อนาคต ของ “โอมิครอน” รุนแรง หรือ รับได้?

โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะเข้ามาระบาดในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายของนักระบาดวิทยา แต่แนวโน้มอนาคตของสายพันธุ์โอมิครอน หลังมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโปรตีนหนามไปถึง 50 ตำแหน่ง ก็ทำให้ต้องมาเรียนรู้กันใหม่บนฐานของบทเรียนเดิมของโควิด-19 ที่ระบาดและกลายพันธุ์ต่อเนื่องกินเวลามาถึง 2 ปีแล้ว

แพทย์หลายคนเห็นตรงกัน สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโควิด-19 ใกล้ถึงจุดเปลี่ยน จากโรคระบาด เป็น โรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่

The Active รวบรวมความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินสถานการณ์ระบาดและความพร้อมรับมือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้

‘นพ.ยง’ ตอบ 3 คำถามเกี่ยวกับ “โอมิครอน”

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามเป็นข้อ ๆ ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน

โอมิครอน ติดต่อง่ายจริงหรือไม่?

ขณะนี้ หลังจากพบสายพันธุ์โอมิครอน ที่แอฟริกาตอนใต้ ไวรัสนี้ได้แพร่กระจายพบในประเทศต่าง ๆ นอกทวีปแอฟริการวมแล้วเกือบ 50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่าย กว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) อย่างแน่นอน โดยมีอำนาจการแพร่กระจายโรคมากกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป และในอนาคตสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา

โอมิครอน หลบหลีกภูมิต้านทานจากการติดเชื้อเดิม หรือวัคซีนได้หรือไม่?

ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบขณะนี้ มีจำนวนหนึ่งฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม และอีกจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเคยเป็นโรคโควิด-19 มาก่อน ก็สามารถติดเชื้อได้ แสดงว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันได้แบบไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการติดเชื้อได้ แต่เกือบทั้งหมดมีอาการลดลง หรือไม่มีอาการเลย วัคซีนยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้

โอมิครอน ความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร?

ในผู้ป่วยที่พบนอกทวีปแอฟริกา จำนวนมากกว่าพันราย ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ในทวีปแอฟริกาเอง มีการรายงานเบื้องต้น ในถิ่นระบาดของโรค พบว่า ส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และที่เหลือส่วนใหญ่มีอาการน้อย

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอ เพราะในระยะเริ่มต้นการติดเชื้อ อาจจะยังมีอาการน้อย การเกิดปอดบวม หรือต้องเข้าโรงพยาบาล จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คำถามข้อนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ ว่ามีความรุนแรงอย่างไร คงต้องรอคำตอบอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็น่าจะรู้เรื่อง แต่แนวโน้มความรุนแรงลดลง

ความสำคัญของ โอมิครอน อยู่ที่ “ความรุนแรงของโรค” ว่าเชื้อนี้จะลดความรุนแรงลงหรือไม่ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก และหลบหลีกภูมิต้านทานได้เป็นบางส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่เคยป่วยมาก่อน มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ เมื่อติดเชื้อแล้ว ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน เหมือนกับโรคทางเดินหายใจที่พบอยู่ขณะนี้

และ ในอนาคตความจำเป็นในการต้องตรวจกรองผู้สัมผัสทั้งหมด ก็ไม่มีความจำเป็น จะเป็นโรคทางเดินหายใจ ที่มักจะเป็นในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อไปก็จะไม่มีอาการ เป็นเพียงเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานโรคไวรัสทางเดินหายใจในผู้ที่แข็งแรง ที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้ จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ จะเป็นปัญหาในกลุ่มเสี่ยงหรือร่างกายไม่แข็งแรง

“ในระยะเวลาอีกไม่นาน ก็คงรู้คำตอบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ที่ขณะนี้ทุกคนตั้งใจรอ”

กรมควบคุมโรค ชี้โควิด-19 โรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค วิเคราะห์สถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอนว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 พบมาตลอด สิ่งที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการหลังกลายพันธุ์แล้ว คือ

  1. แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น
  2. ความรุนแรงมากขึ้น
  3. ดื้อต่อการรักษา
  4. ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยสําคัญ

“แต่ขณะนี้รูปแบบของโควิด 19 ใกล้เคียงโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อระบาดไปเยอะแล้วจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคเหมือนจะลดน้อยลง”

สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้แพร่ระบาดได้เร็วกว่า 2-5 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่แยกยากจากสายพันธุ์อื่น มาตรการป้องกันที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 95 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้วเกิน 75% เข็มที่ 2 เกินกว่า 60% ส่วนบูสเตอร์โดสให้รอประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ว่าให้ฉีดในช่วงไหน คาดว่าภายในเดือนธันวาคมถึงมกราคม จะเร่งฉีดบูสเตอร์ให้ประชาชนได้มากที่สุด

เช่นเดียวกับ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า สายพันธุ์โอมิครอนถือว่าแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

“เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น อาจเป็นตัวช่วยให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้นและเข้าสู่นิวนอร์มัลเร็วขึ้น”

ผู้อำนวยการกองระบาด ระบุต่อไปว่า แต่ยังต้องดำเนินมาตรการ VUCA (Vaccine, Universal Prevention, COVID Free Setting และ ATK) ควบคู่ด้วย คือ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ซึ่งวัคซีนทุกวันนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิต เข้มมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา โดยเฉพาะคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ต้องเข้มมาตรการด้วยโดยเฉพาะการสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับเข้าประเทศ กิจการใช้มาตรการ COVID Free Setting และการตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง ซึ่งต้องปฏิบัติจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เนื่องจากถ้าไม่เข้มงวด โอกาสการแพร่เชื้อจะเร็วขึ้น

แพทย์ระบาด ม.อ. ห่วงกลุ่มคนไม่ฉีดวัคซีน

ศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ย้อนที่มาการกลายพันธุ์ของเชื้อโอมิครอน จากกรณีนักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กลายพันธุ์จากต้นตอไปไกลมาก คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ผ่านการก๊อบปี้เป็นจำนวนครั้งมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันต้องระบาดมานานแล้ว แต่ตรวจพบเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน
 
นักวิทยาศาสตร์ พยายามอธิบายว่า แอฟริกามีผู้ป่วยโรคเอดส์จำนวนมาก คนเหล่านี้ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายเป็นเรือนเพาะชำแปรเปลี่ยนพันธุ์ที่ดีเป็นพิเศษ แต่สิ่งแวดล้อมหรือคนในแอฟริกาใต้อาจจะไม่ได้เร่งอัตราการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 บางทีอาจเป็นด้วยผู้ติดเชื้อทั้งโควิดและเอชไอวีในแอฟริกาใต้กินยาฆ่าเชื้อเอชไอวีเข้าไปแบบกินบ้างไม่กินบ้าง เชื้อโควิด-19 ในร่างกายโดนแรงกดดันอ่อน ๆ จากยาฆ่าเชื้อเอชไอวี เชื้อโควิด-19 เลยต้องกลายพันธุ์หนี

คำถามต่อมา แล้ววัคซีนที่ไทยมีอยู่ ทั้งจากจีน อเมริกา อังกฤษจะป้องกันโอมิครอนได้หรือไม่ ศ.นพ.วีระศักดิ์ บอกว่า ที่ผ่านมาวัคซีนได้ผลในการป้องกันการแพร่เชื้อได้เฉพาะรุ่นแรก ๆ ตอนโควิดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา เท่านั้น พอเปลี่ยนไปเป็นสายพันธุ์อินเดีย หรือ เดลตา ไม่ว่าวัคซีนยี่ห้ออะไรจากประเทศไหนก็ป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้ผล

“หมอ พยาบาล ในภาคใต้ ฉีดวัคซีนดีที่สุดเต็มพิกัด ระดับแอนติบอดีก็น่าจะสูงปรี๊ด ก็ยังติดเชื้อจนต้องปิดโรงพยาบาลบางส่วน เมื่อเดือนสองเดือนที่แล้ว”

ศ.นพ.วีระศักดิ์ มองต่อว่า โอมิครอนเมื่อเข้าถึงไทย ก็จะเจาะกลุ่มคนไทยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนสักเข็ม ซึ่งมีอยู่ราว 1 ใน 5 ของคนไทยทั้งหมด (ไม่รวมเด็ก) โดยวัคซีนอาจจะไม่ได้ผลในการลดการแพร่เชื้อโอมิครอน เหมือนที่ไม่ได้ผลในการลดการแพร่เชื้อเดลตา
 
เมื่อเดือนกรกฎาคม -สิงหาคม 2564 เป็นช่วงพีคที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด เรียกว่า funeral phase จากการะบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา เฉลี่ยแล้ว 2-3 เดือนก็ซาลง คนรุ่นหลัง ๆ ติดเชื้อได้แต่ไม่ค่อยเสียชีวิต นักระบาดวิทยาทางอินเดียบอกว่า คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อซ้ำ (ครั้งแรกติดเชื้อโดยไม่มีอาการ) ขณะที่ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยในกรุงเทพฯ บางวันก็น้อยกว่า จ.สงขลา ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ มีประชากรมากกว่าสงขลากว่าสิบเท่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังสำรวจภูมิต้านทานของคนกรุงเทพฯ ว่ามีระดับแอนติบอดีสูงจริงหรือไม่ ทั้งจากการติดเชื้อและจากการฉีดวัคซีน

“ถ้าโอมิครอนเข้า กทม. ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องกลัวเดลตาแล้วต้องกลัวโอมิครอนไหม ภูมิต้านทานของคนกรุงเทพฯ เพิ่งผ่านการรบขนาดใหญ่มาไม่นาน ในขณะนี้น่าจะพอเอาโอมิครอนอยู่ กรุงเทพฯ เราจะไม่แตกและไม่มี funeral phase อีก การติดเชื้อในกรุงเทพฯ อาจจะมีบ้าง แต่น่าจะไม่รุนแรง”

ศ.นพ.วีระศักดิ์ แนะอีกว่า ควรต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ให้คนกรุงเทพฯ แม้ฉีดไปก็อาจจะไม่ได้อะไรมากนัก แต่รอให้มีหลักฐานว่าระดับภูมิต้านทานของประชากรเริ่มต่ำ หรือ เริ่มมีการป่วยหนักประปราย ค่อยมาฉีดก็ยังทัน เพราะหลังการฉีด ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็วมาก ไม่เหมือนตอนฉีดรองพื้นเข็มแรกเข็มสอง แทนที่จะห่วงกรุงเทพฯ ควรจะห่วงจังหวัดที่ยังไม่เคยมีการระบาดและไม่เคยฉีดวัคซีนจะดีกว่า

“วัคซีนเป็นเหมือนสินค้าที่เสื่อมเร็ว (perishable goods) เหมือนผักสด และ เหมือนหนังสือพิมพ์รายวัน วันแรกเราเรียกว่า หนังสือพิมพ์ อีกสองสามวันเราเรียกใหม่ว่า กระดาษหนังสือพิมพ์ ทำเป็นถุงใส่กล้วยแขก”

ขณะที่วัคซีนของเก่าที่ตกค้างกำลังจะหมดอายุ วัคซีนใหม่ทยอยเข้ามาสมทบ แต่คนไทยอีกจำนวนมากกลับยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนเวียดนาม แม้โควิด-19 ระบาดทีหลังประเทศไทย มีคนเสียชีวิตมากกว่า และเริ่มฉีดวัคซีนทีหลัง แต่อาจจะแซงประเทศไทยในไม่ช้า
 
อัตราการฉีดวัคซีนแสดงถึงความสามารถในการแข่งขัน ถ้าไม่ฉีดวัคซีน ชาวต่างชาติอาจจะไม่ค่อยกล้ามาลงทุน หากต้องให้คนเหล่านี้เข้ามาลงทุนก็ควรฉีดให้ครบถ้วน “เพราะนอกจากเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ วัคซีนยังเป็นไม้ตายไม้เดียวที่จะสู้กับโอมิครอน”

แพทย์วิจัย มช. ชี้ ถ้าโชคดีไม่รุนแรงจะสูญเสียน้อยกว่าทุกครั้ง

จากการติดตามข้อมูลการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนในประเทศแอฟริกาใต้ ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า จากกราฟจะเห็นว่าช่วงขาขึ้นของการระบาดระลอกนี้มีความชัน คือ อัตราการเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการระบาดทั้ง 3 ระลอกที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน ยืนยันว่าความสามารถในการแพร่เชื้อของโอมิครอนว่าน่าจะง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

ภาพแรก แสดงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศแอฟริกาใต้ จะเห็นว่าครั้งนี้เป็นการระบาดระลอกที่ 4 แล้ว โดยพอจะสรุปการระบาดได้ดังนี้

  • ระลอกแรกในช่วงกลางปี 2563 เกิดจากสายพันธุ์ดั้งเดิม
  • ระลอกที่ 2 ในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 เกิดจากสายพันธุ์เบตา
  • ระลอกที่ 3 ในช่วงกลางปี 2564 เกิดจากสายพันธุ์เดลตา
  • ระลอกที่ 4 เพิ่งเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าเกิดจากสายพันธุ์โอมิครอน (ข้อมูลเบื้องต้นจากการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อที่ระบาดในเดือนพฤศจิกายน พบว่า 75% เป็นโอมิครอน)

ภาพสอง แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยต่อวันในการระบาดระลอกที่ 4 ของประเทศแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึงปัจจุบัน (แพทย์ในแอฟริกาค้นพบไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นครั้งแรก และส่งเชื้อให้องค์การอนามัยโลกในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564)

จะเห็นว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วมาก ทั้ง ๆ ที่ประชากรในแอฟริกาใต้เกือบ 3 ล้านคน (ประมาณ 5%) เคยติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ มาก่อน และเกือบ 20 ล้านคน (ประมาณ 30%) ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม แสดงว่าโอมิครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากทั้งการติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันได้

ภาพสาม แสดงจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อวันในการระบาดระลอกที่ 4 ของประเทศแอฟริกาใต้นับตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึง 3 ธันวาคม 2564 จะเห็นว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังเป็นช่วงต้น ๆ ของระลอก 4 เท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามหลังจำนวนผู้ติดเชื้อราว 1-2 สัปดาห์เมื่อจำนวนผู้ป่วยหนักเริ่มเกินศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยของประเทศนั้น ๆ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าโอมิครอนก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ จริงหรือไม่

ภาพสุดท้าย คือ กราฟจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงพฤศจิกายน ที่เก็บโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเห็นแนวโน้ม จำนวนผู้ติดเชื้อ ลดลง หลังจากยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นตามแนวเส้นประที่เห็นนี้

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า จากการติดตามและรวบรวมข้อมูลจนถึงปัจจุบัน บ่งชี้ว่าโอมิครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น แพร่ได้ทั้งในคนทั่วไปและคนที่เคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนมาก่อน แต่ยังรอข้อมูลด้านความรุนแรงในการก่อโรคซึ่งน่าจะเห็นชัดเจนมากขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนโดยตรงก็ตาม แต่การเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจที่เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีความเป็นไปได้ว่าไม่ช้าก็เร็วโอมิครอนจะแพร่เข้ามาในประเทศอย่างแน่นอน แต่แทนที่จะแตกตื่นตกใจแบบไร้สติ เรากลับต้องเร่งติดอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการระบาดของโอมิครอนหรือแม้แต่สายพันธุ์อื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเต็มที่ โดยคนไทยทุกคนต้องรีบไปฉีดวัคซีนให้ครบ 100% โดยเร็ว ร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลอย่างเคร่งครัด 

“ถ้าโชคดีที่โอมิครอนก่อโรคไม่รุนแรง เราจะได้ก้าวผ่านมันไปได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์