เร่งฉีด “แอสตราเซเนกา – ไฟเซอร์” เข็ม 3 ปกป้องชีวิตบุคลากรทางการแพทย์
The Active ชวนติดตามข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 10 ก.ค. 2564 จำนวน 880 คน ใน “ประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค กับบุคลากรทางการแพทย์
การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ Booster dose สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นหนึ่งในมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และรักษาระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม นานมากกว่า 3 เดือน
จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที โดยอาจเป็นวัคซีนแอสตราเซนเนกาหรือไฟเซอร์…
มติดังกล่าวมีขึ้น หลัง พยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยพยาบาลรายนี้ได้ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จากการปฏิบัติงานภายในหอผู้ป่วยผู้ป่วยโควิด-19 แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสรับเชื้อจากการปฏิบัติงาน และจากการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสจากอัลฟาเป็นเดลตา ทำให้การป้องกันโดยวัคซีนโควิด 19 อาจไม่ได้ผลดีเท่าเดิม
“นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะมีการเก็บข้อมูลด้วยการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันก่อนและหลังฉีด เพื่อเป็นประโยชน์การให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไวรัสตัวใหม่มักมีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น คำแนะนำแนวทางการให้วัคซีนจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อรับมือกับเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์และผู้รับวัคซีนมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 10 ก.ค. 2564 มีจำนวน 880 คน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นกลุ่มพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาลมากที่สุด 54% กลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี
จากการตรวจสอบข้อมูลการรับวัคซีนพบว่า มีจำนวน 173 คน หรือ 19.7% ที่ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน โดยมีรายงานการเสียชีวิต 7 คน จำนวนนี้ไม่ได้รับวัคซีนโควิด 5 คน ได้รับวัคซีน 2 คน โดยรายแรกรับวัคซีนซิโนแวคเพียงเข็มเดียว เนื่องจากเริ่มป่วยหลังรับวัคซีนเข็มสองเพียงวันเดียว ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดสองเข็มแล้ว 14 วัน ส่วนอีกรายฉีดครบสองเข็มคือพยาบาลรายดังกล่าวที่เสียชีวิต
ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนครบมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่รับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนซิโนแวค 1 เข็ม จำนวน 22,062 คน มีรายงานป่วย 68 คน คิดเป็นอัตรา 308 ต่อการฉีดแสนโดส แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 67 คน
ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่รับซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวน 677,348 คน มีรายงานป่วย 618 คน คิดเป็นอัตรา 91 ต่อการฉีดแสนโดส ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 คน อาการปานกลาง 19 คน และอาการรุนแรง 1 คน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 โดส จำนวน 66,913 คน มีรายงานป่วย 46 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 คน อาการปานกลาง 1 คน และอาการรุนแรง 2 คน
“ในระยะนี้มีการระบาดของโควิด-19 จากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในหลายพื้นที่ แม้ว่าคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการรุนแรง แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ จึงต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันโรค โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มรับประทานด้วยกัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น”
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค