คำพูดของ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่บรรยายในเวทีเสวนาต่อหน้าสาธารณะ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา หรือ เพียงแค่ 1 สัปดาห์ หลังมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคก้าวไกล กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่ในเวลานี้
นี่อาจตอกย้ำหลักคิดของเหล่าผู้สนับสนุนอดีตพรรคก้าวไกล รวมถึงผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคม ที่ตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเมื่อได้ย้อนฟังหลักคิดของหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำลังทำให้คำวินิจฉัยยุบพรรค กลายเป็นเรื่องขำขัน เชิงเยาะเย้ย
อ่านเพิ่ม : ไม่ตลก! ‘โรม’ สวน ตุลาการศาล รธน. เยาะเย้ย อ้างยุบพรรคแล้วรวย 20 ล.
ไม่ใช่แค่ปฏิกิริยาของผู้คนในโลกออนไลน์ และในสังคมที่มีต่อคำพูดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในห้วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองไทยได้ก้าวผ่านอีกช่วงที่ดุเดือด ไล่ตั้งแต่การยุบพรรคก้าวไกล จนมาถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน 2 เหตุการณ์ โดยเฉพาะกรณีการยุบพรรคก้าวไกล สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญอีกครั้งให้กับการเมืองไทย ท่ามกลางการจับตาของหลายฝ่ายทั้งองค์กรภายใน และต่างประเทศ
The Active รวบรวมความเห็นของหลายหน่วยงาน ผู้แทนองค์กร ต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกล พบว่า มีอย่างน้อย 132 องค์กร แบ่งเป็นองค์กรต่างประเทศ 13 องค์กร และองค์กรภายในประเทศ 119 องค์กร (ในจำนวนนี้เป็นองค์กรนิสิต-นักศึกษา 116 องค์กร) ส่วนใหญ่ย้ำว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการตัดสินที่ลิดรอนสิทธิทางการเมือง ทำลายความหลากหลาย และย้ำว่า มาตรการยุบพรรคต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายในการลงโทษพรรคการเมือง
แน่นอนไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยังมีความพยายามอธิบายถึงความเหมาะสมต่อกรณีการยุบพรรคเช่นกัน
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรในไทยและนานาชาติภายหลังคำวินิยฉัยยุบพรรคก้าวไกล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 67 ยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถถูกแทรกแซงโดยอำนาจอื่น ๆ หรือรัฐบาลได้ โดยคำตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมายและต้องได้รับการเคารพจากประชาชนทั่วประเทศ
“การตัดสินวินิจฉัยของศาลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแทรกแซงได้โดยอำนาจอื่นหรือรัฐบาล โดยคำตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมาย
กระทรวงการต่างประเทศ
และต้องได้รับความเคารพโดยปวงชนชาวไทย”
กระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการตามค่านิยมประชาธิปไตย รวมถึงการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมอย่างสันติ และการก่อตั้งพรรคการเมือง พร้อมเน้นว่า ประเทศไทยภูมิใจในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขและจะดำเนินตามแนวทางนี้อย่างมั่นคง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 ก่อนมีคำวินิจฉัย มีการเปิดเผยรายงานข้อกังวลของ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ส่งถึง รัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลัก 2 ด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024
เอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรคที่มีสมาชิกมากเป็นอันดับ 1 อาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย และยังกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก
ทางการไทย จึงได้ชี้แจงและตอบกลับ UN ใจความว่า
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการหาเสียงมุ่งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 ม.49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”
อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
นั่นเป็นเหตุผลบางส่วนที่หน่วยงานภาครัฐไทย ชี้แจง และให้คำอธิบายกับคนในสังคม และองค์กรนานาชาติ ท่ามกลางคำถามไปจนถึงข้อห่วงกังวลมากมายต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นคู่ขนาน
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา คณาจารย์และนักกฎหมายจำนวน 134 คน ออกแถลงการณ์ คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงคำพิพากษาปลด เศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มองว่า การตีความกฎหมายและกระบวนพิจารณาของศาลไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความขยายเขตอำนาจของศาลที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคลการถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน
นักกฎหมายยังเตือนว่า คำวินิจฉัยได้ทำลายความเชื่อมั่นของชาวไทยและต่างประเทศที่มีต่อระบบกฎหมายของไทย การตัดสินคดีโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทางการเมือง ส่งผลให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในระบบกฎหมาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในอนาคต คณาจารย์จึงเรียกร้องให้สังคมไทยถกเถียงเรื่องการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังต่อไป
(อ่านแถลงการณ์ และความเห็นต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลของ 132 องค์กร และแถลงการณ์ของคณาจารย์และนักกฎหมาย 134 คนได้ ที่นี่)
สอดคล้องกับ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป วิจารณ์ว่า การยุบพรรคก้าวไกล เป็นการทำลายพหุนิยมทางการเมืองและเรียกร้องให้ไทยรับรองสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ในแถลงการณ์ย้ำว่า ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครจากหลากหลายฝ่าย ข้อจำกัดใด ๆ ที่มีต่อสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังพร้อมที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศไทยภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (PCA) ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนพหุนิยมประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)
แปลความจากคำกล่าวข้างต้น UN Human Rights กล่าวว่า “ไม่ควรมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองใดต้องเผชิญกับบทลงโทษดังกล่าว เพราะสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายอย่างสันติ โดยเฉพาะการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน”
โวลเกอร์ เติร์ก หัวหน้าสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยในการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและจำกัดความหลากหลายทางการเมือง
“ข้าพเจ้าเรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางในการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมและเคารพสิทธิในการแสดงออกและรวมตัวกันทางการเมือง และยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์”
โวลเกอร์ เติร์ก
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)
สอดคล้องกับ สมาชิกรัฐสภาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกมาประณามการตัดสินใจนี้ว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยและเรียกร้องให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญเพื่อเสริมสร้างการตรวจสอบถ่วงดุล
กลุ่มสมาชิก ยังระบุว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหนึ่งในภารกิจของรัฐสภาที่กระทำได้ นอกจากนี้ยังเตือนว่า การยุบพรรคจะทำให้การถกเถียงทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรไทยถูกจำกัดมากยิ่งขึ้น และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร และเตือนว่าการใช้กฎหมายในทางที่ผิดจะเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยในภูมิภาคอาเซียน
“เรารู้สึกใจหายกับคำตัดสินอันไร้ยางอายของศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคก้าวไกล การเทียบว่าการแก้ไขกฎหมายอันเป็นหน้าที่หนึ่งของรัฐสภาเท่ากับความพยายามล้มล้างสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งไร้สาระและทำลายความเป็นเอกภาพของกระบวนการรัฐสภา”
สมาชิกรัฐสภาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)
Amnesty International วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ไร้ความชอบธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน การยุบพรรคเพียงเพราะเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย ม.112 ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของประชาชน และสะท้อนถึงการคุกคามต่อฝ่ายการเมืองฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย
Amnesty International ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่และคุกคามผู้วิจารณ์และฝ่ายการเมืองฝ่ายค้านอีกด้วย
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)
สำหรับ องค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษา 88 องค์กร แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกระบวนการนิติบัญญัติ การตัดสินนี้อาจละเมิดสิทธิและเสียงของประชาชนกว่า 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกล รวมถึงสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถยื่นยุบพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงโดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคได้แก้ข้อกล่าวหา
องค์กรผู้แทนนิสิตนักศึกษายืนยันที่จะยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีสิทธิเสรีภาพและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด แม้จะไม่มีพรรคก้าวไกลแล้วก็ตาม พร้อมเรียกร้องว่าการยุบพรรคการเมืองในครั้งนี้ควรเป็นครั้งสุดท้าย
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)
เช่นเดียวกับ สมัชชาคนจน แถลงว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวสร้างความกังวลต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งได้กล้าหาญเสนอนโยบายใหม่ ๆ ผ่านการตั้งพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในรัฐสภา และพวกเขาได้รับการตอบรับจากประชาชนและพยายามดำเนินนโยบายที่หาเสียงไว้
อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านั้นกลับถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้เป็นเครื่องมือทำลายพรรค และศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นชอบกับการกระทำดังกล่าวแทนที่จะปล่อยให้การต่อสู้ดำเนินในรัฐสภา
สมัชชาคนจน ยังเชื่อว่า การยุบพรรคก้าวไกลคือการผลักความขัดแย้งออกมาสู่ท้องถนน ซึ่งอาจลุกลามเหมือนในอดีต และไม่สามารถยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)