ลุ้น 3 เดือน เปลี่ยนเกมโควิด-19 “เปิดประเทศได้” หรือ “ถอยหลังสู่วิกฤต”

“ผอ.สถาบันวัคซีนฯ” รับ แอสตราเซเนกาส่งวัคซีนเดือน ก.ค. และต่อไปได้แค่ 5-6 ล้านโดส ต้องนำเข้าวัคซีนตัวอื่น ขณะที่ “นพ.คำนวณ” วิพากษ์ ศบค. จัดโควตาวัคซีนหลายกลุ่มเป้าหมาย ทำให้คนตายพุ่ง วอนเปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์วัคซีน ชี้ อีก 2 เดือนเชื้อเดลตากลืนประเทศ

ผู้เสียชีวิตจาก โควิด-19 ที่ทำลายสถิติสูงสุด 61 คนในวันนี้ (2 ก.ค. 2564) ทำให้นักระบาดวิทยากังวลว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย

เดือนกรกฎาคม นับว่าเป็นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้เรากำลังเลือกว่าจะสามารถเปิดประเทศได้หรือไม่ หรือกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติที่ถลำลึกลงไปอีก

“นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์” ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ชี้ว่าการระบาดระลอก 3 สาเหตุจากโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วและมีคนเสียชีวิตขึ้นหลัก 50 คนต่อวัน คำถามคือเดือนถัดไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ?

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์จะแย่กว่าเดิมเหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์เดลต้า จะกลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลัก ในอีก 2 เดือน จากข้อมูลปัจจุบัน (2 ก.ค. 2564) พบว่า ตอนนี้การระบาดในกรุงเทพมหานคร พบสายพันธุ์เดลต้าในสัดส่วนร้อยละ 40 โดยมีความสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา ถึง 1.4 เท่า

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทย มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 992 คน สะท้อนการแบกรับภาระทางสาธารณสุขที่ใกล้จุดวิกฤต เดือนกรกฎาคมคาดว่าจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน เดือนสิงหาคม 2,000 คน และเดือนกันยายน 2,800 คน หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไประบบสาธารณสุขไปไม่รอด 

ร้อยละ 80 ของคนที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ถ้าสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้ก็จะลดการตายลงได้อย่างมาก อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปัญหาได้ ในผู้สูงอายุถ้าติดเชื้อ 100 คนจะเสียชีวิต 10 คน แต่ถ้าอายุ 20-40 ปี ติดเชื้อพันคนมีคนเสียชีวิตเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้น “วัคซีน” จึงควรใช้เพื่อลดการเจ็บหนักและเสียชีวิต 

แต่ประเทศไทยกำลังใช้ยุทธศาสตร์ ที่เราคิดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการฉีดแบบปูพรมให้คนไทยได้วัคซีน 70% โดยหวังว่าถ้าทำได้แบบนั้นจริงทุกคนก็จะมีการติดเชื้อน้อยลง คนก็จะตายน้อยลง แต่จะทำแบบนั้นได้ต้องมั่นใจว่าได้วัคซีนประสิทธิภาพดีมาก ๆ แต่หากต้องการลดการตาย ใช้ยุทธศาสตร์การพุ่งเป้ากับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีอยู 17.5 ล้านคนให้จบภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมขณะที่ปัจจุบันทั้ง 2 กลุ่มได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม “นพ.คำนวณ” ระบุว่าที่ผ่านมาเราใช้วัคซีนไปเพื่อการควบคุมการระบาด เตรียมพร้อมเปิดโรงเรียนโดยฉีดให้กับบุคลากรทางการศึกษา และการเปิดแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งเป็นความคิดที่ดีแต่จะทำอย่างนั้นได้มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ 1. ต้องมีวัคซีนไม่จำกัด 2. มีขีดความสามารถในการฉีดได้อย่างรวดเร็ว

“เขายอมรับกันหมดว่า ไม่มีประเทศไหนที่จะมีวัคซีนไม่จำกัด กระทั่งประเทศอเมริกา ประเทศอังกฤษ หรือประเทศยุโรป ที่ผลิตวัคซีนเอง ก็ยอมรับเลยว่า เขาไม่มีทางที่จะมาใช้ยุทธศาสตร์แบบฉีดแบบปูพรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”

“นพ.คำนวณ” ระบุว่า เรามีทางเลือก 2 ทาง 1. ทำแบบเดิมจะเห็นผลประมาณอีก 5-6 เดือน หรือ 2. ยอมรับว่าเรามีวัคซีนจำกัด และอาจมีไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน ถึงแม้จะมีวัคซีนจำกัด แต่ถ้าใช้ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ก็จะพ้นวิกฤติได้ โดยนำวัคซีนที่มีทั้งหมดทำความตกลงกับสังคม ว่าควรฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัวให้ครบภายใน 2 เดือน ด้วยกำลังผลิตที่มีอยู่ของแอสตร้าเซนเนกาที่สามารถทำได้

หากทำได้ เดือนสิงหาคมจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงเหลือประมาณ 800 คน เดือนกันยายนจะเหลือประมาณ 600-700 คน ประมาณวันละ  20 คน ระบบสาธารณสุขก็จะเดินหน้าต่อได้ แต่ถ้าเลือกแบบเดิม แม้ปิดกิจการต่าง ๆ จำนวนผู้ติดเชื้อก็ไม่ได้ลดลง ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ที่อาจไม่จำเป็นต้องปิดมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรี ศบค. รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด  หากได้โควตาวัคซีนคำถามคือจะฉีดให้ใครก่อน” คือคำถามจาก “นพ.คำนวณ” พร้อมย้ำว่า ถ้าจะฉีดปูพรมหลายจุดมุ่งหมาย ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว ถ้าเห็นตรงกัน เอาวัคซีนให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือผู้มีโรคประจำตัวก่อน ซึ่งอังกฤษและสหรัฐฯ ก็ทำแบบนี้ มีผู้ติดเชื้อรายวันมาก แต่คนตายไม่มาก เพื่อทำให้เรามีวัคซีนเพียงพอและฉีดให้กับแรงงานต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวฉีดแบบเสมอหน้ากันทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องใช้เงินเพิ่ม ไม่ต้องเยียวยาเพิ่ม เพียงแค่เปลี่ยนยุทธศาสตร์วัคซีน

“แอสตราเซเนกา” ส่งวัคซีนเดือน ก.ค. แค่ 5-6 ล้านโดส

“เมื่อดูสถานการณ์การความเป็นจริง กำลังการผลิตที่สยามไบโอไซเอนท์ อยู่ที่ 180 ล้านโดสต่อปี  ซึ่งโดสเฉลี่ยตกอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน และในช่วงแรกของการผลิตวัคซีน กำลังการผลิตจะน้อย แล้วค่อยๆไต่ระดับสูงขึ้น”

“นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์วัคซีนแอสตราเซเนกา เดือนกรฎกาคมและสิงหาคม คาดว่าจะผลิตวัคซีน 16 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องส่งมอบให้ประเทศอื่นด้วย ดังนั้นการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคม คาดว่าประเทศไทยจะได้รับประมาณ 5-6 ล้านโดส แต่เดือนต่อไปก็อาจยังได้ไม่ถึง 10 ล้านโดสตามแผนการส่งมอบ ส่วนการจัดหาจากที่อื่นก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกที่ต้องการวัคซีนเหมือนกันหมด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพื่อให้การฉีดวัคซีนของไทยเป็นไปตามเป้า ซึ่งในไตรมาส 3 จะมีวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนซิโนฟาร์ม เข้ามาเพิ่ม ส่วนในไตรมาส 4 จะมีวัคซีนแอสตราเซเนกาเข้ามา 20 ล้านโดส

ส่วนการกระตุ้นภูมิเข็ม 3 “นพ.นคร” ระบุว่า โรงเรียนแพทย์กำลังทำการศึกษาว่าจะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้อย่างไร และมีความจำเป็นในการฉีดเข็มที่ 3 ให้กับคนไทยหรือไม่โดยอาจจะให้กลุ่มเปราะบาง ที่อาจต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อน

“ประเทศไทยจองวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น ประกอบกับการจองต้องใช้เวลา ทำให้เราได้รับวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS