ประชุมสภา กทม. ในรอบ 8 ปี มีเรื่องอะไรถูกหยิบขึ้นมาพูดบ้าง

เมื่อวันที่ 6 – 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 วงเงิน 79,000 ล้านบาท โดยที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติฯ ดังกล่าวไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งการพิจารณางบประมาณครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่ประชุมโดย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้ The Active รวบรวมเรื่องเด่นที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายในสภา กทม. ที่จะสะท้อนว่าผู้แทนคน กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง

น้ำท่วม น้ำรอระบาย ติดอันอับ 1 ปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด

ตลอดการอภิปรายทั้ง 2 วันในสภา กทม. ปัญหาน้ำท่วม และน้ำรอระบายเป็นสิ่งที่ ส.ก. แต่ละเขตให้ความสนใจมากที่สุด ถึง 20 ครั้ง เช่น ณภัค เพ็งสุข ส.ก. เขตลาดพร้าว ที่อภิปรายโดยตั้งคำถามถึงงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตลาดพร้าว ที่มีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณทั้งหมด และยังหมดไปกับค่าอาหารนอกเวลากว่า 1 ใน 3 อีกด้วย

” ลาดพร้าว ฝนตกทีไร น้ำท่วมทุกที ไม่ว่าจะตกมาก ตกน้อย ปีนี้มีงบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขต แค่ 3.1 ล้าน ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็น จากงบทั้งหมด งบลดลงทั้งที่น้ำยังท่วม และไม่มีรายละเอียดว่าขุดลอกคลองที่ไหน เมื่อไหร่จำนวนเท่าไหร่ … หรือจะทำงานแบบนี้ไปทั้งชาติ”

ร้องตรวจสอบการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ให้เป็นไปตามแผน

การพัฒนาในกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ งบประมาณมหาศาล หน้าที่ประการหนึ่งของส.ก. คือการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนิน จึงถูกหยิบมาพูดถึงในสภา กทม. จำนวนมาก เช่น สราวุธ อนันต์ชล ส.ก. เขตพระโขนง ได้ทวงถามถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ บึงหนองบอน ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

“โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนได้ตั้งงบประมาณสำหรับปี 2566 หรือไม่ และจำดำเนินการต่ออย่างไรสำหรับพื้นที่ที่ก่อสร้างล่าช้า ความเสียหาของถนนและทางเท้าบริเวณก่อสร้าง ใครต้องรับผิดชอบ และสุดท้ายที่ประชาชนอยากรู้คือโครงการนี้จะเสร็จสิ้นได้เมื่อไหร่”

โจทย์ใหญ่การศึกษา จี้ กทม. รองรับเด็กหลุดออกจากระบบ

เรื่องการศึกษา ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสภา กทม. เป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะคุณภาพของโรงเรียนในสังกัด กทม. และการดูแลสวัสดิการของครู และเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาทุกระดับ รวมถึงแนวทางรองรับเด็กนักเรียนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดย ลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก. เขตตลิ่งชัน ได้อภิปราย ตั้งคำถามถึงงบประมาณสำนักการศึกษา กทม. ว่าควรจัดสรรไว้เพื่อรองรับนักเรียนกลุ่มดังกล่าวด้วย

“สำนักการศึกษา ควรมีงบประมาณ เพิ่อดึงนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กลับเข้ามาสู่โรงเรียนของ กทม. ทั้ง 437 โรง ให้เกิดความเท่าเทียมกัน อย่าให้เกิดสภาพที่มีนักเรียนน้อย จนต้องยุบโรงเรียนกันอีกเลย หรือแม้แต่การยุบรวมก็ไม่สมควรทำ”

ยกระดับบริการสาธารณสุขระดับชุมชน 

เช่นเดียวกับปัญหาระบบสาธารณสุข ใน กทม. ที่เห็นปัญหาชัดเจนอย่างมากในวิกฤตโควิด-19 โดย กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ ได้อภิปรายโดยให้ข้อมูล ที่ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งนั่งฟังอยู่ รับทราบถึงปัญหา คือ ในเขตทุ่งครุไม่มีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วย อีกทั้ง ยังมีปัญหาเรื่องระบบการส่งต่อผู้ป่วย ที่ยังมีช่องว่าง ควรได้รับการแก้ไข

“ปัญหา คือ มี 14 เขต ที่ไม่มีโรงพยาบาลรับส่งต่อของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สร้างภาระให้กับผู้ป่วย เสียเวลาการเดินทาง เสียเงินเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงการสูญเสีย จะทำอย่างไรให้ระบส่งต่อมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้ หน้าที่ของ กทม. ต้องดูแลสุขภาพของชาว กทม. ทุกคน ต้องเจรจากับโรงพยาบาลในเขตให้เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อของบัตรทองของเขตนั้น ๆ”

ความปลอดภัย ไฟส่องสว่าง ลดปัญหาอาชญากรรมในเมือง 

สภาพแวดล้อมในเมืองหลวง ทำให้ ส.ก. ในแต่ละเขตสะท้อนปัญหาของคนเมือง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง อย่าง ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก. เขตบางซื่อ อภิปรายในสภา ถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมไฟฟ้าสาธารณะ และเสนอให้ กทม. ทลายข้อจำกัด การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้วย

“ไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเป็นอันดับ 3 ใน traffy fondue แต่เขตบางซื่อ มีงบฯ ซ่อมไฟฟ้าสาธารณะแค่ 3 แสน ทั้งที่ในปีที่แล้ว บางซื่อใช้งบซ่อมไปกว่า 1.5 ล้านบาท ถ้าต้องเปลี่ยนเป็นหลอด LED ต้นทุนอยู่ที่หลอดละ 2,000 บาท แสดงว่าจะซ่อมได้แค่ 157 ดวง แต่บางซื่อมีซอยทั้งหมด 121 ซอย หมายความว่าจะซ่อมได้แค่ซอยละ 1-2 ดวงอย่างนั้นหรือ การทบทวนเพิ่มงบประมาณซ่อมไฟทั่วกรุงเทพฯ เป็นสิ่งจำเป็น และเสนอให้ผู้ว่าฯ พิจาณาให้การไฟฟ้าจ้างหน่วยงานภายนอกมาแก้ไขปัญหาเชิงรุก เพื่อลดภาระประชาชนและเจ้าหน้าที่ และให้พี่น้องทั่วกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ประเทศเจริญแล้วได้รับกัน  “

นี่เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาที่ถูดพูดถึง ภายในสภา กทม. สะท้อนถึงการทำงานในฐานะผู้แทนคน กทม. ที่ต้องเสนอแนะ และติดตามการทำงานให้ฝ่ายบริหารของ กทม. ร่วมถึงร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาล ที่เป็นภาษีของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
AUTHOR

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์