แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม EP.3

: โครงการเด่นของผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง

กทม.

การหลอมรวม “นโยบาย” กับ “แผนพัฒนา กทม.” สู่ “ผลงาน” ผู้ว่าฯ เมืองกรุง

ในมิติของ นโยบายหาเสียงของผู้ว่าฯ กทม. กับ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร จะพบว่าแม้ผู้ว่าฯ กทม. บางคนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ต้องบริหารงานตามแผนเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็ยังสามารถเชื่อมโยงนโยบายเข้ากับแผนพัฒนา กทม. จนสร้างผลงานตามที่เคยหาเสียงไว้ได้

ยกตัวอย่าง สวนสาธารณะจุตจักร ที่ริเริ่มโดย ธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก แต่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี จนกระทั่ง ชลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าฯ คนต่อมาซึ่งเป็นคนแรกที่มีโอกาสได้ใช้แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2520-2524) ได้สานต่อนโยบายสร้างสวนสาธารณะสวนจตุจักรให้แล้วเสร็จ

ไม่ต่างจาก ‘โครงการกรุงเทพเมืองสะอาด’ ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง“ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2533) ที่ทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองสะอาดน่าอยู่ของโลกได้ นั้น ก็เป็นการขยายมาจากโครงการเดิมของ พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์ ผู้ว่าฯ คนก่อนหน้านี้

ในแง่การทำงานนโยบายเรื่องความสะอาดเป็นนโยบายที่มีในทุกแผนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ว่าฯ แต่ละคนจะเสนอโครงการใดเพื่อรองรับและดำเนินการตามแผนนั้น เช่นเดียวกันกับนโยบายด้านความสะอาดในยุค พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็สอดคล้องกับแผนฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2525-2529) ที่มีเป้าหมายว่า “ให้มีการกวาดถนน ตรอก ซอยทุกสายในกรุงเทพ”

เช่นเดียวกับการจัดตั้งศูนย์ป้องกันน้ำท่วมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่สอดคล้องกันกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ที่ระบุว่า มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือความรู้ด้านการป้องกันน้ำท่วม และการระบายน้ำ

หรือการเปลี่ยนตลาดนัดจตุจักรให้กลายเป็นตลาดนัดถาวร มีโครงสร้างพื้นฐาน มีน้ำ มีไฟฟ้า ซึ่งโครงการตลาดนัดจตุจักรนั้น แรกเริ่มเป็นโครงการของชลอ ธรรมศิริ ที่ต้องการจะย้ายตลาดนัดสนามหลวงออกมาเพื่อแก้ปัญหารถติดบริเวณรอบสนามหลวงและใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่สวนสาธารณะและประกอบพระราชพิธีสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีผลงานจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคผู้ว่าฯ จำลอง ที่อาจไม่ได้มาจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ โดยตรง แต่เป็นโครงการที่มีแนวคิดริเริ่มเกิดขึ้นจากตัวผู้ว่าฯ เอง เช่น แนวคิดริเริ่มทำรถไฟลอยฟ้าเพื่อแก้ปัญหารถติด เช่นเดียวกันกับการนำเรือมาใช้ในการโดยสารในคลองแสนแสบ

ในสมัย พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม. พ.ศ. 2539-2543 ผลงานส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนฉบับที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ‘รถตู้มวลชน’ ที่เป็นไปตามแผนที่กล่าวถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างเมือง มี ‘ป้ายจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอย’ ตามแนวทางควบคุมผู้ค้าบนทางเท้า ตลอดจนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องมลพิษทางอากาศ ซึ่งในยุคของผู้ว่าฯ พิจิตตก็มีการตั้งจุดตรวจมลพิษยานยนต์ 50 จุดทั่วกรุงเทพฯ ส่วนการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรก็เป็นไปตาม แผนงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและปรับปรุงระบบระบายรองรับในพื้นที่กรุงเทพฯ

ในขณะที่แนวคิดสร้าง “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ก็ไม่ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาฯ ด้านวัฒนธรรมแต่อย่างใด

ส่วนยุคของ สมัคร สุนทรเวช แม้จะมีชื่อว่ามีส่วนในการก่อตั้งศูนย์เอราวัณและเป็นเจ้าของนโยบาย ‘แฟลตข้าวโพด’ แต่ทั้งสองโครงการนี้ก็อยู่ในแผนพัฒนาฯ พ.ศ. 2540-2544 อยู่แล้ว ซึ่งระบุไว้ว่าจะ “พัฒนาระบบส่งต่อด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานในสังกัด กทม. กับหน่วยงานอื่น ๆ” และ “ให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ถูกรื้อย้าย”

ผลงานของอภิรักษ์ โกษะโยธินก็เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่การเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการ ‘10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด’ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 6 ที่ระบุเป้าหมายว่า ต้องเพิ่มพื้นที่โล่งว่างและสวนสาธารณะเพื่อนันทนาการให้มีสัดส่วนต่อประชากรมากกว่า 2.5 ตารางเมตรต่อคน ภายในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ผลงานโครงการจราจรอัจฉริยะต่าง ๆ ก็สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนที่มุ่งพัฒนาระบบสารสนเทศด้านการจราจรและขนส่งให้สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านการจราจรและขนส่งกรุงเทพ

ด้านแผนระยะยาวทั้ง 12 ปีและ 20 ปี ที่อยู่ในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่ง ระบุว่ากรุงเทพฯ จะมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมอยู่ใน 5 อันดับแรกของเอเชีย การติดตั้งกล้อง CCTV เป็นหนึ่งในโครงการที่จะดำเนินการ และกำหนดว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมหานครสีเขียว สะดวกสบาย ต้องมีพื้นที่สีเขียวกระจายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ ดังนั้นผลงานด้านการจัดหาสวนสาธารณะและกล้อง CCTV ของสุขุมพันธุ์ก็อยู่ภายใต้แผนพัฒนาฯ เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ดำเนินงานตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว มีเพียงบางกรณีที่อยู่นอกเหนือแผน กระนั้นก็ตามเนื่องจากเนื้อหาในแผนฯ มักเขียนอย่างไม่เฉพาะเจาะจงและมีแนวนโยบายครอบคลุมเกือบทุกปัญหาในกรุงเทพฯ จึงเอื้อให้ผู้ว่าฯ ในเวลานั้นสามารถนำเอานโยบายของตนเองหรือสิ่งที่ตนเองเคยหาเสียงไว้มาปรับใช้เป็นโครงการต่าง ๆ ได้

การพัฒนากรุงเทพฯ จึงไม่ได้อยู่แค่เพียงว่าแผนพัฒนานั้นดีมากน้อยแค่ไหน หรือผู้ว่าฯ ได้ทำตามที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ แต่คำถามที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ ชาวกรุงเทพฯ มีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการกำหนดการพัฒนาของเมืองหลวงแห่งนี้

อำนาจทับซ้อนที่อยู่เหนือการตัดสินใจของ ผู้ว่าฯ กทม.

แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ใน กทม. ที่ต้องใช้งบประมาณสูงและมีกรอบการดำเนินการที่ยาวนานนั้น อำนาจการตัดสินใจชี้ขาดก็ไม่ได้ขึ้นของผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียวเท่านั้น เนื่องจากอำนาจในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานครถูกรวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลและส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้กรุงเทพฯ ไม่สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างอิสระดังที่คาดคิด

ดังนั้น แม้ประชาชนจะเลือกผู้ว่าฯ จากนโยบายที่ตรงกับความต้องการของตนเอง แต่ก็ใช่ว่านโยบายเหล่านั้นจะเป็นจริงได้ทั้งหมด เพราะการบริหารกรุงเทพฯ รายล้อมไปด้วยเงื่อนไขมากมายจนยากที่จะขยับแต่ลำพัง

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การก่อสร้างรถไฟฟ้าโครงการต่าง ๆ แม้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง น่าจะเป็นผู้ว่าฯ คนแรก ๆ ที่เริ่มพูดถึงการสร้างรถไฟลอยฟ้าในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรุงเทพมหานครไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง คนกรุงเทพฯ ต้องรอนานนับสิบปีกว่ารถไฟฟ้าสายแรกจะใช้ได้จริง เพราะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ต้องอาศัยงบประมาณจากส่วนกลาง และต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน จนถึงปัจจุบันการก่อสร้างหรือเก็บค่าบริการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าก็ยังเป็นอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล

หรือแม้แต่กรณี โครงการการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ยังเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ. 2564-2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาทตามข้อเสนอของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการสนองพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำลำคลอง

นอกจากนี้การบริหารจัดการกรุงเทพฯ ยังถูกกำกับไว้ด้วยหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีอำนาจและบทบาทเฉพาะเรื่องโดยตรงมากกว่า จนปัญหาเดียวของกรุงเทพฯ มี “เจ้าภาพ” หลายราย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเรื่องนี้คือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปรากฎอยู่ในแผนพัฒนาทุกฉบับและชี้สาเหตุได้ว่าเกี่ยวข้องกับน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และการระบายน้ำไม่ทันตั้งแต่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2

แต่การแก้ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมชลประทาน นับตั้งแต่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ที่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการกำหนดกรอบนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อจัดทำแบบยุทธศาสตร์จัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ และเกิดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้น การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานนี้เช่นกัน กรุงเทพฯ ไม่ได้มีบทบาทจัดการเท่าที่ควรแม้จะเป็นผู้รับผิดชอบคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของคนกรุงเทพฯ โดยตรง

รวมไปถึงเงื่อนไขเรื่อง “กฎหมาย” ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการท้องถิ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ก็ยิ่งทำให้การจัดการกรุงเทพฯ ซับซ้อนมากขึ้น โดยไม่เพียงแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนแม่บทกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นที่กำหนดแนวทางพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ แต่ยังเป็นผลจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารงานต้องดำเนินการประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2548-2551 ขึ้น และกำหนดให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

ต่อมา ยังมีแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเข้าไว้ด้วยตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 ไปจนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

ที่น่าสนใจ คือ บทบาทของประชาชนซึ่งควรจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากแผนพัฒนาฯ มากที่สุด ได้หายไปจากแผนพัฒนากรุงเทพฯ ตั้งแต่ร่วมคิดและกำหนดวิสัยทัศน์ ออกแบบเมืองที่ตนเองต้องอยู่โดยตรง ตลอดจนการประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองสะท้อนให้เห็นวิธีการทำงานของระบบรัฐราชการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมากเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามต่อไปว่า แผนพัฒนากรุงเทพฯ ในปัจจุบันตอบสนองกับความต้องการของประชาชนมากน้อยเพียงใด และควรจะมีกระบวนการร่วมคิดร่วมสร้างกรุงเทพฯ รูปแบบใหม่ ๆ โดยประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองของกรุงเทพฯ หรือไม่ เพื่อไม่ให้แผนพัฒนากรุงเทพเป็นเพียง “คู่มือ” กำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการเท่านั้นดังที่เป็นมา


ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม

ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active