“ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้ สู้ภัยโควิด-19”

พลังสังคม หลังโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 หลายคนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “มหันตภัยวิกฤต” คุกคามมนุษยชาติ นำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

สังคมไทยในวันที่มียอดติดเชื้อทะลุหลักหมื่น ผู้คนนอนตายข้างถนน หลายคนตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร เหตุการณ์เลวร้ายที่อยู่ในความทรงจำของทุกคน คือ ความเจ็บปวด

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความทรงจำดี ๆ ที่ควรกล่าวถึง ชื่นชม และสานต่อ นั่นก็คือภาพของการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญทำสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ถนัด ตามหน้าที่ และไม่ใช่หน้าที่ ด้วยเป้าหมายหนึ่งเดียว คือ “ทุกคนต้องรอดไปด้วยกัน”

ในวันที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทุกฝ่ายที่ร่วมกันฝ่าฟันวิกฤต จึงร่วมกันถอดบทเรียน พลังทางสังคม หลังโควิด-19 “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” เพื่อพัฒนากลไกที่เกิดขึ้นให้เป็นระบบ และรักษาบรรยากาศของพลังเหล่านี้เอาไว้เตรียมพร้อมรับมืออีกครั้ง เพราะมหันตภัยวิกฤต ยังไม่จบ


โควิด-19 พลเมือง

เวที “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19” ถอดบทเรียนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฝ่าวิกฤตโควิด-19 จากทุกภาคส่วน หวังให้การพูดคุยครั้งนี้ นำไปสู่ข้อเสนอในภาคนโยบาย และการขับเคลื่อนสังคมต่อจากบทเรียน “มหันตภัยวิกฤตโควิด-19” ที่เผยให้เห็นศักยภาพของทุกฝ่ายในการร่วมกันฝ่าวิกฤต เป็นบรรยากาศที่อยากเห็นการทำงานอย่างเป็นระบบในทุกปัญหาของสังคมในอนาคต

ไทยพีบีเอส ในนามผู้จัดงานร่วมและองค์กรสื่อสาธารณะ นอกจากทำหน้าที่ในบทบาทสื่อในการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤตแล้ว ยังมีกลไกการทำงานช่วยเหลือทุกหน่วยงานเป็นภาคีหนึ่งของสังคม

บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่าไทยเองจะเจอยอดผู้ติดเชื้อหนักหนาในช่วงการระบาดรอบสาม ที่เริ่มต้นขึ้นช่วงเดือนเมษายน 2564 แม้จะอยู่ในภาวะคับขันและเห็นความยากลำบาก แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ฉายให้เห็นอีกมุมของสังคมที่น่าเรียนรู้ ต่อยอด ดังที่ ศ.นพ. ประเวศ วะสี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ  “พลังพลเมือง หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ กู้วิกฤตโควิด-19” ระบุว่า โควิด-19 ว่าวิกฤตได้กระตุ้นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในใจทุกคน มนุษย์ทุกคนมี Empathy หรือส่วนที่อยากช่วยเหลือ อยากทำความดี แต่ว่ามันซ่อนอยู่ลึกจนมองไม่เห็น แต่โควิด-19 เหมือนบิกแบง (ระเบิดขนาดใหญ่) ที่มากระตุ้นเพื่อนมนุษย์ทุกคนให้ก้าวออกจากกรอบเดิม ระบบเดิม เพื่อช่วยเหลือกัน

“สำนึกในศักดิ์ศรี เคารพในความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและคนอื่น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ  โควิด-19 ได้สร้าง “พลเมืองตื่นรู้” และหากรวมกับ กัมมันตะ (การกระทำชอบ) จะช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้ ไม่ใช่เฉพาะวิกฤตโควิด-19 หากทุกคนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติก็จะพาสังคมเกิดความเสมอภาค ภราดรภาพ เอื้ออาทร ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เกิดนวัตกรรม อัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา เกิดพลังมหาศาลสู่ความสำเร็จได้”


โควิด-19 พลเมือง

เวทีระดมความเห็นจากเครือข่ายที่ได้จากการร่วมถอดบทเรียนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนกว่า 600 คน จาก 4 เวที เครือข่ายภาคประชาชนมีตัวแทนจาก สยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นตัวแทนสรุป ระบุว่าในช่วงโควิด-19 พอช. มีการปรับภารกิจที่เคยทำงานในสถานการณ์ปกติหลายภาคส่วน ซึ่งเข้ามาเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น การจัดทีมดูแลโควิด-19 ปรับแผนโครงสร้างงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการชุมชน สร้างงาน รายได้ อาหาร ปรับแผนกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น ส่วนข้อเสนอจากเวที คือ อยากให้มองเห็นศักยภาพของชุมชนที่สามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ เพียงแต่มีกลไกสนับสนุน งบประมาณ ทรัพยากร 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สรุปข้อมูลจากเวทีที่มีตัวแทนบุคลากรด่านหน้า อสม. ท้องถิ่น ร่วมแลกเปลี่ยน ระบุว่า บทบาทของ สปสช. ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก บุคลากรทางการแพทย์ทำงานล้นมือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล สปสช. ร่วมกับท้องถิ่น จัดตั้งกองทุนที่หนุนเสริมด้านงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถทำหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เพื่อแจกจ่ายในพื้นที่ได้เอง โดยไม่ต้องรอจากส่วนกลาง เป็นการทำงานในเชิงป้องกัน รวมถึงเข้าไปสนับสนุนการทำ HI/CI สร้างระบบการดูแลที่ต้องพึ่งพาคนในชุมชน สปสช. เข้าไปหนุนเสริมด้านงบระมาณและลดข้อจำกัดบางอย่าง

เช่นเดียวกับเวทีพลเมืองจิตอาสา อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี นักบริหารแผนงานชำนาญการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นตัวแทนสรุปว่า จิตอาสาทุกคนที่ลุกขึ้นมาทำงาน เพราะไม่มีใครปล่อยให้เหตุการณ์วิกฤตรุนแรงต่อไปได้ มีคนมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ จึงเกิดการรวมกลุ่มของจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง “ภายใต้วิกฤตเห็นโอกาส ไม่เคยมีใครเคยทำงานนี้มาก่อนแต่เราเห็นถึงศักยภาพของหน่วยงานของเรา NGO เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยง องค์ความรู้ ทรัพยากร เครือข่าย ชุมชนจึงลุกขึ้นมาทำงานในชุมชนได้” ข้อเสนอจากเวทีนี้ คือ ต้องการกลไกตัวเชื่อมระหว่างประชาชน คนป่วย ระบบการบริการทั้งด้านสังคมและสุขภาพ

วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส ไทยพีบีเอส เป็นตัวแทนสะท้อนข้อมูลจากเวทีนักสื่อสารภาคพลเมือง ระบุว่า ไทยพีบีเอสได้ทำให้นักสื่อสารจากทั่วทุกพื้นที่ มีพื้นที่ปรากฏตัวที่กว้างขึ้น นักสื่อสารพลเมืองเหล่านี้ได้สื่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองให้ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ พวกเขาเป็นคนกำหนดวาระทางสังคม เชื่อมโยงบนแพลตฟอร์มทุกอย่างที่มี และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตัวเอง “เห็นพัฒนาการสื่อสาร เป็นทางออก ทางรอด จากการสื่อสารของนักสื่อสารพลเมือง” ซึ่งไทยพีบีเอสทำหน้าที่หยิบวาระทางสังคมที่พวกเขาร่วมกำหนดมาสื่อสารส่งต่อความช่วยเหลือ และยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากทุกภูมิภาคที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีช่วงเช้าผ่านระบบออนไลน์ เช่น จังหวัดสุโขทัย สุพรรณบุรี ขอนแก่น ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็บอกเล่าถึงสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ และเอาตัวรอดซึ่งการผ่านวิกฤตมาได้ล้วนเกิดจากพลังของความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ทุกคนเห็นตรงกัน ว่าควรมีการรักษาความร่วมมือเหล่านี้เอาไว้ ถอดบทเรียนและออกแบบสู่ระบบรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต 


โควิด-19 พลเมือง

ช่วงบ่ายของเวทีเสวนา มีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ เอกชน เครือข่ายภาคประชาชน ชวนคิดต่อถึง กลไก โครงสร้าง ระบบที่จะไปต่อ พัฒนาระบบทางส้งคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน ปฏิภาณ จุมผา รักษาการผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. ถือเป็นกลไกของรัฐ เครื่องมือของประชาชนที่ทำหน้าที่ในยามปกติ ทั้งเรื่องภัยพิบัติ การไล่รื้อ การเข้าถึงบริการสุขภาพและสังคม ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนมาต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19  พอช. ปรับการทำงาน 3-5 เรื่องเพื่อรับมือในสถานการณ์นี้ไปพร้อมกับการสนับสนุนชุมชนที่ลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การผ่านวิกฤตมาได้หลายระลอก บทเรียนที่ พอช. สรุป และเห็นว่าการขับเคลื่อนต่อหลังจากนี้ หากจะให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน การพัฒนาต้องปรับวิธีคิดใหม่และเจ้าของปัญหาต้องมีส่วนร่วม

“ปรับวิธีคิดการพัฒนาใหม่ ต้องเชื่อมั่นคนตัวเล็กตัวน้อย ว่าถ้าเขามีโอกาส เขาจะสามารถลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง การแก้ปัญหาต้องมีเจ้าของปัญหาอยู่ในคณะทำงานในการร่วมแก้ปัญหากำหนดทิศทางการพัฒนากลไก ให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในโครงสร้างการทำงาน นโยบาย แผนชาติ ปรับวิธีงบประมาณ ให้งบฯ ถึงชุมชนโดยตรง กฎหมายที่ติดขัดไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคต้องมีความยืดหยุ่น เอาวิกฤตเป็นตัวตั้ง ถ้าไม่ปรับโครงสร้างเชิงอำนาจจะไม่สำเร็จ รวมถึงต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง” 

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า โควิด-19 ถือเป็นมหาวิกฤตภัยพิบัติ ใหญ่กว่าโครงสร้างปกติที่มีอยู่ สังคมต้องจัดระเบียบเพื่อเข้าไปรองรับระบบของรัฐ ซึ่งวิกฤตครั้งนี้เผยให้เห็นทั้งโครงสร้างที่เข้มแข็งและอ่อนแอ เขาบอกว่า อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นการแพทย์ปฐมภูมิที่วางรากฐานมากว่า 40 ปี เป็นระบบที่เข้มแข็งมากในวิกฤตนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เผยให้เห็นว่าการแพทย์ปฐมภูมิในกรุงเทพฯ กลับไม่ได้เข้มแข็งเหมือนในชนบท และเป็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง

“เหมือนได้เอ็กซเรย์  soft structure มีบทเรียนและพยายามเสนอให้ปรับ เสียดายที่ไม่ได้ปรับ แต่หลายโครงสร้างที่มีอยู่แล้วแม้ไม่ได้เข้มแข็งนัก แต่พอเกิดภัยพิบัติก็สามารถเข้ามารองรับได้ เป็น safety net ที่ถักทอในสังคม จะทำอย่างไรให้การออกแบบโครงสร้างนี้ยืดหยุ่น เพื่อรับมือภัยพิบัติอื่น ๆ ในอนาคต” 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านนโยบายสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม เห็นว่าบทเรียนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายมองปัญหาด้วยความหวัง ร่วมเรียนรู้และเดินไปข้างหน้า ไม่ล้มกระดานกลางคันปล่อยให้ระบบเรียนรู้เดินหน้าภายใต้การทำงานของภาคประชาชนและต้องร่วมมือกับภาครัฐด้วยทำเพียงลำพังไม่ได้

“เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน สานพลังเรียนรู้ อดทน ไม่ล้มกระดานกลางคัน” เช่นเดียวกับ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยระบบสุขภาพและสังคม สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เห็นว่าเหตุการณ์ได้ทำให้เห็นหลากหลายหน่วยงานพยายามเรียนรู้ร่วมกันเพื่อจะแก้ปัญหา ก้าวข้ามความขัดแย้งและข้อจำกัด 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือเป็นกลไกที่เข้ามาอุดช่องโหว่โดยเฉพาะด้านงบประมาณทำให้การคุมโรคระบาดขับเคลื่อนได้เร็วและทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงที บทเรียนที่ สปสช. สะท้อนผ่านเวที คือ หน่วยงานเริ่มทำงานด้านข้อมูลอย่างจริงจัง ศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ และพบว่าต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจให้ได้มากที่สุด และทบทวนบทบาทอำนาจที่ตัวเองมีอยู่เพื่อเข้าไปสนับสนุนกลไกที่มีอยู่ให้ทำงานได้ในภาวะวิกฤต เช่น ระบบ CI/HI Telemedicine  

“ทำกลไกการเงินการคลังเพื่อให้เอื้อและช่วยเสริมนโยบาย สิทธิประโยชน์ของประชาชน และสกรีนช่องทางในการช่วย ทำให้เร็ว ใส่ใจระบบที่มีอย่ามองให้เป็อุปสรรค แต่มองหาความเป็นไปได้ สร้างกลไก เพิ่มโอกาส จากนี้สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะรักษาโมเมนตัมนี้  จะพัฒนา รักษาเครือข่ายที่ช่วยเราทำงานให้เข้มแข็งได้อย่างไร”


โควิด-19 พลเมือง

พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และเลขาธิการแพทยสภา เป็นองค์กรที่ทำงานด้านธรรมาภิบาลการแพทย์ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข จัดการความรู้และสร้างกลไกการผลิตแพทย์เชื่อมโยงจิตอาสาและชุมชน มองว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้เราเห็นช่องโหว่เต็มไปหมด แต่เพราะมีอาสาสมัครเข้ามาวิ่งผลัด จนวิกฤตผ่านพ้นไปได้ และการทำงานของ สปสช. ที่เข้ามาสนับสนุนการเงิน เป็นการตั้งต้นที่ดีของทุกหน่วยงานและชุมชน 

“เรามีการปรับกฎเกณฑ์ ระเบียบหลายอย่าง ทางการแพทย์ เข้าไปแก้ไขกฎการรักษา เพื่อให้ระบบทั้งหมดมันไหลถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว กฎเกณฑ์เหล่านี้ยังไปถึงจิตอาสาดอทแคร์ เราทำงานร่วมมือกัน เพื่อเชื่อมว่าตรงไหนมีใครต้องการความช่วยเหลืออะไรแล้วเราเข้าไปเติมอุดช่องว่าง เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่าใช้ทรัพยากรน้อยลง ถือบทเรียนที่ดีมาก เราสามารถประสานงานเดินต่อไปได้ ขอเพียงแค่ทุกคนวางตัวตนลง ลดอคติลงเดินสู่เป้าหมายร่วมกัน”

การจะรักษาโมเมนตัมของการทำงานร่วมไว้ในมุมมองของธรรมาภิบาลการแพทย์ เห็นว่า เวทีครั้งนี้มีการนำทุกเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แกนนำตั้งต้น และทุกองค์กรมารวมไว้แล้ว ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ ต้องเป็นแกนนำเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุขเป็นบริบทสำคัญ การมี single command หรือ การทำงานระบบเดียว ในการพัฒนา โดยเฉพาะชุมชน สาธารณสุขทุกระดับในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถทำงานภายใต้ระบบนี้ได้ แต่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครอาจจะไม่เหมาะกับวิธีการแบบนี้ เพราะแพทย์มีหลายสังกัด ต้องมีการพูดคุย วางระบบการทำงานกันใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ยากและใหญ่พอสมควร


Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส