นักระบาดวิทยาคิดอะไร? เมื่อไทยเข้าสู่ระลอก 4

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ที่ขยับตัวเลขสูงขึ้น แตะหลัก 6,000 คน มาหลายวันต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตก็ทำลายสถิติใหม่อยู่เรื่อย ๆ 

The Active รวบรวมความเห็นและข้อเสนอจาก 4 แพทย์ระบาดวิทยา แนวหน้าของไทย ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ระบาด จากทั้งปัจจัยเสี่ยง การจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า และไวรัสที่กลายพันธุ์ไม่หยุดนิ่ง…

“หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระบบสาธารณสุขไปไม่รอด”

สถานการณ์จะแย่กว่าเดิม เพราะสายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์เดลตา จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลัก จากข้อมูลปัจจุบัน (2 ก.ค. 2564) พบว่าการระบาดในกรุงเทพมหานคร พบสายพันธุ์เดลตาในสัดส่วน 40% โดยมีความสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า ถึง 1.4 เท่า 

“นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์” นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ประเมินสถานการณ์การระบาด พร้อมตั้งคำถามว่า เดือนถัดไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร?

เขาบอกว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทย มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 992 คน สะท้อนการแบกรับภาระทางสาธารณสุขที่ใกล้จุดวิกฤต เดือนกรกฎาคมคาดว่าจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1, 400 คน เดือนสิงหาคม 2,000 คน และเดือนกันยายน 2,800 คน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไประบบสาธารณสุขไปไม่รอด 

“นพ.คำนวณ” ระบุว่า 80% ของคนที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว หากสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะลดการตายลงได้อย่างมาก “วัคซีน” จึงควรใช้เพื่อลดการเจ็บหนักและเสียชีวิต แต่ประเทศไทยกำลังใช้ยุทธศาสตร์ ที่คิดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการฉีดแบบปูพรมให้คนไทยได้วัคซีน 70% โดยหวังว่าถ้าทำได้แบบนั้นจริง ทุกคนก็จะมีการติดเชื้อน้อยลง คนก็จะตายน้อยลง แต่จะทำแบบนั้นได้ต้องมั่นใจว่าได้วัคซีนประสิทธิภาพดีมาก ๆ 

“เขายอมรับกันหมดว่า ไม่มีประเทศไหนที่จะมีวัคซีนไม่จำกัด กระทั่งประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษ หรือในยุโรป ที่ผลิตวัคซีนเอง ก็ยอมรับเลยว่า เขาไม่มีทางที่จะมาใช้ยุทธศาสตร์แบบฉีดแบบปูพรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”

แต่หากต้องการลดการตาย ใช้ยุทธศาสตร์การพุ่งเป้ากับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู่ 17.5 ล้านคน ให้จบภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ขณะที่ปัจจุบันทั้ง 2 กลุ่มได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 ล้านคน 

จนถึงขณะนี้มีทางเลือก 2 ทาง 1. ทำแบบเดิมจะเห็นผลประมาณอีก 5-6 เดือนหรือ 2. ยอมรับว่าเรามีวัคซีนจำกัด และอาจมีไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน ถึงแม้จะมีวัคซีนจำกัด แต่ถ้าใช้ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ก็จะพ้นวิกฤตได้ 

หากทำได้ เดือนสิงหาคมนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 800 คน เดือนกันยายนจะเหลือประมาณ 600-700 ประมาณวันละ 20 คน ระบบสาธารณสุขก็จะเดินหน้าต่อได้ แม้มีผู้ติดเชื้อรายวันมาก แต่คนเสียชีวิตไม่มาก จำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์วัคซีนเพื่อทำให้เรามีวัคซีนเพียงพอ และอาจพอฉีดให้กับแรงงานต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวแบบเสมอหน้ากันทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม ไม่ต้องเยียวยาเพิ่ม 


“ขอคืนสิทธิ์ให้คนแก่ก่อนได้ไหม”

สถานการณ์การระบาดในกรุงเทพมหานคร ไม่น่าจะแย่ไปกว่านี้ เพราะฉีดวัคซีนไปแล้ว 33 %  แต่ปริมณฑลบางจังหวัด และจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง รวมทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติซึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูง แต่ก็มีผู้เสียชีวิตในอัตราส่วนที่ต่ำมาก 

“นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดี กรมควบคุมโรค ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ระบาด และเสนอแนวทางแก้ปัญหา คือ ต้องลดอัตราการตาย ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ขณะนี้ภาพรวมทั้งประเทศฉีดวัคซีนผู้สูงอายุไปแล้ว 10%  ควรจะต้องขยับให้ได้ 50% อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

จำนวนผู้เสียชีวิตแต่ละวัน เป็นผู้สูงอายุมากถึง 70% ดังนั้น ถ้าจะลดอัตราการตายต้องทำให้ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนเร็วที่สุด  แต่ถึงวันนี้ ผู้สูงอายุจำนวน 12 ล้านคน ได้รับวัคซีนเพียง 10% เราต้องตั้งเป้าในเดือนกรกฎาคมให้คนสูงอายุได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 50% เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต ไม่เช่นนั้นในเดือนกรกฎาคม อาจมีผู้ติดเชื้ออาจมากถึงวันละ 12,000 คน และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึงวันละ 120 คน ในจำนวนนี้มี 2 ใน 3 หรือ เป็นผู้สูงอายุที่ต้องเสียชีวิตในแต่ละวัน 

“นพ.โสภณ” เสนอให้หน่วยงานที่ได้รับวัคซีนตามโควตาขององค์กร ปรับแผนของตัวเอง เปลี่ยนสิทธิ์การรับวัคซีน จากคนหนุ่มสาว เป็นผู้สูงอายุในครอบครัวให้มาฉีดวัคซีนแทนก่อน

“คนลงทะเบียนฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุ ได้คิวแซงหน้าคนแก่ที่บ้าน รวมถึงคนแก่ข้างบ้าน เปลี่ยนสิทธิ์ได้ไหม ได้คิวไปแล้วขอคืนสิทธิ์ให้คนแก่ก่อนได้ไหม” 


“ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ ให้ยาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปเลย”

กรุงเทพมหานครยังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “Out of control” หรือไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ต่างจังหวัดยังสามารถควบคุมการระบาดได้ดี จึงควรตีกรอบพื้นที่เพื่อแยกโซนแบ่งระดับให้สอดคล้องมาตรการควบคุมโรค หรือล็อกดาวน์เป็นส่วน ๆ ไม่ต้องรวมทั้งหมด 

“ศ.เกียรติคุณ​ พญ.สยมพร ศิรินาวิน” คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อรพ.รามาธิบดี มหาวิทยามหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาคลินิก ประเมินแนวโน้มสถานการณ์การแพร่โควิด-19 ว่าตามหลักการระบาดวิทยาออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. พื้นที่ไม่มีการระบาด 2. มีการระบาดน้อย 3. มีการระบาดแบบกระจุกตัว และ 4. มีการระบาดแบบวงกว้าง เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลควรมีมาตรการเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่น

ในสถานการณ์ขณะนี้ มาถึงจุดที่ผู้ป่วยล้นศักยภาพระบบสาธารณสุข ทำให้มองถึงการรักษา ประเทศไทยมียาฟ้าทะลายโจร ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิผลในการรักษา และป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะแรก และมีความปลอดภัยสูง การใช้อย่างถูกต้องจะช่วยลดการเกิดโรคที่รุนแรงลดภาระทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก 

“สถานการณ์เช่นนี้จึงมีข้อเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อทุกคนเสมอไปเพราะการตรวจโดยหลักการคือตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค แต่สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงการให้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสาร andrographolide ไปเลยจะดีกว่า คุ้มค่ากว่าการตรวจหาเชื้อ ซึ่งไม่ส่งผลการรักษา หรือป้องกันความรุนแรงของโรค”

“พญ.สยมพร” ระบุว่าแนวทางการปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะต้นที่บ้านหรือในชุมชน หากมีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ติดเชื้อ การลดป่วยหนักและลดตายซึ่งต้องติดตามและพัฒนาต่อไป โดยหากคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อ หรือพิสูจน์ว่าติดเชื้อ ควรได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการรักษาและเริ่มให้ยาฟ้าทะลายโจรโดยเร็วที่สุด ในปริมาณ 180 มก./วัน แบ่งเป็น 3 ครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 5 วัน พร้อมกับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากสาร andrographolide ที่มีอยู่ในฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS-CoV-2 จัดเป็นยาที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีผลงานวิจัยรองรับในการรักษาโควิด-19 ราคาถูกและผลิตเองได้ในประเทศ

ในกรณีที่ยังไม่สามารถตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้หรือยังไม่ทราบผล สามารถเริ่มให้ยาฟ้าทะลายโจรได้ก่อนเลย เพราะเมื่อผลตรวจเป็นลบก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าติดหรือไม่ติดเชื้อก่อนครบ 14 วัน อีกทั้งไม่มีเหตุต้องเลือกการรักษาหรือต้องใช้ยาราคาแพง แต่ทั้งนี้ ต้องใช้ข้อมูลระบาดวิทยาเพื่อพิจารณาว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อหรือไม่ร่วมกับอาการทางคลินิก นอกจากนี้การรอตระเวนหาที่ตรวจทำให้ผู้นั้นไม่ได้พักผ่อน การรักษาล่าช้า และสิ้นเปลืองทรัพยากร

“พญ.สยมพร” กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีน จนถึงขนาดนี้ครอบคลุมได้ประมาณ 9% ของประชากร และวัคซีนที่ประชาชนได้รับมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ประชาชนจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 

“ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการให้เข้ารับการดูแลรักษาและป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้  แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากเกินระบบสาธารณสุข จึงไม่สามารถทำได้ ดังนั้นผู้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยส่วนใหญ่หายได้เองและรักษาตามอาการ”


“ถ้าไม่ล็อกดาวน์ ก็ตายเป็นเบือ”

 การล็อกดาวน์ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มที่เป็นอยู่ตอนนี้ อาจไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างเห็นผล ต้องล็อกแบบสนิท ซึ่งในประเทศทั่วโลกเมื่อล็อกดาวน์แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อก็ลดลงทันที ขณะที่วัคซีนจะได้ผลเร็วกว่าก็ต่อเมื่อมีเพียงพอและฉีดได้เร็ว

“ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์” ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางออกคงไม่มีใครอยากล็อกดาวน์ แต่เมื่อตายเยอะ ๆ ก็ไม่พ้นที่ต้องล็อกดาวน์ เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะถ้าวัคซีนมาเร็ว ก็ไม่ต้องล็อกดาวน์ 

“ถ้าคุณไม่ล็อกดาวน์ คนก็ตายกันเป็นเบือ​ จากรอวัคซีน​ ตอนนี้เริ่มกลายเป็นผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) และอาจกลายเป็น​ ระยะสุด เหมือนประเทศอินเดีย ที่ทำศพเป็นเรื่องหลัก จะเผาไม่ทัน วัคซีนอะไรเข้ามาตอนนี้ก็ต้องซื้อถ้าทำให้คนไม่ตาย เป็นซิโนแวคก็ต้องซื้อ แม้ยังไม่รู้ว่าจะสู้สายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่”

“นพ.วีระศักดิ์” ระบุด้วยว่า ความเสี่ยงจากกำลังผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ของโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ส่งมอบได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส ต่อเดือน ขณะที่ได้รับการชี้แจงว่า กำลังการผลิตอย่างเต็มที่จะกลับมาในเดือนกันยายนนั้น เป็นการประเมินที่มีความเสี่ยงมากเกินไป เนื่องจากไม่ดูบทเรียนที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ ขณะที่การหาวัคซีนแหล่งอื่นในตอนนั้นค่อนข้างยาก

แม้ก่อนหน้านั้น เขาเป็นคนเสนอให้ฉีดวัคซีนกับแรงงาน เพราะคนหนุ่มสาว จะนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างเร็วรวด เชื้อลงไปถึงครัวเรือน ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เห็นด้วยว่าต้องฉีดผู้สูงอายุก่อน เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้ผู้ป่วยล้นไอซียู เพราะหากติดเชื้ออยู่ในบ้านก็จะไม่เสียชีวิตเพราะได้วัคซีนแล้ว แต่ขณะนี้ในกรุงเทพมหานคร ยังฉีดวันซีนไม่ถึง 50%


บทส่งท้าย 

นักระบาดวิทยาเห็นตรงกันว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลังจากนี้ มีความท้าทายในการรับมือและควบคุมโรคมากขึ้น จากการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะ “สายพันธุ์เดลตา” ที่แพร่เร็วกว่าเดิม ขณะที่วัคซีนหากมีจำกัดควรฉีด “วัคซีน” ให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ให้ครบทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ 

ส่วนมาตรการ “ล็อกดาวน์” ยังคงเป็นมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็มีผลกระทบสูงเช่นกัน จึงควรแบ่งโซนพื้นที่การระบาดให้ชัดเจน เพื่อออกมาตรการอย่างเข้มข้นให้ตรงจุด 

ทั้งนี้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีผู้ติดผู้ติดเชื้อ และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพิ่มมากขึ้นจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข การใช้ “ยาฟ้าทะลายโจร” ที่มีสาร andrographolide สามารถยุติการแบ่งตัวของไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายได้ ประกอบกับการพักผ่อน การได้รับอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ จะเป็นแนวทางรักษาให้กับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่บ้าน หรือ “home isolation” ต่อไป 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์