เช็กแผนวัคซีนโควิด-19 ปี 2564 รองรับสูตรฉีดไขว้

นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2564 ประเทศไทยเริ่มสูตรฉีดวัคซีนแบบผสม ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ห่างกัน 4 สัปดาห์ นับเป็นประเทศแรกในโลกที่ตัดสินใจให้ฉีดผสมชนิดเชื้อตาย และไวรัลเวกเตอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุมกันหลังโควิด-19 กลายพันธุ์

กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลศึกษาสูตรฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซนเนกา จะทำให้ภูมิขึ้นสูงกว่าการฉีดซิโนแวค 2 เข็มถึง 4 เท่า จึงเตรียมซื้อวัคซีนซิโนแวคอีก 12 ล้านโดสเพื่อฉีดตามสูตรผสม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตายที่ไม่ควรสั่งซื้อเพิ่ม

The Active รวบรวมตัวเลขในแผนการจัดหาวัคซีนตลอดปี 2564 ณ วันที่ 17 ส.ค. ปริมาณการจัดหาวัคซีนซิโนแวคขยับมาอยู่ที่ 30.1 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านโดส

วัคซีนแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่ามีสัญญาณที่ดีในการเจรจา เพื่อให้ส่งมอบมากขึ้นจากเดิมเดือนละ 5 ล้านโดส ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ศบค. เห็นชอบซื้อเพิ่มอีก 10 ล้านโดส บางส่วนจะส่งมอบเดือน ก.ย. นี้ โดยคาดว่าปีนี้จะได้ครบ 30 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จัดส่งได้ไม่ทัน ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564

กระทรวงสาธารณสุขยังคงยืนยันฉีดวัคซีนสูตรผสมต่อไป ในขณะที่ภาพรวมของวัคซีนทั้งหมด ที่รับการส่งมอบแล้ว และได้รับบริจาค มีจำนวน 33.1 โดส ฉีดวัคซีนไปแล้วยอดสะสมทั้งหมด ณ วันที่ 17 ส.ค. คือ 24.61 ล้านโดส จึงมีวัคซีนเหลือให้ฉีดอีก 12.46 ล้านโดส ทั้งนี้ ศักยภาพการฉีดวัคซีนต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 โดส นั่นหมายความว่ามีวัคซีนให้ฉีดได้อีก 31 วัน (นับจากวันที่ 17 ส.ค.)

วัคซีนไม่พอทำคนตายเพิ่ม

ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ทำสถิติใหม่อีกครั้งที่ 312 คน เท่ากับว่าทุก 1 ชั่วโมงมีคนเสียชีวิต 13 คน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากฉีดวัคซีนได้เร็วกว่านี้ คงไม่มีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้

นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มองต่อไปในเดือน ก.ย. และ ต.ค. นี้จะเป็นช่วงที่คนที่เคยได้วัคซีน แอสตราเซเนกา เข็มแรก หลายล้านคนมีกำหนดจะได้เข็มสอง รวมถึงคนที่ได้วัคซีนไขว้ยี่ห้อ เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มแรก และอีก 3 สัปดาห์ ให้มาฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นเข็มสอง

ปัญหาการของวัคซีนไม่เพียงพอ ทำให้คนไทยเสียชีวิตวันละเฉลี่ย 200 คน โดย 70% จะเป็นประชากร กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงวัย อายุเกิน 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

ข้อมูลวันที่ 17 ส.ค. ผู้สูอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนแล้ว 4.45 ล้านคน ผู้มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนแล้ว 2.65 รวมเป็น 7.1 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายทั้ง 2 กลุ่มคือประมาณ​17 ล้านคน นี่ยังไม่นับรวมหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งฉีดวัคซีนแล้ว 15,000 คน

หากต้องการลดยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ลงไปราวครึ่งหนึ่ง ก็จะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนในช่วงเดือน ก.ย. และ ต.ค. 2564 หากทำได้จะช่วยรักษาชีวิตคนไทยได้ถึง 2,000 คนต่อเดือน และอาจมากถึงหมื่นราย ถ้ารวมการช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในเดือนถัด ๆ มา

นพ.วิชช์ จึงเสนอว่ารัฐบาลควรใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นวัคซีนฯ เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกแอสตราเซเนกา จากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ เหลือเดือนละไม่เกิน 35% ส่วนที่เหลือไว้ฉีดคนไทย เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ

ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่ารัฐบาลควรใช้การทูตวัคซีน ซึ่งย้ำมาโดยตลอดในรีบดำเนินการติดต่อขอวัคซีนบริจาคจากประเทศที่มีวัคซีนเหลือให้เข้ามาได้มากที่สุด จะเป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณวัคซีนในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัคซีนต้องวางแผนระยะยาว เพราะการจองซื้อต้องเผื่อเวลา ฉะนั้นเวลานี้รัฐบาลควรเริ่มสั่งจองวัคซีนวัคซีนในปี 2565 ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น โปรตีนซับยูนิต เพื่อรองรับการกลายพันธุ์ด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์