แนวโน้มการเกิด ‘แผ่นดินไหว’ ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเกิดตาม แนวรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยมี แนวรอยเลื่อนส่วนใหญ่อยู่ที่ ภาคเหนือ และ ฝั่งตะวันตก
ขณะที่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็ไม่ได้เกิดบ่อยเท่ากับพื้นที่ประเทศที่อยู่บริเวณ Ring Of Fire แต่รอยเลื่อนในไทยก็ประมาทไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ แม้ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ บ่อยครั้ง
แต่มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
เมื่อ 10 ปีก่อน เหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้น มีขนาด 6.3 อยู่บริเวณ อ.แม่ลาว, พาน และ อ. แม่สวย แต่ตอนนั้นพื้นที่ดังกล่าวมีประชารกรไม่ค่อยหนาแน่น จึงมีอาคารเสียหายมากกว่า 10,000 หลัง มีอาคารที่อันตรายได้รับความเสียหาย ประมาณ 400-500 หลัง อาคารที่พังถล่มลงมาประมาณ 20-30 หลัง นี่อาจเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกสำหรับหลาย ๆ คนในยุคนี้ และเป็นครั้งล่าสุดที่เกิดแผ่นดินไหวในไทย ซึ่งประชาชนได้สัมผัสและเห็นภาพความรุนแรง
ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ชวน The Active ย้อนกลับไปดูเรื่องราวการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย พบว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 6 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดได้ยากเย็นขนาดนั้น จริง ๆ แล้วพื้นที่ภาคเหนือ หรือบริเวณนั้นเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 กว่า ๆ อยู่บ่อยพอสมควร ในประเทศเมียนมา และในลาว ที่เรียกว่าใกล้ ๆ พรมแดนไทย
ถ้าดูย้อนกลับไปในอดีต ก็พบว่ามีแผ่นดินไหวขนาด 6.5 เคยเกิดขึ้นที่ จ. น่าน ในปี 2478 แล้วถ้าดูข้อมูลธรณีวิทยา จะยิ่งชัดกว่า ว่าไทยมีรอยเลื่อนในบริเวณภาคเหนือ และ จ. กาญจนบุรี หลายรอย ซึ่งรอยเลื่อนพวกนี้มีความสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ไปจนถึง 7.5 ได้
“ แม้รอยเลื่อนพวกนั้นมีศักยภาพ แต่ก็ต้องใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นเวลานานหลายร้อย หลายพันปี ถึงจะผลิตขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากมีหลายรอย อาจจจะได้เจอมันทุก ๆ 200 ปี 300 ปี สักลูกหนึ่ง เพียงแต่เราไม่รู้ว่า มันจะไปเกิดที่ไหน มันอาจจะเกิดที่เชียงราย ที่เชียงใหม่ ลำปาง หรืออาจจะเกิดที่ จ. น่าน มันเกิดตรงไหน เราเก็งไม่ถูก เพราะเราไม่สามารถพยากรณ์ได้ ดังนั้นในภาพรวม ๆ พื้นที่ภาคเหนือ และฝั่งตะวันตกของเรามีความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาการเตรียมพร้อมรับมือของเรายังดีไม่พอ”
ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
สำหรับ แผ่นดินไหว ขนาดตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ที่เคยตรวจวัดได้ในประเทศไทย และพรมแดน มีดังนี้
- 13 พฤษภาคม 2478 จ.น่าน ขนาด 6.5
- 17 กุมภาพันธ์ 2518 อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ขนาด 5.6
- 15-22 เมษายน 2526 อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี 5.3 ,5.9 ,5.2 (3 ครั้ง)
- 11 กันยายน 2537 อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 5.1
- 9 ธันวาคม 2538 อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ขนาด 5.1
- 21 ธันวาคม 2538 อ.พร้าว จ.เชียงราย ขนาด 5.2
- 22 ธันวาคม 2539 พรมแดนไทย-ลาว-เมียนมา ขนาด 5.5
- 16 พฤษภาคม 2550 ประเทศลาว ใกล้ จ.เชียงราย ขนาด 6.3
- 24 มีนาคม 2554 ประเทศเมียนมา ใกล้ จ.เชียงราย ขนาด 6.8
- 5 พฤษภาคม 2557 เกิดแผ่นดินไหว อใแม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3
จับตา ‘รอยเลื่อนแม่จัน’ หวั่นเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ?
รศ.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า มีข้อมูลชัดเจนทางธรณีวิทยาว่ารอยเลื่อนที่มีพลังแน่นอน ก็คือ ‘รอยเลื่อนแม่จัน’ ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 7 แน่ ๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้สูงสุดตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่บริเวณนั้น เช่น อ.เชียงแสน ซึ่งเมืองนี้ก็เคยเป็นเมืองหลักของล้านนามาก่อน แล้วในเมืองนี้ก็มี สิ่งปลูกสร้างโบราณสถานต่าง ๆ ที่ถูกสร้างมานานมาก แล้วประมาณ 600 ปี ซึ่งถ้าเราดูตามตำนานบริเวณนั้นก็จะมี โยนกนคร ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และโยนกเคยล่มสลายไป
“ถ้าสมมติว่าเป็นเรื่องจริง รอยเลื่อนแม่จันเป็นตัวที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ แล้วเชียงแสน โบราณสถานเหล่านั้นยังคงอยู่มา 600 ปี หมายความว่ารอยเลื่อนแม่จัน ไม่เคยปลดปล่อยพลังมา อย่างต่ำ 600 ปีแล้ว หมายความว่า แนวโน้มบริเวณนี้อาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แล้วอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นในอนาคตครับ”
รศ.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์
รศ.ธีรพันธ์ บอกด้วยว่า โดยปกติแล้ว ในโซนการเกิดแผ่นดินไหวไม่รุนแรง อาจจะเกิด 500 ปี/ครั้ง 600 ปี/ครั้ง หรือ 1000 ปี/ครั้ง ขนาดใหญ่ ๆ แต่ถ้าสมมติเป็นในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา ถ้าลองไปดูตามประวัติศาสตร์ เขาจะเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย เพราะพื้นที่อยู่ใน Ring Of Fire ซึ่งเป็นแนวรอยต่อแผ่นเปลือกโลก ซึ่งตรงนั้น ค่าการเกิดอาจจะเป็น 100 ปี/ครั้ง อย่างต่ำเลยก็คือขนาด 6.5 เพราะฉะนั้นในเมียนมาจะเห็นแผ่นดินไหวค่อนข้างถี่บ่อยกว่าในประเทศไทย การลดผลกระทบด้วยการปรับตัวรับมือป้องกันคือสิ่งที่ต้องขับเคลื่อน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว จ.เชียงราย สั่นสะเทือนไทย…เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ?
แม้ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้ขอบแผ่นเปลือกโลก แต่จริง ๆ แล้วเรามี รอยเลื่อนมีพลัง อยู่เป็นจำนวนมาก แผ่นดินไหวจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยบริเวณที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ ภาคเหนือ กับ ภาคตะวันตก ซึ่งตามข้อมูลของ กรมทรัพยากรธรณี พบว่า รอยเลื่อนมีพลังที่พาดผ่านประเทศไทย ได้แก่
- รอยเลื่อนแม่จัน (ผ่านเชียงราย, เชียงใหม่)
- รอยเลื่อนแม่อิง (ผ่านเชียงราย)
- รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน (ผ่านแม่ฮ่องสอน, ตาก)
- รอยเลื่อนเมย (ผ่านตาก, กำแพงเพชร)
- รอยเลื่อนแม่ทา (ผ่านเชียงใหม่, ลำพูน, เชียงราย)
- รอยเลื่อนเถิน (ผ่านลำปาง, แพร่)
- รอยเลื่อนพะเยา (ผ่านพะเยา, เชียงราย, ลำปาง)
- รอยเลื่อนปัว (ผ่านน่าน)
- รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ (ผ่านอุตรดิตถ์)
- รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (ผ่านกาญจนบุรี)
- รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (ผ่านกาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, ตาก)
- รอยเลื่อนระนอง (ผ่านระนอง, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา)
- รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (ผ่านสุราษฎร์ธานี, กระบี่, พังงา)
- รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ (ผ่านเพชรบูรณ์)
- รอยเลื่อนแม่ลาว (ผ่านเชียงราย)
- รอยเลื่อนเวียงแห (ผ่านเชียงใหม่)