไม่มีการร้องตอบโต้และเต้นรำหยอกล้อกันเหมือนในอดีต

‘บาฆัด’ วิถีแห่งอาชีพ พึ่งพาธรรมชาติ

ชาวอูรักลาโว้ย ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมหาด ทำมาหากินโดยการทำประมง ในช่วงฤดูแล้งก็เดินทางโดยเรือไปทำมาหากินตามบริเวณเกาะอาดังและเกาะราวี ที่มีหาดหรือมีอ่าวที่เป็นจุดหลบลม และมีแหล่งน้ำจืด โดยตั้งพักพิงชั่วคราวหรือที่เรียกว่า “บาฆัด” พื้นที่รอบบาฆัดมักจะมีการเพาะปลูกผลไม้ เช่น มะพร้าว, หมาก, มะม่วง, มะขาม ฯลฯ สำหรับบริเวณเกาะที่ใช้ในการบาฆัด ได้แก่ เกาะอาดังและเกาะราวี มีอ่าวและหาดดังต่อไปนี้

เกาะอาดัง (ปูเลาฮาดัก)

  1. ตือโละมูญู

  2. เจราะปะยูเร

  3. ปาตัยปารัก

  4. ปาตัยลีมานูเนก / ปาตัยลีมาดูวา

  5. ปาตัยลีมาตีฆา

  6. ปาตัยลีมาฮูโญก / ปาตัยลีมาบาตู / ปาตัยลีมาลีมา

  7. ตือโละลาจาบือซอ

  8. ตือโละลาจาดือมิ

เกาะราวี (ปูเลาราวี)

  1. ปาตัยบูโตด

  2. ปาตัยบูโลฮ

  3. ตือโละอาเย ราญา

  4. ตือโละบาติก

  5. ปาตัยกรียัก

  6. ตือโละบีโดะลูวอ

  7. ตือโละบีโดะดาลับ

  8. บาตูโกปี

  9. ปาตัยลีบัดบือซอ

  10. ตือโละตาโงะลูวอ

  11. ตือโละตาโงะบือซอ

  12. อาเยราฆา

  13. อาเยตรือโฌด

  14. ตือโละปูลิก

  15. ตือโละปูโลย

  16. ตือโละนาฆา / ตือโละบือซอตือมามา

  17. ตือโละกูแญะดือมิ

  18. ตือโละกูแญะบือซอ

  19. ปาตัยบลาโวย

  20. ตือโละกาวะ

  21. ตือโละอาเย มาเนฮ

เกาะตง (ปูเลาบือตก) 

  1. ตือโละดาลับ

  2. ตือโละบาฆัดแอ

  3. ปาตัยญัมญัม

  4. ปาตัยรือบัฮ

  5. ปาตัยลายอ

  6. ปาตัยบือโตก

จากคำบอกเล่าของ อูตี หาญทะเล และ อรอุมา ประมงกิจ เล่าว่า สาเหตุที่ต้องไปบาฆัด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศ ทิศทางกระแสลมที่เปลี่ยนทิศ และเพื่อเป็นการหนีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะชาวเล จะมีเรือที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพประมง เรือก็ต้องผูกจอดไว้ในทะเลหน้าหาดของบ้านชาวเล แต่เพราะลมมรสุมเปลี่ยนทิศ พายุ และประกอบกับร่องมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คลื่นลมแรง จึงต้องโยกย้ายที่จอดเก็บเรือไปอีกฝั่งของหมู่เกาะอาดัง ราวี ไม่ได้รับผลกระทบจากลมมรสุมเปลี่ยนทิศ พายุ และประกอบกับร่องมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเพียงชั่วคราวเท่านั้น ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือจนกว่าจะเปลี่ยนลมมรสุมอีกรอบ จึงจะกลับไปยังบ้านที่อาศัยที่เดิม

สำหรับการเลือกสถานที่ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตหรือสภาพแวดล้อมทีเหมาะสม เช่น การมีแหล่งน้ำจืด ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มีพื้นที่ราบติดชายหาดไว้ทำที่อยู่อาศัยชั่วคราว อย่างไรก็ตามชาวเล ได้ประกอบอาชีพประมงตลอดทุกฤดูกาล แค่เปลี่ยนสถานที่เท่านั้น 

สำหรับอาชีพประมงที่ได้ทำประกอบไปด้วยอาชีพ การทำปลาเค็ม การทำหอยตากแห้งขาย การทำมะพร้าวตากแห้ง แต่ปัจจุบันหลังจากได้มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอาดัง-ราวี ทำให้ไม่มีอีกแล้วอาชีพการทำมะพร้าวตากแห้ง

ปัจจุบัน บาฆัด ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ประกอบด้วยหลาย ๆ ปัจจัย หลังจากได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอาดัง – ราวี ได้มีกำหนดพื้นที่การเข้าใช้ประโยชน์ต่าง ๆ กำหนดเขตพื้นที่การประกอบอาชีพประมงของชาวเล กำหนดวิธีการประกอบอาชีพประมงของชาวเล กำหนดข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้การบาฆัดมีจำนวนน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัดเจนและมีอ่าวที่เปิดให้ทำการบาฆัดน้อยเพียงแค่ไม่กี่อ่าวเท่านั้น

ทั้งนี้ การบาฆัดของชาวเล ยังช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานรัฐ ในการช่วยสอดส่องการทำประมงผิดกฎหมาย ช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุทางทะเลของนักท่องเที่ยว ที่สำคัญการประกอบอาชีพประมงโดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ที่ไม่ทำลายล้าง จับปลาตัวใหญ่ ยังเป็นการใช้ประโยชน์ควบคู่อนุรักษ์ 

‘สุสานฝังศพ’ พื้นที่สุดท้ายของชีวิต

เนื่องจากวิถีชาวเลออกเรือทำประมง ประกอบอาชีพ หลบมรสุม มีการโยกย้าย มีการสร้างบาฆัดขึ้นตามฤดูกาล ดังนั้นหากมีพี่น้องชาวเลเสียชีวิต จากหลาย ๆ ข้อจำกัด ทำให้การฝังศพจึงเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ที่เสียชีวิต หรือในพื้นที่ตามที่ผู้ตายสั่งเสียไว้ รวมถึงพื้นที่ที่ญาติเห็นฟ้องกัน 

ในอดีตการฝังศพ เกิดขึ้นบนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ, เกาะอาดัง-ราวี และหมู่เกาะต่าง ๆ แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทที่ดินเอกชนอ้างสิทธิ สร้างรีสอร์ท สร้างรั้วปิดพื้นที่สุสาน ที่อยู่ใกล้กับศาลโต๊ะคีรี บรรพบุรุษชาวเล ทำให้ชาวเลเกาะลีเป๊ะไม่มีพื้นที่ฝังศพ ต้องนำไปฝังที่เกาะอาดัง และเผชิญปัญหาสำคัญ ที่จะไม่มีที่ฝังศพในอนาคต เพราะหลังการประกาศเขตอุทยานฯ ทำให้ไม่สามารถฝังศพในพื้นที่เกาะแก่งต่าง ๆ อย่างที่เคยฝังได้ พื้นที่สุสานที่เหลืออยู่บนเกาะอาดัง ที่ชาวเลที่นั่นเรียก สุสานปาไตบูโต๊ด ก็เริ่มหนาแน่น ซึ่งอนาคตพวกเขากังวล ว่า จะไม่มีพื้นที่ฝังศพ ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายของชีวิต

ชาวเล กับข้อจำกัด ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’

ชาวเลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่สูงกว่าคนทั่วไป สวนทางกับรายได้เฉลี่ยส่วนใหญ่ ต่อครัวเรือนที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน

ค่าไฟแพง

จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ไม่มีครอบครัวไหนจ่ายค่าไฟต่ำกว่า 1,500 บาท/เดือน  ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 2,500-3,000 บาท/เดือน ทั้งที่บ้านหลังเล็ก ๆ ไม่มีแอร์ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น แม้ไม่ได้โทษเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าขายเพราะต้นทุนก็สูง แต่สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐไม่ได้บริการสาธารณะ ไม่ได้ช่วยให้ชาวเลเกาะหลีเป๊ะเข้าถึงสาธารณูปโภคที่เหมาะสม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ รัฐพึงจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทุกคน

น้ำกิน-น้ำใช้ แพงกว่าทั่วไปหลายเท่า

น้ำกิน ที่คนทั่วไปซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ขวดละประมาณ 7 บาท  แต่เมื่ออยู่บนเกาะต้องซื้อน้ำกินแพงกว่าถึง 3 เท่า ส่วนราคาน้ำใช้  น้ำประปาที่เอกชนผลิต ตอนนี้จำหน่ายหน่วย หรือ ยูนิตละ 100-200 บาท เลยทีเดียว 

ป่วยทีค่าใช้จ่ายแสนแพง  

แม้ที่เกาะหลีเป๊ะจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.เกาะหลีเป๊ะ) เป็นหน่วยหน้ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งมีแผนส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางเรือ และเฮลิคอปเตอร์ แต่ในกรณีเป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องหาหมอตามนัด เป็นโรคหนัก ๆ ก็จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาตามสิทธิที่โรงพยาบาลในตัวเมือง จ.สตูล 

ลองดูว่าถ้าชาวเลหลีเป๊ะต้องไปรักษาตัวในเมือง พวกเขามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง…

  • ค่าเรือไปกลับ 1,200 บาท/คน แต่ถ้ามีคนในครอบครัวไปดูแลด้วย ค่าเรือก็เพิ่งเป็น 2 เท่า

  • เมื่อถึงฝั่งขึ้นจากเรือ ก็ต้องเหมารถไปโรงพยาบาล ไป-กลับ เที่ยวละ 2,000 บาท รวมก็ 4,000 บาท 

  • ปกติไปถึงก็ติดบ่ายจนถึงเย็น จำเป็นต้องพักค้าง 1 คืน เพื่อเช้าจะได้ไปหาหมอ ต้องเสียค่าที่พักอีกประมาณ 500 บาท   

  • เมื่อหาหมอเสร็จช่วงเย็น ขึ้นเรือกลับเกาะหลีเป๊ะไม่ทัน ก็ต้องพักอีก 1 คืน มีค่าใช้จ่ายอีก 500 บาท

เพราะฉะนั้นชาวเลเกาะหลีเป๊ะขึ้นฝั่งไปหาหมอแต่ละครั้ง พวกเขาต้องเตรียมเงินไม่ต่ำกว่า 6,000-10,000 บาท แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลไม่ต้องจ่ายก็จริง แต่การพาตัวเองไปให้ถึงโรงพยาบาลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก 

“มีเคสชาวเลปวดฟันไปหาหมอ เสียค่าถอนฟัน 800 บาท แต่ค่าเดินทาง รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด อีก 6,000 บาท เรื่องแบบนี้จึงสวนทางกับรายได้ของชาวเล ดังนั้นชีวิตพวกเขาไม่มีทางดีขึ้นได้เลย หรือไม่สามารถที่จะก้าวผ่านข้ามความจน สู่ชีวิตที่ดีได้เลย“ 

ส่วนด้านการศึกษา พวกเขาแทบไม่มีทางเลือกเพราะมีโรงเรียนรัฐโรงเรียนเดียว คือ โรงเรียนบ้านเกาะลีเป๊ะ รองรับได้ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น หรือวุฒิ ม.3 เท่านั้น ตอนนี้ กศน. มาเปิดเป็นทางเลือก แต่เพราะไม่มีแผนพัฒนาสนับสนุนเรื่องอาชีพที่รองรับหลังเรียนจบ ทำให้พวกเขามองไม่เห็นความคุ้มค่าในการศึกษาต่อ หรือมองไม่เห็นโอกาสในการศึกษา นี่จึงเป็นอีกสิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

ข้อพิพาทที่ดิน ความไม่มั่นคงชีวิตชาวเล

ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงของสถานะเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จากเคยเป็นเกาะที่ถูกทิ้งร้างไม่มีใครสนใจในอดีต จนกลายมาเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันมีการประกาศพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติตะรุเตาทับซ้อนพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดปัญหาการรุกรานอย่างหนักของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ที่ต้องการกว้านซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัยของชาวเล เพื่อแปลงสภาพเป็นรีสอร์ทหรู ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวเลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างรวดเร็ว และเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

สภาพปัญหาความรุนแรงด้านสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ก็ยังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งมีการบีบคั้นให้ชาวเลรื้อถอนบ้าน ห้ามซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรม ขณะที่ในช่วงฤดูมรสุม ชาวเลต้องเผชิญกับสภาพน้ำท่วมขังซ้ำซาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ อย่างในช่วงเวลาที่โควิดระบาด ปัญหาน้ำท่วม ก็เป็นอีกอุปสรรคต่อการควบคุมโรคอย่างมาก 

ทำให้ปัญหาน้ำไม่มีทางระบาย ย้ำภาพการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว รีสอร์ท ที่กระทบสิทธิชุมชน ความเป็นอยู่ กลายเป็นข้อพิพาทที่ดินทับซ้อนกับเอกชน 

ขณะเดียวกันเอกชนยังอ้างสิทธิที่ดิน มีการกันแนวเขตทำมาหากินทางทะเลของชาวเล เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวเลที่ประกอบอาชีพประมง ต้องทำประมงในเขตไกลจากชายฝั่งมากขึ้น ปัจจุบันมีการจับกุมดำเนินคดีต่าง ๆทั้งเป็นการบุกรุกทรัพยากรและการไล่รื้อชุมชน

สำหรับสภาพปัญหาที่ดิน ที่เกิดกรณีทับซ้อนทั้งภาครัฐ และเอกชน มีดังนี้ 

  • ที่ดินทับซ้อนอุทยาน จำนวน 34 แปลง 27 หลังคาเรือน 30 ครอบครัว

  • ที่ดินทับซ้อนเอกชน จำนวน 24 แปลง 24 หลังคาเรือน 28 ครอบครัว

  • ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 268 แปลง 247 หลังคาเรือน 281 ครอบครัว

จากการทำข้อมูลประวัติศาสตร์ ที่มีการศึกษาและรวบรวมในพื้นที่ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ต่อการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อปัญหาที่ดินดัง ต่อไปนี้

  • ปี พ.ศ. 2497 มีประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน และทางราชการได้ประกาศให้ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไปแจ้งสิทธิการครอบครอง

  • ปี พ.ศ. 2498 – 2499 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะได้มีการดำเนินการแจ้งสิทธิการครอบครอง (สค.1)

  • ปี พ.ศ. 2509 – 2516 นำ สค.1 ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก) จุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสูญเสียที่ดินของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ

  • ปี พ.ศ. 2517 (19 เมษายน พ.ศ.2517) มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกเลิกเขตราชทัณฑ์ และมีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในคราวเดียวกัน เกาะหลีเป๊ะและหมู่เกาะอาดัง – ราวี ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2517 จึงมีเจ้าหน้าที่อุทยานกดดันให้ชาวเลจากเกาะอาดัง – ราวีย้ายไปอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะทั้งหมด

  • มีประวัติศาตร์จากการบอกเล่าว่า ช่วงยุคของผู้นำชุมชนคนหนึ่ง ได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมชาวอูรักลาโว้ยให้มอบที่ดินให้กับหม่อมเอ (นามสมมุติ) เพราะต้องการที่ดินเพื่อทำสนามบิน ชาวอูรักลาโว้ยจึงยอมมอบ สค.1 ให้และเซ็นต์เอกสารมอบที่ดินพร้อมที่ดินของ อาหรน หาญทะเล

  • ปี พ.ศ. 2540 – 2560 เริ่มมีการขับไล่โดยผู้ถือเอกสารสิทธิ์ โดยอ้างสิทธิครอบครองและขับไล่ให้ชาวเลรื้อบ้านย้ายไปอยู่กลางเกาะ ห่างจากจุดเดิมที่อาศัยใกล้ทะเลห่างราว 200-800 เมตร ทำให้กลุ่มบ้านชาวเลที่หมู่บ้านสิเข่งกระจายตัวออกไป เหลือเพียงกลุ่มบ้านชาวเลที่เป็นบุตรหลานของเต๊ะ ที่ยังสามารถอาศัยอยู่ แต่ก็มีคดีการฟ้องร้องโดยเอกชน 2 คดี คือ กรณีของบ้านของ แส้หนา เกาะสิเร๊ะ และ สวัสดี หาญทะเล

  • ปี พ.ศ. 2547 หลังเหตุการ์สึนามิกลุ่มนักลงทุนจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น เกาะพีพี เขาหลัก สนใจและลงทุนธุรกิจท่องเที่ยวที่เกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากมีผลกระทบจากสึนามิน้อยมาก แต่ชาวเลต้านแรงทุนไม่ไหว ขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารงาน จึงมีการเซ้งกิจการให้เช่าช่วงต่อ หรือบางคนก็ขายที่ดินให้กับนักลงทุน ทำให้พื้นที่ปาตายดายาถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบัน

  • ปี พ.ศ. 2564 – 2565 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะถูกเอกชนฟ้องเพิ่ม 2 คดี คดีแรกผู้ถูกฟ้องจำนวน 15 ราย และคดีที่ 2 จำนวน 2 ราย ในปัจจุบัน ทั้ง 2 คดีนั้น ทางศาลได้ตัดสินให้ชาวเลไม่มีความผิดใด ๆ

  • ปี 2565 – ปัจจุบัน เกิดกรณีสำคัญที่สังคมร่วมจับตา คือ ช่วงปลายปี 2565 เอกชนรายหนึ่งอ้างสิทธิที่ดิน นส.3 เลขที่ 11 ปิดทางสาธารณะที่คนบนเกาะใช้ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต การเดินทาง รวมถึงการขนของเข้าออกเกาะ กลายเป็นข้อพิพาทที่ดินที่ฝ่ายนโยบายต้องลงมาแก้ไขปัญหา นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อยู่ระหว่างการเดินหน้าตรจสอบที่ดินทั้งเกาะ เพื่อพิสูจน์สิทธิและเพิกถอนเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

ภัยคุกคามพื้นที่ทำกิน วิถีชาวเล

เมื่อรัฐบาลประกาศเขตอุทยานฯ และมุ่งนโยบายแห่งการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้พื้นที่การทำประมงพื้นบ้านสูญหายไป มีการจำกัดเขตพื้นที่ทำมาหากิน และจำกัดเขตพื้นที่การเข้าใช้ประโยชน์ ทำให้ชาวเลต้องออกทะเลไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม มีความลำบากในการประกอบอาชีพประมงมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เพราะต้องมุ่งอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อการใช้สอยทรัพยากรทางทะเลและความสัมพันธ์ระหว่างชาวเลกับทะเล 

เจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยว มักจะอ้างว่าชาวเลเป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้วชาวเลเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ทรัพยากรทางทะเลดำเนินไปตามวัฎจักรแห่งท้องทะเล และเมื่อใดที่มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนายทุนรายใหญ่ในท้องที่หนุนหลังกลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย 

นอกจากนี้ชาวเลก็ยังโดนคุกคามจากนักดำน้ำที่มุ่งทำลายอุปกรณ์ในการจับปลา เช่น ลอบและอวนลอย ทำให้ชาวเลขาดรายได้ และยังต้องสูญเสียเครื่องมือประมงอีกด้วย ขณะที่เกาะอาดัง เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิมของชาวเล และมีพื้นที่พิธีกรรมหลายอ่าว แต่ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติได้มีกฎห้ามเข้า ทำให้เหลือพื้นที่ที่ชาวเลอยู่อาศัยเพียงพื้นที่เดียว


เกาะหลีเป๊ะ… เกาะสวรรค์ที่สร้างมูลค่า ดึงดูดเม็ดเงินการท่องเที่ยวเข้าประเทศไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี แต่อีกซอกมุมของเกาะ ยังมีชาวบ้านที่ไร้ซึ่งสิทธิ ความเทียม ด้านคุณภาพชีวิต กำลังถูกเบียดขับออกจากวิถีดั้งเดิม และลดทอนศักยภาพต้นทุนทางวัฒนธรรมที่พวกเขามี 

แนวทางการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นแนวทางการคุ้มครอง สิทธิทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครอง และยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตบนวิถีแห่งภูมิปัญญาชาวเล ควบคู่กับการผสานองค์ความรู้ใหม่บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวเลตั้งตารอให้เกิดขึ้น  

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ