หากคุณเป็นคนหนึ่งที่วางแผนใช้ชีวิตบั้นปลาย 2 คนตายาย หรืออยู่แบบใช้ชีวิตคนเดียวลำพัง โปรดรู้ไว้คุณไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะแนวโน้มตั้งแต่ปี 2564 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนของผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยในปี 2564 ประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากจำนวนกว่า 13 ล้านคน 21.1% หรือประมาณ 2.8 ล้านคน อาศัยอยู่กับคู่สมรสหรือคู่ชีวิต ขณะที่ 12% หรือราว 1.6 ล้านคน บอกว่า ต้องอยู่อาศัยเพียงลำพัง และเมื่อทีมวิจัยของจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจเชิงลึกในกลุ่มที่อาศัยเพียงลำพังมีถึง 11% ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้สูงวัยโดดเดี่ยวแบบ “ไร้ญาติขาดมิตร” หรือ ไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่มีเพื่อนฝูงที่สามารถให้ความช่วยเหลือและพึ่งพาได้ โดยผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนการอาศัยอยู่คนเดียวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดที่ 15.7% ขณะที่ผู้สูงอายุชายอยู่ที่ 11.3%
ใครกันที่จะอยู่แบบไร้ญาติขาดมิตร จากการสอบถามตอบว่าส่วนใหญ่เป็นคนที่เข้ามาทำงานงานในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ สอดคล้องกับชายสูงวัยไร้บ้านที่ The Active ได้พูดคุยบอกว่า เขาละทิ้งบ้านเกิด ขายไร่นา เพื่อมาแสวงหาโชคในกรุงเทพฯ เช่าห้องเล็ก ๆ เพื่อเก็บเงินหวังจะมีบ้าน แต่อุบัติเหตุทำให้เขาหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีบ้านให้กลับ ติดต่อใครไม่ได้ จำใจต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะจนถึงวัย 65 ปี
เมื่อประเมินกับสถานการณ์ด้านประชากรของไทย ที่เกิดในช่วงปี 2506-2526 เป็นกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุในปีนี้ โดยในกลุ่มปี 2506 จะมีอายุครบ 60 ปี และมีคนอีกล้าน ๆ คนกำลังจะตามมา หรือที่เรียกว่า “สึนามิประชากร” ในยุครุ่นเกิดล้าน และแนวโน้มครัวเรือนไทยประเภทโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รัฐจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร
งานวิจัยแบ่งความต้องการเร่งด่วนในการดูแลการเข้าถึงบริการทางสังคม ของผู้สูงวัยโดดเดี่ยวแบบไร้ญาติขาดมิตร เอาไว้ 3 ด้านด้วยกัน
- ด้านสุขภาพอนามัย พบว่า26% ของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ไม่มีผู้พาไปรับการรักษา เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ และสังคม
- ด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต (1) ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ต้องการบริการด้านความมั่นคงทางจิตใจ และการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่ออาศัยอยู่คนเดียวนาน ๆ จะส่งผลต่อภาวะทางจิตใจในเรื่องความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว กังวล ซึมเศร้ามากขึ้น (2) ความมั่นคงด้านรายได้ สาเหตุที่ผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุสำรอง (ก่อนอายุ 60 ปี) เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่ส่งเสริมการดำรงชีวิตด้านรายได้ที่รัฐดำเนินการแล้ว เช่น ไม่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ในการลงทะเบียน รวมถึงความยุ่งยาก ไม่มีทักษะ และไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้
- ด้านการมีส่วนร่วมในสังคม 87.4 % บอกว่า ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ได้เข้า , 68.2 % ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่ม หรือชมรมผู้สูงอายุ , 35.7 % ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญของหมู่บ้านหรือชุมชน
นักวิชาการจึงเสนอให้มีการจัดบริการทางสังคมเพื่อส่งเสริมการอยู่อาศัยในถิ่นที่อยู่ (ageing in place) เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มติดบ้านมากขึ้น เช่น บริการที่เข้าไปหาผู้สูงอายุถึงในที่อยู่อาศัยเพื่อพาไปรับบริการต่างๆ แบบครบวง (Helper) เช่น พาไปพบแพทย์ เข้าชมรม ไหว้พระ ฯลฯ ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมสูงวัย (Social Enterprise : SE.)
จัดโปรแกรมดูแลเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โปรแกรมการดูแลด้านจิตใจสำหรับผู้สูงอายุที่ปรับเปลี่ยนมาอยู่คนเดียวตามลำพัง โปรแกรมให้ความรู้เรื่องการดูแลตนเองเมื่ออยู่คนเดียว การใช้เทคโนโลยี รวมถึงความรู้เรื่อง living will จัดตั้ง club สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว เพื่อสร้างเครือข่าย/มีส่วนร่วมในสังคมร่วมกัน
ขณะที่ทิศทางการจัดบริการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสังคม กำหนดให้ภาครัฐส่วนกลางสนันสนุนและสร้างกลไกรองรับการดำเนินงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำบริการเข้าไปหาผู้สูงอายุ โดยมีภาคเอกชน ประชาสังคม NGOs องค์กรศาสนา โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นผู้คิดค้นสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อดูแลผู้สูงวัยไร้ญาติขาดมิตรได้อย่างทั่วถึง และแม่นยำ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง