สูงวัยหงอยหลับ ไม่ตลก

รู้จักภาวะ “หงอยหลับ” หรือง่วงมากในเวลากลางวัน
ที่คนทุกวัยก็มีโอกาสเป็นได้

ไม่ใช่แค่การประชุมสภา ที่มักจะกินเวลายาวนาน บางครั้งก็สองสามชั่วโมง บางครั้งก็ถกแถลงกันข้ามวันข้ามคืน แต่ยังรวมถึงการนั่งฟังบรรยาย การประชุม การเรียนหนังสือ ฯลฯ ที่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน นั่นอาจทำให้ใครบางคนมีอาการสัปหงก หรือผล็อยหลับไป แต่รู้ไหมว่านี่ไม่ใช่เรื่องตลก เพราะอาจเป็นต้นตอของโรคที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จากภาวะ “หงอยหลับ” หรือง่วงมากในเวลากลางวัน (Daytime somnolence) ที่สำคัญไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่พึงระวัง !!!

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

The Active พูดคุยกับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายถึงสาเหตุของภาวะดังกล่าวว่า เป็นอาการหนึ่งของ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือ ทางเดินหายใจอุดกั้นตอนกลางคืน ทำให้กล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ มีอาการหดเกร็ง รวมถึงเพดานเหงือก ทางเดินหายใจลงไปปิดทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดเสียงกรน โดยเฉพาะในกรณีที่ปิดสนิทจนหยุดหายใจ ส่งผลให้ออกซิเจนตก ธรรมชาติของร่างกายจะกระตุ้นให้เราสะดุ้งตื่น ทำให้หลับได้ไม่ลึก ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลียในลักษณะถี่ ๆ บ่อย ๆ ถือว่าเป็นความผิดปกติที่เจอบ่อยในโรคนี้

“ถ้ามีอาการสะดุ้งตอนนอนหลับบ่อย ๆ เช่น 20 ครั้ง/ชม. หรือบางคน 50 ครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือประสาทอัตโนมัติจะถูกกระตุ้นบ่อยทำให้ชีพจรเต้นเร็ว หลอดเลือดหดเกร็ง จะส่งผลให้ความดันในหลอดเลือดแดงและปอดขึ้นทั้งคู่เลย ดังนั้น ต่อให้คุณบอกว่านอน 6 ชั่วโมง จริง ๆ อาจจะนอนได้แค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอนตลอดทั้งวัน”

ผลกระทบในระยะสั้น อาจทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อุบัติเหตุระหว่างขับรถ แต่หากภาวะอาการหงอยหลับหรือง่วงมากในเวลากลางวัน ไม่ได้รับการรักษา ต่อเนื่องยาวนาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูงมากในตอนกลางคืน ส่งผลให้หัวใจโตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ในที่สุด หรือมีผลทำให้ความดันในปอดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน หลอดเลือดสมองตีบ ตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ

แม้กลุ่มเป้าหมายที่สังคมให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ แต่ นพ.รังสฤษฎ์ เตือนว่า ผู้ที่มีน้ำหนักมาก คอสั้น เป็นโรคภูมิแพ้ หรือ ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต มีความเสี่ยงที่จะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือ ทางเดินหายใจอุดกั้นตอนกลางคืน โดยแนวทางในการรักษากลุ่มที่มีน้ำหนักมาก ควรเริ่มด้วยการลดน้ำหนัก ส่วนผู้ที่มีความผิดปกติของเพดานปาก ควรเข้ารับการปรึกษา กรณีรุนแรงแนะนำให้ใส่เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) หรือเครื่องอัดแรงดันอากาศแรงดันบวก เวลานอน

“สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสาร คือ การงีบหลับบ่อย ๆ หรือสัปหงกในช่วงกลางวัน สำหรับบางคนที่พบเห็นอาจจะดูเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับผมที่เป็นหมอด้านหัวใจ อยากให้ทุกคนตื่นตัวเรื่องนี้ให้มาก ๆ รวมถึงคนใกล้ชิดต้องคอยจับสังเกตความผิดปกติ เพราะปี ๆ หนึ่งเรามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจไม่น้อยเลย”

ทั้งนี้ โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โดยปกติจะเริ่มจากการพบแพทย์เพื่อซักประวัติวินิจฉัย แล้วจึงส่งไปทดสอบการนอนหลับ (Sleep test) โดยผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองจะมีความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคม หรือบัตรทอง เพื่อพบแพทย์ในการคัดกรองเบื้องต้นได้ก่อน

หากแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรจะทำการทดสอบการนอนหลับ ก็จะส่งตัวไปรับการทดสอบการนอนหลับ หรือหากโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ไม่มีศูนย์ทดสอบการนอน ก็สามารถให้ทางแพทย์ทำหนังสือส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่นที่มีศูนย์ทดสอบการนอน

โดยทั่วไปการทดสอบการนอนหลับจะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าเข้ารับการตรวจด้วยสิทธิประกันสังคม หรือบัตรทองก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์