ชีวิตดี ๆ ที่ (ยังไม่) ลงตัว: สุขภาพคนกรุงใครดูแล?

ป่วยแล้วไปไหน? คำตอบที่อยู่ในใจของคนกรุง อาจสัมพันธ์กับเงินในกระเป๋า สิทธิ และสวัสดิการที่ได้รับการดูแลจากรัฐ ซึ่งแต่ละคนก็มีสิทธิแตกต่างกัน

นี่ยังไม่นับรวมว่า ที่จริงแล้วคนกรุงเทพฯ ต้องรอให้ป่วยก่อน แล้วจึงเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขได้อย่างนั้นหรือ? เพราะแม้เราคุ้นเคยกับคำว่า “ส่งเสริมสุขภาพ” มานาน แต่น้อยคนที่จะนึกออกว่า การส่งเสริมสุขภาพภายใต้การดูแลของรัฐท้องถิ่นอย่าง “กทม.” นั้นเป็นอย่างไร?

มาตรา 89 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ให้อำนาจ กทม. ในการดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล

โดยงานด้านดังกล่าว มีสองหน่วยงานภายใน กทม. ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย

สำนักการแพทย์ มีหน้าที่ให้บริการตรวจรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารจัดการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดการศึกษา ฝึกอบรมและพัฒนาทางวิชาการแพทย์และการพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลในสังกัด 11 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน โรงพยาบาลคลองสามวาและโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร จะให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอก

ส่วน สำนักอนามัย มีหน้าที่ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการสำรวจดูแลภาวะสุขภาพของประชาชน สุขาภิบาลอาหาร สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพด้วยตนเอง ปัจจุบัน มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่ง

ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่ดูแลประชากรในกรุงเทพฯ กว่า 5.5 ล้านคน

สุขภาพ

การเข้า (ไม่) ถึงการบริการสาธารณสุข 

หากนำจำนวนหน่วยบริการสาธารณสุขสังกัด กทม. ได้แก่ โรงพยาบาล 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่ง แบ่งตามเขตที่หน่วยบริการดังกล่าวตั้งอยู่ พบว่า จาก 50 เขตของ กทม. เขตที่มีหน่วยบริการสาธารณสุขมากที่สุดคือ หนองจอก โดยมี 13 แห่ง ตามด้วยบางขุนเทียน และลาดกระบัง 9 แห่ง คลองสามวาและตลิ่งชัน เขตละ 8 แห่ง

ที่น่าสนใจ วังทองหลาง เป็นเขตที่ไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลของ กทม. เลย คำถามที่ตามมาคือ ประชาชนในเขตนี้ใช้บริการหน่วยบริการสุขภาพที่ไหน ขณะเดียวกัน มีเขตใน กทม. ถึง 10 เขตที่มีบริการสาธารณสุขของ กทม. เพียง 1 แห่งต่อเขต โดยเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ได้แก่ บางเขน บางกอกน้อย คันนายาว บางพลัด สาทร ราชเทวี พญาไท บางกอกใหญ่ บางรัก และสัมพันธวงศ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำจำนวนประชากรแต่ละเขต (ตัวเลข ณ ธันวาคม 2564) มาคำนวณกับจำนวนหน่วยบริการสาธารณสุขข้างต้น พบว่า เขตที่มีจำนวนสถานพยาบาลของ กทม. ต่อประชากรสูงที่สุด คือ ตลิ่งชัน โดยอยู่ที่ 0.78 ต่อ 10,000 ประชากร ตามด้วยทวีวัฒนา 0.76 ต่อ 10,000 ประชากร หนองจอก 0.73 ต่อ 10,000 ประชากร ลาดกระบัง 0.50 ต่อ 10,000 ประชากร และป้อมปราบศัตรูพ่าย บางคอแหลม และบางขุนเทียน เท่ากันที่ 0.49 ต่อ 10,000 ประชากร

ส่วนท้ายตาราง คือเขตวังทองหลาง ที่มีประชากร 105,901 คน หรือมากเป็นอันดับที่ 22 จาก 50 เขต แต่ไม่มีสถานพยาบาลของ กทม. เลย ตามด้วย บางเขน 0.05 ต่อ 10,000 ประชากร คันนายาว สายไหมและบางกอกน้อย เท่ากันที่ 0.10 ต่อ 10,000 ประชากร และบางพลัด 0.11 ต่อ 10,000 ประชากร

และเมื่อแยกระดับของการบริการ จะพบว่า 93% ของสถานพยาบาลทั้งหมด เป็นการให้บริการระดับปฐมภูมิที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟู ป้องกันโรค รักษาพยาบาลที่บริการผู้ป่วยนอก ขณะที่มีการให้บริการระดับทุติยภูมิขึ้นไป ที่มีเตียงรับผู้ป่วยให้นอนรักษาพยาบาล เพียง 7% โดยปรากฏใน 9 เขต ได้แก่ บางแค บางขุนเทียน ประเวศ หนองจอก ลาดกระบัง หนองแขม บางคอแหลม คลองสาน และป้อมปราบศัตรูพ่าย

ปัญหาความไม่เพียงพอการให้บริการสาธารณสุขโดยกรุงเทพมหานคร เผยตัวให้เห็นมากขึ้นนับแต่วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายรายต้องกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา องค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุน ช่วยหาเตียง ไปจนถึงตั้งโรงพยาบาลสนาม ทีมแพทย์และอาสาจากชมรมแพทย์ชนบทยกทีมมาที่กรุงเทพฯ เพื่อช่วยตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อฯ 

ขณะที่สถานพยาบาลของ กทม. เองไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ โดยสถานพยาบาลภายใต้สำนักการแพทย์ กทม. มีจำนวนเตียงทั้งหมด 3,460 เตียง จากเตียงทั้งหมดในกรุงเทพฯ 44,345 เตียง และยังต้องตั้งศูนย์พักคอย (community isolation: CI) เพื่อรอการส่งต่อ ถึง 31 แห่ง รวม 3,981 เตียง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อฯ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

จะเห็นว่าแม้โควิด-19 จะเป็นสถานการณ์พิเศษ แต่ก็ได้เปิดแผลให้เห็นว่า กทม. มีปัญหาตรงไหนบ้าง

ถึงอย่างนั้น เจ้าภาพเรื่องการบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเพียง กทม. เท่านั้น เพราะในกรุงเทพฯ ยังมีสถานพยาบาลทั้งของรัฐบาลกลาง ภายใต้หลายกระทรวง ไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวงกลาโหม รวมถึงสถานพยาบาลของเอกชนด้วย

ขณะที่ หากดูตามสิทธิด้านการรักษาพยาบาลที่คนไทยแต่ละคนจะได้รับ ก็อาจแจกแจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้กำกับของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแล ‘คนไทย’ ที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และไม่ได้มีสิทธิประกันสุขภาพอื่นจากหน่วยงานรัฐ, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดูแลผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมทุกเดือน และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ดูแลกฎระเบียบการเบิกจ่ายตามสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ

สุขภาพคนกรุง 2

ความ (ไม่) พร้อมของการบริการสาธารณสุข

แม้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพฯ จะสูงกว่าจังหวัดอื่นที่เหลือของประเทศ แต่หากดูความพร้อมในการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงแล้ว ก็คงต้องบอกว่า มีคนในกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยที่อยู่หางแถว

เมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ จะพบว่า มีบางเขตที่มีจำนวนประชากรแทบจะเทียบเท่าหนึ่งจังหวัดของประเทศไทย หากแต่ทรัพยากรด้านสาธารณสุขกลับไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเปรียบเทียบทรัพยากรด้านสาธารณสุข ระหว่างเขตที่มีประชากรมากที่สุดใน กทม. อย่าง เขตสายไหม (206,831 คน) กับจังหวัดที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับเขตนี้ที่สุด อย่างจังหวัดสิงห์บุรี (205,898 คน) จะพบความแตกต่างอย่างสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพในทุกระดับ

สถานพยาบาลใน ระดับปฐมภูมิ ซึ่งให้บริการสุขภาพระดับพื้นฐานที่สุดและใกล้ชิดประชาชนที่สุด เช่น ตรวจรักษาพยาบาลขั้นต้น การฝากครรภ์ การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ฉีดวัคซีนเด็ก คัดกรองภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจสุขภาพเบื้องต้น จนถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่เขตสายไหมนั้นมีบริการที่จัดโดย กทม. เพียง 2 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข  61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ และศูนย์บริการสาธารณสุข 61 สาขาออเงิน ขณะที่มีคลินิกชุมชนอบอุ่น 8 แห่ง ซึ่งรับเฉพาะบัตรทอง และคลินิกที่รับดูแลผู้ประกันตนอีก 2 แห่ง รวม 12 แห่ง ขณะที่สิงห์บุรีนั้นมี 48 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (ศสม.) 1 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ถึง 47 แห่ง

ใน ระดับทุติยภูมิ ซึ่งเป็นการบริการสุขภาพที่ต้องใช้เทคโนโลยีหรือความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น เช่น มีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ระบาดวิทยา จนถึงแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ รวมถึงแพทย์เฉพาะทางสาขารอง เช่น รังสีวิทยา จักษุวิทยา ดูแล เขตสายไหมมีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง (รพ.บี.แคร์.เมดิคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งรับเฉพาะสิทธิประกันสังคม ขณะที่สิงห์บุรี มีโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลค่ายบางระจัน โรงพยาบาลบางระจัน โรงพยาบาลท่าช้าง และโรงพยาบาลพรหมบุรี ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลของรัฐรับทุกสิทธิการรักษาพยาบาล

ส่วน ระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นบริการสุขภาพที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือการแพทย์เฉพาะทางสาขาต่อยอด 

อย่างอายุรศาสตร์โรคไต กุมารศัลยศาสตร์ ฯลฯ ดูแล เช่น โรคหัวใจ โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคไต มะเร็ง ในเขตสายไหม มี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลซีจีเอช สายไหม ซึ่งเป็นของเอกชน รับดูแลเฉพาะคนที่มีสิทธิประกันสังคม ใครที่ใช้สิทธิอื่นก็จำเป็นต้องจ่ายค่าบริการเองหรือรอการส่งต่อ และ โรงพยาบาลภูมิพลอดุยเดช สังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ ขณะที่สิงห์บุรีนั้นมี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสิงห์บุรี และโรงพยาบาลอินทร์บุรี

จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่า จำนวนบริการปฐมภูมิที่มากกว่าของสิงห์บุรีสามารถดูแลประชาชนหากมีการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ทั่วถึงกว่า ขณะที่การส่งต่อเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงสถานพยาบาลที่มีความพร้อมหรือบุคลากรเฉพาะทางที่สามารถให้ความช่วยเหลือ หรือดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องได้ ในกรณีของสิงห์บุรีนั้น สามารถส่งต่อได้ถึงระดับตติยภูมิ ขณะที่ในเขตสายไหม มีบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นหน้าด่านในการดูแลประชาชนน้อย ทั้งยังไม่มีหน่วยบริการระดับรอง เช่น โรงพยาบาลขนาดเล็ก ทำให้หากต้องมีการตรวจรักษาเพิ่มเติม คนไข้ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลภูมิพล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับสูง

นอกจากนี้, ยังมีความต่างของเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลยังกลายเป็นอุปสรรค โดย พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร อดีตเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ชี้ว่า ในจังหวัดอื่น ๆ ผู้ใช้บริการส่วนมากเป็นบัตรทอง (สิทธิประกันสุขภาพ) ทำให้การส่งต่อทำได้ราบรื่น ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ทำให้การส่งต่อต้องไปตามสิทธิของแต่ละคนที่มี และเมื่อต้องใช้บริารข้าม “สังกัด” ของหน่วยบริการก็จะทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้น

นอกจากสิงห์บุรีจะมีทรัพยากรด้านการให้บริการสาธารณสุขที่หลากหลายแล้ว ยังมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอำนาจของผู้บริหาร ซึ่งมีอิสระในการคิดออกแบบนโยบาย อย่างกรณีที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรีสร้างแรงจูงใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก ด้วยการเชิญชวนให้คนสิงห์บุรีมารับการฉีดวัคซีน โดยจะจับฉลากมอบเงินให้กับทั้งคนฉีดและคนชวน คนฉีด อำเภอละ 1 รางวัล รวม 6 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท และคนชวน อำเภอละ 1 รางวัล รวม 6 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ทั้งนี้ มีเงื่อนไข คือ ผู้ที่เชิญชวนและนำคนเข้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-30 พฤศจิกายน 2564 ครบ 10 คนจะได้รับคูปองจับรางวัล 1 ใบและสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ณ สถานบริการสาธารณสุขของรัฐในจังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 สามารถแจ้งและเข้ารับการฉีดกับเจ้าหน้าที่หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง โดยจะมีการจับรางวัลเมื่อประชากรทั้งจังหวัดสิงห์บุรีเข้ารับบริการฉีดวัคซีนครบ 70% แล้ว

สุขภาพคนกรุง 3

บริการ (ไม่) ครบวงจร 

เกณฑ์ของหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ 1 ทีมแพทย์ ดูแลประชากร 10,000 คน เมื่อลองคำนวณง่าย ๆ ว่า ประชากร 5.5 ล้านคนใน กทม. กับศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โดยไม่นับรวมสถานพยาบาลประเภทอื่น ๆ ศูนย์บริการสาธารณสุข 1 แห่ง จะต้องดูแลประชากร 79,710 คน ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่ควรจะเป็นไปอย่างมาก  

และเมื่อดูการให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัด กทม. 69 แห่ง เทียบกับ 50 เขตของ กทม. จะพบว่า มีเขตที่เข้าไม่ถึงแม้แต่บริการปฐมภูมิด้วยกันสองเขต นั่นคือ เขตวังทองหลางและบางเขน

หากดูเฉพาะงานในศูนย์บริการสาธารณสุข จะพบว่า แบ่งการบริการได้ 2 ด้านหลัก คือ (ก) งานสร้างเสริมสุขภาพและ (ข) รักษาโรค อาทิ

  • คลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป 
  • คลินิกทันตกรรม
  • คลินิกโรคเรื้อรัง เช่น คลินิกเบาหวาน คลินิกความดันโลหิตสูง 
  • คลินิกพิเศษ ได้แก่ คลินิกวัณโรค คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกกามโรค คลินิกป้องกันและบำบัดยาเสพติด คลินิกสุขภาพจิต คลินิกสัตวแพทย์
  • คลินิกสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ คลินิกฝากครรภ์ คลินิกสุขภาพเด็กดี

ประเภทของคลินิกที่มีมากที่สุด คือ คลินิกโรคทั่วไป และคลินิกสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 68 แห่ง คลินิกฝากครรภ์ 67 แห่ง คลินิกทันตกรรม 63 แห่ง และคลินิกโรคเบาหวาน และคลินิกครอบครัวสมานฉันท์ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อป้องกันและลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เท่ากันที่ 56 แห่ง 

ส่วนประเภทคลินิกที่มีน้อยที่สุด คือ คลินิกโภชนาการ 1 แห่ง ตามด้วย คลินิกหู คอ จมูก 3 แห่ง คลินิกจักษุ และคลินิกสัตวแพทย์ 4  แห่ง และคลินิกคลายเครียด 5 แห่ง

สำหรับศูนย์ฯ ที่มีประเภทคลินิกให้บริการมากที่สุด คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 เขตวัฒนา มี 18 ประเภท รองมาคือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง มี 16 ประเภท ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 เขตบางรัก 14 ประเภท ตามด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา และศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี มี 13 แห่งเท่ากัน 

ขณะที่เขตที่มีประเภทคลินิกให้บริการน้อยที่สุดใน 50 เขต คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 13 เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีคลินิกเพียง 4 ประเภท ตามด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 เขตบางกอกน้อย ศูนย์บริการสาธารณสุข 62 เขตภาษีเจริญ ศูนย์บริการสาธารณสุข 65 บางบอน และศูนย์บริการสาธารณสุข 66 ที่เขตลาดพร้าว ที่มี 5 ประเภทเท่ากัน 

รสสุคนธ์ ชาติประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์สาธารณสุข กองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า การจัดคลินิกนั้นจะเลือกกระจายให้ครอบคลุมทุกโซนในกรุงเทพฯ เนื่องจากบุคลากรการแพทย์มีค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดความไม่สะดวก หากไม่มีบริการหนึ่ง ๆ ในศูนย์บริการสาธารณสุขนั้นก็อาจใช้การส่งต่อช่วยได้ 

ทั้งนี้ คลินิกโรคทั่วไป จะเปิดให้บริการแค่ครั้งวันเช้า ในช่วง 8.00-12.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในขณะที่คลินิกเฉพาะทาง จะสลับกันให้บริการในช่วงบ่าย ตั้งแต่ 13.00-16.00 น. ยกเว้นคลินิกทันตกรรม ที่ให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. ส่วนคลินิกนอกเวลาราชการ จะเปิดให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.00-20.00 น. โดยมีเฉพาะบางศูนย์ฯ แบ่งเป็นคลินิกตรวจโรคทั่วไป 43 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 38 แห่ง ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00-12.00 น. จะมีเพียงคลินิกตรวจโรคทั่วไป 14 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 11 แห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการ จะเห็นว่าแม้จะมีคลินิกที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่เวลาให้บริการยังเป็นไปตามระบบราชการและแม้จะเพิ่มเวลาให้บริการแล้ว แต่ก็ยังเปิดให้บริการได้เพียงไม่กี่ประเภทคลินิก 

คำถามสำคัญคือ หากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินนอกเวลาราชการประชาชนจะไปพึ่งพาหน่วยบริการที่ไหน เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องดิ้นรนตามอัตภาพด้านการเงินและเวลาขณะนั้น

มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ กทม. มีคลินิกผู้สูงอายุ เพียง 20 เขตเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์เต็มตัวแล้ว โดยกรุงเทพฯ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 1,141,107 คน หรือคิดเป็น 21% ของประชากรทุกวัย อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2562 กทม. ร่วมกับ สปสช. ทำโครงการ “คลินิกผู้สูงอายุครบวงจร” เพิ่มการคัดกรอง และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ อาทิ การตรวจสุขภาพ วัดภาวะสมองเสื่อม ประเมินภาวะกระดูกพรุน ให้ทุกสิทธิสามารถใช้บริการได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาล 25 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร 30 แห่ง ทำให้สัดส่วนต่อประชากรผู้สูงอายุที่แต่ละหน่วยบริการต้องดูแล ลดลงเหลือ 1 แห่ง:  20,747 ประชากร ซึ่งก็ยังคงสูงเกินกว่าอัตรา 10,000 ประชากรอยู่ดี 

แม้จะเห็นความพยายามในการเพิ่มคลินิกให้หลากหลายเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง รวมถึงยืดหยุ่นด้านเวลาทำการ ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อเพิ่มการบริการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ 

สุขภาพคนกรุง 4

ก้าวต่อไปของ กทม. 

จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แม้ กทม. จะได้อำนาจเต็มในการบริหารงานด้านการสาธารณสุขใน “พื้นที่” แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก ทั้งในเชิงปริมาณที่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ รวมถึงความไม่พร้อมในการจัดการทรัพยากรและอำนาจ เมื่อเทียบกับกรณีจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีจำนวนประชากรทั้งจังหวัดไม่ต่างจากเขตเขตหนึ่งของกรุงเทพฯ 

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร อดีตเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เสนอว่า การสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิให้เพียงพอ กทม. ไม่จำเป็นต้องทำเอง แต่ในฐานะเจ้าของพื้นที่ กทม. สามารถสร้างความร่วมมือกับหน่วยอื่นได้ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกพื้นที่ แต่ให้แต่ละเขต/พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เช่น บางพื้นที่อาจยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเดิม หรือดึงคลินิกเอกชนที่มีอยู่แล้วเข้ามาร่วม บางพื้นที่ที่ไม่มีศูนย์ฯ เลยหรือไม่มีหน่วยบริการของเอกชนเข้าไปทำ กทม.ก็ค่อยไปสร้างศูนย์ฯ เพื่ออุดช่องว่างนั้น จุดที่เข้าถึงยากอาจมีศูนย์สุขภาพชุมชนเข้าไป รวมถึงเสนอให้ในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน อาจมีหน่วยดูแลสุขภาพประจำหน่วยขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพสมาชิกในชุมชน

ขณะที่ระยะยาว นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ยังคงยืนยันข้อเรียกร้องเดิมต่อผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2558 ที่เรียกร้องให้ยกระดับศูนย์สาธารณสุขที่มีความพร้อม ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนในทุกเขต เทียบเท่าโรงพยาบาลอำเภอ ที่เข้าถึงบริการได้ 24 ชม. ไม่ใช่เปิดทำการเฉพาะในเวลาราชการ เพื่อรองรับประชากรจำนวนมากในแต่ละเขตของ กทม. โดยเน้นย้ำว่าจะต้องทำให้งานฝ่ายส่งเสริมป้องกันสุขภาพมีขนาดใหญ่พอกับส่วนของการรักษาพยาบาล พร้อมชวนนึกภาพความเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพในต่างจังหวัด ที่เดิมมีสถานีอนามัย ขยับมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในระดับอำเภอ จากที่เคยมีเตียง 10 เตียง ปัจจุบัน มีมากกว่า 60 เตียงแล้ว แต่พอกลับมามองที่กรุงเทพฯ จะเห็นว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อเทียบเคียงกับจังหวัดอื่น

นอกจากข้อเสนอจากภาคประชาสังคมแล้ว ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันนำเสนอนโยบายด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรมและลงรายละเอียด ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ไทยยังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 โดยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 อย่างการจัดจุดตรวจเชิงรุก รพ.สนาม และศูนย์พักคอย รวมถึงจัดจุดฉีดวัคซีนนอก รพ. (อัศวิน ขวัญเมือง)

ขณะที่มีนโยบายเกี่ยวกับศูนย์บริการสาธารณสุข อย่างการยกระดับเป็นศูนย์การแพทย์ทันสมัย มีแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และมีความสามารถด้านการฟอกไต (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์)  การพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) การเพิ่มจำนวนศูนย์ฯ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ (สกลธี ภัททิยกุล) การเพิ่มศูนย์กายภาพบำบัด (วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) และการให้บริการ 24 ชั่วโมง  (รสนา โตสิตระกูล)

ประเด็นเรื่องโรงพยาบาล มีข้อเสนอเพิ่มศักยภาพ รพ.สังกัด กทม. 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง (สกลธี) สร้าง รพ.แห่งใหม่ให้ครอบคลุม และขยายโครงการ รพ.10,000 เตียง (ชัชชาติ) และทุกเขตต้องมีอย่างน้อย 1 รพ. (ศิธา ธิวารี)

ประเด็นการดูแลผู้สูงอายุ เช่น ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน และระบบการดูแลบ้านพักคนชราในแต่ละพื้นที่ (ศิธา) สนับสนุนผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง (วิโรจน์) และเตรียมแผนรับมือสังคมผู้สูงอายุ เช่น คลินิกเฉพาะด้าน (อัศวิน)

เรื่องการบริการเฉพาะทางอื่น ๆ มีข้อเสนอ อาทิ สนับสนุนวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ และส่งเสริมการแพทย์ทางไกล (วิโรจน์) ผลักดันสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า (รสนา) เพิ่มจำนวนศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง มีรถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน และบูรณาการข้อมูลเพื่อการรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ (ชัชชาติ)

อย่างที่กล่าวไปว่า การจัดการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ นอกจาก กทม. ที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมด้วย ภายใต้สิทธิการรักษาพยาบาลที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ทิศทางของระบบสาธารณสุขใน กทม. จะมุ่งไปทางไหนนั้น ส่วนหนึ่งคงเห็นได้จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะถึงนี้


ซีรีส์ชุด "ชีวิตดี ๆ ที่ (ยังไม่) ลงตัว: สุขภาพคนกรุงใครดูแล?" เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active