ยุบแล้วไปไหน: เปิดวัฏสงสารพรรคการเมืองไทย ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไว’

โทษยุบพรรคมีได้ แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องพรรคการเมือง
ที่มีส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์​ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ในสังคมประชาธิปไตย ‘พรรคการเมือง’ มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นกระจกสะท้อนอุดมการณ์ของประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย สินค้าที่เรียกว่า ‘พรรคการเมือง’ จึงควรแข่งขันกันได้อย่างยุติธรรม เพื่อแข่งกันสร้างนโยบายคุณภาพ แข่งกันทำผลงาน ให้ผู้คนจับจ่ายเลือกซื้อ ‘พรรค’ ได้โดยอิสระ ไม่มีการผูกขาดจากกลุ่มอำนาจหรือกลุ่มทุนใหญ่ และจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก

‘การยุบพรรคการเมือง’ จึงเป็นการใช้อำนาจตุลาการ เพื่อกำหนดว่าพรรคการเมืองใดบ้างที่ไม่คู่ควรกับสังคมไทย การยุบพรรคการเมืองยังถูกมองว่าเป็นการปฏิเสธเสียงของประชาชนที่เลือกตัวแทนของพวกเขาที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เป็นการทำลายอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีที่มาโดยตรงจากประชาชน ดังนั้น การจะยุบพรรคจึงไม่ควรหยิบใช้โดยทั่วไป ควรกระทำโดยระมัดระวัง และควรมองเป็น ‘มาตรการสุดท้าย‘ ที่จะใช้พิพากษาอำนาจของประชาชน

แม้การยุบพรรคจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการเมืองไทย แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มีพรรคการเมืองถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วทั้งสิ้น 110 พรรค และมีกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ไปอย่างน้อย 270 คน และหากผลการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลที่จะประกาศในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 มีผลให้ยุบพรรค นี่ก็จะเป็นพรรคที่ 111 ที่ถูกยุบลงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

‘การยุบพรรค’ อาจทำให้พรรคการเมืองหนึ่งหมดสภาพและสิ้นอำนาจทางการเมือง แต่นี่จะเป็นวิธีหยุด ‘เจตจำนง’ ของพรรคการเมืองได้หรือไม่? The Active รวบรวมข้อมูลของบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และบทบาทในปัจจุบันของอดีตกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิ์ไป ว่ายังว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสารการเมืองไทยอยู่หรือไม่ ? และเมื่อไหร่พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมือง เป็นเสาหลักให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเบ่งบาน ทัดเทียมนานาอารยประเทศได้จริง

ตั้งแต่ปี 2541 ถูกยุบไปแล้ว 110 พรรค:
คดีล้มล้างการปกครอง ‘มีสัดส่วน’ เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก รายงานการศึกษาวิจัย ‘การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ โดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล หัวหน้าคณะผู้วิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประมวลข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาเพิ่มเติมจาก WeViz พบว่า ตั้งแต่ปี 2541 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วทั้งสิ้น 110 พรรค โดยเหตุแห่งการยุบพรรคที่ปรากฏมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ‘จำนวนคนไม่ถึงเกณฑ์’ 43 พรรค อันดับ 2 คือ ‘ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคหรือรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคให้ถูกต้อง’ 39 พรรค

จะพบว่าเหตุแห่งการยุบพรรคราว 35% เป็นเรื่องการดำเนินธุรการที่ไม่ถูกต้อง เอกสารตกหล่น ไม่ครบถ้วน หรือส่งเอกสารล่าช้าจนนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับพรรคเล็ก ๆ ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2541 (2541 – 2550) ขณะที่เหตุยุบพรรคอีก 39% เป็นเรื่องขนาดพรรคที่เล็กเกินไป ด้วยข้อกำหนดเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เติบโตได้ยากลำบาก เพราะไม่มีทุนมากพอทั้งในแง่สมาชิกและทุนประเดิม ทั้งยังติดข้อกำหนดในการหารายได้อีกด้วย ทำให้พรรคส่วนใหญ่จะอยู่รอดได้ต้องมีกลุ่มทุนหนุนหลัง ไม่เป็นอิสระทางอำนาจ

ขณะที่เหตุแห่งการยุบพรรคอันดับที่ 3 คือ ‘อาจเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครอง’ จำนวน 8 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (2550) พรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพัฒนาชาติไทย (2550) พรรคแผ่นดินไทย (2550) พรรคชาติไทย (2551) พรรคพลังประชาชน (2551) พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) และพรรคไทยรักษาชาติ (2562) ซึ่งพรรคการเมืองที่ถูกยุบเหล่านี้ประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรคที่มีบทบาทยึดโยงการเมืองไทย อย่างเครือข่ายบ้านใหญ่ เครือข่ายการเมืองท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ ‘บ้านเลขที่ 111’ และ ‘บ้านเลขที่ 109’ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่หลังม่านการเมืองในปัจจุบัน

แม้จำนวนพรรคที่ถูกยุบจะลดน้อยลงในช่วงปี 2551 เป็นต้นมา เนื่องจากไม่ค่อยมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบด้วยเหตุทางธุรการหรือขนาดของพรรคเหมือนช่วง 2541 – 2550 ที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนแล้วพบว่า คดีพรรคการเมืองอาจเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครอง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 4.35% (4 ใน 92 พรรค) ในช่วง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2541 เพิ่มเป็น 18.75% (3 ใน 16 พรรค) ในช่วง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2551 และเพิ่มเป็น 50% (1 ใน 2 พรรค) ในช่วงที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 และหากศาลมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 67% (2 ใน 3 พรรค) ทันที

ลดจำนวนกรรมการบริหาร
‘ทางหนีตาย’ จากคดียุบพรรคซ้ำซาก

ภายหลังศาลฯ ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2549 นำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ของกรรมการบริหารพรรค 111 คน (เป็นที่มาของ ‘บ้านเลขที่ 111’) จากทั้งหมด 119 คน ผลพวงของคำพิพากษาในครั้งนั้น นำไปสู่การพยายาม ‘ตัดช่องน้อยแต่พอตัว’ ของพรรคการเมืองไทยเพื่อลดผลกระทบที่ตามมาหากถูกตัดสิทธิทางการเมืองยกแผง

ต่อมาในปี 2551 อดีตพรรคไทยรักไทยได้พาสมาชิกและก๊กก๊วนที่เหลืออยู่ย้ายเข้าบ้านใหม่ในชื่อพรรค ‘พลังประชาชน’ ซึ่งลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคเหลือเพียง 39 คนเท่านั้น ก่อนจะมีคำสั่งยุบพรรคซ้ำอีกด้วยเรื่องคล้ายเดิม และกลายเป็นพรรค ‘เพื่อไทย’ ในปัจจุบัน ที่มีจำนวนกรรมการบริหารพรรคเพียง 23 คน หรือหดตัวลงจากปี 2549 ถึง 79% ซึ่งสวนทางกับจำนวน สส. ภายในพรรคและบรรดาสมาชิกพรรคที่มีอยู่เกือบครึ่งแสน

เช่นเดียวกันกับพรรคอื่นอย่าง พรรค ‘ชาติไทย’ ที่เคยมีจำนวนกรรมการบริหารพรรคถึง 42 คนในปี 2551 ก่อนจะถูกยุบพรรคด้วยคำวินิจฉัยคล้ายกันกับพรรคไทยรักไทย (เป็น 1 ใน 3 พรรคของกลุ่มบ้านเลขที่ 109) จนกลายมาเป็นพรรค ‘ชาติไทยพัฒนา’ ในปัจจุบัน ที่มีกรรมการบริหารพรรคเหลือเพียง 21 คน หรือหดตัวลงครึ่งหนึ่ง

ขณะที่พรรค ‘ประชาธิปัตย์’ ในช่วงปี 2549 ที่จริง ๆ ก็ถูกร้องให้ยุบพรรคด้วยเช่นเดียวกัน แต่ศาลวินิจฉัยไม่ยุบพรรค ถึงอย่างนั้นก็มีความพยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคจาก 49 คน (2549) เหลือเพียง 19 คน (2552) แต่ปัจจุบันได้ขยายตัวมากขึ้นเป็น 38 คน แต่ก็ยังหดตัวลงจากปี 2549 ถึง 22%

สำหรับพรรค ‘อนาคตใหม่’ มีจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่น้อยอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เพียง 16 คนเท่านั้น แต่ภายหลังถูกตัดสิทธิทางการเมืองยกแผง 10 ปี เข้ายุคสมัยของพรรค ‘ก้าวไกล’ จึงเหลือเพียง 10 คน และภายหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พ้นปมคดีหุ้นสื่อไอทีวี กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลก็ลดจำนวนเหลือแค่ 8 คนเท่านั้น ซึ่งหดตัวจากช่วงก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ถึง 50% ซึ่งส่วนทางกับจำนวนสมาชิกกว่าครึ่งแสน

การยุบพรรคไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาระบบการเมือง
แต่กลับทำให้พรรคการเมืองปรับลดจำนวนกรรมการบริหาร
เพื่อลดผลกระทบจากการยุบพรรค

ความตอนหนึ่งจาก รายงานการศึกษาวิจัย ‘การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’

คนการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์
47% ยังมีบทบาทกับการเมืองไทย

รายงานการศึกษาวิจัย ‘การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’ ยังวิเคราะห์ไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองสะท้อนถึงความอ่อนแอของระบบพรรคการเมืองไทย ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถพัฒนาไปสู่สถาบันการเมืองได้อย่างแท้จริง เพราะการยุบพรรคไม่ได้ยับยั้งบทบาททางการเมือง การสืบทอดตำแหน่งภายในพรรคการเมืองผ่านเครือญาติ คู่สมรส ลูกหลาน กลับมีพบให้เห็นมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพของนักการเมืองลดลง และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศที่ไม่แข็งแรง

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวเพิ่มเติมในรายการ Flash Talk โดยระบุว่า อีกผลพวงสำคัญของการยุบพรรคและการตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมือง คือ การส่งผลโดยตรงต่อสถานะของรัฐบาล ยกตัวอย่างกรณี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่เมื่อมีคำสั่งยุบพรรค ทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชาชนล้มลงไปด้วย ส่งผลต่อแนวทางการวางโครงสร้างพรรคการเมืองในเวลาต่อมา คือ ผู้นำตัวจริงไม่มีตำแหน่งบริหารในพรรค ไม่เอื้อต่อกลไกการตรวจสอบพรรคการเมือง อีกทั้งจำนวนของกรรมการบริหารพรรคที่น้อยเกินไป ไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น

The Active รวบรวมรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากกลุ่มบ้านเลขที่ 111 (พรรคไทยรักไทย รวมกับพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย), บ้านเลขที่ 109 (พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย), พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งสิ้น 270 คน เพื่อดูว่าบุคคลเหล่านี้ยังเคลื่อนไหวหรือมีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันอยู่หรือไม่?

อ่านข้อมูลดิบเพิ่มเติมได้ที่:
https://docs.google.com/spreadsheets/d/1679ugZqo8G9njM1BTjkUeezd2LDUvvrkHFd_BMjqS-g/edit?usp=sharing

จากการสืบค้นพบว่าบรรดาอดีตกรรมการบริหารพรรคที่เคยถูกตัดสิทธิ์กว่า 47.7% ยังคงมีบทบาททางการเมืองไทยในยุคสมัยรัฐบาลเศรษฐา 1 (พ.ค. 2566 – ส.ค. 2567) โดยแบ่งเป็น 32.5% ยังมีบทบาทในการเมืองภาพใหญ่ เช่น เป็นคณะรัฐมนตรี, เป็นสมาชิกสภาฯ, นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการ เป็นต้น, 8.5% ยังมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น เช่น เป็นสมาชิก อบจ., เครือข่ายบ้านใหญ่, ทำงานเคลื่อนไหวประเด็นท้องถิ่น เป็นต้น และอีก 6.7% มีทายาททางการเมือง หรือสนับสนุนเครือญาติเข้าไปมีบทบาทในการเมือง

ส่วนที่เหลือพบว่า 28.5% ไม่พบการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน, 6.6% เสียชีวิตแล้ว, 6.6% ประกอบธุรกิจหรือเป็นเจ้าของกลุ่มทุน, 1.8 อยู่ในวงการกีฬา และอื่น ๆ อีก 8.8% โดยจำแนกตามกลุ่มการเมือง ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (บ้านเลขที่ 111) และพรรคที่เกี่ยวโยงอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย จำนวนทั้งสิ้น 133 คน

    แม้ในอดีตกลุ่มบ้านเลขที่ 111 จะเป็นพลพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และเป็นที่มาของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน แต่บรรดาสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยังแทรกซึมอยู่ตามพรรคอื่น ๆ เช่น อนุชา นาคาศัย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ, พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา เป็นต้น และยังมีบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองไทยที่น่าสนใจ เช่น
    • ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มีทายาททางการเมืองมาถึงปัจจุบัน
    • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
    • จาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทย อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
    • วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
    • สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
    • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม
    • อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
    • ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
    • ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
  • กลุ่มที่ 2 กรรมการบริหารพรรคพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (บ้านเลขที่ 109) จำนวนทั้งสิ้น 109 ราย

    ส่วนใหญ่กระจายตัวตามพรรคการเมืองต่าง ๆ ในปัจจุบัน และเป็นกลุ่มตระกูลบ้านใหญ่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น จองชัย เที่ยงธรรม บ้านใหญ่สุพรรณบุรี, เอกพจน์ ปานแย้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองคลองหลวง, สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น และยังมีบุคคลที่มีบทบาททางการเมืองไทยที่น่าสนใจ เช่น
    • บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี (เสียชีวิต)
    • ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
    • วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    • สมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและอดีตนายกรัฐมนตรี (เสียชีวิต)
    • สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้สมัคร สว. และอดีตนายกรัฐมนตรี
    • สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมการ Soft Power
    • สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม
    • ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย
    • สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว.ศึกษาธิการและโฆษก ศธ.
  • กลุ่มที่ 3 กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ 13 ราย ได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่เกิดจากยุทธการ ‘แตกแบงก์พัน’ ของพรรคเพื่อไทย เพื่อหวังเก็บคะแนนที่ตกหล่นเพื่อไปคำนวณเป็น สส.บัญชีรายชื่อ แต่แล้วยุทธศาสตร​์นี้ต้องจบลง เพราะการเสนอพระนาม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2561 มาตรา 92(2) อาจเป็น “ปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยปัจจุบัน กรรมการบริหารพรรคก็ยังคงมีบทบาทในหลายวงการ
    • ฤภพ ชินวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE Village Bangkok
    • ปรีชาพล พงษ์พานิช คกก.การกีฬาแห่งประเทศไทย และกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
    • พฤฒิชัย วิริยะโรจน์ คณะอนุกรรมาธิการการเงินฯ
    • วิม รุ่งวัฒนจินดา กรรมการบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
    • พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ผู้ประกาศข่าว Thairath TV
    • ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ
  • กลุ่มที่ 4 กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ 16 ราย ภายหลังถูกตัดสินยุบพรรคเหตุรับบริจาคทรัพย์สินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางพรรคได้ประกาศแน่ชัดว่าจะพา 12 กรรมการบริหารพรรคตั้งคณะก้าวหน้า มุ่งทำงานทางการเมืองท้องถิ่นคู่ขนานไปกับการเมืองภาพใหญ่สภา ซึ่งส่งไม้ต่อให้กับพรรคก้าวไกล

    ทั้งนี้ คณะก้าวหน้ายังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกล จนได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปัจจุบันกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ยังทำงานคณะก้าวหน้า ขณะที่บางส่วนได้ร่วมกับพรรคอื่น และส่วนหนึ่งได้หยุดทำงานการเมืองไปแล้ว เช่น
    • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
    • กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า
    • พงศกร รอดชมภู รองประธานกรรมการคณะก้าวหน้า
    • ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า
    • พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า
    • นิรามาน สุไลมาน ไม่พบการเคลื่อนไหว
    • จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ กมธ. งบฯ ปี 2567 โควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ

‘เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก’
เปิด 10 ข้อเสนอจาก กมธ. พัฒนาการเมืองฯ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองให้ “เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ย้ำว่า พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในสังคมประชาธิปไตย โดยเปรียบพรรคการเมืองเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันอย่างยุติธรรม เพื่อให้ได้นโยบายที่มีคุณภาพ ไม่มีการผูกขาด และต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่จากกลุ่มทุนใหญ่

โดยพริษฐ์ ได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ง่ายขึ้น โดยลดอุปสรรคและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ลดจำนวนผู้ร่วมจัดตั้ง ลดทุนประเดิม และปรับปรุงระบบเอกสารให้สามารถดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นต้น ภายหลังการหารือในชั้นอนุกรรมาธิการกับบรรดาพรรคการเมือง นักวิชาการ เจ้าหน้าที่การเมือง และ กกต. จึงออกมาเป็นข้อเสนอ 10 ข้อ ดังนี้

  1. ลดเงื่อนไขในการตั้งพรรค เช่น จำนวนผู้จัดตั้ง ทุนประเดิม เอกสารที่เกินจำเป็น
  2. เปิดให้พรรคการเมืองมีความหลากหลายได้มากขึ้น เช่น เชิงประเด็น เชิงภูมิภาค
  3. อำนวยความสะดวกในการสมัครสมาชิก เช่น หยุดบังคับพรรคเรื่องค่าสมาชิก
  4. ปลดล็อกให้ระดุมทุนจากประชาชนได้ง่ายขึ้น เช่น ขายสินค้าพรรคออนไลน์ได้
  5. ป้องกันการครอบงำโดยทุนใหญ่ และป้องกันการบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  6. ลดเงื่อนไขที่เพิ่มค่าใช้จ่ายทางธุรการ เช่น เปิดให้ทำธุรการออนไลน์ได้
  7. เพิ่มความคล่องตัวในการใช้จ่าย เช่น ส่งเงินที่อุดหนุนผ่านภาษีมาที่พรรคโดยตรง
  8. ปรับมาตรการที่มีสภาพบังคับมาเป็นการจูงใจ เช่น ข้อกำหนดเรื่องจำนวนสมาชิก
  9. ทบทวนเงื่อนไขยุบพรรคให้สอดคล้องหลักสากล และหลักการ “พรรคใหญ่กว่าคน”
  10. ยกเลิกโทษเรื่องการเพิกถอนสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

บททิ้งท้าย:
การยุบพรรคต้องเป็น ‘มาตรการสุดท้าย’ และไม่ทำลาย ‘เจตจำนงของประชาชน’

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ยังให้ความเห็นต่อโทษการยุบพรรคไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ต้องไม่ทำลายเจตจำนงของประชาชนในการก่อตั้งพรรคการเมือง (เว้นแต่มีความจำเป็น เช่น พรรคการเมืองนั้นกระทำหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรง ตั้งกองกำลังปลุกระดมล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ) ส่วนพรรคที่เสนอเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดย ‘สันติวิธี’ อย่างการทำประชามติ การเสนอกฎหมายผ่านกลไกนิติบัญญัติ ไม่ควรถูกยุบ

ท้ายที่สุด การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นมาตรการสุดท้าย สุดท้ายที่หมายถึงพิจารณาใช้มาตรการอื่นแล้วอย่างเป็นลำดับ เช่น ตักเตือน การปรับ การลงโทษเฉพาะสมาชิกบางราย ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วน เพราะการยุบพรรคมีผลกระทบวงกว้าง ทำลายเจตนารมณ์ของปวงชน และการยุบพรรคต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอว่าพรรคกระทำผิดร้ายแรงอย่างยิ่ง เช่น การใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้าย

“ไม่เกี่ยวว่าพรรคที่ถูกยุบคือพรรคไหน มาตรการยุบพรรคต้องเป็นมาตรการท้ายสุด ไม่ใช่แรกสุด และถึงยุบพรรคไป เขาก็ตั้งพรรคใหม่ได้ คนที่ถูกตัดสิทธิก็ไม่ใช่ตัวจริงของพรรค สุดท้ายคนที่ซวยคือประชาชน”

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ผศ.ปริญญา ย้ำว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้นจะเป็นก้าวไกลหรือพรรคใดก็ตาม ก็ไม่ควรถูกยุบไปเสียง่าย ๆ เพราะการทำลายพรรคพร่ำเพรื่อ นำไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นพิษ ทั้งการพยายามลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคอย่างไม่สอดคล้องกับจำนวนสมาชิก การเลี่ยงไม่ให้บุคคลสำคัญทางการเมืองดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ตลอดจนการสร้างการเมืองเครือญาติที่ทำให้ผู้แทนของประชาชนไม่มีความหลากหลาย เมื่อโครงสร้างพรรคการเมืองอ่อนแอ อำนาจของประชาชนก็ไร้พลังไปด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง