“สิ่งที่เราเป็น คือ เมืองที่ผุพัง ก่อนจะไปถึง เมืองทันสมัย ทำให้คุณภาพชีวิตคนระดับกลาง ๆ จะอยู่อย่างไรให้โอเคก่อนดีไหม? ปัญหา คือ กทม. มีที่ดินที่โดนแปลงเป็นพาณิชย์ทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าไปกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ถึงที่สุดแล้ว กลุ่มทุนหรือกลุ่มอำนาจมองในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของคนเมือง”
‘อาทิตย์ โกวิทวรางกูร’ ผู้ร่วมก่อตั้งสเปซย่านสี่พระยา กล่าวช่วงหนึ่งใน “Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เมืองทันสมัย” เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา เขามองว่า ก่อนจะแก้ปัญหาเมือง ต้องรู้จักและเข้าใจโครงสร้างปัญหา และเงื่อนไขการจัดการเมืองก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าทั่วโลก ที่มีบริบทใกล้เคียงไทย มีแนวทางแก้ปัญหาเมืองอย่างไร โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจเมืองและคนก่อน จึงค่อย ๆ เปิดรับไอเดียต่าง ๆ เข้ามา
อาทิตย์ ยกตัวอย่างการก่อตั้งพื้นที่ย่านสี่พระยา โดยการนำพื้นที่เกือบ 30 ตารางเมตรมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ เพราะมองเห็นปัญหาว่า ที่ผ่านมา เมืองไม่มีพื้นที่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น สวนสาธารณะที่มีเวลาเปิดปิด พื้นที่ที่ต้องใช้เงินซื้อ
ปัญหา คือ ในกรุงเทพฯ มีที่ดินที่ถูกแปลงเป็นพาณิชย์ทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าไปกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ถึงที่สุดแล้ว กลุ่มทุนหรือกลุ่มอำนาจมองในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของคนเมือง จึงตั้งใจนำร่องพื้นที่สี่พระยา จับมือกับเจ้าของที่ดินให้ราคาที่เป็นธรรมกับผู้เช่า และเริ่มมองหาการสร้างโปรแกรม เครื่องมือให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม
อาทิตย์ มองว่าปัจจุบันมีเครื่องมือภาคประชาชนมากมาย แต่ส่วนที่ยังขาด คือ พื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ Community Center หรือ Civic Center
อีกเสียงสะท้อนจากเวที Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 “เมืองทันสมัย” โดยเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ และไทยพีบีเอส เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่งถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.