“วันนี้เด็กหลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเท่าที่ควร”
“กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่สร้างมาเพื่อมนุษย์ แต่สร้างมาเพื่อรถ เต็มไปด้วยซอยตัน หมู่บ้านจัดสรร พื้นที่ทำกิจกรรมที่เสียตังค์ และระบบขนส่งไม่ครอบคลุม”
เสียงสะท้อนความเซ็งจาก อชิระ ศิริมงคลเกษม ตัวแทนคนรุ่นใหม่ของ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ส่งถึง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาร่วมฟังและร่วมประชันวิสัยทัศน์ “ปลุกกรุงเทพฯ เป็น เมืองน่าอยู่” ในงาน Bangkok Active ที่ภาคประชาสังคมมากกว่า 70 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้น
เมื่อถามเด็กและเยาวชนผู้มีฝัน มีหลายประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความหวังกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เพื่อปลุกกรุงเทพฯ เป็นเมือง “น่าอยู่ มีความหวัง และมีอนาคต” โดยพวกเขาพร้อมเป็นส่วนหนึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อเปิดประตูสู่โอกาสเข้าถึงเมือง
The Active ชวนสำรวจนโยบาย “เมืองน่าอยู่เพื่อคนรุ่นใหม่” ผ่านวิสัยทัศน์ 5ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่กล่าวถึงกลไกการสร้างเมืองที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอนาคตและเติบโตได้ ทั้งทางกายภาพ ความสัมพันธ์ทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงความมั่นคงทางจิตใจ จนไม่อยากย้ายประเทศ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1
“เมืองที่โอบรับทุกความต้องการ” คือ นโยบายของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล ที่สร้างบันไดขั้นแรกด้วยการ “เพิ่มรัฐสวัสดิการ” ดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้พิการ มากขึ้น และจะกระจายงบประมาณจากส่วนกลางให้ประชาชนบริหารจัดการร่วมกัน
“ถ้าเราเพิ่มรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าผมจะเกษียณหรือตายไป ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ ต่อจากผม กรุงเทพฯ จะไม่กลับไปเจอกับปัญหาวนซ้ำเดิม ไม่มีผู้ว่าฯ คนไหนกล้าปรับลดสวัสดิการลงมาอีก”
“สร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม” เพื่อนำเมืองไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ คืออีกนโยบายที่ วิโรจน์ บอกว่าจะบริหารจัดจัดการพื้นที่รกร้าง ทำทางเท้าหน้าบ้านให้มีคุณภาพเท่าเทียมทางเท้าหน้าห้าง การจัดการขยะ ฯลฯ ด้วยกติกาคนเท่ากัน
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่าจะ “สร้าง Supply chain” หรือห่วงโซ่อุปทาน ทำให้คนกรุงเทพฯ เหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าลงทุน เกิดธุรกิจใหม่ ๆ และการจ้างงานใหม่ ๆ
“เมื่อได้สวัสดิการดีขึ้น มีกำลังซื้อเหลือก็จะกล้าซื้อมากขึ้น เมืองที่มีกำลังซื้อ เมืองที่คนกล้าซื้อ จะเป็นเมืองที่น่าลงทุน เป็นเมืองที่มีโอกาสตั้งตัว นี่คือเมืองที่ทุกคนเท่ากัน เมืองที่โอบรับความฝันทุกคนอย่างเสมอภาค เมืองที่ทุกคนได้รู้สึกว่าปัญหาของตัวเองถูกใส่ใจเหมือน ๆ กัน มีโอกาสหลุดความยากจนได้เท่ากัน”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนที่ชูนโยบายเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมือง “สวัสดิการและคนเท่ากัน” เขาประกาศเปลี่ยนปรุงเทพฯ เป็นต้นแบบเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยของอาเซียน ด้วยคุณภาพโรงเรียนและโรงพยาบาลใกล้บ้าน
สุชัชวีร์ ชูประเด็นอินเทอร์เน็ตฟรี เพื่อสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้าถึงการเรียนรู้และโอกาสทำธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำการเรียนออนไลน์ ด้วยนโยบาย “ฟรี Wi-Fi 150,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ”
“นโยบายที่พี่เอ้เน้นมาก ๆ คืออินเทอร์เน็ตฟรี ต่างประเทศเขาสนใจเรื่องนี้มากเพราะเป็นตัวชี้วัดเลยว่าเมืองนั้นสนใจคนรุ่นใหม่ เพราะวันนี้คนรุ่นใหม่หาความรู้และหาโอกาสด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต”
สุชัชวีร์ ยังแสดงให้เห็นความตั้งใจในสร้างเมืองเพื่อคนรุ่นใหม่ ด้วยการประกาศว่ายินดีรับข้อเสนอและแนวความคิดจากเด็กเยาวชนในการสร้างเมืองน่าอยู่เพื่อแก้ปัญหาทุกมิติ
“พี่เอ้ตั้งใจมาปะผุของเดิม น้อง ๆ ต้องมาหงุดหงิดกับทางเท้าที่เอกชนทำได้กรุงเทพฯ ทำไม่ได้ พี่เอ้จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองมาตรฐานสากลทุกอย่าง และเน้นย้ำว่าคนทุกวัยสำคัญ พี่เอ้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5
วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 5 ในนามอิสระ ชูนโยบาย “พัฒนาเมืองให้เป็น Smart city” โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองคู่กับการพัฒนาคน ทั้งความปลอดภัยบนถนน การมีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยว พัฒนาสตรีทฟู้ด ฯลฯ เขาต้องการสร้างเมืองโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม
“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากผู้ว่าฯ ทุกคน ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้เลยว่ารัฐกำลังทำอะไร เป็นไปได้ไหมว่าช่วยบอกหน่อยว่ารัฐกำลังทำอะไร กำลังบริหารจัดการเรื่องไหน การดำเนินงานเป็นอย่างไร ตอนนี้มีปัญหากี่เรื่อง เช่น ปัญหาทางเท้า เคยได้ยินแต่ข้อร้องเรียน แต่ไม่เคยเห็นความคืบหน้าในการดำเนินการ”
“โรงเรียนดีใกล้บ้านและสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้” คืออีกนโยบายที่ วีรชัย จะส่งเสริมเพื่อสร้าง Smart people เขาไม่อยากเห็นเด็ก ๆ เดินทางไปเรียนไกล ๆ อยากประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลสนับสนุนการเรียนข้ามศาสตร์ และเรียนได้ทุกเมื่อ สนับสนุนเด็กเยาวชนฝึกงานกับบริษัทเอกชนเพื่อหาประสบการณ์และหารายได้
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อิสระ หมายเลข 6
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 6 ในนามอิสระ ประกาศนโยบาย “ตั้งสภาคนรุ่นใหม่” เปิดช่องทางรับความคิดเห็น ข้อเสนอนโยบาย และการมีส่วนร่วมบริหารในรูปแบบสภาออนไลน์ เขาบอกว่าการทำงานกับคนทุกกลุ่มเป็นสิ่งที่ทำอยู่เดิมตอนเป็นผู้ว่าฯ เช่น มีตัวแทนคนพิการส่งข้อเสนอขอลิฟต์ขึ้นสถานีรถไฟฟ้าและทางลาดบนทางเท้า ก็แก้ปัญหาให้ทันที
พล.ต.อ. อัศวิน เรียกการทำงานกับคนทุกกลุ่มว่า “คนลุยเมือง” ซึ่งหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ต่อ เขาจะดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถ กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความตั้งใจให้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างเมืองน่าอยู่
“ผมยืนยันตรงนี้ไว้เลย ผมจะเอาคนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งผู้พิการ นอกจากมาร่วมออกนโยบาย เขาจะมาร่วมเป็นผู้บริหาร กทม. กับผม เราจะทำให้เมืองกรุงเทพฯ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้ได้ ผมไม่ได้เอาเฉพาะนักวิชาการ คนเก่ง ๆ เท่านั้น”
น.ต. ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11
“ใช้วัฒนธรรมนำพาเศรษฐกิจ” หรือ Soft power คือนโยบายเมืองน่าอยู่เพื่อคนรุ่นใหม่ของ น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ที่มีแผนดึงกลุ่มคนทั่วโลกที่ทำงานที่ไหนก็ได้ แบบ Work from anywhere ให้สนใจเข้ามาใช้ กทม. เป็นฐานในการทำงาน โดยจะพัฒนาเมืองให้เป็น Smart city เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้และการสร้างงานสร้างอาชีพของคนทุกกลุ่ม
“เราจะเป็นนั่งร้านให้กับคนรุ่นใหม่ การสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กที่ไม่เข้าใจกัน ในส่วนที่เป็นนโยบายอะไรที่เกินอำนาจ กทม. จะขอเป็น Sandbox ทำ กทม. เป็นเมืองที่สร้างโอกาส”
“เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy” คืออีกนโยบายของ น.ต. ศิธา ที่ประกาศสนับสนุนการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลโดยไม่เก็บภาษีเพิ่ม หวังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีทางเลือกสร้างรายได้