เมื่อ 2 ปีที่แล้ว “กระทรวงสาธารณสุข” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจัดหา “วัคซีนโควิด-19” ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ระบาด มาถึงวันนี้เรากำลังเดินมาสู่จุดที่มีวัคซีนล้นเกิดและรอวันหมดอายุจริงหรือ
“ชมรมแพทย์ชนบท” ออกมาเปิดเผยภาพวัคซีนเต็มตู้ พร้อมตั้งคำถาม “วันนี้คุณซื้อตู้เย็นเพิ่มแล้วยัง?” หลังจากมีหนังสือแจ้งจากกระทรวงฯ ส่งวัคซีน 16.8 ล้านโดสให้ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จนเกิดเสียงสะท้อนจากคนหน้างานว่า
“วัคซีนล็อตเก่ายังเต็มตู้เย็น รอ expire อยู่อีกมาก ใช้ไม่ทันแน่ ๆ แล้วของใหม่ส่งมาทำไม ให้มาวางรอวันหมดอายุหรือ ตู้เย็นก็ไม่พอเก็บ ต้องหาซื้อเพิ่มเพื่อมาเก็บวัคซีนหรือเนี่ย”
“รพ.สต.ไม่ใช่ถังขยะทิ้งวัคซีน” คือคำยืนยันจาก “นายแพทย์วิชาญ ปาวัน” ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นไปตามแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรายจังหวัด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะกระจายวัคซีนต่อไปที่รพ.สต. ตามศักยภาพการฉีด และความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. ซึ่งหากยังไม่พร้อมก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนตามโควตาได้
แม้ภาพรวมทั้งประเทศจะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้กว่า 81.7% แต่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกขณะที่บางพื้นที่ บางอำเภอฉีดวัคซีนเข็มแรกน้อยมาก บางอำเภอไม่ถึง 60% ส่วนเข็มกระตุ้นพบว่าส่วนใหญ่ฉีดครบในอำเภอเมือง แต่อำเภอห่างไกล ฉีดเข็มกระตุ้นได้ค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ได้ไม่ถึง 10% โดยตั้งเป้าหมายเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 60% ปัจจุบันมีเพียง 20 จังหวัดเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์
ชำแหละยอดวัคซีนโควิด 16.8 ล้านโดส
หนังสือเวียนจากกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เรื่องการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 เปิดเผยจะมีการกระจายสู่ รพ.สต. จำนวน 16.8 ล้านโดส แบ่งเป็น
- ซิโนแวค 1.17 ล้านโดส
- แอสตราเซเนกา 9.76 ล้านโดส
- ไฟเซอร์ 5.86 ล้านโดส
The Active ไล่เรียงข้อมูลเพื่อคาดการณ์วันหมดอายุของวัคซีนแต่ละชนิดที่กระจายออกมา โดย “วัคซีนซิโนแวค” แทบไม่มีใครจะฉีดแล้ว และไม่สามารถนำมาเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขสั่งซิโนแวค มาล็อตสุดท้ายเมื่อ เดือน ส.ค. 2564 โดยบริษัทระบุวันหมดอายุไว้ข้างขวด 3 ปีนับจากวันผลิตจึงคาดว่าน่าจะหมดอายุ ปี 2567 แต่หากดูตามเงื่อนไขของวัคซีนฉุกเฉินของ อย.กำหนดวันหมดอายุ 6 เดือน จึงคาดว่าน่าจะหมดอายุไปแล้วตั้งแต่ เดือนม.ค. 2565 ตามข้อกำหนดนี้
ขณะที่ “วัคซีนแอสตราเซเนกา” ยังมีเต็มคลังในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. โรงพยาบาลประจำอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากเพิ่งได้รับจัดสรรมาเมื่อเดือนเมษายน 65 ซึ่งก็รอวันหมดอายุเช่นกัน และคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลือกที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากกว่า จากข้อมูลพบว่า อย.ได้ยืดวันหมดอายุวัคซีนแอสตราเซเนกาซึ่งเป็นวัคซีนฉุกเฉินเช่นกันจาก 6 เดือน เป็น 9 เดือน จึงคาดว่าจะหมดอายุ ธ.ค. 65
ส่วน “วัคซีนไฟเซอร์” ยังเป็นวัคซีนที่ยังมีความนิยมสูงสุด แต่ความต้องการการฉีดในปัจจุบันลดลงไปมาก กระทรวงสาธารณสุขกำลังพยายามรณรงค์ในคนฉีดเข็มกระตุ้น สู่เป้าหมาย 60% ของผู้ที่ได้รับเข็ม 2 เตรียมก้าวสู่โรคประจำถิ่นโดยจากเป้าหมาย 42 ล้านคน ฉีดไปแล้ว 29 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดอีก 13 ล้านคน(ข้อมูล วันที่ 9 มิ.ย. 2565)
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในคลังวัคซีนที่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส หากเอาออกจากคลัง –70 องศาแล้ว ไฟเซอร์ฝาม่วงจะมีอายุเพียง 1 เดือน ไฟเซอร์ฝาเทาจะมีอายุ 2.5 เดือน ซึ่งก็ถือว่าสั้นมาก
ขณะที่ระดับจังหวัดไม่มีตู้เย็นชนิดนี้ การนำวัคซีนส่งออกจากคลัง จะเริ่มนับวันหมดอายุทันที ปัจจุบันก็มีการเบิกอยู่ทุกสัปดาห์ไม่มีขาด การส่งวัคซีนออกมารอบนี้จึงมีข้อสังเกตุว่า ส่งมาเพื่อให้พื้นที่ช่วยทำลายวัคซีนให้กระทรวงนหรือไม่
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ส่งมอบตามแผนไตรมาสแรก (มี.ค.) อย.กำหนดวัคซีนฉุกเฉินมีอายุ 6 เดือนนับจากวันผลิต ก็คาดว่าจะหมดอายุ เดือน ส.ค. 64 หากยังไม่นำออกจากคลังวัคซีน -70 องศา
เสนอกระทรวงสาธารณสุขทำลายวัคซีนอย่างถูกวิธี
“นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานประธานชมรมแพทย์ชนบท ขอให้รัฐบาล ศบค.และ สธ.ยอมรับความจริงว่าสั่งวัคซีนมาเกินกว่าความต้องการ พื้นที่ก็ขยันฉีดและทำกันเต็มที่แล้ว วัคซีนยังมีอยู่เต็มตู้เย็น ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาวัคซีนล้นคลัง ต้องยอมรับความจริง หากหมดอายุบริจาคไม่ออก ก็รวบรวมไปทำลายไม่ต้องส่งมาให้หมดอายุที่ รพ.สต.
เขายังบอกอีกว่า ระบบการเบิกและจัดการคลังวัคซีนในปัจจุบันที่พื้นที่ตั้งเบิกตามจำนวนที่ต้องการเป็นรายสัปดาห์เป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนในพื้นที่ จึงควรให้มีการจัดสรรแบบเดิมต่อไป
สธ.ขอข้อมูลคงคลัง วัคซีนหมดอายุจากพื้นที่
ล่าสุด “นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พยายามแก้ปัญหาเบื้องต้น 2 แนวทางการจัดสรร คือ
- จะส่งวัคซีนมาที่คลังจังหวัด ให้คลังจังหวัดเป็นผู้กระจาย และหากจังหวัดใดมีวัคซีนมากเกินไป ที่เก็บไม่พอ สามารถปฎิเสธการรับวัคซีนได้
- จะดำเนินการขอข้อมูลคงคลัง ข้อมูลวัคซีนหมดอายุจากพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการที่ตรงกับความจริง
เปิดแผนจัดหาวัคซีน 2564-2564
ย้อนกลับไปไทยนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจากซิโนแวคเมื่อเดือน ก.พ. 2564 และสั่งซิโนแวคล็อตสุดท้ายเมื่อเดือน ส.ค. 64 รวม 19.5 ล้านโดส ,แอสตราเซเนกา 62.4 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 31.5 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส รวมปี 2564 สั่งวัคซีนรวมยอดที่ได้รับบริจาคด้วย รวมเป็น 118.4 ล้านโดส
ขณะที่ ปี 2565 แผนการจัดหาวัคซีนตั้งเป้า 120 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตราเซเนกา 60 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 30 ล้านโดส และโปรตีนซับยูนิต 30 ล้านโดส