เปิดยุทธศาสตร์รับมือโควิด-19 บทเรียนจากนครปฐม สู่ความร่วมมือในท้องถิ่น

เตรียมพร้อมสถานการณ์วิกฤตด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เร่งสร้างกลไกความร่วมมือระดับท้องถิ่น ประสานงานภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ต้องปลดล็อกระเบียบให้คล่องตัว พร้อมออกแบบระบบติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ภาพระบบสาธารณสุขที่เกินจะรองรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในปริมณฑล สะท้อนความรุนแรงของวิกฤตโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจยาก ตกค้างภายในชุมชน อาการรุนแรงไร้เตียงรักษา เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกจังหวัด หากขาดแผนรับมือ และยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ

“นครปฐมโมเดล” แม้จะยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อการกดจำนวนผู้ป่วยในจังหวัดให้ลดลงได้ แต่ระบบการทำงานสามารถถ่ายทอดสู่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางวางยุทธศาสตร์ของตนเอง ที่เน้นความร่วมมือ มีกลไกการทำงานแบบสอดประสาน และเร่งสร้างพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงที่ลงพื้นที่ดูการตรวจเชื้อเชิงรุกของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่แบ่งทีมลงมาตรวจหาเชื้อให้กับประชาชนจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 5 – 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การรับมือวิกฤตโควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดนั้น มีความแตกต่างกันตามระบบสาธารณสุขของแต่ละพื้นที่ โดยกรุงเทพมหานคร อาจกล่าวได้ว่า มีความเป็นเลิศด้านระบบบริการทางการแพทย์ มีเครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญอย่างครบครัน แต่พื้นฐานด้านสาธารณสุขระดับชุมชนยังไม่เข้มแข็ง เมื่อเกิดวิกฤตการติดเชื้อในชุมขน หรือที่อยู่อาศัย จึงทำในระบบการจัดการทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ในขณะที่ต่างจังหวัดนั้น ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง และใกล้ชิดกับประชาชน สุขภาวะในชุมชนเข้มแข็ง เมื่อเกิดวิกฤตระดับพื้นที่จึงสามารถจัดการกับปัญหาได้ดี และรวดเร็วกว่า อีกทั้งสิ่งสำคัญคือระบบสาธารณสุขในต่างจังหวัดนั้นมีเอกภาพ ขับเคลื่อนได้ในแนวทางเดียวกันโดยหน่วยงานเดียว ไม่ทับซ้อน ซ้ำซ้อนอย่างระบบของกรุงเทพมหานครที่มีหลายสังกัดดูแลในพื้นที่เดียว ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ทำให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ หรือชุมชนด้วยนั่นเอง

“ระบบในต่างจังหวัด ต่างกันเยอะมากจากส่วนกลาง ในระดับพื้นที่เราสามารถเข้าไปควบคุม กำกับผู้เสี่ยงติดเชื้อได้ไว แยกผู้ป่วยออกมาได้ดีกว่าในกรุงเทพฯ และการบริหารจัดการก็สามารถทำได้ทันที เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีระบบสาธารณสุขซับซ้อนอย่างกรุงเทพฯ”

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ

ข้อได้เปรียบ และข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถรับมือวิกฤตนี้ได้ด้วยตัวของมันเอง หากขาดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในจังหวัด ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรภาคีเครือข่าย ตลอดจนเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงการทำงาน จนก่อเกิดเป็น “ยุทธศาสตร์รับมือโควิด-19 ระดับจังหวัด”

The Active ถอดรหัส ถอดบทเรียนจากนครปฐม ที่ได้จากการลงพื้นที่ติดตามการทำงานของทุกภาคส่วนในจังหวัดนครปฐม เพื่อให้เห็นยุทธศาสตร์รับมือโควิด-19 สู่ความร่วมมือในท้องถิ่น

บทบาทนำ ของผู้บริหารในระดับจังหวัดและท้องถิ่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถือธงนำของผู้นำในการต่อสู้กับสงครามโรคในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้แล้ว ยังทำให้คนทำงานทุกคนในพื้นที่มอง และเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ต่างคนต่างทำ และมีผู้นำคอยกำหนดเข็มทิศ ซึ่งในจังหวัดนครปฐม แม้ช่วงแรกเริ่มจะยังไม่สามารถจับทางได้ดีนัก แต่เมื่อเริ่มลงพื้นที่และรับฟัง จึงทำให้ สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม มีบทบาทสำคัญในการเชิญให้ชมรมแพทย์ชนบทลงพื้นที่วางรากฐานการตรวจเชิงรุกในจังหวัด และการเร่งสร้างศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยในทุกอำเภอ และในระดับจังหวัด

“จังหวัดนครปฐม ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยนครปฐมอุ่นใจ อ.สามพราน ขนาด 630 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในจังหวัด ตามแนวทาง เร่งตรวจ ติดเชื้อ แล้วรักษาทันที”

สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ
สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม

ซึ่งจะเห็นได้จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกของชมรมแพทย์ชนบท ในทุกจุดจะมีบุคลากรในจังหวัดนครปฐมประกบคู่เรียนรู้การทำงาน และสามารถนำมาจัดการต่อได้เองในพื้นที่ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อันเกิดจากการแนวทางการทำงานที่ชัดเจนของผู้บริหารนั่นเอง

นอกเหนือจากหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ “งบประมาณ” ตั้งแต่การจัดซื้อวัคซีนตัวเลือก การจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หรือการจัดซื้อเครื่องมือที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย ล้วนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำโดย จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานที่ร้องขอ

“มีคนถามว่าจะต้องหางบประมาณจากไหน ผมบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคุณ คนทำงาน ขอให้ทำให้เต็มที่ ส่วนหน้าที่ให้การหางบประมาณให้เป็นหน้าที่ของพวกเราและทางจังหวัดเอง ”

จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์

นอกเหนือจากนั้นยังต้องวางบทบาทไปถึงผู้นำท้องถิ่นในระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และนายกเทศมนตรี ที่มีพื้นที่รับผิดชอบของตนเองชัดเจนนั้น ต้องบริหารการจัดตั้งที่พักรักษาในระดับตำบล และชุมชน หรือ Community Isolation ไว้รองรับผู้ป่วยที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น มองหาสถานที่ที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งตัวอย่างจากจังหวัดนครปฐมนั้นมีสถานที่แล้วในทุกอำเภอ แต่ในระดับตำบลยังคงมีบางพื้นที่ขาดความพร้อม ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาอาจประสานความร่วมมือไปสถานที่ของประชาชนในพื้นที่ เช่น ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี มี CI ระดับตำบลซึ่งเป็นสถานที่ของประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่นก็ลงไปดูแล สนับสนุนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน จะมีหน้าที่หลักในการดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ติดเชื้อ และต้องรักษาตัว หรือประชาชนที่ต้องกักตัวที่บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้มีอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ยังชีพ ดูแลให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และสามารถปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ได้

ประสานการทำงานร่วมกับเอกชน องค์กร และจิตอาสา

วิกฤตโควิด-19 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สะท้อนอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถจัดการได้เพียงหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชน องค์กร และจิตอาสามีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการอุดช่องว่างการทำงานเพื่อลดข้อผิดพลาด และประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

องค์กรศาสนา และสถาบันทางการศึกษา ในจังหวัดนครปฐมเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ได้บริจาคพื้นที่ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟอินเตอร์เทคโนโลยี อ.สามพราน เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์พักคอยนครปฐมอุ่นใจ จำนวน 630 เตียง พร้อมออกค่าใช้จ่ายในการบูรณะอาคาร รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่ได้ใช้อาคารภายในมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์พักคอยดูแลผู้ป่วย และยังส่งบุคลากรคณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขในจังหวัดเป็นต้น

ศูนย์พักคอยนครปฐมอุ่นใจ ต้นแบบความร่วมมือระดับจังหวัด

สำหรับภาคประชาสังคมในจังหวัดนครปฐมถือว่าค่อนข้างเข้มแข็ง “กองทุนลมหายใจ ช่วยผู้ป่วยโควิด” ที่คอยเป็นหน่วยงานกลางรับบริจาคเงิน สิ่งของ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ นำไปมอบให้กับประชาชนในจังหวัดนครปฐม รวมถึงเป็นศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร ในจังหวัด ที่ต้องการช่วยเหลืองานในด้านต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากหน่วยงานภาครัฐจะไม่ควรปิดกั้นความช่วยเหลือจากภาคเอกชนแล้ว ควรจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือ เพื่อส่งต่อความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ให้ทรัพยากรกระจายลงไปในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง

ยกระดับระบบสาธารณสุขในพื้นที่

ถึงแม้ต่างจังหวัดจะมีข้อได้เปรียบสำคัญ คือ ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และใกล้ชิดประชาชนในระดับหมู่บ้านก็ตาม แต่ยังจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการจัดการสถานที่ดูแลผู้ป่วย และการติดตามอาการผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องทการรักษาที่บ้าน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกทอดทิ้ง และขาดคนดูแล

ระดับการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดนั้นเหมือนกัน คือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีหน้าที่ดูแลสถานการณ์ในภาพรวม และบริหารจัดการสิ่งที่ต้องได้รับจากส่วนกลางทั้งวัคซีน และยารักษา ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่ต้องประสานเพื่อให้ได้มาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ

และกระจายทรัพยากรเหล่านั้นลงสู่อำเภอ เพื่อบริหารจัดการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่ โดยมีบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ต้องมีข้อมูลของผู้ป่วยครบถ้วน และสามารถติดตามได้ทั้งหมด ท้ายที่สุดคือใช้เครือข่าย อสม. ให้เกิดประโยชน์ในด้านการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เฝ้าระวังหมู่บ้านของตนเองให้ปลอดภัย

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าช่วยเหลือ

หนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้การทำงานในจังหวัดนครปฐมง่ายขึ้น คือ การติดตามจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านผ่านเว็บไซต์ Thai.care ซึ่งจะสามารถทราบได้ว่าผู้ป่วยยังรอเตียงอยู่จำนวนเท่าไร ระดับอาการรุนแรงมากเพียงใด และผู้ป่วยคนใดต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ นอกเหนือจากนั้นเว็บไซต์ยังเปิดรับอาสาสมัครที่ต้องการความช่วยเหลือได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย ถือเป็นฐานข้อมูลภาคประชาชนที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือการทำงานของภาครัฐได้เป็นอย่างดี

thai.care

แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าภายในจังหวัดนครปฐมยังขาดนวัตกรรมในระดับพื้นที่ ที่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้น เพราะเนื่องจากในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถใช้ข้อมูลจากระบบของ Thai.care ได้ดีนัก เนื่องจากการใช้งานนั้นต้องประกอบด้วยการนำข้อมูลเข้า และผู้ติดตามข้อมูลเพื่อนำสู่การช่วยเหลือ เว็บไซต์นี้ซึ่งออกแบบโดยอาสาสมัครนอกพื้นที่ จึงไม่สามารถลงไปนำเข้ามูลระดับชุมชนเข้ามาได้ จึงยังมีความต้องการให้เกิดการสร้างนวัตกรรมระดับพื้นที่ ทั้งผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ข้อมูลเตียงรักษาของแต่ละโรงพยาบาล ตลอดการ รับ-ส่ง เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

ปัญหาคอขวดส่งผู้ป่วยเข้า CI และการติดตามผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

ถึงแม้ภาพรวมการทำงานทั้งจังหวัดนครปฐม จะดูเหมือนว่ามีผู้รับผิดชอบในขั้นตอนสำคัญ แต่เมื่อลงไปดูในระดับพื้นที่ ยังคงมีปัญหาการดูแลผู้ป่วย ซึ่งต้องรักษาตัวที่บ้าน หรือ HI และการส่งผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในศูนย์พักคอย หรือ CI ด้วยเช่นกัน เราพบผู้ป่วยหลายคนที่ไม่เหมาะกับการรักษาแบบ HI และในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้า CI ได้ เป็น “ช่องว่างการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง”

ผู้ป่วยหญิงวัย 84 ปี ที่หมู่บ้านเอื้ออาทรนครชื่นชุม อ.สามพราน ผลพบเชื้อวันที่ 5 สิงหาคม หลังจากนั้นเพียง 1 วัน อาการทรุดลง ทีมข่าวติดตามผู้ป่วยรายนี้ต่อเนื่อง เห็นความพยายามของครอบครัวในการหาเตียง จนกระทั่งคืนวันที่ 6 สิงหาคมได้รับการรักษา หลังจากนั้นเพียง 5 วัน ก็เสียชีวิต และจากข้อมูลยังพบว่าในพื้นที่เดียวกันมีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวอีกหลายคน สิ่งนี้สะท้อนว่าผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ เพราะเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้ จังหวัดต้องมีมาตรการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาจหมายถึงสถานที่ที่สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้โดยเฉพาะ

แม้ไม่มีสูตรสำเร็จการจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่สามารถใช้ได้กับทุกจังหวัด แต่ระบบการทำงานของนครปฐม สามารถแยกส่วนให้เห็นผู้รับผิดชอบ แต่กรอบการทำงานที่ชัดเจนได้ บริบทที่แตกต่างกันของจังหวัดอื่น ย่อมต้องออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ของตนเอง เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือลดการแพร่ระบาด และรักษาชีวิตของผู้ป่วยในจังหวัดให้มากที่สุด ด้วยความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นของทุกองคาพยพในจังหวัดนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์